29 พฤศจิกายน 2551

Mobile Suit Gundam MS IGLOO 2: Gravity Front

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

เมื่อวานนี้เกิดเรื่องประหลาดขึ้นในชีวิตค่ะ เมื่อตัดสินใจเอากระเป๋าถือ NaRaYa ผลิตภัณฑ์ของไทยที่โด่งดังในญี่ปุ่นมาใช้ก่อนไปซื้อการ์ตูนในร้านหนังสือญี่ปุ่น และหาของกินในซุปเปอร์มาร์เก็ตญี่ปุ่นกลางลอนดอนตามปกติ ครั้งก่อนๆ ที่ไปคนขายก็ดูออกค่ะว่าไม่ใช่คนญี่ปุ่น แต่ครั้งนี้ทั้ง 3 ร้านคุยด้วยภาษาญี่ปุ่นเหมือนเข้าใจว่าเราเป็นคนญี่ปุ่นเสียอย่างนั้น! เสื้อผ้าหน้าผมเหมือนเดิมทุกอย่างค่ะ เว้นอย่างเดียวที่เปลี่ยนคือกระเป๋า NaRaYa ราวกับกระเป๋านี้เป็น subliminal message (ข้อความที่ถูกส่งผ่านเข้ามาในระดับจิตใต้สำนึกโดยเราไม่รู้ตัว) ที่ทำให้คนญี่ปุ่นเชื่อว่าเราต้องเป็นญี่ปุ่นแน่ๆ

แต่ไม่ได้คุยเรื่องกระเป๋านะคะ แต่จะคุยเรื่องหนึ่งในตำนานการ์ตูนหุ่นรบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น "กันดั้ม" ภาคล่าสุด Gundam MS IGLOO 2 ซึ่งหลังจากผ่านสิบนาทีแรกในการดูก็ได้แต่นั่งอ้าปากค้าง ทำไม...ทำไมมันถึงกลายเป็นหนังฝรั่งไปได้เนี่ย! หุ่นก็ดูสมจริงจนน่ากลัว พระเอกก็หน้าฝรั่ง ตัวประกอบฝรั่ง แถมยังใช้กราฟิคเนียนเหมือนคนจริงๆ เลยค่ะ กันดั้มต้องเป็นการ์ตูนและต้องเป็นญี่ปุ่นไม่ใช่เหรอ!

นั่นคืออารมณ์แรกหลังดูไปสิบนาทีค่ะ แต่ด้วยความเชื่อว่าทีมงานกันดั้มไม่ทำอะไรให้แฟนๆ หัวใจร้าวรานแน่ๆ จึงตัดสินใจดูต่อโดยไม่ยกโน้ตบุ้กมาทุ่ม เพราะรับหุ่นแซ็ครุ่นน่ากลัวไม่ได้ จึงทราบว่าที่จริง Gundam MS IGLOO 2 ดีกว่าที่บ่นไว้ตอนแรกมาก

Gundam MS IGLOO 2 ภาคนี้กล่าวถึงช่วง One Year War ใน UC0079 แตกต่างจาก 2 ภาค ซึ่งออกมาก่อนหน้านี้ที่เปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ สองภาคแรกเป็นมุมมองของฝ่าย Zeon ซึ่งบรรดาหุ่นรบเป็นพระเอก แน่นอนว่าทำให้ขายโมเดลหุ่นรบได้เป็นเทน้ำเทท่า ในระหว่างที่ภาคล่าสุดกล่าวถึงมุมมองจากฝ่ายกองทัพสหพันธ์โลกแทน ดังนั้น มนุษย์โลกเป็นตัวเอกบ้าง ฉากการต่อสู้แนวไซไฟแบบสงครามอวกาศจึงเปลี่ยนเป็นการต่อสู่บนพื้นโลกด้วยรถถัง และแซ็คซึ่งเป็นหนึ่งในหุ่นคลาสสิคของกันดั้มดูเหมือนสัตว์ประหลาดยักษ์เสียแทน

