26 ธันวาคม 2552

Super Dunker การ์ตูนไทยกับรางวัลอินเตอร์(2)

คอลัมน์มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ต่อจากสัปดาห์ก่อนที่เล่าถึงการ์ตูนเรื่องSuper Dunker สตรีทบอลสะท้านฟ้า ผลงานของคุณต้น-
จักรพันธ์ ห้วยเพชร ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดการ์ตูนนานาชาติ International MANGA Award ครั้งที่ 3 ที่กระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ มาได้จากคู่แข่งหลายสิบชาติ

สิ่งที่น่าวิเคราะห์คือทั้งที่เกณฑ์การตัดสินไม่มีข้อใดเลยที่บอกว่าการ์ตูนดีต้องมีประโยชน์ แต่การ์ตูนของคุณต้นที่ได้รับรางวัลกลับเป็น “ การ์ตูนความรู้” ซึ่งถือเป็นตลาดรองของมังงะในไทย(แต่เป็นตลาดใหญ่ของการ์ตูนฝีมือคนไทย)

มีความเป็นไปได้สองอย่างคือ ถ้าไม่ใช่เพราะวงการ “ การ์ตูนความรู้” ในไทยโชคดีได้นักเขียนที่มีศักยภาพสูงมากเขียนของเครียดให้สนุกได้ ก็อาจจะเป็นเพราะวงการ “ การ์ตูนอ่านสนุก” ในไทยไม่มีตลาดให้นักเขียนมือดีๆไปลง นักเขียนชั้นดีจึงผันตัวมาสร้างการ์ตูนความรู้สำหรับเด็กเสียแทน

แม้ว่าปกติจะไม่ได้อ่านการ์ตูนความรู้เท่าไร เพราะการ์ตูนเหล่านี้เหมาะสำหรับเด็กวัยอนุบาลและประถมน่ะค่ะ แต่เท่าที่ลองไปเปิดอ่านฟรีตามแผงหนังสือท่ามกลางลูกเล็กเด็กแดงที่นั่งอ่านกันแถวนั้นมากมายสิ่งที่น่าจะเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของการ์ตูนความรู้ได้แก่

สนุก-ต้องมาเป็นลำดับแรกเลยค่ะ การ์ตูนความรู้บางเรื่องมองข้ามจุดนี้และคิดว่าเอาสาระยัดใส่บัลลูนคำพูดและวาดรูปเข้าไปเดี๋ยวก็เป็นการ์ตูนเอง นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของความล้มเหลวเลยล่ะค่ะ การ์ตูนต่อให้วาดสวยหรือมีสาระแค่ไหน ถ้าไม่สนุกก็ไม่มีใครอยากหยิบอ่านหรอกค่ะ จักรพันธ์ ห้วยเพชร หรือ คุณต้น
เราโตไปพร้อมตัวการ์ตูน เคยได้ยินไหมคะว่า การสอนลูกที่ดีที่สุดคือการทำให้ดู แต่บางเรื่องเช่นการเล่นบาสเกตบอล พ่อแม่อาจทำให้ดูไม่ได้ ให้ดูรายการกีฬาก็ดีอยู่แต่ลูกจะเรียนรู้เรื่องน้ำใจนักกีฬาหรือความมุ่งมั่นได้จากที่ไหน คำตอบคือจากการ์ตูนนี่ล่ะค่ะ ดังนั้นใครสักคนในการ์ตูนต้องไม่ค่อยฉลาดตอนต้นเรื่อง หลังจากนั้นเขาจะค่อยๆฉลาดขึ้นไปพร้อมกับเรา

ความรู้ อย่าไปอยู่ในช่องการ์ตูนมากนัก การ์ตูนความรู้บางเรื่องคิดว่าเด็กคงไม่ชอบอ่านตัวหนังสือในหน้าแทรกจึงพยายามยัดความรู้ทั้งหมดผ่านบทพูดของตัวการ์ตูน วิธีนี้ไม่ค่อยดีนักเพราะการ์ตูนทำหน้าที่ให้หนังสืออ่านสนุกและเกิดแรงบันดาลใจอยากหาความรู้ในเรื่องนั้นๆต่อ ถ้าเป็นสมัยก่อนพออ่านการ์ตูนแล้วสนใจอยากรู้เรื่องดาราศาสตร์ เราก็ต้องวิ่งไปหยิบหนังสือดาราศาสตร์มาอ่านตามหลัง แต่การ์ตูนความรู้ให้สิ่งสะดวกสบายกว่านั้นคือใส่รายละเอียดความรู้มาให้ในเล่มเลย ไม่ต้องลำบากไปหาหนังสืออ้างอิง
เด็กจะได้ฝึกทักษะการอ่านหนังสือที่ไม่ใช่การ์ตูนไปด้วยค่ะ

