29 สิงหาคม 2552

ตุ๊กตาปลอมระบาดในไทย (1)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

สัปดาห์ก่อนเล่าให้ฟังเรื่องคดีมิวสิควิดีโอของเกาหลีลอกฉากหนึ่งในแอนิเมชั่น (ภาพยนตร์การ์ตูน) ของญี่ปุ่นส่งผลให้ต้องจ่ายเงินชดเชย 400 ล้านวอน ไปแล้ว สัปดาห์นี้ก็ได้ยินข่าวสินค้าเลียนแบบอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้รู้สึกเศร้าใจค่ะเพราะครั้งนี้คาดว่าคนไทยจะก๊อบปี้เสียเอง เป็นการก๊อบปี้ตุ๊กตาบอลล์จอยท์ดอลล์ (ball joint doll-BJD) ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย ก่อนที่จะไปดูว่าตกลงก๊อปหรือไม่ก๊อป คนไทยทำจริงหรือไม่ ลองมาดูสักนิดนะคะว่าตุ๊กตา BJD คืออะไร ทำไมต้องทำของเลียนแบบออกมาขายกันและทำไมจึงไม่ควรสนับสนุน

BJD คือตุ๊กตาที่สร้างจากเรซิ่นซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายพลาสติคแข็ง คุณภาพของ BJD และราคาขึ้นกับหน้าตา ระบบข้อต่อ และคุณภาพเรซิ่นเป็นหลักค่ะ แน่นอนว่าถ้าปั้นออกมาสวยและข้อต่อช่วยในการโพสท่าได้หลายหลายเท่าไรก็จะยิ่งแพงมากขึ้น ส่วนเรซิ่นของ BJD ชั้นดีมักจะดูนวลเนียนเหมือนผิวคนจริงๆ ประเทศที่ผลิตและจำหน่ายอย่างกว้างขวางคือญี่ปุ่นและเกาหลีโดยบริษัทที่ผูกขาดตลาด BJD ในญี่ปุ่นชื่อ "โวคส์" (Volks) ส่วนในเกาหลีมีมากมายหลายเจ้าเลยค่ะ มีผู้ผลิตจากจีนและตะวันตกบ้างแต่ก็ไม่ใช่ตลาดที่ใหญ่นักเมื่อเทียบกับสองประเทศนี้

สิ่งที่ทำให้ BJD เป็นของที่หลายท่านอยากได้แต่ไม่มีโอกาสเป็นเจ้าของก็เพราะ "ราคา" นี่ล่ะค่ะ สำหรับ BJD ขนาดใหญ่ (สูงประมาณ 60-70cm) ราคาตั้งแต่ตัวละเกือบสองหมื่นบาทไปจนถึงเกือบแสนบาทก็มีค่ะ! ถ้าจินตนาการถึงตุ๊กตาราแพงขนาดนี้แล้วนึกภาพไม่ออก ลองคิดถึงกระเป๋าแบรนด์เนมนะคะ สาวๆ ที่อยากถือของแพงแต่ไม่มีเงินพอจะซื้อและตัดใจไม่ลงมักจะทำอย่างไร คำตอบคือบางคนเลือกซื้อของปลอมและหลอกตัวเองว่า "เพราะฉันไม่รวย ใช้ของปลอมก็พอแล้ว" ซึ่งเป็นค่านิยมที่ไม่ถูกต้องค่ะ

กลับมาที่ BJD บ้าง ความที่เรซิ่นราคาไม่กี่ร้อยบาทสามารถขายได้ในราคาหลายพันบาททำให้มีพ่อค้าไร้คุณธรรมกลุ่มหนึ่งนำแบบตุ๊กตา BJD ของบริษัท Volks ไปหล่อใหม่ด้วยเรซิ่นคุณภาพต่ำกว่าของแท้เพื่อขายตัดราคา จากประกาศเตือนของ Volks เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาทำให้ทราบว่าสินค้าเลียนแบบเหล่านี้ผลิตในจีน และที่น่ากลัวกว่านั้นคือนำไปประมูลขายทางเว็บไซต์ประมูล Yahoo! auction ในญี่ปุ่นเย้ยของแท้เลยค่ะ! นอกจากคนซื้อจะตกเป็นเหยื่อเสียเงินจำนวนมากโดยไม่ทราบว่าซื้อของปลอมมาแล้ว การผลิต จำหน่าย และเป็นเจ้าของสินค้าเลียนแบบเหล่านี้ถือว่าผิดกฎหมายเลยล่ะค่ะ คนที่ซื้อไปนอกจากจะโดนหลอกให้ซื้อของปลอมแล้ว ยังกลายเป็นอาชญากรที่ครอบครองของปลอมด้วย

มีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับการลอกผลงานผู้อื่นค่ะ เมื่อไม่กี่วันก่อนอ่านในเว็บบล็อกของท่านหนึ่งว่าด้วยการ "ห้ามคลิกขวา" ผู้เขียนท่านนั้นเล่าว่าเว็บไซต์ที่ห้ามคลิกขวา (หมายถึงไม่สามารถก็อปปี้ภาพหรือเนื้อหาในเว็บไซต์ไปเผยแพร่ต่อได้เพราะการก็อปปี้ต้องคลิกขวาที่เมาส์ก่อน) ย่อมมีเจตนาไม่ต้องการให้ใครลอกเลียนแบบหรือนำไอเดียที่เจ้าของเว็บไซต์คิดขึ้นมาอย่างเหน็ดเหนื่อยไปใช้ต่อโดยอ้างว่าเป็นผลงานของตัวเอง สิ่งที่น่าตกใจคือคนที่เข้ามาตอบ (คนไทย) หลายคนบอกว่ามันเป็นการปิดกั้นวัฒนธรรม, ไม่รู้จักแบ่งปัน, จะหวงไว้ทำไม, ก็ฉันคิดไม่ได้ฉันก็เลยลอก ใครมันจะไปรู้ ฯลฯ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนเหล่านี้ไม่มีจิตสำนึกในคุณค่าของนวัตกรรมที่ต้องใช้ทั้งเวลาและความสามารถในการคิดแม้แต่น้อย คนที่คิดว่าการลอกเป็นเรื่องปกติย่อมเป็นคนที่ไม่เคยคิดอะไรด้วยตัวเองเลย การรู้สึกเฉยเมยต่อการลอกจึงเป็นค่านิยมผิดๆ ที่น่าเศร้าค่ะ

เรื่องที่น่าเศร้ากว่านั้นคือเมื่อวันก่อน เพื่อนที่มาเรียนต่ออยู่ประเทศเดียวกันแอบกระซิบถามว่าทำยังไงถึงจะเขียนบทความวิชาการส่งอาจารย์ได้เยอะๆ เราใช้วิธีก๊อบปี้มาจากบทความหลายๆ ฉบับแล้วแปะดีมั้ย ฟังแล้วแทบเป็นลมเลยค่ะ! ได้แต่มองหน้าเขาอย่างตะลึงแล้วบอกว่าการลอกงานเขียนโดยเฉพาะผลงานวิชาการมันไม่ถูกต้องนะ ไม่ควรแม้แต่จะคิด งานวิชาการระดับปริญญาเอกถ้าไม่ใช่ความคิดของตัวเองแล้วมันจะไปมีค่าอะไร

มึนงงกับเรื่องลอกเลียนแบบอยู่พักหนึ่ง สหายก็ส่งข่าวมาว่ามี BJD เลียนแบบออกมาระบาดในไทยแถมฝีมือคนไทยทำเสียด้วย! ภาพที่เห็นวันนี้คือ BJD ของจริงค่ะ เป็นสาวน้อยชื่อ Ani ของบริษัท Luts ในเกาหลี สัปดาห์หน้ามาดูค่ะว่าของเลียนแบบในไทยหน้าตาเป็นเช่นไร

วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11495 มติชนรายวัน

23 สิงหาคม 2552

ปิดฉากคดีลอกแห่งทศวรรษ สแควร์อีนิกซ์ฆ่าได้หยามไม่ได้

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

นับเป็นคดีที่ยืดเยื้อมายาวนานและปิดฉากลงพร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากวงการการ์ตูนค่ะ คดีนี้เกิดจากบริษัทสแควร์อีนิกซ์ของญี่ปุ่นเจ้าของลิขสิทธิ์แอนิเมชั่น (ภาพยนตร์การ์ตูน) เรื่อง "ไฟนอลแฟนตาซี 7 แอดเวนท์ชิลเดรน" (Final fantasy VII Advent Children : FFVIIAC) แอนิเมชั่นซึ่งสร้างต่อเนื่องจากเกมไฟนอลแฟนตาซี 7 และวางจำหน่ายในญี่ปุ่นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2005 ฟ้องร้องบริษัทแฟนท่อมเอ็นเตอร์เทนเมนท์ในเกาหลีที่ปล่อยมิวสิควิดีโอเพลง "Temptation Sonata" ของนักร้องสาวชาวเกาหลี "ไอวี่" ออกมาเมื่อปี 2007 โดยภาพที่ปรากฏในมิวสิควิดีโอเกือบทั้งหมดเหมือนฉากหนึ่งใน FFVIIAC เรียกว่าแทบจะถ่ายภาพมาทาบได้เฟรมต่อเฟรม

