26 ธันวาคม 2552

Super Dunker การ์ตูนไทยกับรางวัลอินเตอร์(2)

คอลัมน์มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ต่อจากสัปดาห์ก่อนที่เล่าถึงการ์ตูนเรื่องSuper Dunker สตรีทบอลสะท้านฟ้า ผลงานของคุณต้น-
จักรพันธ์ ห้วยเพชร ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดการ์ตูนนานาชาติ International MANGA Award ครั้งที่ 3 ที่กระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ มาได้จากคู่แข่งหลายสิบชาติ

สิ่งที่น่าวิเคราะห์คือทั้งที่เกณฑ์การตัดสินไม่มีข้อใดเลยที่บอกว่าการ์ตูนดีต้องมีประโยชน์ แต่การ์ตูนของคุณต้นที่ได้รับรางวัลกลับเป็น “ การ์ตูนความรู้” ซึ่งถือเป็นตลาดรองของมังงะในไทย(แต่เป็นตลาดใหญ่ของการ์ตูนฝีมือคนไทย)

มีความเป็นไปได้สองอย่างคือ ถ้าไม่ใช่เพราะวงการ “ การ์ตูนความรู้” ในไทยโชคดีได้นักเขียนที่มีศักยภาพสูงมากเขียนของเครียดให้สนุกได้ ก็อาจจะเป็นเพราะวงการ “ การ์ตูนอ่านสนุก” ในไทยไม่มีตลาดให้นักเขียนมือดีๆไปลง นักเขียนชั้นดีจึงผันตัวมาสร้างการ์ตูนความรู้สำหรับเด็กเสียแทน

แม้ว่าปกติจะไม่ได้อ่านการ์ตูนความรู้เท่าไร เพราะการ์ตูนเหล่านี้เหมาะสำหรับเด็กวัยอนุบาลและประถมน่ะค่ะ แต่เท่าที่ลองไปเปิดอ่านฟรีตามแผงหนังสือท่ามกลางลูกเล็กเด็กแดงที่นั่งอ่านกันแถวนั้นมากมายสิ่งที่น่าจะเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของการ์ตูนความรู้ได้แก่

สนุก-ต้องมาเป็นลำดับแรกเลยค่ะ การ์ตูนความรู้บางเรื่องมองข้ามจุดนี้และคิดว่าเอาสาระยัดใส่บัลลูนคำพูดและวาดรูปเข้าไปเดี๋ยวก็เป็นการ์ตูนเอง นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของความล้มเหลวเลยล่ะค่ะ การ์ตูนต่อให้วาดสวยหรือมีสาระแค่ไหน ถ้าไม่สนุกก็ไม่มีใครอยากหยิบอ่านหรอกค่ะ จักรพันธ์ ห้วยเพชร หรือ คุณต้น
เราโตไปพร้อมตัวการ์ตูน เคยได้ยินไหมคะว่า การสอนลูกที่ดีที่สุดคือการทำให้ดู แต่บางเรื่องเช่นการเล่นบาสเกตบอล พ่อแม่อาจทำให้ดูไม่ได้ ให้ดูรายการกีฬาก็ดีอยู่แต่ลูกจะเรียนรู้เรื่องน้ำใจนักกีฬาหรือความมุ่งมั่นได้จากที่ไหน คำตอบคือจากการ์ตูนนี่ล่ะค่ะ ดังนั้นใครสักคนในการ์ตูนต้องไม่ค่อยฉลาดตอนต้นเรื่อง หลังจากนั้นเขาจะค่อยๆฉลาดขึ้นไปพร้อมกับเรา