Gundam MS IGLOO 2 วางจำหน่ายเป็น DVD ในญี่ปุ่นเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้เองค่ะ เอกลักษณ์เหนือกันดั้มซีรีส์อื่น คงเป็นการทำภาพทั้งหมดด้วย 3D-CG (Computer Graphic สามมิติ) ส่งผลให้เหมือนใช้คนแสดงจริงๆ และแซ็คก็เป็นหุ่นยักษ์ที่ดูสมจริงเสียจนดูแล้วกลัว แรกสุดรู้สึกขัดตากับเจ้า 3D-CG หน้าฝรั่งมากเลยค่ะ ให้ความรู้สึกเหมือนเล่นเกมวางแผนรบของทางฝั่งอเมริกามากกว่าการ์ตูนญี่ปุ่น แต่พอดูไปเรื่อยๆ ภาพฉากสงครามหลายภาพถูกนำเสนอด้วยสีซีเปียเหมือนในสารคดี ทำให้เราย้อนระลึกถึงความทรงจำของสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างนั้นเอง แซ็คก็ปรากฏอยู่ในภาพด้วย! เกิด Subliminal message ยิงเข้ามาในหัวเลยค่ะ ว่าแซ็คจะต้องเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติแน่นอน เป็นการฝังในระดับจิตใต้สำนึกที่แน่นมาก ชนิดที่เราเห็นสารคดีสงครามโลกครั้งที่สองอีก เมื่อไรต้องมองหาแซ็คเลยค่ะการใช้ 3D-CG เป็นหน้าฝรั่งเชื่อว่าทำให้คนฝั่งอเมริกาเหนือที่ไม่คุ้นเคยกับแอนิเมชั่นญี่ปุ่นดูได้อย่างไม่ขัดตานัก แต่ใช่ว่าหน้าฝรั่งแล้วจะเหมือนหนังฝรั่งนะคะ ไม่ว่าจะเป็นท่าทาง แนวคิด การแสดงออกหรือความเชื่อเป็นวัฒนธรรมญี่ปุ่นทั้งนั้น อย่างเช่นการเก็บซ่อนความรู้สึก และความเป็นนักสู้ผู้เสียสละเพื่อชาติ แม้จะมีคำพูดบ่นหยาบคาย แต่ก็สุภาพกว่าหนังฝรั่งมาก สิ่งเหล่านี้ทำให้ชาวต่างชาติที่ดูซึมซับวัฒนธรรมญี่ปุ่นโดยไม่รู้ตัว และค่อยๆ ย้อมจิตใต้สำนึกให้เข้าใจแนวคิดของฝั่งตะวันออกมากขึ้น เป็นอีกหนึ่ง Subliminal message ที่ฉลาดใช้ค่ะ

ไม่ค่อยแปลกใจแล้วค่ะที่เวลาไปซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ตญี่ปุ่นที่ลอนดอนจะโดนคนญี่ปุ่นทักด้วยภาษาญี่ปุ่น หรือมีฝรั่งมาถามหาของญี่ปุ่น เพราะนึกว่าเราเป็นคนญี่ปุ่นที่พูดภาษาอังกฤษได้อยู่บ่อยๆ คงเพราะอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นมาแต่เด็ก หลายอย่างจึงซึมซับเข้าไปจนดูกลมกลืนกับคนญี่ปุ่นทั้งที่หน้าไม่เหมือนเลย แต่ก็ยังภูมิใจในวัฒนธรรมไทยเสมอนะคะ เพียงแต่รู้สึกทึ่งการกระจายวัฒนธรรมญี่ปุ่นผ่านทางการ์ตูนอยู่เสมอเช่นกัน

ภูมิใจในความเป็นไทยถึงขนาดที่ตกเย็นหลังจากโดนเข้าใจผิดว่าเป็นคนญี่ปุ่นมาทั้งวัน ก็ไปซื้อกับข้าวในร้านขายวัตถุดิบไทยโดยคนไทยใกล้บ้านค่ะ ยื่นของให้และสวัสดีเป็นภาษาไทยกับคนขายชัดเจน แต่เธอก็ตอบราคามาเป็นภาษาอังกฤษ (ทั้งที่วันอื่นบอกเป็นภาษาไทย)

เอ...สงสัยกระเป๋า NaRaYa เมดอินไทยแลนด์ใบนี้เคยสร้าง Subliminal message ให้คนอื่นมาแน่ๆ เลย ถือแล้วให้ผลชะงัดอย่างกับแต่งกิโมโนเลยค่ะ!

วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11222 มติชนรายวัน

22 พฤศจิกายน 2551

London MCM Expo Cosplay Ball 2008

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเกิดขยันไปอ่านหนังสือที่ห้องสมุดค่ะ (ความจริงเพราะนั่งอยู่ในห้องแล้วเอาแต่ดูการ์ตูนจนไม่เป็นอันทำงาน) ระหว่างขึ้นรถไฟใต้ดินไปห้องสมุดก็เจอกลุ่มคนที่โดดเด่นจนเป็นเป้าสายตาของนักท่องเที่ยวในลอนดอนเข้าให้ พวกเขาคือชาว "คอสเพลย์" ค่ะ สาวน้อยหนึ่งในกลุ่มคอสเพลย์ยืนอยู่ข้างหน้าตอนกำลังลงบันไดเลื่อนพอดี เธอแต่งเป็นมาริโอ้ที่ชอบกระโดดเอาหัวโหม่งอิฐแล้วกินเห็ดขยายร่างน่ะค่ะ แม้จะโบราณไปหน่อยแต่กางเกงฮ็อตแพนท์ที่เธอใส่ก็ทำให้เป็นมาริโอ้ที่ดูน่ารักทีเดียว

ระหว่างลงบันไดเธอก็พยายามถ่ายรูปสหายคอสเพลย์ที่ลงนำหน้าเธอไปก่อนแล้ว มีคนแต่งเป็นจี้จังแห่ง Chobits นำทัพ ที่เหลือดูเหมือนจะไปช่วยแต่งตัวเสียมากกว่าค่ะ หรืออาจจะคอสเพลย์เป็นตัวละครที่ไม่รู้จักก็ได้เพราะนึกไม่ออกว่าเป็นใคร ใจจริงอยากขึ้นรถไฟตามไปเลยค่ะว่าเขาไปไหนกัน แต่เสียดายที่ภารกิจอ่านหนังสือต้องสำคัญกว่า ก็เลยได้แต่เก็บไว้ในใจแล้วกลับมาหาข้อมูลแทน