มิวสิควิดีโอลอกสะท้านวงการชุดนี้เรียกได้ว่าทุกคนที่ดูไม่มีใครใช้คำว่า "ได้รับอิทธิพล" หรือ "ได้รับแรงบันดาลใจ" เลยค่ะ ยอมรับว่า...ลอกได้เหมือนมาก ในที่สุดเมื่อเดือนธันวาคมปี 2007 ศาลชั้นต้นของเกาหลีใต้ตัดสินว่าบริษัทแฟนท่อมผิดจริง โดยให้เหตุผลว่า 80% ของมิวสิควิดีโอนี้ใช้เนื้อหา, มุมกล้อง, การแสดง และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายจาก FFVIIAC ศาลชั้นต้นพิพากษาให้หยุดการเผยแพร่และจำหน่ายมิวสิควิดีโอนี้ ส่วนบริษัทแฟนท่อมและผู้กำกับฯมิวสิควิดีโอต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินรวมกันประมาณ 16 ล้านวอน ผู้กำกับฯทั้งสองยื่นอุทธรณ์ต่อ แต่ทั้งสองก็ยังคงแพ้คดีและจบการพิจารณาในชั้นอุทธรณ์เมื่อเดือนมีนาคม 2008 โดยจำนวนเงินค่าปรับเพิ่มเป็น 300 ล้านวอน!

เรื่องควรจะจบเพียงเท่านี้ค่ะเพราะนอกจากแฟนท่อมเอ็นเตอร์เทนเมนท์จะชื่อเสียงป่นปี้แล้ว การลอกสะท้านวงการครั้งนี้ทำให้ภาพพจน์ของกระแสวัฒนธรรมเกาหลีฟีเวอร์เสียหายหนักขึ้น อย่างน้อยก็ในสายตาของคนเล่นเกมและดูการ์ตูน แต่เรื่องกลับไม่จบเมื่อทางแฟนท่อมยื่นเรื่องต่อศาลสูง (High court) ในเกาหลีอีกครั้ง ในที่สุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2009 ที่ผ่านมานี้เอง ศาลสูงได้พิจารณาให้บริษัทแฟนท่อมและผู้กำกับฯชดใช้ค่าเสียหายเพิ่มขึ้นอีกเป็น 400 ล้านวอน (ประมาณ 11 ล้านบาท) ไม่แน่ใจว่าทางแฟนท่อมจะยื่นเรื่องต่อ Supreme Court อีกหรือไม่ค่ะ คงต้องคอยติดตามข่าวต่อไป

มาดูประวัติของเกมไฟนอลแฟนตาซี 7 (FFVII) และ FFVIIAC สักนิดนะคะว่าทำไมทางสแควร์อีนิกซ์ถึงแค้นน่าดู FFVII เป็นเกมในซีรีส์ไฟนอลแฟนตาซีซึ่งกำเนิดในปี 1987 โดยมีเนื้อหาแตกต่างกันไปทุกภาค ภาค 7 ออกจำหน่ายในปี 1997 ผ่านระบบเครื่องเล่นเพลย์สเตชั่นของ Sony นอกจากภาพสวย เพลงเพราะ และตัวละครโดดเด่นแล้ว เนื้อหาของเกมนี้ได้แยกย่อยไปเป็นเกมอื่นๆ และนวนิยายอีกเป็นกุรุส จนกระทั่งปี 2005 เมื่อแอนิเมชั่น FFVIIAC ออกจำหน่ายจึงช่วยปลุกกระแสความนิยม FFVII ขึ้นมาอีกครั้ง แอนิเมชั่นเรื่องนี้คว้ารางวัลมากมายและกวาดรายได้ไปเพียบ เรียกว่าเป็นบ่อเงินบ่อทองของสแควร์อีนิกส์เลยก็ว่าได้ ในปี 2006 สามารถทุบสถิติเป็น DVD แอนิเมชั่นที่ยอดขายสูงสุดของอเมริกาและยุโรปเลยค่ะ (1.4 ล้านแผ่น) แถมยังมีของสะสมออกมากินเงินแฟนๆ ไปอีกบานตะไท

ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2009 ที่ผ่านมา ทางสแควร์อีนิกซ์ปล่อย "FFVIIAC Complete" ซึ่งเป็น FFVIIAC ในแบบความละเอียดสูงพร้อมเนื้อหาเพิ่มเติมและออปชั่นเสริมมากมาย จำหน่ายได้ 1 แสนแผ่นในการเปิดขายวันแรกที่ญี่ปุ่นค่ะ เป็น 12 ปีแห่งความนิยมใน FFVII ที่ไม่จืดจางจริงๆ

คดีนี้น่าจะเป็นตัวอย่างให้คนที่คิดจะลอกระลึกได้ค่ะว่าข้อมูลข่าวสารสมัยนี้เร็วเกือบเท่าความไวแสงแล้ว ลอกอยู่ส่วนหนึ่งบนโลก อีกชั่วโมงต่อมาคนอีกซีกโลกอาจจะรู้แล้ว โดยเฉพาะดันมาลอก FVIIAC ซึ่งเหมือนอู่ข้าวอู่น้ำของสแควร์อีนิกซ์เช่นนี้

ไม่แปลกใจเลยค่ะที่สแควร์อีนิกซ์จะออกมาตอบโต้ว่า เรื่องนี้ฆ่าได้หยามไม่ได้ และลอกก็ไม่ได้เหมือนกัน

วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11488 มติชนรายวัน

20 สิงหาคม 2552

Nasu มะเขือม่วงกับนักปั่นแข้งทอง (3)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

สองสัปดาห์ก่อนเล่าให้ฟังถึงแอนิเมชั่นเรื่อง Nasu ซึ่งกล่าวถึงนักปั่นจักรยานมืออาชีพที่ต้องต่อสู้กับแรงกดดันมากมาย นอกจากเพื่อเอาชนะในเกมแล้ว เขายังต้องเอาชนะตัวเองและรู้จักเสียสละเพื่อชัยชนะของทีมด้วย ผลงานเรื่อง Nasu ทั้งสองภาคกำกับโดยผู้กำกับ "โคซากะ คิทาโร่" ซึ่งเป็นที่รู้จักมาก่อนในฐานะผู้กำกับแอนิเมชั่น (Animation director and supervisor) ของ Studio Ghibli สตูดิโอแอนิเมชั่นที่โด่งดังที่สุดในญี่ปุ่น เขามีส่วนร่วมในผลงานที่โด่งดังของ Ghibli เกือบทุกชิ้นรวมถึง Spirited Away ที่ได้รับรางวัลออสการ์ด้วย ลองมาดูบทสัมภาษณ์ของเขาโดยคุณมาร์โก้ เบลลาโน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2009 ที่ผ่านมา ณ งานภาพยนตร์แอนิเมชั่นเมืองตูริน ถอดความจาก www.ghibliworld.com นะคะ

คุณมาร์โก้ถามผู้กำกับโคซากะในฐานะที่เป็นผู้กำกับแอนิเมชั่น (หมายถึงผู้ดูแลการผลิตงานที่เกี่ยวกับ "ภาพ" ทั้งหมด) ของ Studio Ghibli ว่าอะไรที่ทำให้งานภาพและโปรดักชั่นของ Ghibli ออกมามีมิติล้ำลึกกว่างานแอนิเมชั่นอื่น ผู้กำกับโคซากะตอบได้สมกับเป็นแอนิเมเตอร์ค่ะ เขาบอกว่าแม้ผลงานของ Ghibli ส่วนใหญ่จะเป็นแนวแฟนตาซีและเน้นจินตนาการมากกว่าเรื่องเล่าทั่วไปในชีวิตประจำวัน แต่แท้จริงแล้วผลการการ์ตูนของค่ายนี้ต่างจากการดูการ์ตูนแฟนตาซีที่ทำให้คนดูซื้อตั๋วท่องไปในโลกแห่งความฝันที่เห็นได้ทั่วไปตามท้องตลาด แท้จริงแฟนตาซีในแบบของผู้กำกับมิยาซากิ ฮายาโอะแห่ง Ghibli (เจ้านายของผู้กำกับโคซากะและเป็นผู้กำกับแอนิเมชั่นที่เทพที่สุดในประวัติศาสตร์วงการการ์ตูนญี่ปุ่น) คือการนำเสนอภาพ "ความเป็นจริง" ในอีกแง่มุมหนึ่ง เนื่องจากภาพความเป็นจริงมันดูน่ากลัวเกินไป งานของ Ghibli จึงนำเสนอสิ่งเหล่านี้ด้วยมุมมองใหม่ที่รื่นรมย์มากขึ้น ตัวอย่างเช่นต้นหญ้าเล็กๆ ซึ่งหากเรามองเห็นภาพจริงเราคงไม่ได้รู้สึกอะไรนอกจาก "เขียวดี" แต่งานภาพของ Ghibli สร้างมุมมองด้วยการวาดและใช้สีที่ทำให้คนดูรู้สึกสดชื่นและเป็นสุขได้แม้จะเป็นภาพของต้นหญ้าที่เห็นอยู่ทุกวันก็ตาม นี่คือแฟนตาซีในแบบของ Ghibli ซึ่งให้ความสำคัญกับภาพ สี และการเคลื่อนไหวอย่างมากนั่นเอง