ความรู้ อย่าไปอยู่ในช่องการ์ตูนมากนัก การ์ตูนความรู้บางเรื่องคิดว่าเด็กคงไม่ชอบอ่านตัวหนังสือในหน้าแทรกจึงพยายามยัดความรู้ทั้งหมดผ่านบทพูดของตัวการ์ตูน วิธีนี้ไม่ค่อยดีนักเพราะการ์ตูนทำหน้าที่ให้หนังสืออ่านสนุกและเกิดแรงบันดาลใจอยากหาความรู้ในเรื่องนั้นๆต่อ ถ้าเป็นสมัยก่อนพออ่านการ์ตูนแล้วสนใจอยากรู้เรื่องดาราศาสตร์ เราก็ต้องวิ่งไปหยิบหนังสือดาราศาสตร์มาอ่านตามหลัง แต่การ์ตูนความรู้ให้สิ่งสะดวกสบายกว่านั้นคือใส่รายละเอียดความรู้มาให้ในเล่มเลย ไม่ต้องลำบากไปหาหนังสืออ้างอิง
เด็กจะได้ฝึกทักษะการอ่านหนังสือที่ไม่ใช่การ์ตูนไปด้วยค่ะ

ไม่จำเป็นต้องวาดสวยอลังการ หรือมีเนื้อเรื่องเป็นมหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่ เพียงแค่อ่านสนุกและนำพาให้ผู้อ่านเดินตามคุณธรรมที่สอดแทรกอยู่ในการ์ตูนได้ก็เพียงพอต่อการเป็นการ์ตูนความรู้ที่ดีแล้วค่ะ

ปีใหม่นี้แทนที่จะซื้อของเล่นให้เป็นของขวัญเด็กๆลองหันมาซื้อการ์ตูนความรู้ให้เขาดีไหมคะ

ที่มา:มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม 2552

19 ธันวาคม 2552

Super Dunker การ์ตูนไทยกับรางวัลอินเตอร์(1)

คอลัมน์มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ต้องปรบมือดังๆให้คุณต้น จักรพันธ์ ห้วยเพชร นักเขียนการ์ตูนไทยคนแรกที่คว้า Gold Awardหรือรางวัลชนะเลิศการประกวดการ์ตูนนานาชาติ International Manga Award ครั้งที่ 3 ซึ่งกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นเป็นแม่งาน ผลงานของคุณต้นที่ได้รับรางวัลคือ Super Dunker สตรีทบอลสะท้านฟ้าซี่งขณะนี้วางแผงแล้ว 2 เล่มยังไม่จบ หาซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วๆไปแถวๆการ์ตูนความรู้นะคะ

ซุปเปอร์ดังค์เกอร์เป็นเรื่องของ โตโต้ เด็กหนุ่มชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเกาะที่ห่างไกลความเจริญกับคุณพ่อ อยู่มาวันหนึ่ง ร็อคกี้ นักกีฬาบาสเกตบอล NBA ผู้โด่งดังเกิดขับเครื่องบินมาตกเหนือเกาะเขารอดตายมาได้อย่างปาฏิหาริย์ เพราะความช่วยเหลือของ โตโต้และพ่อ แต่ก็ต้องติดเกาะกับลูกบาสเกตบอลหนึ่งลูกท่ามกลางดินแดนที่ไร้ความเจริญ

เพื่อแก้เซ็ง ร็อคกี้จึงตัดสินใจสอนให้โตโต้รู้จักบาสเกตบอล จนกระทั่งเมื่อเขาได้กลับบ้านเกิดเมืองนอนและโตโต้ต้องไปเข้าเรียนที่พัทยา ชีวิตของเด็กชายที่เพิ่งรู้ว่าบาสเกตบอลไม่ได้เล่นกันสองคนแบบที่เกาะจึงเริ่มขึ้น

เล่าสั้นๆไว้แค่นี้ แต่ที่เหลือลองไปหาอ่านดูนะคะ เป็นการ์ตูนเด็กที่อ่านแล้วสนุกจนวางไม่ลงเลยล่ะค่ะ