ไม่จำเป็นต้องวาดสวยอลังการ หรือมีเนื้อเรื่องเป็นมหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่ เพียงแค่อ่านสนุกและนำพาให้ผู้อ่านเดินตามคุณธรรมที่สอดแทรกอยู่ในการ์ตูนได้ก็เพียงพอต่อการเป็นการ์ตูนความรู้ที่ดีแล้วค่ะ

ปีใหม่นี้แทนที่จะซื้อของเล่นให้เป็นของขวัญเด็กๆลองหันมาซื้อการ์ตูนความรู้ให้เขาดีไหมคะ

ที่มา:มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม 2552

19 ธันวาคม 2552

Super Dunker การ์ตูนไทยกับรางวัลอินเตอร์(1)

คอลัมน์มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ต้องปรบมือดังๆให้คุณต้น จักรพันธ์ ห้วยเพชร นักเขียนการ์ตูนไทยคนแรกที่คว้า Gold Awardหรือรางวัลชนะเลิศการประกวดการ์ตูนนานาชาติ International Manga Award ครั้งที่ 3 ซึ่งกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นเป็นแม่งาน ผลงานของคุณต้นที่ได้รับรางวัลคือ Super Dunker สตรีทบอลสะท้านฟ้าซี่งขณะนี้วางแผงแล้ว 2 เล่มยังไม่จบ หาซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วๆไปแถวๆการ์ตูนความรู้นะคะ

ซุปเปอร์ดังค์เกอร์เป็นเรื่องของ โตโต้ เด็กหนุ่มชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเกาะที่ห่างไกลความเจริญกับคุณพ่อ อยู่มาวันหนึ่ง ร็อคกี้ นักกีฬาบาสเกตบอล NBA ผู้โด่งดังเกิดขับเครื่องบินมาตกเหนือเกาะเขารอดตายมาได้อย่างปาฏิหาริย์ เพราะความช่วยเหลือของ โตโต้และพ่อ แต่ก็ต้องติดเกาะกับลูกบาสเกตบอลหนึ่งลูกท่ามกลางดินแดนที่ไร้ความเจริญ

เพื่อแก้เซ็ง ร็อคกี้จึงตัดสินใจสอนให้โตโต้รู้จักบาสเกตบอล จนกระทั่งเมื่อเขาได้กลับบ้านเกิดเมืองนอนและโตโต้ต้องไปเข้าเรียนที่พัทยา ชีวิตของเด็กชายที่เพิ่งรู้ว่าบาสเกตบอลไม่ได้เล่นกันสองคนแบบที่เกาะจึงเริ่มขึ้น

เล่าสั้นๆไว้แค่นี้ แต่ที่เหลือลองไปหาอ่านดูนะคะ เป็นการ์ตูนเด็กที่อ่านแล้วสนุกจนวางไม่ลงเลยล่ะค่ะ

ในคำแนะนำนักเขียนทางเว็บไซต์ของมังงะอวอร์ด บอกไว้ว่าคุณต้นได้รับแรงบันดาลใจจาก “ดราก้อนบอล” ของ อ.โทริยามะ อากิระ จึงอยากมาเป็นนักเขียนการ์ตูน คาดว่าคำแนะนำนี้คงเป็นน้ำหวานให้แม่งานอย่างกระทรวงต่างประเทศของญี่ปุ่นยิ้มแก้มตุ่ยเพราะว่ารางวัลมังงะนานาชาติสร้างขึ้นจากนโยบายวัฒนธรรมเชิงรุกของรัฐบาลญี่ปุ่นยุคนายกรัฐมนตรีทาโร่ อาโสะ ที่ต้องการเผยแพร่วัฒนธรรมป๊อปของญี่ปุ่นไปสู่สายตาชาวโลก