"คอสเพลย์" (Cosplay) หมายถึงการแต่งกายเป็นตัวละครที่เราชื่นชอบ คำนี้กำเนิดในวงการการ์ตูนจึงแต่งเลียนแบบตัวการ์ตูนเป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันการแต่งคอสเพลย์ขยายความนิยมขึ้นมากจนมีการประกวดอย่างเป็นล่ำเป็นสันแล้ว ในไทยก็มีค่ะ และหลายชุดในไทยทำได้สวยมากๆ ด้วย

ส่วนงานที่ทำให้ไปเจอคนแต่งคอสเพลย์ในรถไฟใต้ดินน่ากลัวจะเป็น London MCM Expo Cosplay Ball 2008 ซึ่ง MCM ย่อมาจาก Movie Comic Media นะคะ งานนี้เคยจัดขึ้นมาก่อนแล้วโดยใช้ชื่อว่า COSPLAY & MASQUERADE ซึ่งหมายถึงงานแต่งคอสเพลย์และงานเลี้ยงสวมหน้ากาก แต่แมสเกอเรดในงานนี้หมายถึงการประกวดชุด ไม่ต้องเป็นแค่คอสเพลย์ตัวการ์ตูนเท่านั้นนะคะ ออกแบบเองก็ได้ ขอให้เป็นผลงานที่มีคอนเซ็ปท์และตัดเองเป็นอันใช้ได้ค่ะ

ผลจากงานครั้งก่อนทำให้เห็นกระแสความแรงของ "คอสเพลย์" ในปีที่ผ่านมา ในที่สุดเมื่อ 25 ตุลาคม 2008 ทาง MCM ก็ตัดสินใจจัดงาน London MCM Expo Cosplay Ball 2008 ซึ่งมีแต่คอสเพลย์ล้วนๆ ขึ้นเป็นครั้งแรก ชมจากวิดีโอที่มีผู้ถ่ายไว้ในงานแล้วอัพโหลดทาง Youtube แล้วน่าสนุกมากเลยค่ะ เห็นได้ชัดว่าการ์ตูนที่ได้รับความนิยมคืออินุยาฉะ Chobits เกม Final Fantasy VII โปเกมอน ฮารุฮิ เดธโน้ต และอีกหลายเรื่องที่มีลิขสิทธิ์ในยุโรป แม้จะไม่เยอะเท่าไทยเพราะตลาดการ์ตูนของเรากว้างกว่า แต่ก็น่าทึ่งเวลาเห็นฝรั่งผมทองมาแต่งเป็นตัวการ์ตูนเอเชียค่ะ

เนื่องจากที่อังกฤษค่อนข้างเข้มงวดกับการจัดงานที่มีคนรวมกันเยอะๆ เพราะในอดีตเขามีปัญหาผู้ก่อการร้ายวางระเบิดบ่อยๆ ดังนั้นจึงมีกฎกติกาให้ชวนเครียดกว่างานในบ้านเราอยู่บ้าง กฎพื้นฐานทั่วไปคือเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี (ประมาณยังไม่ขึ้นมัธยมศึกษา) ถ้าจะเข้างานต้องมีจดหมายรับรองจากผู้ปกครอง หรือแม้ว่าจะแก่แล้วแต่หน้าเด็กก็ต้องเอาหลักฐานมาแสดงด้วย ตรวจเข้มจริงๆ

การประกวดชุดในงานแมสเกอเรด ก็มีกฎว่าห้ามใช้ชุดเดิมที่ประกวดครั้งก่อน ห้ามสั่งตัดหรือซื้อชุดมา คือต้องเป็นฝีมือตัวเองถึงเข้าประกวดได้ค่ะ ถ้าใครแต่งแบบออริจินัลคือคิดแบบเอง ต้องวาดแบบและอธิบายคอนเซ็ปท์ให้กรรมการเข้าใจด้วย พูดง่ายๆ คือแข่งกันที่แนวคิดและฝีมือค่ะ ไม่ใช่พลังเงิน

อีกเรื่องที่สำคัญมากแต่เรามักจะมองข้ามไปคือ "อาวุธ" ตัวการ์ตูนหลายตัวต้องมีอาวุธประจำกาย เช่น ดาบญี่ปุ่น ทวน มีด เนื่องจากที่อังกฤษห้ามพกอาวุธเข้าไปในสถานที่สาธารณะ ดังนั้นอาวุธประกอบการคอสเพลย์จึงต้องทำจากวัสดุเบาเท่านั้น เช่น โฟม พลาสติค หรือไม้บัลซ่า กระทั่งปืนปลอม ถ้ารูปร่างหน้าตาเหมือนจริงต้องโชว์ว่าไม่มีกระสุนเสมอ ถ้าทำแล้วเหมือนเกินไปหรือสงสัยว่าจะมีกระสุนจะไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้างานเลยค่ะ อันนี้เฉพาะปืนสั้นนะคะ ตระกูลอาวุธหนักหรือปืนยาวทุกชนิดไม่ได้รับอนุญาตให้เดินถือในงานเลยค่ะ สุดท้ายถ้าปืนผ่านเข้ามาในงานได้ ก็ห้ามทำท่าส่องไปที่ใครเด็ดขาด ที่นี่เขาเซนซิทีฟเรื่องนี้กันมากเลยค่ะ