ในคำแนะนำนักเขียนทางเว็บไซต์ของมังงะอวอร์ด บอกไว้ว่าคุณต้นได้รับแรงบันดาลใจจาก “ดราก้อนบอล” ของ อ.โทริยามะ อากิระ จึงอยากมาเป็นนักเขียนการ์ตูน คาดว่าคำแนะนำนี้คงเป็นน้ำหวานให้แม่งานอย่างกระทรวงต่างประเทศของญี่ปุ่นยิ้มแก้มตุ่ยเพราะว่ารางวัลมังงะนานาชาติสร้างขึ้นจากนโยบายวัฒนธรรมเชิงรุกของรัฐบาลญี่ปุ่นยุคนายกรัฐมนตรีทาโร่ อาโสะ ที่ต้องการเผยแพร่วัฒนธรรมป๊อปของญี่ปุ่นไปสู่สายตาชาวโลก

และวิธีที่ทำให้เยาวชนทั่วโลกเข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นมากขึ้นก็ไม่มีอะไรดีไปกว่าการให้เด็กเหล่านั้นลองอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นหรือเล่น
ทามาก็อต ดูสักครั้ง

บางทีการ์ตูนของญี่ปุ่นเองอาจจะไม่ทำให้คนในชาตินั้นๆรู้สึกอินตาม แต่ถ้านักเขียนในชาตินั้นเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานโดยใช้วัฒนธรรมในประเทศของตัวเองเป็นที่ตั้งและมีกลิ่นแรงบันดาลใจจากญี่ปุ่นนิดๆเข้ามาประกอบด้วยน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการส่งผ่านวัฒนธรรมของญี่ปุ่นไปสู่สายตาชาวโลก

ดังนั้น นักเขียนการ์ตูนชาติอื่นที่ไปคว้ารางวัลมังงะจึงเป็นทูตวัฒนธรรมอย่างแท้จริงค่ะ เพราะนอกจากจะรักษาเอกลักษณ์และแสดงวิถีชีวิตของชาติตัวเองแล้ว ยังแสดงให้เห็นอีกว่า ต่อให้เติบโตขึ้นจากการอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น เขาก็ยังคงเป็นคนไทยที่รู้จักดึงเอาข้อดีของชาติอื่นมาปรับใช้กับงานของตัวเองได้

นี่คือสิ่งที่เราอยากปลูกฝังคนไทยค่ะ ไม่ใช่ห้ามกรี๊ดวัฒนธรรมต่างชาติ แต่ถ้าจะให้ดี พอกริ๊ดแล้วก็มาช่วยพัฒนาวัฒนธรรมบ้านเราให้น่ากริ๊ดเหมือนเขาได้ไหม

รางวัลมังงะนานาชาติได้ให้นิยาม manga หรือหนังสือการ์ตูนที่ดำเนินเรื่องแบบญี่ปุ่นว่าเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับ “ ความรัก , มิตรภาพ,การเติบโต,และทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไร้ซึ่งพรมแดน ” ดังนั้นเขาจึงเชื่อว่ามังงะสามารถเชื่อมโยงจิตใจของผู้คนไม่ว่าเด็กหรือแก่(แต่ใจยังเอ๊าะ) ให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ การ์ตูนของคุณต้นตอบโจทย์นี้ได้ครบถ้วนอย่างไม่ต้องสงสัยค่ะ สมคุณค่าแก่รางวัลที่ได้รับจริงๆ

ครั้งหน้ามาต่ออีกนิดว่าเพราะเหตุใดการ์ตูนไทยที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติจึงเป็นการ์ตูนความรู้ ทั้งที่เกณฑ์การตัดสินไม่มีข้อไหนเลยบอกว่าการ์ตูนต้องมีประโยชน์



ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 20ธันวาคม 2552

12 ธันวาคม 2552

วัฒนธรรมโมเอะ กับหนุ่มๆ ผู้ชอบของน่ารัก (2)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

