30 พฤษภาคม 2552

Chi"s Sweet Home

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

แมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่น่ารัก น่ารัก และน่าร้ากกกกกจริงๆ ค่ะ! สำหรับท่านที่คิดว่าแมวเป็นสัตว์หยิ่งผยอง วันๆ เอาแต่เชิดไปเชิดมาเดินอ้วนไปอ้วนมาทั้งวันแบบเดียวกับการ์ฟิลด์ ตอนนี้ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่แล้วค่ะ เพราะ "จี้" แมวน้อยน่ารักตัวล่าสุดจะเข้ามาเขย่าหัวใจเราให้อยากรับแมวมาเลี้ยงกันทั้งบ้านทั้งเมืองแล้ว

"จี้" คือลูกแมวน้อยสีขาวลายเทา-ดำ ซึ่งพลัดหลงจากครอบครัวและเจอหนุ่มน้อย "ยามาดะ โยเฮ" เข้าโดยบังเอิญ แม้โยเฮและคุณแม่จะพาจี้กลับมาที่บ้านด้วยความเป็นห่วง แต่ห้องพักของครอบครัวโยเฮก็ไม่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ ดังนั้น ทุกคนในครอบครัวยามาดะจึงต้องเลี้ยงจี้อย่างหลบๆ ซ่อนๆ แต่ก็มีความสุขที่ได้ดูแลจี้ตัวน้อย แม้ว่าจี้เองจะซนไม่รู้เรื่องรู้ราวกับเขาเท่าไหร่

เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เล่าถึงชีวิตประจำวันของจี้และกิจกรรมที่ทำร่วมกับครอบครัวยามาดะ รวมถึงการผจญภัยเล็กๆ ของจี้กับเหล่าสัตว์เลี้ยงเพื่อนบ้านและขาจรหลายตัวค่ะ สิ่งที่ทำให้จี้กลายเป็นแมวน้อยในใจของนักอ่านชาวญี่ปุ่นและชาวไทยคือ ความน่ารักนี่ล่ะค่ะ แม้จี้จะนิสัยไม่ได้แตกต่างจากลูกแมวทั่วไปมากนัก แต่ความน่ารักของหน้าตาท่าทางจากลายเส้นของ อ.โคนามิ คานาตะกินขาดค่ะ เห็นตอนจี้กินข้าวแล้วตีลังกานอนตีพุงเมื่ออิ่มแล้ว คนอ่านก็ใจละลายไปด้วย แมวอะไรน่าร้ากกกก... อยากรับมาเลี้ยงที่บ้านซักสิบตัว
น่าสังเกตอย่างหนึ่งว่า ครอบครัวที่ดูแลจี้นามสกุล "ยามาดะ" ซึ่งเข้าข่าย "โหลมาก" ในญี่ปุ่น และครอบครัวยามาดะนอกจากจี้และโยเฮแล้ว ก็มีคุณพ่อกับคุณแม่ (ไม่มีชื่อ) ทำให้เรารู้สึกเหมือนได้สวมตัวเองลงไปในครอบครัวยามาดะนี้ และรู้สึกว่าจี้เป็นสัตว์เลี้ยงของนักอ่านทุกๆ คน