คุณมาร์โก้ถามต่อถึง Nasu ผลงานที่ผู้กำกับโคซากะลุยร่วมกับ Studio Madhouse บ้าง สังเกตว่าผลงานเรื่อง Nasu กล่าวถึงการแข่งจักรยานทางไกลซึ่งดู "สมจริง" ต่างจากงานแฟนตาซีของ Ghibli มาก แล้วจริงๆ เขาชอบงานแนวไหนกันแน่ ผู้กำกับโคซากะตอบตรงไปตรงมาว่าเขาชอบแนวสมจริงแบบ Nasu มากกว่าค่ะ ในความเป็นจริงใช่ว่าทุกคนจะได้ทำงานในสิ่งที่ตนชอบแต่เขาก็ไม่ได้เกลียดงานแนวแฟนตาซีของผู้กำกับมิยาซากินะคะ เขาบอกว่าผู้กำกับมิยาซากิคือยอดครูที่ทำให้เขาได้เรียนรู้การเล่าเรื่อง (storytelling) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำให้การ์ตูนดูแล้วสนุก เขาได้เรียนรู้การทำงานภาพแอนิเมชั่นด้วยเช่นกันแต่ผู้กำกับมิยาซากิก็ไม่ได้เป็นครูที่ดีเท่าไหร่ พูดง่ายๆ คือเป็นอัจฉริยะที่เต็มไปด้วยพรสวรรค์แต่สอนไม่เป็นน่ะค่ะ ดังนั้น วิธีการเรียนรู้ของผู้กำกับโคซากะคือ "อะไรที่เป็นเทคนิค เราต้องขโมยมาด้วยตัวเอง" คือต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองไม่ต้องรอให้อาจารย์สอน

สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากความสำเร็จของผู้กำกับโคซากะ คือทุกสิ่งรอบตัว คือการเรียนรู้ซึ่งเราจะเรียนรู้ได้หรือไม่ก็ขึ้นกับความสามารถในการตักตวงของเราเอง อย่ารอพึ่งครูเพียงอย่างเดียว และแม้สิ่งที่ทำอยู่จะยากลำบากและไม่ได้เป็นสิ่งที่รักอย่างแท้จริง สุดท้ายความรู้ที่ตักตวงมาตลอดก็จะทำให้สามารถสร้างงานที่เรารักได้อย่างดีเยี่ยมสมความเหนื่อยยากค่ะ

ความสำเร็จชั่วข้ามคืนของผู้กำกับโคซากะจึงมาจากความอดทนและตั้งใจเรียนรู้ตลอดหลายสิบปีนั่นเอง น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการเรียนรู้ทุกวันนี้นะคะ นอกจากต้องการครูดี สื่อการสอนดี เรายังต้องการนักเรียนที่ดีและมุ่งมั่นด้วยเช่นกัน

วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11481 มติชนรายวัน

13 สิงหาคม 2552

Nasu มะเขือม่วงกับนักปั่นแข้งทอง (2)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