สัปดาห์ที่แล้วเล่าให้ฟังถึงวัฒนธรรมการ์ตูนที่มาแรงเหลือเกินในญี่ปุ่นและทำเงินมหาศาลจนหนุ่มๆ กระเป๋าฉีกด้วยรอยยิ้มกันถ้วนหน้าค่ะ นั่นคือ "วัฒนธรรมโมเอะ" (moe subculture) ซึ่งกล่าวถึงหนุ่มๆ ที่ชอบสาวน้อยน่ารักตาโตแต่งกายด้วยชุดเมด (ชุดคนรับใช้แบบยุโรป) หรือชุดหูแมวน่ารักน่าเอ็นดูเกินห้ามใจ คุณเจสัน ธอมป์สันผู้เขียนบทความเรื่องวัฒนธรรมโมเอะได้อธิบายความชอบเด็กสาวน่ารักของหนุ่มๆ ว่าอาจเป็นปรากฏการณ์เช่นเดียวกับ phatic language หรือ "พูดอย่างนั้นแต่ไม่ได้หมายความอย่างนั้น" อีกนัยหนึ่งคือชอบตัวการ์ตูนเด็กสาวใส่ชุดทหารแบบน่ารัก ติดโบว์หวานแหววแต่ถือปืนกระบอกโตก็ไม่ได้หมายความว่าอยากจับน้องสาวที่บ้านมาแต่งแบบนั้นแต่อย่างใด มันเป็นแค่การทำให้ชุดทหารและปืน (ซึ่งเป็นของชอบของผู้ชายปกติทั่วไป) ดูน่ารักขึ้นเท่านั้นเอง

อีกทฤษฎีหนึ่งน่าจะเกิดจากคำถามที่ว่า "แล้วทำไมต้องเอาของชอบไปอยู่รวมกับตัวการ์ตูนเด็กสาววัยประถมทุกที ถ้าชอบแมวน่ารักทำไมไม่ชอบคิตตี้หรือการ์ฟิลด์ ทำไมต้องเอาตัวการ์ตูนเด็กประถมไปใส่หูแมวด้วย"คุณเจสันอธิบายปรากฏการณ์นี้ด้วยทฤษฎี moe anthropomorphism หรือแปลโดยสรุปว่าเป็นการเปลี่ยนให้สิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์, สิ่งของที่ไม่มีชีวิต, คอนเซ็ปท์, หรือปรากฏการณ์ใดๆ กลายเป็นมนุษย์ค่ะ หากจะอธิบายว่าทำไมต้องเป็นตัวการ์ตูนเด็กสาวหูแมว คำตอบคงเป็นชายหนุ่มชอบ "นิสัยแบบแมว" ซึ่งเป็นคอนเซ็ปท์ของนิสัยที่ชอบคลอเคลียออดอ้อนแต่บางอารมณ์ก็แสนงอนทำตัวเชิดหยิ่งเหมือนเป็นเจ้านายเราเสียแทน นิสัยแบบแมวซึ่งเป็นนามธรรมถูกเปลี่ยนเป็นมนุษย์ซึ่งก็คือเด็กสาวสวมหูแมวนั่นเอง แต่ถ้าสงสัยต่อว่าทำไมไม่ให้เป็นแคทวูแมนสุดเซ็กซี่ล่ะ หนุ่มๆ ก็อาจจะบอกว่ามัน "ไม่โมเอะ" ก็ได้ค่ะ