และวิธีที่ทำให้เยาวชนทั่วโลกเข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นมากขึ้นก็ไม่มีอะไรดีไปกว่าการให้เด็กเหล่านั้นลองอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นหรือเล่น
ทามาก็อต ดูสักครั้ง

บางทีการ์ตูนของญี่ปุ่นเองอาจจะไม่ทำให้คนในชาตินั้นๆรู้สึกอินตาม แต่ถ้านักเขียนในชาตินั้นเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานโดยใช้วัฒนธรรมในประเทศของตัวเองเป็นที่ตั้งและมีกลิ่นแรงบันดาลใจจากญี่ปุ่นนิดๆเข้ามาประกอบด้วยน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการส่งผ่านวัฒนธรรมของญี่ปุ่นไปสู่สายตาชาวโลก

ดังนั้น นักเขียนการ์ตูนชาติอื่นที่ไปคว้ารางวัลมังงะจึงเป็นทูตวัฒนธรรมอย่างแท้จริงค่ะ เพราะนอกจากจะรักษาเอกลักษณ์และแสดงวิถีชีวิตของชาติตัวเองแล้ว ยังแสดงให้เห็นอีกว่า ต่อให้เติบโตขึ้นจากการอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น เขาก็ยังคงเป็นคนไทยที่รู้จักดึงเอาข้อดีของชาติอื่นมาปรับใช้กับงานของตัวเองได้

นี่คือสิ่งที่เราอยากปลูกฝังคนไทยค่ะ ไม่ใช่ห้ามกรี๊ดวัฒนธรรมต่างชาติ แต่ถ้าจะให้ดี พอกริ๊ดแล้วก็มาช่วยพัฒนาวัฒนธรรมบ้านเราให้น่ากริ๊ดเหมือนเขาได้ไหม

รางวัลมังงะนานาชาติได้ให้นิยาม manga หรือหนังสือการ์ตูนที่ดำเนินเรื่องแบบญี่ปุ่นว่าเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับ “ ความรัก , มิตรภาพ,การเติบโต,และทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไร้ซึ่งพรมแดน ” ดังนั้นเขาจึงเชื่อว่ามังงะสามารถเชื่อมโยงจิตใจของผู้คนไม่ว่าเด็กหรือแก่(แต่ใจยังเอ๊าะ) ให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ การ์ตูนของคุณต้นตอบโจทย์นี้ได้ครบถ้วนอย่างไม่ต้องสงสัยค่ะ สมคุณค่าแก่รางวัลที่ได้รับจริงๆ

ครั้งหน้ามาต่ออีกนิดว่าเพราะเหตุใดการ์ตูนไทยที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติจึงเป็นการ์ตูนความรู้ ทั้งที่เกณฑ์การตัดสินไม่มีข้อไหนเลยบอกว่าการ์ตูนต้องมีประโยชน์



ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 20ธันวาคม 2552

12 ธันวาคม 2552

วัฒนธรรมโมเอะ กับหนุ่มๆ ผู้ชอบของน่ารัก (2)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

สัปดาห์ที่แล้วเล่าให้ฟังถึงวัฒนธรรมการ์ตูนที่มาแรงเหลือเกินในญี่ปุ่นและทำเงินมหาศาลจนหนุ่มๆ กระเป๋าฉีกด้วยรอยยิ้มกันถ้วนหน้าค่ะ นั่นคือ "วัฒนธรรมโมเอะ" (moe subculture) ซึ่งกล่าวถึงหนุ่มๆ ที่ชอบสาวน้อยน่ารักตาโตแต่งกายด้วยชุดเมด (ชุดคนรับใช้แบบยุโรป) หรือชุดหูแมวน่ารักน่าเอ็นดูเกินห้ามใจ คุณเจสัน ธอมป์สันผู้เขียนบทความเรื่องวัฒนธรรมโมเอะได้อธิบายความชอบเด็กสาวน่ารักของหนุ่มๆ ว่าอาจเป็นปรากฏการณ์เช่นเดียวกับ phatic language หรือ "พูดอย่างนั้นแต่ไม่ได้หมายความอย่างนั้น" อีกนัยหนึ่งคือชอบตัวการ์ตูนเด็กสาวใส่ชุดทหารแบบน่ารัก ติดโบว์หวานแหววแต่ถือปืนกระบอกโตก็ไม่ได้หมายความว่าอยากจับน้องสาวที่บ้านมาแต่งแบบนั้นแต่อย่างใด มันเป็นแค่การทำให้ชุดทหารและปืน (ซึ่งเป็นของชอบของผู้ชายปกติทั่วไป) ดูน่ารักขึ้นเท่านั้นเอง