สัปดาห์ก่อนเล่าให้ฟังถึงงานแอนิเมชั่นเกี่ยวกับนักกีฬาจักรยานมืออาชีพที่เล่าผ่านมะเขือดองน้ำมันมะกอก วันนี้ "เปเป้" ตัวเอกของเรื่องมาแข่งเจแปนทัวร์พร้อมกับลิ้มรสมะเขือม่วงดองแบบญี่ปุ่นในภาคต่อของ Nasu (แปลว่ามะเขือม่วง) ชื่อตอน A Migratory Bird with Suitcase ซึ่งได้รับรางวัล Tokyo Anime Award สำหรับผลงานแบบ Original Video Category (จำหน่ายเป็น DVD โดยไม่ฉายโรงหรือทีวี) ในปี 2008 ที่ผ่านมา สิ่งที่หนังภาคต่อจะต้องโดนเสมอคือการ "เปรียบเทียบกับภาคแรก" และ Nasu ภาคต่อนี้ก็ทำได้ดีกว่าภาคแรกอย่างชัดเจนเลยค่ะ

เรื่องยังคงเล่าผ่าน "เปเป้" นักปั่นน่องเหล็กชาวสเปนสังกัดทีมเปาเปาเบียร์ของเบลเยียม ก่อนที่เขาและทีมจะเดินทางไปแข่งเจแปนทัวร์ ข่าวร้ายในวงการก็แพร่ไปทั่วเมื่อ "มาร์โก้" นักปั่นชาวอิตาลีซึ่งเป็นฮีโร่ของวงการฆ่าตัวตายด้วยการกินยานอนหลับเกินขนาด ความตายของเขานอกจากทำให้เปเป้และแฟนๆ ของมาร์โก้เสียใจมากแล้ว เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อนักกีฬาอีกสองคน คนหนึ่งคือ "ซานโคนี่" เพื่อนร่วมทีมของมาร์โก้ซึ่งเป็นมือหนึ่งในวงการเมื่อปีก่อน อีกคนหนึ่งคือ "จอจจี้" เพื่อนร่วมทีมของเปเป้ซึ่งเกิดเมืองเดียวกับมาร์โก้และเป็นเพื่อนสนิทกันมาตลอด

จอจจี้บอกกับเปเป้ว่าเขาจะลาออกจากทีมในปีนี้เพื่อรับช่วงกิจการของครอบครัวเนื่องจากเขาไม่มี "ออร่า" ของผู้ชนะดังเช่นที่มาร์โก้หรือซานโคนี่มี พูดง่ายๆ คือแข่งต่อไปก็มีแต่จะเป็นได้แค่ไม้ประดับในทีม จอจจี้บอกว่า "ชีวิต" ควรจะเป็นการได้อยู่กับครอบครัว กินเท่าที่อยากกิน และเป็นหวัดก็กินยาแก้หวัดได้ แต่เป็นที่ทราบดีว่านักกีฬาน่องเหล็กต้องเดินสายแข่งขันทั่วโลกจนไม่มีเวลาอยู่บ้าน ต้องควบคุมน้ำหนักอย่างเคร่งครัดและห้ามกินยาแก้หวัดซึ่งตรวจพบได้ในการตรวจปัสสาวะหาสารกระตุ้น แต่เปเป้กลับคิดตรงข้าม เขาบอกว่าสิ่งที่เราทำคือการอดเปรี้ยวไว้กินหวานในวันข้างหน้า แม้คนอื่นจะมองว่าเขาอดทนสู้ความลำบากอย่างเต็มที่แต่เปเป้กลับคิดว่าเขาไม่ได้ลำบากอะไร

"ฉันมีดีแค่ที่ร่างกายเท่านั้นนี่นา"

เปเป้บอกเป็นนัยว่านี่คืองานที่ดีที่สุดที่เขาสามารถทำได้นั่นเอง การฝึกซ้อมอย่างหนักจึงไม่ใช่ความทุกข์สำหรับเขา วันที่ลงแข่งไม่ได้ต่างหากถึงจะเรียกว่าทุกข์อย่างแท้จริง

Nasu ภาคสองนี้นำเสนองานโปรดัคชั่นได้เทียบเท่า Ghibli ต้นสังกัดของผู้กำกับฯ "โคซากะ คิทาโร่" ผู้กำกับเรื่องนี้จริงๆ ค่ะ มุมกล้องสวยๆ โผล่มาให้ตื่นเต้นเยอะมาก แต่ที่ดีขึ้นชัดเจนกว่าภาคแรกคือ "ความสมดุลของเนื้อเรื่อง" ซึ่งทำให้ดูสนุกจนแทบลุกจากที่นั่งไม่ได้เลยตลอดเรื่อง