เพื่อให้รู้กันว่าสิ่งนี้ได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นสิ่งมีชีวิตสุดโมเอะตามทฤษฎี moe anthropomorphism จึงกำเนิดคำลงท้ายเพิ่มความน่ารัก 200% ขึ้นมาว่า "ตัน" ตัวอย่างเช่นน้องแมวสุดน่ารักอาจจะชื่อ "เนโกะจัง" (ใส่ "จัง" ตอนท้ายก็น่าเอ็นดูแล้ว) แต่เมื่ออยากให้ได้อารมณ์กรี๊ดกร๊าดแบบวัฒนธรรมโมเอะเราจึงต้องเปลี่ยนเป็น "เนโกะตัน" เสียแทน เช่นเดียวกับสาวน้อยน่ารักนั่งทับลูกโลกจิ๊กซอว์หน้าตาคุ้นๆ คนนี้ เดาไหมคะว่าเธอน่าจะชื่ออะไร ชื่อของเธอคือ "วิกิปิตัน"ค่ะ! ลูกโลกที่เห็นคือลูกเดียวกับ Wikipedia สารานุกรมออนไลน์นั่นเอง หนุ่มๆ ในวัฒนธรรมโมเอะได้เปลี่ยนให้สิ่งที่ใช้งานเป็นประจำทุกวันดูน่ารักน่าเอ็นดูขึ้นด้วยการจับให้วิกิปีเดียกลายเป็นสาวน้อยและตั้งชื่อว่าวิกิปิตันซะเพื่อให้...ใช้แล้วจิตใจชื่นบานมั้งคะ มาถึงตอนนี้คงพอเดาได้ว่าจะมีสาวน้อยที่เกิดจากของใช้ที่หนุ่มๆ นิยมอีกเพียบแน่ค่ะ เช่น โอเอสตัน (OS-tan) หรือประบบปฏิบัติการ (operating system) ในร่างสาวน้อย เป็นต้น

คุณเจสันยังกล่าวถึงความนิยมอื่นๆ ในวัฒนธรรมโมเอะอีกพอสมควร เช่น โลลิค่อน (Lolita complex) หรือมิลิโมเอะ (mili-moe : military moe) ส่วนสาวๆ เองใช่ว่าจะแห้งแล้งนะคะ ทฤษฎี moe anthropomorphism ยังใช้อธิบายการ์ตูนเรื่อง Axis Power Hetalia ที่จับเอาคอนเซ็ปท์ของคนแต่ละประเทศมาเปลี่ยนให้เป็นมนุษย์เช่นเดียวกับที่หนุ่มๆ เปลี่ยนวิกิปีเดียเป็นวิกิปิตันด้วย

ใครสนใจศึกษาต่อเชิญค้นคว้าที่ http://io9.com/ หาชื่อ Jason Thompson ค่ะ น่าจะมีคำอธิบายดีๆ ว่าเพราะเหตุใดหนุ่มๆ ในปัจจุบันจึงหันไปชอบการ์ตูนที่มีเด็กสาวเป็นตัวดำเนินเรื่องพอๆ กับการ์ตูนผู้ชายบู๊ล้างผลาญ

วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11600 มติชนรายวัน

05 ธันวาคม 2552

วัฒนธรรมโมเอะ กับหนุ่มๆ ผู้ชอบของน่ารัก (1)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

วันนี้ได้มีโอกาสอ่านบทความของคุณ Jason Thompson ซึ่งได้รับฉายาว่าเอนไซโคลปีเดียการ์ตูนเดินได้คนหนึ่งของวงการเรื่องสาวน้อยน่ารักในชุดทหารหวานแหววแต่มือเธอกลับถือปืนสีโลหะเงาวับขัดแย้งกับท่าทางน่าเอ็นดูของเธออย่างชัดเจน เห็นเด็กสาวตาโตถือปืนแบบนี้อย่าคิดว่านี่คือการ์ตูนสำหรับเด็กผู้หญิงนะคะ วิธีแบ่งอายุของผู้ชมตามอายุและเพศของตัวเอกในการ์ตูนใช้ไม่ได้อีกต่อไปเพราะแม้สาวน้อยอายุไม่เกินสิบขวบคนนี้จะเป็นนางเอก แต่การ์ตูนเรื่องนี้ไม่ได้ถูกสร้างให้เด็กสาววัยประถมดู นี่คือการ์ตูนสำหรับ "ชายหนุ่ม" ผู้หลงใหลวัฒนธรรมการ์ตูนล่าสุดที่แรงและทำเงินมหาศาลในญี่ปุ่นขณะนี้ "วัฒนธรรมโมเอะ" (Moe subculture) ซึ่งโดยส่วนตัวไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของตลาดโมเอะจึงทำความเข้าใจความรู้สึกของหนุ่มๆ ยากพอดู แต่ก็จะพยายามค่ะ