ปัจจุบันจี้ตีพิมพ์เป็นหนังสือการ์ตูนในญี่ปุ่นแล้ว 6 เล่ม ตั้งแต่ปี 2004 ค่ะ แต่ในไทยเพิ่งพิมพ์ 4 เล่ม และออกจำหน่ายเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี่เอง แต่ถ้าใครอยากเห็นจี้เวอร์ชั่นเคลื่อนไหวและฟังเสียงน่ารักออดอ้อน จี้ก็มีเป็นแอนิเมชั่นแล้วนะคะ ซีซั่นแรกใช้ชื่อ Chi?s Sweet Home เช่นเดียวกับชื่อหนังสือการ์ตูน ส่วนซีซั่นที่สอง ซึ่งเพิ่งออกฉายเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาใช้ชื่อว่า Chi?s New Address แต่ละตอนเป็นการ์ตูนสั้น 3 นาที เหมาะกับการดูก่อนนอนให้จิตใจเบิกบานนะคะความสำเร็จของจี้คงไม่ได้มาจากความน่ารักเพียงอย่างเดียวค่ะ แต่เกิดจากความรักแมวของคนญี่ปุ่น ซึ่งทำให้ถ่ายทอดความรักและเอ็นดูผ่านออกมาทางการ์ตูน จนทำให้คนอ่านอย่างเรารู้สึกหัวใจเบิกบานตามไปด้วย มีงานวิจัยเมื่อปี 2006 ของบริษัทจำหน่ายอาหารสัตว์ในญี่ปุ่นรายงานว่า ญี่ปุ่นมีแมวเลี้ยงมากถึง 12.46 ล้านตัว โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนแมวเลี้ยงสูงขึ้นกว่าเดิม 7.85 ล้านตัว ตัวเลขนี้ไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องกับการที่ญี่ปุ่นกลายเป็นสังคมคนแก่ เพราะอัตราการเกิดทารกน้อยลง ก็เลยหันไปเลี้ยงสัตว์กันเสียเยอะหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ คือเขารักแมวมากถึงขนาดมีสปาแมว โรงแรมแมว นวดอโรมาเธราปีแมว ไปจนถึงแคปซูลออกซิเจนแมว เพื่อให้แมวสดชื่นหายเหนื่อยด้วยค่ะ

สำหรับคนรักแมวคงพอนึกภาพออกว่า น้องเหมียวเหล่านี้ไม่ใช่แค่สัตว์เลี้ยงเท่านั้น บางทีน้องแมวก็เหมือนลูกหลาน เหมือนเพื่อน และหลายครั้งก็เป็นหมอนที่กอดแล้วอุ่นทั้งกายและใจ

สำหรับใครที่ยังไม่สะดวกเลี้ยงแมวในตอนนี้ ก็สามารถหาซื้อการ์ตูนจี้จังมาอ่านก่อนได้นะคะ แค่ได้เห็นจี้จังยิ้มอยู่บนกระดาษ บางทีหน้าเราก็ยิ้มตามไปด้วยแล้วค่ะ

วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11404 มติชนรายวัน

23 พฤษภาคม 2552

Higepiyo เจี๊ยบหนวดจอมซ่า

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ช่วงฤดูใบไม้ผลินี้มีแอนิเมชั่น (Animation) เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงออกมาให้ชื่นตาชื่นใจเยอะเลยค่ะ หนึ่งในนั้นต้องยกให้ "ฮิเงปิโยะ" หรือแปลตรงตัวว่า "เจี๊ยบหนวด" ลูกเจี๊ยบตัวเขื่องที่ถ้าหลับตาแล้วเอามือคลำ เราอาจบอกไม่ได้ว่าเขาคือ ลูกเจี๊ยบจริงๆ

"ฮิเงปิโยะ" เป็นฉายาของลูกเจี๊ยบประหลาดตัวหนึ่งที่วางขายอยู่ในงานวัด การขายลูกเจี๊ยบเป็นประเพณีนิยมที่พบได้ตามงานวัดญี่ปุ่น โดยทั่วไปเหมือนขายปลาหางนกยูงตามงานวัดบ้านเรานั่นละค่ะ เพียงแต่ลูกเจี๊ยบงานวัดเหล่านี้ มักถูกเลี้ยงรวมกันโดยไม่ค่อยใส่ใจ จึงมักอายุไม่ยืน แม้ลูกๆ จะรบเร้าให้ซื้อเพราะเห็นว่าน่ารัก แต่คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ที่ทราบดีว่าเหล่าเจี๊ยบพวกนี้ตายแหงๆ ก็มักจะไม่อนุญาตให้ซื้อค่ะ"ฮิโรชิ" เด็กหนุ่มวัยประถมฯ บังเอิญเจอกับฮิเงปิโยะในงานวัดยามที่คนขายลูกเจี๊ยบกำลังเศร้าใจ เนื่องจากเจี๊ยบหนวดของเขาขายไม่ออกเสียที แถมท่าทางป๋าๆ ของเจี๊ยบหนวดยังไล่ลูกค้าอีกต่างหาก ความที่ฮิเงปิโยะคล้ายกับนกแก้วตัวเก่าของฮิโรชิ เขาจึงรบเร้าให้คุณพ่อคุณแม่ซื้อกลับบ้าน แน่นอนว่าทีแรกคุณพ่อไม่ยอมค่ะ แต่เมื่อเห็นท่าทางเถื่อนๆ ของฮิเงปิโยะที่กำลังนั่งแคะขี้มูกอยู่ในคอก (แกเป็นลูกเจี๊ยบจริงๆ เรอะ!) คุณพ่อก็ระลึกถึงคุณปู่ที่เพิ่งเสียชีวิตไปขึ้นมาจับใจ ในที่สุดเจี๊ยบหนวดหน้าตาประหลาดจึงมาเป็นสมาชิกใหม่ในบ้าน โดยมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า " ฮิโยโกะ" แต่คนนิยมเรียนฮิเงปิโยะ "เจี๊ยบหนวด" มากกว่า

ฮิเงปิโยะเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่าสงสัยยิ่งขึ้น เมื่อกินข้าวราดแกงได้เหมือนชาวบ้านทั่วไป ตื่นเช้ามานั่งอ่านหนังสือพิมพ์และกดรีโมตโทรทัศน์ดูข่าวยามเช้าไปพร้อมกับนอนเกาก้นซะด้วย! จนสุดท้ายสมาชิกครอบครัวของฮิโรชิก็ทราบว่า ฮิเงปิโยะพูดภาษาคนได้และมีนิสัยลูกผู้ชายแบบซามูไรเถื่อนๆ ผสมนักเลงหัวไม้อีกต่างหาก หลายครั้งที่ฮิเงปิโยะสอนให้ฮิโรชิรู้จักคุณค่าของชีวิต แต่...มันก็มีไม่กี่ฉากหรอกค่ะ การ์ตูนเรื่องนี้ไม่ได้เน้นประโยชน์สุขในครัวเรือน เพราะเป็นการ์ตูนตลกค่ะ!แอนิเมชั่นฮิเงปิโยะเริ่มออกฉายทางโทรทัศน์ในญี่ปุ่นเมื่อ 3 เมษายนที่ผ่านมานี้เอง ดั้งเดิมเจี๊ยบหนวดตัวนี้อาละวาดในรูปแบบการ์ตูนแก็กสี่ช่องจบใน "คอรัสแมกกาซีน" ของค่ายชูเอย์ฉะ วาดโดยอิโต้ ริสะ เมื่อฉายทางโทรทัศน์ก็กลายเป็นการ์ตูนสั้นๆ ยาวตอนละประมาณ 5 นาที แต่ระหว่างดูก็นั่งหัวเราะจนท้องคัดท้องแข็งเลยค่ะ

ความตลกของฮิเงปิโยะน่าจะมาจากการล้อเลียนวัฒนธรรมแนว "ลูกผู้ชาย" ของญี่ปุ่นซึ่งโดนเจี๊ยบหนวดเอามาแซวเสียขำป่นปี้ เราจะเห็นว่าเจี๊ยบหนวดมักจะทำตาขวางๆ มาดขรึมๆ และนั่งชันเข่าซดเหล้าเหมือนซามูไร ทั้งที่ตัวเองสังขารไม่ให้ เพราะเป็นลูกเจี๊ยบตัวอ้วนเหลือง แม้จะพยายามไว้หนวดให้น่าเกรงขาม แต่หนวดเครากลับทำให้ดูฮาขึ้นไปอีก กระทั่งวาทะลูกผู้ชายยามออกมาปกป้องฮิโรชิตอนโดนเพื่อนแกล้ง ก็ทำให้เราขำได้ไม่หยุด ความพยายามใช้ชีวิตอย่างลูกผู้ชายแสนจริงจังของเจี๊ยบหนวด จึงเป็นที่มาของการ์ตูนตลกน่ารักเรื่องนี้ค่ะ

แม้เจี๊ยบหนวดไม่ได้ประเทืองปัญญา แต่ดูแล้วก็อารมณ์ดียิ้มแก้มปริ ในบางอารมณ์เราดูการ์ตูนและมองโลกแบบไม่ต้องหาสาระบ้าง ก็น่าจะทำให้ชีวิตแฮปปี้ขึ้นได้นะคะ

วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11397 มติชนรายวัน

16 พฤษภาคม 2552

Vinland Saga ไวกิ้งเจ้าทะเล

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ไม่บ่อยนักค่ะที่จะมีการ์ตูนเกี่ยวกับตำนานนักรบในแถบยุโรปทางเหนือที่เราคุ้นเคยในชื่อ "ไวกิ้ง" ออกมาวางแผง เขาคือชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ท่ามกลางอากาศหนาวเย็นและสู้รบทางทะเลแบบกองโจรด้วยเรือที่มีหัวเรือคล้ายมังกร ความเก่งและโหดของไวกิ้งทำให้เหล่าอัศวินบนหลังม้ายุคนั้นทั้งแค้นและหวาดกลัวเลยล่ะค่ะ

เล่มแรกเปิดเรื่องท่ามกลางไฟสงครามระหว่างชาวแฟรงค์สองกลุ่มที่ต่อสู้กันเพื่อยึดสมบัติในป้อมปราการ ฝ่ายบุกมีกองกำลังมหาศาลแต่ก็ไม่สามารถทลายป้อมที่ล้อมด้วยทะเลสาบได้ ส่วนฝ่ายรับแม้มีกำลังแค่หยิบมือแต่ยังสามารถต้านกองกำลังภาคพื้นดินไว้ได้สบายเพราะอยู่ในชัยภูมิได้เปรียบ หลังจากงัดข้อกันอยู่นานจนล้มตายไปโข กองกำลังไวกิ้งร้อยคนซึ่งนำโดย "อาเชรัด" ก็ตามกลิ่นเงินเข้ามาอย่างเงียบๆ และเห็นว่าทางเดียวที่จะตีป้อมแตกได้คือการบุกทางน้ำ

เด็กหนุ่มตัวเอกของเราได้ออกโรงงวดนี้ล่ะค่ะ "ทอลฟีน" ได้รับมอบหมายให้ไปเจรจากับฝ่ายบุกที่ตีป้อมไม่แตกเสียทีโดยงานของเขาคือเจรจาให้แม่ทัพชาวแฟรงค์จ้างไวกิ้งตีป้อม ภารกิจของทอลฟีนสำเร็จด้วยดีแต่เขายังต้องการอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญกว่า เขาต้องการหัวแม่ทัพศัตรูเพื่อขอรางวัลจากอาเชรัดโดยรางวัลไม่ใช่เงินทอง แต่เป็นการสู้กับอาเชรัดเพื่อล้างแค้นแทนพ่อของเขาซึ่งถูกอาเชรัดฆ่าตายนั่นเอง

แค่ความสัมพันธ์ต้นเรื่องก็ซับซ้อนแล้วค่ะ ในยุคที่ไม่มีบ้านเด็กกำพร้าแบบนี้ ลูกของเชลยที่ถูกฆ่าก็ต้องโดนจับไปเป็นทาส แต่กรณีของทอลฟีนดีกว่านั้นหน่อยเพราะเขามีฝีมือจึงได้รับอนุญาตให้เป็นหนึ่งในนักรบบนเรือไวกิ้งได้ และความซื่อตรงมุ่งมั่นที่จะแก้แค้นให้พ่ออย่างขาวสะอาดทำให้อาเชรัดผู้นำทัพไวกิ้งไว้วางใจว่าจะไม่โดนแทงระหว่างหลับ เสน่ห์ของทอลฟีนอยู่ตรงนี้ล่ะค่ะ แม้เขาจะมีอุดมการณ์เรื่องล้างแค้นให้พ่อ แต่เขาก็ไม่ลืมหน้าที่ในการทำงานใต้อาณัติของอาเชรัดให้สมกับที่ได้รับการดูแลมาตลอด เรียกว่ารู้จักแยกแยะค่ะ อย่างไรก็ตาม การ์ตูนสงครามที่ทำให้อดรีนาลีนสูบฉีดดำเนินไปได้เพียงครึ่งเล่ม อ.ยูคิมุระ มาโคโตะก็เล่าย้อนไปถึงทอลฟีนวัยเด็กสมัยยังใช้ชีวิตอยู่กับพ่อและพี่สาวในหมู่บ้านเล็กๆ บนไอซ์แลนด์ห่างไกลผู้คน เห็นว่าเล่ายาวไป 7 เล่ม เหตุการณ์ก็ยังไม่มาบรรจบกับตอนต้นเรื่องเลยค่ะ