อีกทฤษฎีหนึ่งน่าจะเกิดจากคำถามที่ว่า "แล้วทำไมต้องเอาของชอบไปอยู่รวมกับตัวการ์ตูนเด็กสาววัยประถมทุกที ถ้าชอบแมวน่ารักทำไมไม่ชอบคิตตี้หรือการ์ฟิลด์ ทำไมต้องเอาตัวการ์ตูนเด็กประถมไปใส่หูแมวด้วย"คุณเจสันอธิบายปรากฏการณ์นี้ด้วยทฤษฎี moe anthropomorphism หรือแปลโดยสรุปว่าเป็นการเปลี่ยนให้สิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์, สิ่งของที่ไม่มีชีวิต, คอนเซ็ปท์, หรือปรากฏการณ์ใดๆ กลายเป็นมนุษย์ค่ะ หากจะอธิบายว่าทำไมต้องเป็นตัวการ์ตูนเด็กสาวหูแมว คำตอบคงเป็นชายหนุ่มชอบ "นิสัยแบบแมว" ซึ่งเป็นคอนเซ็ปท์ของนิสัยที่ชอบคลอเคลียออดอ้อนแต่บางอารมณ์ก็แสนงอนทำตัวเชิดหยิ่งเหมือนเป็นเจ้านายเราเสียแทน นิสัยแบบแมวซึ่งเป็นนามธรรมถูกเปลี่ยนเป็นมนุษย์ซึ่งก็คือเด็กสาวสวมหูแมวนั่นเอง แต่ถ้าสงสัยต่อว่าทำไมไม่ให้เป็นแคทวูแมนสุดเซ็กซี่ล่ะ หนุ่มๆ ก็อาจจะบอกว่ามัน "ไม่โมเอะ" ก็ได้ค่ะ

เพื่อให้รู้กันว่าสิ่งนี้ได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นสิ่งมีชีวิตสุดโมเอะตามทฤษฎี moe anthropomorphism จึงกำเนิดคำลงท้ายเพิ่มความน่ารัก 200% ขึ้นมาว่า "ตัน" ตัวอย่างเช่นน้องแมวสุดน่ารักอาจจะชื่อ "เนโกะจัง" (ใส่ "จัง" ตอนท้ายก็น่าเอ็นดูแล้ว) แต่เมื่ออยากให้ได้อารมณ์กรี๊ดกร๊าดแบบวัฒนธรรมโมเอะเราจึงต้องเปลี่ยนเป็น "เนโกะตัน" เสียแทน เช่นเดียวกับสาวน้อยน่ารักนั่งทับลูกโลกจิ๊กซอว์หน้าตาคุ้นๆ คนนี้ เดาไหมคะว่าเธอน่าจะชื่ออะไร ชื่อของเธอคือ "วิกิปิตัน"ค่ะ! ลูกโลกที่เห็นคือลูกเดียวกับ Wikipedia สารานุกรมออนไลน์นั่นเอง หนุ่มๆ ในวัฒนธรรมโมเอะได้เปลี่ยนให้สิ่งที่ใช้งานเป็นประจำทุกวันดูน่ารักน่าเอ็นดูขึ้นด้วยการจับให้วิกิปีเดียกลายเป็นสาวน้อยและตั้งชื่อว่าวิกิปิตันซะเพื่อให้...ใช้แล้วจิตใจชื่นบานมั้งคะ มาถึงตอนนี้คงพอเดาได้ว่าจะมีสาวน้อยที่เกิดจากของใช้ที่หนุ่มๆ นิยมอีกเพียบแน่ค่ะ เช่น โอเอสตัน (OS-tan) หรือประบบปฏิบัติการ (operating system) ในร่างสาวน้อย เป็นต้น