เริ่มที่คำว่า "โมเอะ" ก่อน เชื่อว่าหลายท่านคงคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์อย่างฮัลโลคิตตี้หรือโปเกม่อนที่น่ารักน่าเอ็นดู เวลาที่เราเห็นของ "น่ารักเกินห้ามใจ!" เราจะอุทานออกมาว่า "โมเอะ" ซึ่งมีความหมายในเชิงกรี๊ดกร๊าดว่าทำไมน่ารักแบบนี้ หากสาวๆ วัยรุ่นเห็นตุ๊กตายัดนุ่นตัวกลมแล้วชมว่าน่ารักก็คงไม่แปลก แต่หากมีชายหนุ่มกำยำล่ำสันใส่ชุด ร.ด.เดินไปหยิบพวงกุญแจคิตตี้แล้วชมว่าน่ารักจังนะตัว...คงแปลกนิดๆ ใช่ไหมคะ และนี่คือจุดเริ่มต้นของความอยุติธรรมค่ะ! ทุกวันนี้ผู้หญิงลุกขึ้นมาทำงานนอกบ้านอย่างเข้มแข็ง เธอเลิกสนใจการเย็บปักถักร้อยหรือแต่งห้องด้วยผ้าม่านลูกไม้หวานแหววแต่กลับทำงานอยู่แถวหน้าของผู้ชายอย่างภาคภูมิ ในเมื่อคุณผู้หญิงหันไปนิยมอะไรที่ดูสมชายชาตรีแบบนี้ได้ แล้วทำไมคุณผู้ชายถึงจะเปลี่ยนมาชอบอะไรน่ารักๆ สีชมพูหวานๆ บ้างไม่ได้ล่ะ

แฮ่ม...อย่างไรก็ตามผู้ชายส่วนใหญ่ไม่ได้มีสัญชาตญาณชอบผ้าลูกไม้สีชมพูหวานๆ หรือคิตตี้ประดับพลอยแวววับสีชมพูค่ะ ผู้ชายก็ยังคงชอบปืน รถยนต์ เครื่องบิน หุ่นยนต์ หรือสิ่งไม่มีชีวิตที่ดูแล้วสมชายชาตรีเหมือนเดิม แต่การทำให้ของเหล่านี้ดูน่ารักขึ้นด้วยการทาสีชมพูไม่ใช่ทางออกที่คนทั่วไปยอมรับได้นัก ลองคิดถึงชุดทหารเต็มยศสีชมพูหวานหรือหุ่นยนต์ทัดดอกไม้แล้วถือกระเป๋าลายลูกไม้สิคะ โอ้...รับไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นลองเปลี่ยนให้เด็กสาวตัวเล็กๆ ใส่ชุดทหารผูกโบถือปืนกระบอกใหญ่หรือสาวน้อยน่ารักสวมชุดเกราะแบบเดียวกับหุ่นยนต์นั่งยิ้มหวานบ้างล่ะ...ดูเข้าท่าแฮะ

นี่คือที่มาของ "โมเอะ" ในความคิดของคุณเจสันค่ะ คือแม้หนุ่มๆ จะชอบตัวการ์ตูนเด็กสาววัยประถมใส่ชุดทหารน่ารักถือปืนก็ไม่ได้หมายความว่าเขาอยากจะพรากผู้เยาว์แต่อย่างใด สาวน้อยโมเอะคนนี้คือ "สัญลักษณ์ของปืนแบบหวานแหวว" ที่ดูน่ารักขึ้นโดยไม่ต้องทาสีชมพูนั่นเอง คุณเจสันอธิบายปรากฏการณ์นี้ว่าเป็นสิ่งเดียวกับ phatic language หรือคำที่ "พูดอย่างนั้นแต่ไม่ได้หมายความอย่างนั้น" เช่น เวลาเจอหน้ากันเราถามเพื่อนว่า "ไง! กินข้าวยัง" ความจริงไม่ได้อยากถามว่าเขากินข้าวแล้วหรือยัง แค่เป็นคำทักทายเวลาเจอหน้ากันเท่านั้นเอง หรือเวลามีคนขอบคุณเราก็ตอบไปว่า "ยินดีให้บริการค่ะ" ทั้งที่เราอาจจะไม่ได้ยินดีก็ได้แต่ต้องการตอบคำขอบคุณด้วยความถ่อมตนแก่ผู้ที่กล่าวขอบคุณเรานั่นเอง