Vinland Saga เขียนโดยยูคิมุระ มาโคโตะ นักเขียนการ์ตูนซึ่งเคยได้รับรางวัลเซย์อุนซึ่งเป็นรางวัลสำหรับผลงานแนวไซไฟสาขาการ์ตูนยอดเยี่ยมจากเรื่อง Planetes เมื่อปี 2002 มีตีพิมพ์ในไทยแล้วค่ะว่าด้วยเรื่องนักเก็บขยะอวกาศ 4 เล่มจบ ส่วน Vinland Saga เองแค่ 5 เล่มแรกก็มียอดจำหน่ายสูงถึง 1.2 ล้านเล่มและตอนนี้ยังเข้าชิงไทโชอวอร์ดประจำปี 2008 ด้วย เรียกว่ารับทั้งเงินและกล่อง

ต้องยอมรับว่าการ์ตูนเรื่องนี้วาดภาพอยู่ในเกณฑ์ "สวยมาก" ชุดและข้าวของในเรื่องรวมถึงโครงเรื่องมีความเกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์ของยุโรปเหนือ ดังนั้นอ่านแล้วนอกจากอินไปกับความสมจริง ยังอินกับเนื้อเรื่องสไตล์ อ.ยูคิมุระซึ่งวาดมาเนิบๆ แต่บทจะกินใจก็ทำเอาเราต่อมน้ำตาแตกเลยทีเดียว แต่แม้จะทั้งสนุกน่าติดตามแค่ไหน การ์ตูนเรื่องนี้ก็เหมาะกับผู้ใหญ่สักหน่อยนะคะ อ่านแล้วจะฮึกเหิมอยากทำงานเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของเราเลยค่ะ!

ส่วนเด็กๆ วัยก่อนมหาวิทยาลัยเรื่องนี้ควรปล่อยผ่านนะคะ ฉากสงครามและความโหดร้ายของมนุษย์อาจทำให้จิตใจห่อเหี่ยวได้ คนอ่านที่มีวุฒิภาวะจึงจะแยกแยะได้ค่ะว่ายุคไวกิ้งกับปัจจุบันมีค่านิยมต่างกันและพระเอกไม่ได้ทำถูกต้องเสมอไป แต่แม้จะจำกัดอายุผู้อ่านขนาดนี้ ยอดขายในญี่ปุ่นเป็นเครื่องยืนยันว่าคนที่มีวุฒิภาวะในประเทศเขาหลายคนก็ยังคงอ่านการ์ตูนอยู่

ถ้าสร้างนิสัยรักการอ่านได้ อ่านอะไรก็ดีทั้งนั้นล่ะค่ะ

วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11390 มติชนรายวัน

09 พฤษภาคม 2552

Umimachi Diary ความทรงจำบนแผ่นกระดาษ (2)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

สัปดาห์ที่แล้วเล่าเนื้อเรื่องตอนแรกของ Umimachi Diary "วันที่เสียงจักจั่นซา" การ์ตูนของ "โยชิดะ อาคิมิ" ซึ่งได้รับรางวัลหนังสือการ์ตูนยอดเยี่ยมจาก Japan Media Arts Festival ครั้งที่ 11 ประจำปี 2007 ค่ะ วันนี้มาลองทำความรู้จักกับนักเขียนคนนี้สักนิดนะคะ การเรียนทางลัดที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งก็คือเรียนจากคนที่ประสบความสำเร็จแล้วนี่ล่ะค่ะ