ความสมดุลเกิดจากมุมมองชีวิตของคนสามคนหลังการจากไปของมาร์โก้ คนแรกคือ "ซานโคนี่" ที่เสียเพื่อนร่วมทีมและคู่แข่งที่ดีไปจนทำให้เขาเดินเข้าสู่ความมืดและค้นหาว่าเขาต่อสู้ทุกวันนี้เพื่ออะไรกันแน่ อะไรคือชัยชนะที่แท้จริงสำหรับเขา คนที่สองคือ "จอจจี้" ที่เคยแต่วิ่งตามแผ่นหลังของมาร์โก้มาตลอดและไม่รู้ว่าจะวิ่งตามใครต่อไปดี เขาเดินอยู่ในความมืดมาตลอดแต่บางอย่างทำให้เขามองเห็นแสงสว่างในท้ายที่สุด คนสุดท้ายคือ "เปเป้" ที่มีมาร์โก้เป็นฮีโร่ในใจและเกิดมาเพื่อชนะแต่เขาก็ได้เรียนรู้ว่าชัยชนะของทีมสำคัญกว่าชัยชนะของเขาเอง เรื่องยังเล่าผ่านมุมมองจากจุดเล็กๆ ของ "ฮิคารุ" สาวน้อยผู้ช่วยในทีมซึ่งอยากมีส่วนร่วมในความสำเร็จด้วยการดูแลนักกีฬาอย่างเต็มที่ กับน้องชายของฮิคารุที่เฝ้ามองเหล่านักแข่งด้วยดวงตาที่เปี่ยมด้วยความชื่นชม ทุกส่วนเล่าได้สมดุลทั้งสุข โศก ตลก และซาบซึ้งจนดูซ้ำได้หลายๆ รอบไม่มีเบื่อ เรียกว่าเป็นผลงานที่ดีสมกับรางวัลที่ได้รับเลยล่ะค่ะ

สัปดาห์หน้ามาทำความรู้จักผู้กำกับฯ "โคซากะ คิทาโร่" สักนิดว่าเขามีแนวคิดอย่างไรในการสร้างผลงานแอนิเมชั่นของตัวเองและอะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จ งวดหน้าค่ะ

วันที่ 09 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11474 มติชนรายวัน

08 สิงหาคม 2552

Nasu มะเขือม่วงกับนักปั่นแข้งทอง (1)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

วันนี้เจอเพื่อนชาวอิตาลีนั่งกินพาสต้าอยู่ก็เลยชวนคุยเรื่องอาหารค่ะ หนึ่งในอาหารอิตาลีที่เราไม่ค่อยคุ้นหูคือ "มะเขือดองในน้ำมันมะกอก" พอพูดถึงมะเขือดองก็ต้องนึกถึงอาหารญี่ปุ่นแต่เจ้ามะเขือดองแบบนี้กลับเป็นอาหารแถบยุโรปและกลายมาเป็นธีมหลักของแอนิเมชั่น (ภาพยนตร์การ์ตูน) เสียด้วย ทีแรกคิดว่าต้องเป็นการ์ตูนทำอาหารแน่แต่คาดผิดไปไกลค่ะ เรื่อง "Nasu" (แปลว่ามะเขือม่วง) คือเรื่องของนักกีฬาจักรยานมืออาชีพผู้เลือกเดินบนเส้นทางนักสู้ที่มีแต่ความยากลำบาก

Nasu สร้างขึ้นจากหนังสือการ์ตูนชื่อเดียวกันโดย "คุโรดะ อิโออุ" ส่วนแอนิเมชั่นกำกับโดย "โคซากะ คิทาโร่" ความโดดเด่นของเขาคือเป็นสตาฟฟ์เก่าแก่ใน Studio Ghibli สตูดิโอที่โด่งดังที่สุดในญี่ปุ่น เขาดูแลงานแอนิเมชั่นของ Ghibli หลายชิ้น เช่น Howl"s Moving Castle, นาอูชิก้า, ปริ๊นเซสโมโนโนเกะ, Spirited away ซึ่งได้รับออสการ์, และล่าสุดคือ Ponyo ดังนั้น คิดไว้ในใจได้ว่า Nasu จะเป็นผลงานที่ภาพสวยและมุมกล้องแจ่มแน่ๆ