บางทีหนุ่มๆ ในวัฒนธรรมโมเอะอาจจะชอบตัวการ์ตูนเด็กสาวตาโตสวมที่คาดผมหูแมว ใส่ถุงมือแมว และติดหางแมวไว้ที่ก้นโดยไม่ได้มีรสนิยมชอบจับลูกหลานที่บ้านมาแต่งชุดแมวแต่อย่างใด เขาไม่ได้ชอบแมวด้วยค่ะ แต่ชอบ "ความเป็นแมว" เช่น ชอบมาเคล้าแข้งเคล้าขาน่ารัก บางทีก็เข้ามาอ้อนเราแต่บางครั้งก็แสนงอนทำเหมือนเป็นเจ้านายเราซะแทน นิสัยแบบแมวๆ คือความชอบที่ถูกเปลี่ยนรูปแบบกลายเป็นสาวหูแมวนั่นเอง โอ้...หวังว่าคงจะเข้าใจถูกต้องนะคะ วัฒนธรรมโมเอะช่างลึกล้ำจริงๆ

ครั้งหน้ามาต่อเรื่องการเปลี่ยนให้สิ่งไม่มีชีวิตดูโมเอะขึ้นในขั้นสูงสุดตามทฤษฎี moe anthropomorphism บ้างค่ะ

วันที่ 06 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11593 มติชนรายวัน

28 พฤศจิกายน 2552

ไคจิ กลโกงเกมมรณะ

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นการ์ตูนที่กล่าวถึงพระเอกนิสัยไม่ดีค่ะ อาจมีพระเอกแนวแอนตี้ฮีโร่ที่ฉลาดแกมโกงและชั่วร้าย หรือพระเอกที่จำใจลุกขึ้นมาปฏิวัติเพราะความดีหรือความยุติธรรมไม่อาจตอบคำถามในใจเขาได้ แต่โดยส่วนใหญ่พระเอกมักมีจุดยืนร่วมกันที่ "ความฉลาด" เราคงหงุดหงิดน่าดูถ้าพระเอกโง้โง่แถมเลวอีกต่างหาก แต่ปรากฏการณ์ที่น่าหงุดหงิดนี้กลายมาเป็นจุดขายสำคัญของ "ไคจิ กลโกงเกมมรณะ" หรือ Gambling Apocalypse Kaiji ซึ่งหากจะมองแต่ผิวเผินแล้ว การ์ตูนเรื่องนี้เต็มไปด้วยคุณสมบัติของการ์ตูนที่ไม่น่าจะขายออก ได้แก่ วาดไม่สวย, ตัวเอกไม่หล่อ, เนื้อเรื่องอืดอาด, พระเอกเอาแต่ฝันหวานถึงความร่ำรวยแต่กลับเล่นการพนัน, ยึดหลักทำเลววันละนิดจิตแจ่มใสด้วยการเจาะยางรถยนต์และขูดรถชาวบ้าน, พอคิดอะไรไม่ออกก็ร้องไห้, ไคลแมกซ์ของเรื่องเป็นเกมเป่ายิงฉุบ เป็นต้น แต่ถ้ามองข้ามคุณสมบัติด้านลบเหล่านี้แล้วค่อยๆ พลิกอ่านอย่างใจเย็นก็จะพบว่าการ์ตูนเรื่องนี้ดีกว่าที่คิด สมกับที่ได้รับรางวัลโคดันฉะมังก้าอวอร์ดประเภทการ์ตูนทั่วไปในปี 1998 ซึ่งเป็นปีที่ 3 หลังจากซีรีส์นี้เปิดตัว