"โยชิดะ อาคิมิ" เกิดในเดือนสิงหาคมปี 1956 หมายถึงเธออายุ 52 ปีแล้วค่ะ! ขณะที่เธอเป็นนักศึกษาในวิทยาลัยศิลปะและการออกแบบ เธอลองส่งผลงานการ์ตูนมือสมัครเล่นไปประกวดและได้รับรางวัลที่สาม ส่งผลให้เธอหันหน้าเข้าสู่วงการการ์ตูนและได้เปิดตัวครั้งแรกเมื่ออายุ 21 ปี อ.โยชิดะสร้างผลงานการ์ตูนชั้นดีในช่วงปลายยุค 70 ไว้มากมาย หลายสำนักกล่าวว่าเธอคือนักเขียนการ์ตูนผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในบรรดานักเขียนการ์ตูนที่เปิดตัวในช่วงเวลาเดียวกันเนื่องจากผลงานได้รับการตีพิมพ์ในฝั่งตะวันตกและได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลาม

ผลงานสร้างชื่อของ อ.โยชิดะคือ "Banana Fish" กับ "Yasha" ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวงการการ์ตูนผู้หญิงฝั่งอเมริกาเหนือ โดยส่วนตัวเคยไปลูบไล้ฉบับภาษาอังกฤษตัวเป็นๆ ในร้านหนังสือการ์ตูนมือสองที่ลอนดอนค่ะ ร้านนั้นขายการ์ตูนและหนังสือภาษาญี่ปุ่นมือสอง (แน่นอนว่าอ่านไม่ออก) แต่มีเรื่องเดียวที่วางครบชุดทั้งที่เป็นการ์ตูนภาษาอังกฤษ เรื่องนั้นคือ "Banana Fish" นั่นเอง เสียดายที่แพงจับจิตไปหน่อยเลยยังไม่ได้ถอยมาอ่าน แต่คิดว่าก่อนกลับจากลอนดอนยังไงต้องหาทางซื้อมาอ่านให้ได้เลยค่ะ

อ.โยชิดะยังเคยได้รับรางวัลการ์ตูนจากโชกักกุคังครั้งที่ 29 และ 47 โดยครั้งหลังได้รับจากเรื่อง Yasha ซึ่งสำนักพิมพ์ในไทยได้ตีพิมพ์ภาคต่อเนื่องของเรื่องนี้ออกมาชื่อ "ธิดามังกร" หรือ Yasha Next Generation สารภาพว่าอ่านแล้วเมานิดหน่อย อาจเป็นเพราะไม่มีพื้นฐานจากเรื่องดั้งเดิมมาก่อนก็ได้

เธอให้สัมภาษณ์หลังได้รับรางวัลจากเรื่อง "วันที่เสียงจักจั่นซา" ว่าสิ่งที่ทำให้สร้างผลงานยอดเยี่ยมชิ้นนี้ขึ้นมาได้คือ "ประสบการณ์อันยาวนาน" ของเธอนั่นเอง และสิ่งที่คิดว่าโดดเด่นที่สุดในผลงานชิ้นนี้คือความ "จริงใจ" หมายถึงตัวการ์ตูนทุกตัวดำเนินเรื่องอย่างเป็นธรรมชาติที่ควรจะเป็น ไม่ได้ถูกบิดเบือนด้วยความนิยมของตลาดหรือความสะใจส่วนตัวแต่อย่างใด เมื่อถูกถามว่าผลงานแบบไหนทรงอิทธิพลกับเธอที่สุด อ.โยชิดะตอบอย่างมั่นใจว่าเธอได้รับอิทธิพลจากภาพยนตร์อเมริกันทั้งในอดีตและปัจจุบัน จึงไม่น่าแปลกใจเลยค่ะที่การนำเสนอใน "วันที่เสียงจักจั่นซา" จะเป็นภาพวาดมุมกล้องสวยๆ ลายเส้นละเอียดแต่เรียบง่ายเหมือนดูภาพยนตร์ที่วาดฉากหลังอย่างมีความหมายและเหลือเฟือ ไม่อู้งานวาดแต่หน้าตัวละครกับช่องคำพูดแบบการ์ตูนยุคหลังซึ่งเป็นอิทธิพลที่ได้รับจากนวนิยายมากกว่าจากภาพยนตร์ค่ะ