งานนี้ค่าเข้างาน 15 ปอนด์ (หรือ 20 ปอนด์รวมอาหาร) ซึ่งก็พอๆ กับกินข้าวนอกบ้านในร้านอาหารธรรมดาๆ ซักมื้อ ซื้อตั๋วดูหนังยังแพงกว่านี้ ดังนั้นจึงไม่ค่อยลำบากสำหรับเยาวชนที่นี่เท่าไร เอาไว้งานหน้าถ้าได้ไปจะเก็บบรรยากาศมาฝากนะคะ

วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11215 มติชนรายวัน

21 พฤศจิกายน 2551

Bihada Ichizoku แล้วการ์ตูนก็กลับกลายเป็นมาตรฐานของความงาม


คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวละออง

จากความเข้าใจที่ผ่านมาว่า "การ์ตูน" คือสื่อรูปแบบหนึ่งซึ่งใช้สะท้อนสังคมรวมถึงความเชื่อของคนในยุคสมัยนั้น บัดนี้คำนิยามอาจจะต้องเปลี่ยนไปนิดหน่อยแล้วค่ะ เมื่อ "การ์ตูน" กลับกลายมาเป็นผู้นำเทรนด์ในสังคมเสียแทน

จนถึงปัจจุบัน ตัวการ์ตูนส่วนใหญ่มักจะวาดโดยตีความจากมาตรฐานความงามในยุคนั้นๆ ซึ่งเป็นการตีความค่านิยมสู่การ์ตูน เช่น การ์ตูนสมัย 30 ปีก่อน ผู้หญิงต้องรูปร่างผอมบาง อกเล็กๆ แขนขาเรียว แต่สมัยนี้ส่วนใหญ่ต้องรูปร่างสมบูรณ์ หน้าอกและทรวดทรงองค์เอวดูสมเป็นผู้หญิง แต่หากการ์ตูนทรงอิทธิพลต่อความรู้สึกมากขึ้น การ์ตูนก็กลับกลายเป็นเทรนด์เสียเองได้เช่นกัน ตัวอย่างการ์ตูนที่คนในสังคมนำไปตีความและยึดถือเป็นแบบอย่างการดำเนินชีวิต เช่น Nana และผลงานของผู้เขียนท่านเดียวกันซึ่งสร้างปรากฏการณ์แฟชั่นขึ้นในญี่ปุ่น และที่จะกล่าวถึงวันนี้คือ Bihada Ichizoku (แปลว่าครอบครัวผิวสวย) ผู้นำความงามในโลกบิวตี้และสกินแคร์ของญี่ปุ่นที่มาแรงจนทำให้หลายคนต้องอ้าปากค้างด้วยความตะลึง

หากใครได้ไปเดินเล่นในแผนกเครื่องสำอางตามร้านขายยาในญี่ปุ่น (ที่โน่นเครื่องสำอางขายในร้านยาไม่ก็ในห้าง) รับรองต้องสะดุดตากับภาพสาวน้อยผมบลอนด์ม้วนเป็นหลอดและยิ้มโปรยเสน่ห์อยู่ท่ามกลางดงกุหลาบบนถุงฟอยล์สีชมพูจี๊ด แน่นอนค่ะ ที่สะดุดตาเพราะฉลากผลิตภัณฑ์อื่นมักเป็นภาพคน แต่เจ้าห่อนี้กลับเป็นภาพการ์ตูน แถมเป็นการ์ตูนผู้หญิงในยุค 70s (สไตล์สามสิบกว่าปีก่อน) ซึ่งย้อนเราให้ระลึกถึงเด็กสาวไฮโซนัยน์ตาระยิบระยับ ผมม้วนเป็นหลอด ใส่ชุดระบายฟูฟ่อง และมักมีกุหลาบโปรยในช่องการ์ตูนเป็นประจำ

แล้วทำไมมาตรฐานความงามยุค 70s จึงมาปรากฏบนมาสก์ (แผ่นแปะหน้าเพื่อบำรุงผิว) ของยุคนี้ได้!!

คำตอบคือเมื่อบริษัทผู้ผลิตเครื่องสำอาง Lovelabo ในญี่ปุ่นมองเห็นช่องทางการจำหน่าย "มาสก์" สินค้ากลุ่มบำรุงผิวซึ่งซื้อง่ายใช้คล่องกว่าผลิตภัณฑ์อื่น ในเดือนพฤศจิกายน 2005 ทางบริษัทจึงคิดคอนเซ็ปท์ของสินค้าขึ้นคือ "เข้าถึงง่าย ใช้ได้ทุกคนและทุกวัน" และเปิดตัวซีรีส์นวนิยายชื่อ "Bihada Ichizoku" นำเสนอผ่านทาง Girls Walker ซึ่งเป็นเว็บไซต์แฟชั่นทางโทรศัพท์มือถือที่มีผู้ใช้บริการลงทะเบียนถึง 9 ล้านคน ขอย้ำอีกครั้งว่าเขาขายมาสก์...แต่ปล่อยนิยายเป็นตอนๆ ค่ะ ไม่ได้ปล่อยสปอตโฆษณา ถือเป็นการสร้างวัฒนธรรมความงามที่หญิงสาวต้องต่อสู้เพื่อความงามและความรัก โดยมีนางเอกซึ่งทำทุกอย่างเพื่อผิวสวยเป็นฮีโร่