คุณเจสันยังกล่าวถึงความนิยมอื่นๆ ในวัฒนธรรมโมเอะอีกพอสมควร เช่น โลลิค่อน (Lolita complex) หรือมิลิโมเอะ (mili-moe : military moe) ส่วนสาวๆ เองใช่ว่าจะแห้งแล้งนะคะ ทฤษฎี moe anthropomorphism ยังใช้อธิบายการ์ตูนเรื่อง Axis Power Hetalia ที่จับเอาคอนเซ็ปท์ของคนแต่ละประเทศมาเปลี่ยนให้เป็นมนุษย์เช่นเดียวกับที่หนุ่มๆ เปลี่ยนวิกิปีเดียเป็นวิกิปิตันด้วย

ใครสนใจศึกษาต่อเชิญค้นคว้าที่ http://io9.com/ หาชื่อ Jason Thompson ค่ะ น่าจะมีคำอธิบายดีๆ ว่าเพราะเหตุใดหนุ่มๆ ในปัจจุบันจึงหันไปชอบการ์ตูนที่มีเด็กสาวเป็นตัวดำเนินเรื่องพอๆ กับการ์ตูนผู้ชายบู๊ล้างผลาญ

วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11600 มติชนรายวัน

05 ธันวาคม 2552

วัฒนธรรมโมเอะ กับหนุ่มๆ ผู้ชอบของน่ารัก (1)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

วันนี้ได้มีโอกาสอ่านบทความของคุณ Jason Thompson ซึ่งได้รับฉายาว่าเอนไซโคลปีเดียการ์ตูนเดินได้คนหนึ่งของวงการเรื่องสาวน้อยน่ารักในชุดทหารหวานแหววแต่มือเธอกลับถือปืนสีโลหะเงาวับขัดแย้งกับท่าทางน่าเอ็นดูของเธออย่างชัดเจน เห็นเด็กสาวตาโตถือปืนแบบนี้อย่าคิดว่านี่คือการ์ตูนสำหรับเด็กผู้หญิงนะคะ วิธีแบ่งอายุของผู้ชมตามอายุและเพศของตัวเอกในการ์ตูนใช้ไม่ได้อีกต่อไปเพราะแม้สาวน้อยอายุไม่เกินสิบขวบคนนี้จะเป็นนางเอก แต่การ์ตูนเรื่องนี้ไม่ได้ถูกสร้างให้เด็กสาววัยประถมดู นี่คือการ์ตูนสำหรับ "ชายหนุ่ม" ผู้หลงใหลวัฒนธรรมการ์ตูนล่าสุดที่แรงและทำเงินมหาศาลในญี่ปุ่นขณะนี้ "วัฒนธรรมโมเอะ" (Moe subculture) ซึ่งโดยส่วนตัวไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของตลาดโมเอะจึงทำความเข้าใจความรู้สึกของหนุ่มๆ ยากพอดู แต่ก็จะพยายามค่ะ

เริ่มที่คำว่า "โมเอะ" ก่อน เชื่อว่าหลายท่านคงคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์อย่างฮัลโลคิตตี้หรือโปเกม่อนที่น่ารักน่าเอ็นดู เวลาที่เราเห็นของ "น่ารักเกินห้ามใจ!" เราจะอุทานออกมาว่า "โมเอะ" ซึ่งมีความหมายในเชิงกรี๊ดกร๊าดว่าทำไมน่ารักแบบนี้ หากสาวๆ วัยรุ่นเห็นตุ๊กตายัดนุ่นตัวกลมแล้วชมว่าน่ารักก็คงไม่แปลก แต่หากมีชายหนุ่มกำยำล่ำสันใส่ชุด ร.ด.เดินไปหยิบพวงกุญแจคิตตี้แล้วชมว่าน่ารักจังนะตัว...คงแปลกนิดๆ ใช่ไหมคะ และนี่คือจุดเริ่มต้นของความอยุติธรรมค่ะ! ทุกวันนี้ผู้หญิงลุกขึ้นมาทำงานนอกบ้านอย่างเข้มแข็ง เธอเลิกสนใจการเย็บปักถักร้อยหรือแต่งห้องด้วยผ้าม่านลูกไม้หวานแหววแต่กลับทำงานอยู่แถวหน้าของผู้ชายอย่างภาคภูมิ ในเมื่อคุณผู้หญิงหันไปนิยมอะไรที่ดูสมชายชาตรีแบบนี้ได้ แล้วทำไมคุณผู้ชายถึงจะเปลี่ยนมาชอบอะไรน่ารักๆ สีชมพูหวานๆ บ้างไม่ได้ล่ะ