อ.โยชิดะตอบคำถามสุดท้ายที่เด็กรุ่นหลังหลายคนอยากรู้ว่าเธอค้นหาความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้มากจากไหน

"ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นเพราะมันเป็นงานของฉัน มันเป็นชีวิตประจำวันของฉันไปแล้ว"

เป็นคำตอบที่เรียบง่ายแต่ชัดเจนค่ะ ความสำเร็จของนักเขียนมืออาชีพที่ยังคงสร้างผลงานชั้นดีจนอายุ 52 ปีคนนี้คือเธอมองว่าการคิดสิ่งใหม่ๆ เป็นงานที่ไม่ใช่รอให้เกิดนิมิตแล้วจึงทำ เธอต้องคิดสิ่งใหม่ๆ ให้ได้ทุกวันเป็นกิจวัตรเหมือนการซ้อมของนักกีฬา ยิ่งฝึกก็ยิ่งเก่ง และยิ่งทำต่อเนื่องก็ยิ่งชำนาญ

ดังนั้น อ.โยชิดะกำลังบอกเด็กรุ่นใหม่ว่าไม่มีทางลัดสบายๆ ไปสู่การเป็นนักคิดชั้นดี อยากเก่งก็ต้องฝึกฝนทุกวันเท่านั้นค่ะ

วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11383 มติชนรายวัน

02 พฤษภาคม 2552

Umimachi Diary ความทรงจำบนแผ่นกระดาษ (1)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

เคยอ่านหนังสือคำคมเล่มไหนสักเล่มกล่าวถึงบริษัทขายฟิล์มถ่ายภาพยี่ห้อหนึ่งว่าเขาไม่ได้ขาย "ฟิล์ม" แต่เขาขาย "ความทรงจำ" ค่ะ ดังนั้นคนเราไม่ได้ถ่ายภาพเพราะแค่อยากได้ภาพถ่ายเท่านั้น แต่ทุกครั้งที่ย้อนกลับมาดูแผ่นกระดาษเก่าๆ ที่เคยมีเราและคนรอบข้างทำอะไรประหลาดๆ สักอย่างในภาพถ่าย ความทรงจำทั้งสุขและเศร้าก็จะหลั่งไหลออกมาได้ราวกับเปิดอ่านไดอารี่ นั่นคงเป็นสิ่งที่ Umimachi Diary "วันที่เสียงจักจั่นซา" ต้องการนำเสนอให้ผู้อ่านรับรู้ผ่านหน้าหนังสือการ์ตูนที่ได้รับรางวัล Excelent Prize ประจำปี 2007 ของ Japan Media Arts Festival ครั้งที่ 11 เรื่องนี้

"วันที่เสียงจักจั่นซา" คือเรื่องเล่าของครอบครัวโคดะซึ่งประกอบด้วยสามสาวพี่น้องวัยทำงาน อยู่มาวันหนึ่งทั้งสามคนทราบข่าวการเสียชีวิตของคุณพ่อที่แยกไปมีครอบครัวใหม่และไม่ได้เจอกันมา 15 ปี สามสาวจึงวางแผนจะไปงานศพด้วยความรู้สึกที่แปลกประหลาดในฐานะลูก นั่นเพราะพวกเธอไม่ได้รู้สึกเศร้าเสียใจ จะว่าไปก็ไม่รู้สึกอะไรเลยด้วยซ้ำ เพราะสำหรับพวกเธอแล้ว พ่อก็เหมือนคนแปลกหน้าที่แทบไม่มีความทรงจำร่วมกันมาก่อน