เรื่องย่อของนวนิยายคือ "บิฮาดะ ซาระ" นางเอกของเรื่องต้องการเป็นสุดยอดสาวผิวงามบนโลกใบนี้ เธอต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งและศัตรูมากมายตามแบบการ์ตูนยุค 70s เปี๊ยบ จนตอนหลังเธอก็ต้องมาต่อสู้กับพี่สาวฝาแฝดเสียเอง (นี่ก็พล็อตเก่าแต่คลาสสิค) แน่นอนว่าต้องมีฉากชิงรักหักสวาทเคล้าน้ำตาด้วยค่ะ คำพูดติดปากของซาระคือ "หล่อนคิดว่าจะเอาชนะฉันได้ด้วยผิวแบบนั้นเหรอยะ!" ออกแนวคล้ายเรื่อง Ace wo Narae! (Go for an Ace!) หรือ "ยอดหญิงสิงห์เทนนิส" ผลงาน อ.ยามาโมโต้ ซูมิกะ ซึ่งตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1972 (ยังไม่เกิดเลย) ไม่น่าเชื่อว่าประโยคนี้โดนใจวัยรุ่นอย่างจังถึงขนาดนิยายได้รับความนิยมแบบปากต่อปากไปเรื่อยๆ ราวกับไฟลามทุ่ง

เดือนต่อมาหลังจากนิยายเปิดตัว มาสก์บิฮาดะก็เริ่มจำหน่ายผ่านทางเว็บไซต์บนโทรศัพท์มือถือ และไม่น่าเชื่อว่าขายได้ถึง 64,000 แผ่นในวันเดียว! ถือเป็นการทุบสถิติการขายผลิตภัณฑ์ความงามครั้งหนึ่งในญี่ปุ่นเลยค่ะ เจ็ดเดือนต่อมา มาสก์บิฮาดะก็กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ความงามที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดและหาซื้อได้ในทุกร้าน สร้างยอดขายสูงเป็นประวัติการณ์จนถึงปัจจุบันนี้

มีผู้วิเคราะห์ความสำเร็จของผลิตภัณฑ์บิฮาดะ ว่า นอกจากราคาไม่สูงมากและคุณภาพดี การใช้ตัวการ์ตูนเป็นพรีเซ็นเตอร์บนซองทำให้เกิดกระแสความนิยมใหม่ขึ้นในวงการเครื่องสำอาง ส่วนหนึ่งเพราะเครื่องสำอางญี่ปุ่นมักมีภาพพจน์หรูหราเสียจนเด็กวัยรุ่นหรือแม่บ้านไม่ค่อยอยากจะสนใจนัก การเปลี่ยนภาพพจน์ให้ดูกันเองเพื่อรับกับตลาดชนชั้นกลางและล่างมากขึ้นจึงเป็นแนวคิดที่ลงตัวมาก และการใช้ตัวการ์ตูนซึ่งเป็นของคู่วัฒนธรรมผู้หญิงญี่ปุ่นมาเกือบสี่สิบปีเป็นทางเลือกที่ฉลาด

ถ้าอเมริกาหรือไทยคิดจะเลียนแบบคงใช้มุขนี้ไม่ได้ค่ะเพราะการ์ตูนไม่ใช่วัฒนธรรมของชนชาติดังเช่นในญี่ปุ่น ไทยเองก็มีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์น่าภูมิใจไม่แพ้ของชาติอื่นเช่นกัน ซึ่งคงต้องรอให้เหล่านักการตลาดตีโจทย์นี้ต่อไป

วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11208 มติชนรายวัน

Light Novel ยามการ์ตูนถูกเล่าผ่านตัวอักษร [2]


คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

กลับมาอีกครั้งกับ "ไลท์โนเวล" นวนิยายรูปแบบใหม่ที่สร้างจากพื้นฐานความนิยมหนังสือการ์ตูนในญี่ปุ่นค่ะ สัปดาห์ก่อนเล่าให้ฟังถึงความเป็นมาเป็นไปรวมถึงกำเนิดไลท์โนเวลซึ่งทำให้ตลาดสิ่งพิมพ์กลุ่มนิยายในญี่ปุ่น (รวมถึงในไทย) ขยายตัวและเติบโตอย่างรวดเร็วเนื่องจาก Turn over rate หรือความเร็วในการอ่านแต่ละเล่มของนักอ่านลดลงมาก พล็อตไม่ซับซ้อน ภาษาก็ง่าย เข้าใจได้แจ่มชัด มีตีพิมพ์เล่มใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง และราคาก็ย่อมเยาเพราะนักเขียนไลท์โนเวลส่วนใหญ่เป็นมือสมัครเล่นซึ่งค่าต้นฉบับไม่แพง ส่งผลให้ไลท์โนเวลกลายเป็นคลื่นลูกใหม่ของวงการวรรณกรรมในวัฒนธรรมป๊อปของญี่ปุ่นและระบาดไปถึงอเมริกาเหนือเลยค่ะ