Nasu ภาคแรกชื่อว่า Summer in Andalusia สร้างขึ้นในปี 2003 โดยเล่าถึงช่วงเวลาหนึ่งในความทรงจำของ "เปเป้ เบเนเกลี่" นักปั่นชาวสเปนสังกัดทีมเปาเปาเบียร์ของเบลเยียม เขาได้มาแข่งที่เมืองบ้านเกิดพร้อมกับความกดดันมากมาย อย่างแรกคือสปอนเซอร์ไม่ปลื้มและคิดจะไล่เขาออกจากทีมหลังสิ้นสุดการแข่งขันครั้งนี้ และอีกเรื่องหนึ่งคืออดีตคนรักกำลังจะแต่งงานกับพี่ชายของเขาเองในขณะที่เขากำลังแข่งขันอยู่

เมื่อเทียบงานแอนิเมชั่นที่สร้างในช่วงเวลาเดียวกัน Nasu ภาคแรกถือว่าใช้เทคนิคภาพอยู่ในเกณฑ์ดีสมศักดิ์ศรีที่เอาผู้กำกับแอนิเมชั่นของ Ghibli มากำกับค่ะ เล่าเรื่องได้กระชับเหมือนดูเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งจบในเวลา 45 นาที โดยปกติเวลาดูแอนิเมชั่นเราอาจจะพิจารณาว่าแจ่มไม่แจ่มได้จากสามองค์ประกอบหลักคือ "สนุก เสน่ห์ และสร้างสรรค์" (storytelling, characters, and production values) คือเล่าเรื่องได้สนุกและลื่นไหลสมดุลตลอดทั้งเรื่องหรือไม่ ตัวการ์ตูนมีเสน่ห์ให้เราจดจำถึงขนาดเอามาวาดเองได้หรือเปล่า และโปรดัคชั่นของผลงานโดยรวมดูดีและเนียนกว่าที่มือสมัครเล่นทำแค่ไหน Nasu ภาคแรกอยู่ในระดับ "กลางๆ ค่อนไปทางดี" ของทุกข้อค่ะ แต่งานภาพและโปรดัคชั่นเด่นขึ้นมากกว่าสนุกและเสน่ห์เยอะหน่อย

แม้จะดูสนุกและลื่นไหล แต่สิ่งที่ทำให้รู้สึก "ไกลตัว" อย่างบอกไม่ถูกคงเพราะเนื้อเรื่องและตัวการ์ตูนทั้งหมดไม่มีอะไรเป็นญี่ปุ่นเลย สถานที่และวัฒนธรรมเป็นต่างชาติทั้งหมด กระทั่งแนวคิดของเปเป้ตัวเอกเองยังดูไม่ค่อยสร้างแรงบันดาลใจตามแบบแอนิเมชั่นญี่ปุ่นนัก เปเป้บอกเราตอนจบการแข่งขันว่าสิ่งเดียวที่คนไม่ค่อยฉลาดและเกิดในครอบครัวชั้นกลางอย่างเขาสามารถทำเพื่อถีบตัวเองให้กลายเป็นคนดังและร่ำรวยได้คือเป็นนักกีฬานี่ล่ะค่ะ มันก็ดูสมจริงดีแต่แอนิเมชั่นที่ดูแล้วสนุกอย่างเดียวก็ไม่ต่างอะไรกับกินลูกกวาด คือตอนกินก็อร่อยดี ให้พลังงานสูง แต่คุณค่าทางอาหารไม่มากพอที่จะทำให้เรากินแล้วเติบโตได้ เจ้าคุณค่าทางอาหารที่ผู้กำกับฯโคซากะขาดไปในระหว่างที่งานของ Ghibli โดยมิยาซากิไม่เคยขาดก็คือ "แรงบันดาลใจ" นี่ล่ะค่ะ

ภาคแรกนี้ฉายทางโรงภาพยนตร์ในญี่ปุ่นและได้รับคัดเลือกให้ฉายในงาน Tokyo International Anime Fair ในปี 2004 นอกจากนั้น ยังเป็นแอนิเมชั่นญี่ปุ่นเพียงเรื่องเดียวที่ได้รับคัดเลือกให้ฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์ที่ Cannes ฝรั่งเศสอีกด้วย สี่ปีต่อมาผู้กำกับฯโคซากะได้สร้าง Nasu อีกภาคหนึ่งขึ้นมาซึ่งทำให้นักวิจารณ์ยอมรับว่าเขาพัฒนาขึ้นจนสร้างงานในระดับชั้น "เทียบเท่า Ghibli" ได้ในที่สุด เก็บไว้เล่าต่อตอนหน้าค่ะ

วันที่ 02 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11467 มติชนรายวัน