"โยชิโนะ" กับ "ชิกะ" น้องสาวตัดสินใจเดินทางล่วงหน้าไปร่วมเคารพศพ เพราะ "ซาจิ" พี่สาวคนโตเป็นพยาบาลและติดอยู่เวรกลางคืนจึงอาจไปร่วมงานไม่ได้ สองสาวได้พบกับ "ซึสึ" เด็กสาวมัธยมต้นที่มีใบหน้านิ่งเรียบเหมือนผู้ใหญ่กว่าวัย ซึสึเป็นลูกติดของภรรยาคนที่สองของพ่อ แต่ภายหลังเมื่อคุณแม่ของซึสึเสียชีวิต พ่อจึงแต่งงานใหม่กับหม้ายลูกสามอีกครั้ง ผลคือซึสึต้องเลี้ยงน้องที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดแม้แต่น้อยและอยู่กับพ่อที่ไม่ใช่พ่อแท้ๆ ของเธอเช่นกัน ความห่างเหินทางสายเลือดทำให้เธอพยายามเก็บความรู้สึกและทำตัวเป็นประโยชน์กับคนรอบข้างให้มากที่สุด สามพี่น้องคงเป็นคนแรกๆ ที่มีโอกาสได้เห็นซึสึร้องไห้ในงานศพของพ่อเพราะเธอเข้มแข็งเสียจนทุกคนลืมไปว่าเธอก็เป็นแค่เด็กสาวที่เพิ่งสูญเสียพ่อไปเท่านั้น

สามพี่น้องสารภาพว่าพวกเธอไม่ได้รู้สึกอะไรกับการจากไปของพ่อเลย เพราะตอนที่พ่อจากไป พวกเธอยังเด็กมาก ดังนั้น งานศพครั้งนี้จึงเหมือนงานศพของคนไม่รู้จักเสียมากกว่า จนกระทั่งเมื่อซึสึมอบซองกระดาษหนาซองหนึ่งให้ ทั้งสามคนก็รู้สึกเหมือนบางอย่างกำลังหลั่งไหลออกมาจากความทรงจำ

ซองนั้นบรรจุภาพถ่ายวัยเด็กของทั้งสามคนไว้นั่นเองค่ะ ในภาพอัดแน่นด้วยความทรงจำร่วมกันระหว่างพวกเธอกับพ่อ กระทั่งรายละเอียดเล็กน้อยที่ตอนเด็กไม่เข้าใจก็สามารถเข้าใจได้ในตอนนี้ว่าแท้จริงสิ่งที่พ่อทำล้วนก่อขึ้นจากความเป็นห่วงและรักใคร่ ความทรงจำจากภาพสีจางบนกระดาษเก่าๆ ทำให้ชายแปลกหน้าในโลงศพกลับกลายเป็นพ่อของพวกเธอขึ้นมาอีกครั้ง และทำให้พวกเธอลบความโกรธเมื่อวัยเด็กที่ถูกพ่อทอดทิ้งออกไปได้จนหมดสิ้น

นอนอ่านถึงตรงนี้แล้วน้ำตาหยดแหมะเลยค่ะ

ดูจากเนื้อเรื่องแล้ว "วันที่เสียงจักจั่นซา" ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการ์ตูนแนวฮิวแมนดราม่าที่ดำเนินเรื่องในเมืองเก่าอย่างคามาคุระซึ่งเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณความเป็นญี่ปุ่น สิ่งที่ทำให้ "โยชิดะ อาคิมิ" ผู้วาดได้รับรางวัลการ์ตูนยอดเยี่ยมไม่ใช่แค่เนื้อหานะคะ แต่เป็นการนำเสนอเรื่องที่เป็นพื้นฐานที่สุดของครอบครัว ซึ่งก็คือ "ความผูกพัน" ให้เริ่มด้วยปมยุ่งเหยิงจากอดีตและจบด้วยการคลายอย่างช้าๆ นุ่มนวล ไม่มีความโกรธแค้นบ้าคลั่งในเรื่องนี้ค่ะ ทุกช่องทุกจังหวะเต็มไปด้วยการแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติ รื่นไหล แต่เมื่อถึงจุดวิกฤตของครอบครัวกลับถ่ายทอดออกมากระแทกอารมณ์จนน้ำตาร่วงอย่างที่เห็นนี่ล่ะค่ะ

นี่ไม่ใช่รางวัลแรกของ "โยชิดะ อาคิมิ" นะคะ ตอนหน้ามาแกะรอยความสำเร็จของเธอในฐานะนักเขียนการ์ตูนผู้หญิงที่กล่าวกันว่าเป็นนักเขียนที่ยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งในปลายยุค 70 ยุคทองของการ์ตูนญี่ปุ่นกันค่ะ

วันที่ 03 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11376 มติชนรายวัน