ความ "ง่าย" ของไลท์โนเวลไม่ใช่เฉพาะการอ่านเท่านั้น แต่ไลท์โนเวลสามารถนำมาปรับเปลี่ยนเป็นสื่อรูปแบบอื่น เช่น หนังสือการ์ตูน แอนิเมชั่น รวมถึงภาพยนตร์ได้ง่ายอย่างไม่น่าเชื่อเช่นกัน หากเทียบเป็นอาหาร ไลท์โนเวลคงเหมือน "ไข่" ที่ทำได้ทั้งของคาวของหวานและง่ายในการทำเพียงแค่ตอกออกมาจากเปลือก ขึ้นกับผู้ปรุงว่าต้องการจะดึงรสชาติใดออกมาเป็นจุดขาย

ก่อนจะไปถึงอนาคต ย้อนอดีตกับไลท์โนเวลสักนิดค่ะ เดิมทีไลท์โนเวลถูกเรียกว่า "นิยายสำหรับวัยรุ่น" เพราะตอบรับตลาดวัยรุ่นที่ชมแอนิเมชั่นหรือเล่นวิดีโอเกมแล้วอยากอ่านเนื้อเรื่องโดยละเอียด ทางผู้สร้างจึงนำเนื้อเรื่องมาขยายความจากเกมหรือการ์ตูนในสื่อที่ผลิตง่ายและขายได้ในราคาประหยัดกว่า นั่นคือ "นิยาย" นั่นเอง แต่กลับเกิดปรากฏการณ์ที่วงการสิ่งพิมพ์อ้าปากเหวอ เมื่อนิยายที่เขียนจากเกมหรือการ์ตูนเหล่านี้ซึ่งถูกมองว่าเป็นของทำง่ายๆ ไม่ได้มีคุณค่าในเชิงวรรณกรรมเท่าใดนัก กลับได้รับรางวัลวรรณกรรมยอดเยี่ยมและเหยียบหัวคู่แข่งที่เป็นนวนิยายดั้งเดิมหลายครั้ง นวนิยายที่สร้างจากการ์ตูนหรือเกมเหล่านี้จึงกลายเป็นที่จับตามองมากขึ้น

ด้วยความง่ายในการถ่ายทอดจินตนาการสำหรับผู้เขียน และง่ายในการทำความเข้าใจสำหรับผู้อ่าน ไลท์โนเวลจึงขยายวงโดยสร้างเป็น Original light novel หรือไลท์โนเวลที่เขียนขึ้นเองโดยไม่ได้อิงกับการ์ตูนหรือเกมอีกต่อไป ความนิยมอย่างล้นหลามทำให้ฟันเฟืองของกลไกตลาดหมุนกลับ ไลท์โนเวลกลับกลายเป็นผลงานที่ถูกนำมาสร้างเป็นแอนิเมชั่น หนังสือการ์ตูน เกม และภาพยนตร์เสียแทน และไม่น่าเชื่อว่าตลาดไลท์โนเวลในต้นปี 2007 จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนเฉพาะในญี่ปุ่นถึง 2 หมื่นล้านเยน! นับเป็นจำนวนหนังสือที่จำหน่ายได้ถึง 30 ล้านเล่มต่อปี!

แต่เมื่อกราฟความนิยมไต่สู่จุดสูงสุดของไลท์โนเวลแต่ละเรื่อง สำนักพิมพ์ก็ฉลาดพอที่จะสร้างสื่อใหม่ๆ เพื่อต่อยอดความนิยมให้สูงขึ้นไปอีก นั่นคือที่มาว่าเพราะเหตุใดไลท์โนเวลจึงถูกนำไปสร้างเป็นแอนิเมชั่นและวิดีโอเกมในเวลาต่อมา

ไลท์โนเวลที่โด่งดังจนกลายเป็นตำนานของวงการเห็นจะเป็น Kino no Tabi และ Shakugan no Shana ซึ่งสร้างเป็นแอนิเมชั่นภายหลัง และทำให้นักชมแอนิเมชั่นที่ไม่เคยอ่านไลท์โนเวลมาก่อนให้ความสนใจจนกลับมาซื้อไลท์โนเวลอ่าน สร้างยอดขายระลอกที่สองให้กับวงการไลท์โนเวลอย่างท่วมท้นค่ะ

เนื่องจากอัตราการเติบโตของตลาดที่เร็วเกินกว่าที่คาดไว้ ปัญหาใหญ่ที่ตามมาคือ "นักเขียน" ไม่พอเสียแล้วค่ะ ทางสำนักพิมพ์โชกักกุคังจึงแก้ปัญหานี้ด้วยการริเริ่ม "ไลท์โนเวลอวอร์ด" หรือรางวัลนักเขียนไลท์โนเวลยอดเยี่ยม เพื่อดึงดูดให้นักเขียนสมัครเล่นสร้างผลงานประดับวงการมากขึ้น นักเขียนเหล่านี้ก็ใช่ใครที่ไหน ส่วนใหญ่ก็คือเหล่าแฟนๆ ในวงการการ์ตูนและแอนิเมชั่นทั้งนั้นค่ะ ถ้านักเขียนเหล่านี้ไม่เขียนไลท์โนเวล เขาก็คงไปวาดการ์ตูนหรือเขียนสตอรีบอร์ดให้แอนิเมชั่นอยู่ดี เรียกว่าเป็นผู้มีความสามารถอยู่แล้วเพียงแต่จะแสดงออกทางไหนเท่านั้นเอง