แฮ่ม...อย่างไรก็ตามผู้ชายส่วนใหญ่ไม่ได้มีสัญชาตญาณชอบผ้าลูกไม้สีชมพูหวานๆ หรือคิตตี้ประดับพลอยแวววับสีชมพูค่ะ ผู้ชายก็ยังคงชอบปืน รถยนต์ เครื่องบิน หุ่นยนต์ หรือสิ่งไม่มีชีวิตที่ดูแล้วสมชายชาตรีเหมือนเดิม แต่การทำให้ของเหล่านี้ดูน่ารักขึ้นด้วยการทาสีชมพูไม่ใช่ทางออกที่คนทั่วไปยอมรับได้นัก ลองคิดถึงชุดทหารเต็มยศสีชมพูหวานหรือหุ่นยนต์ทัดดอกไม้แล้วถือกระเป๋าลายลูกไม้สิคะ โอ้...รับไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นลองเปลี่ยนให้เด็กสาวตัวเล็กๆ ใส่ชุดทหารผูกโบถือปืนกระบอกใหญ่หรือสาวน้อยน่ารักสวมชุดเกราะแบบเดียวกับหุ่นยนต์นั่งยิ้มหวานบ้างล่ะ...ดูเข้าท่าแฮะ

นี่คือที่มาของ "โมเอะ" ในความคิดของคุณเจสันค่ะ คือแม้หนุ่มๆ จะชอบตัวการ์ตูนเด็กสาววัยประถมใส่ชุดทหารน่ารักถือปืนก็ไม่ได้หมายความว่าเขาอยากจะพรากผู้เยาว์แต่อย่างใด สาวน้อยโมเอะคนนี้คือ "สัญลักษณ์ของปืนแบบหวานแหวว" ที่ดูน่ารักขึ้นโดยไม่ต้องทาสีชมพูนั่นเอง คุณเจสันอธิบายปรากฏการณ์นี้ว่าเป็นสิ่งเดียวกับ phatic language หรือคำที่ "พูดอย่างนั้นแต่ไม่ได้หมายความอย่างนั้น" เช่น เวลาเจอหน้ากันเราถามเพื่อนว่า "ไง! กินข้าวยัง" ความจริงไม่ได้อยากถามว่าเขากินข้าวแล้วหรือยัง แค่เป็นคำทักทายเวลาเจอหน้ากันเท่านั้นเอง หรือเวลามีคนขอบคุณเราก็ตอบไปว่า "ยินดีให้บริการค่ะ" ทั้งที่เราอาจจะไม่ได้ยินดีก็ได้แต่ต้องการตอบคำขอบคุณด้วยความถ่อมตนแก่ผู้ที่กล่าวขอบคุณเรานั่นเอง

บางทีหนุ่มๆ ในวัฒนธรรมโมเอะอาจจะชอบตัวการ์ตูนเด็กสาวตาโตสวมที่คาดผมหูแมว ใส่ถุงมือแมว และติดหางแมวไว้ที่ก้นโดยไม่ได้มีรสนิยมชอบจับลูกหลานที่บ้านมาแต่งชุดแมวแต่อย่างใด เขาไม่ได้ชอบแมวด้วยค่ะ แต่ชอบ "ความเป็นแมว" เช่น ชอบมาเคล้าแข้งเคล้าขาน่ารัก บางทีก็เข้ามาอ้อนเราแต่บางครั้งก็แสนงอนทำเหมือนเป็นเจ้านายเราซะแทน นิสัยแบบแมวๆ คือความชอบที่ถูกเปลี่ยนรูปแบบกลายเป็นสาวหูแมวนั่นเอง โอ้...หวังว่าคงจะเข้าใจถูกต้องนะคะ วัฒนธรรมโมเอะช่างลึกล้ำจริงๆ

ครั้งหน้ามาต่อเรื่องการเปลี่ยนให้สิ่งไม่มีชีวิตดูโมเอะขึ้นในขั้นสูงสุดตามทฤษฎี moe anthropomorphism บ้างค่ะ

วันที่ 06 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11593 มติชนรายวัน