ปัจจุบันนี้คนที่มีค่าที่สุดในวงการการ์ตูนจึงกลับกลายเป็น "นักคิด" ไปเสียแล้ว หมดยุคที่ต้องเรียนวิธีทำแอนิเมชั่นเพื่อมาเป็นแอนิเมเตอร์ และไม่จำเป็นต้องเรียนด้านอักษรศาสตร์เพื่อจะมาเป็นนักเขียน เพราะสิ่งเหล่านั้นมีคนและคอมพิวเตอร์ทำแทนเราได้เป็นกระบุง คนที่จะเป็นเสาหลักของวงการคือใครก็ตามที่สามารถสร้างเอกลักษณ์ให้กับงานของตัวเองได้ คิดอย่างแตกต่างและถ่ายทอดให้คนอื่นเข้าใจได้เช่นเดียวกับที่เราเข้าใจ

ดังนั้น สิ่งที่พ่อแม่ควรพูดเมื่อเห็นลูกอ่านการ์ตูนไม่ใช่ "เลิกอ่านแล้วไปอ่านหนังสือเรียน" แล้วค่ะ แต่เป็น "การ์ตูนเรื่องนี้ทำไมสนุก เขาคิดได้ยังไง แล้วเราจะคิดให้สนุกกว่าเขาได้ยังไง" นะคะ

วันที่ 09 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11201 มติชนรายวัน

03 พฤศจิกายน 2551

Light Novel ยามการ์ตูนถูกเล่าผ่านตัวอักษร [1]

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

หลังจากเล่าการกลายพันธุ์ของหนังสือการ์ตูน (Manga-มังงะ) สู่ภาพเคลื่อนไหวในแอนิเมชั่น (Animation) ไปแล้วจากเรื่อง Detroit Metal City แอนิเมชั่นที่เหมือนฉีกหน้ากระดาษในหนังสือการ์ตูนไปแปะบนจอ วันนี้จะขอเล่าถึงมังงะซึ่งกลายพันธุ์เป็นตัวอักษรล้วนๆ ใน "Light Novel" (ไลท์โนเวล) แม้ชื่อจะบอกว่าเป็น Novel หรือนวนิยาย แต่กลุ่มผู้อ่านและความรู้สึกเมื่ออ่านกลับใกล้เคียงกับการอ่านหนังสือการ์ตูนมากกว่านิยายเยอะค่ะ มหัศจรรย์ไหมคะ

Light Novel (Raito Noberu ในภาษาญี่ปุ่นหรือเรียกสั้นๆ ว่า Ranobe) เป็นคำที่ถือกำเนิดขึ้นในวงการการ์ตูนของญี่ปุ่น หมายถึงนวนิยายที่มีภาพวาดการ์ตูนหรือแอนิเมชั่นประกอบ ส่วนใหญ่เล่มหนึ่งจะมีประมาณ 10-15 ภาพ กระจายอยู่ในตอนต่างๆ ของเล่ม ถ้าลองย้อนนึกถึงนวนิยายที่เรารู้จัก สิ่งที่เราพอจะระลึกได้คือรูปภาพอาจมีอย่างมากที่สุดก็บนปกหน้ากับปกหลัง การเล่ามักจะเน้นคำบรรยายเพื่อให้ผู้อ่านเกิดจินตนาการ นั่นคือนวนิยายในความคิดของคนส่วนใหญ่ค่ะ แต่ไลท์โนเวลมีกลวิธีในการเขียนและเล่าต่างกับนวนิยายอยู่มากทีเดียว

สำหรับการเขียน เนื่องจากไลท์โนเวลเป็นหนังสือที่ออกมาเพื่อรองรับตลาดเด็กและวัยรุ่นมากกว่าวัยผู้ใหญ่ ดังนั้นตัวอักษรคันจิยากๆ ที่ปรากฏในไลท์โนเวลจึงต้องมี "ฟุริงานะ" หรือคำอ่านเป็นตัวอักษรง่ายๆ วางอยู่บนอักษรคันจิเสมอ หากจะเทียบเป็นภาษาไทยก็หมายถึงคำศัพท์ที่ใช้ต้องง่ายเพียงพอที่เด็กอ่านแล้วนึกภาพออก ไม่ใช่เป็นศัพท์หรูหราที่อ่านแล้วเสนาะหูแต่นึกไม่ออกว่าหมายถึงอะไร แน่นอนว่าการใช้ฟุริงานะไม่พบในนวนิยายทั่วไปของญี่ปุ่นค่ะ

อีกจุดหนึ่งคือไลท์โนเวลนิยมเขียนเป็นย่อหน้าสั้นๆ มากกว่าที่พบในนวนิยายซึ่งหน้าหนึ่งอาจมีเพียง 2-5 ย่อหน้า ดังนั้นแต่ละย่อหน้าของไลท์โนเวลจึงอาจมีเพียง 1-2 ประโยคเท่านั้น และหน้าหนึ่งอาจมีเป็นสิบย่อหน้า เนื้อเรื่องส่วนใหญ่ถูกเล่าผ่านประโยคสนทนามากกว่าคำบรรยายเช่นในนวนิยายทั่วไป ดังนั้นภาพที่คนอ่านไลท์โนเวลนึกออกก็คือภาพคนสองคนคุยกัน มากกว่าภาพความรู้สึกนึกคิดของตัวละครแบบเดียวกับนวนิยายยุคเก่า ไลท์โนเวลจึงอ่านจบได้อย่างรวดเร็วเพราะไม่ต้องพิถีพิถันกับการตีความให้วุ่นวาย

หากจะลองเปรียบเทียบความรู้สึกเมื่ออ่านไลท์โนเวลกับการอ่านการ์ตูน เราจะพบว่าเหมือนกันจนน่าตกใจค่ะ ไลท์โนเวลเปิดเรื่องด้วยการบรรยายภาพตัวละครพร้อมทั้งมีภาพประกอบเพื่อให้จินตนาการของเรามีหน้าตาตัวละครอยู่เป็นพื้นฐาน หลังจากนั้นย่อหน้าสั้นๆ ก็เหมือนกรอบหนังสือการ์ตูนที่ต้องการสื่อเพียงว่าสถานที่เกิดเหตุมีลักษณะเป็นอย่างไร ตรงไหนคือโฟกัสที่ควรสนใจ เช่น เหตุเกิดในห้องเรียน และแสงอาทิตย์ยามเย็นที่สาดกระทบกระดานดำก็งดงามจนต้องหยุดยืนมอง เพียงเท่านี้ในหัวเราก็มีภาพช่องการ์ตูนเรียงกัน 3-4 ช่องปรากฏขึ้นมาอัตโนมัติ

ประโยคสนทนาซึ่งปรากฏในไลท์โนเวลคือตัวแทนของบอลลูนหรือช่องคำพูดในการ์ตูน โดยปกติเราอ่านการ์ตูน เคยสังเกตไหมคะว่าพอกลับมาอ่านอีกครั้ง จะมีบางภาพที่เราจำไม่ได้ว่าเคยเห็น นั่นเพราะเวลาอินกับการ์ตูนเต็มที่เราจะเผลออ่านแต่ช่องคำพูดในบอลลูนซึ่งเพียงพอต่อการสื่อความรู้สึกให้เข้าใจโดยเผลอมองผ่านภาพตัวการ์ตูนไป (เพราะภาพมันก็ไม่ค่อยต่างกับช่องที่ผ่านมาเท่าไร) การอ่านประโยคสนทนาในไลท์โนเวลจึงให้ความรู้สึกเช่นเดียวกับการอ่านการ์ตูนเปี๊ยบเลยค่ะ

เนื่องจากไม่ใช่ทุกคนที่จะมีฝีมือในการวาดภาพ ดังนั้นนักเล่าเรื่องชั้นดีหลายคนซึ่งมีพรสวรรค์ในการสร้างผลงานการ์ตูนเจ๋งๆ จึงใช้ไลท์โนเวลเป็นเวทีหนึ่งในการนำเสนอผลงานของตัวเอง นักเขียนไลท์โนเวลไม่จำเป็นต้องมีศิลปะในการใช้ภาษาชั้นสูงและไม่จำเป็นต้องวาดภาพได้ (เพราะนักเขียนกับนักวาดภาพประกอบมักเป็นคนละคนกัน) เพียงแค่สามารถลำดับเรื่องราวให้น่าสนใจและสร้างคำพูดที่สื่อความรู้สึกออกมาได้ก็เพียงพอแล้วต่อการเป็นนักเขียนไลท์โนเวลค่ะ

ในไทยเองก็มีไลท์โนเวลที่เขียนจากฝีมือคนไทยออกมาขายเยอะมากนะคะ ขอย้ำว่าเยอะมากๆ! บางครั้งกินที่บนชั้นวางมากกว่าหนังสือนิยายแปลเสียด้วยค่ะ ลองสังเกตชั้นวางนิยายรักตามร้านหนังสือที่วาดปกเหมือนการ์ตูนและมีภาพการ์ตูนประกอบข้างในค่ะ ไม่น่าเชื่อว่าวงการนี้เติบโตอย่างรวดเร็วกว่าที่หลายคนคาดและสร้างนักเขียนรุ่นใหม่จำนวนมาก ถึงขนาดสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ บางแห่งแตกสำนักพิมพ์ลูกที่พิมพ์เฉพาะไลท์โนเวลอย่างเดียวเลยค่ะ

ครั้งหน้าเล่าต่อถึงกระแสความนิยมไลท์โนเวลและการต่อยอดไปสู่ธุรกิจการ์ตูนและแอนิเมชั่นซึ่งปฏิวัติวงการวันแมนโชว์เช่นในอดีตค่ะ

วันที่ 02 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11194 มติชนรายวัน