"ไคจิ" เป็นเด็กหนุ่มที่ตัดสินใจเดินทางเข้ามาหางานทำในโตเกียวหลังจากจบชั้นมัธยมปลาย แต่ผลจากเศรษฐกิจตกต่ำประกอบกับเป็นคนที่มนุษยสัมพันธ์ไม่ดีนักทำให้ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาเขาไม่สามารถหางานดีๆ ทำได้เลย นอกจากเป็นลูกจ้างชั่วคราวค่าแรงต่ำ ไคจิใฝ่ฝันถึงความร่ำรวยแต่ตัวเองกลับดื่มเหล้าเล่นพนันให้หมดไปวันๆ ทุกครั้งที่เห็นรถยนต์หรูหราราคาแพงเป็นต้องอิจฉาตาร้อนและเข้าไปเจาะยางไม่ก็ขูดขีดรถจนเป็นรอยโดยอ้างว่าคนที่ขับรถแพงขนาดนี้ต้องเป็นคนไม่ดีที่หากำไรจากคนอื่นและหนีภาษีแน่ๆ เป็นพระเอกที่เปี่ยมด้วยคุณสมบัติของคนขี้แพ้อย่างครบถ้วนเลยค่ะ

ชีวิตของไคจิเปลี่ยนไปเมื่อวันหนึ่งมียากูซ่ามาบอกข่าวร้ายว่าเพื่อนที่ไคจิเคยเซ็นชื่อค้ำประกันเงินกู้เมื่อนานมาแล้วเกิดหายตัวไป ไคจิจึงต้องแบกรับภาระหนี้ที่เหลือซึ่งอาจต้องใช้เวลาเป็นสิบปีกว่าจะผ่อนชำระหมด แม้ดูแล้วเป็นการรีดเลือดกับปูแต่ยากูซ่าก็มีอีกหลายวิธีที่จะทำเงินจากไคจิซึ่งก็ไม่ใช่วิธีดีๆ แน่ค่ะ เขาจึงเสนอทางเลือกให้ไคจิว่าหากไม่อยากใช้หนี้ไปอีกสิบปี มีวิธีที่ทำให้หนี้ทั้งหมดสูญไปในคืนเดียวเพียงแค่ไคจิเข้าร่วมการพนันบนเรือ "เอสปัว" ซึ่งมีเหล่าลูกหนี้ที่สิ้นหวังไปรวมตัวกัน คนที่ชนะเกมบนเรือจะได้รับเงินก้อนใหญ่ไปใช้หนี้และตั้งตัวอีกครั้ง ไคจิยึกยักได้ไม่นานก็ตัดสินใจตกลงในที่สุด

การพนันที่จัดขึ้นบนเรือเอสปัวคือเกม "เป่ายิงฉุบ" ค่ะ! ความสนุกของเรื่องนี้อยู่ที่กติกาไม่ธรรมดา บนเรือเอสปัวทุกคนสามารถกู้เงินมาใช้จ่ายบนเรือได้และจะได้รับไพ่ซึ่งมีสัญลักษณ์กรรไกร กระดาษ และฆ้อน 12 ใบกับดาว 3 ดวง คนที่เป่ายิงฉุบแพ้ต้องเสียดาวให้คนชนะ ต้องจับคู่เล่นให้ไพ่หมดมือ ถ้าดาวยังเหลือ 3 ดวงก็จะรอดตายไม่โดนพาไปขายแรงงานต่างประเทศ ดังนั้น เกมนี้จึงไม่ได้มีแค่การเป่ายิงฉุบเท่านั้นค่ะ มีการหักหลัก ทรยศ ช้อนซื้อ เร่ขาย หรือแม้แต่ร่วมมือกันทำสัญญาลับๆ และหักหลังกันเองในวินาทีสุดท้าย เรียกว่ารวมเอาคุณสมบัติของคนขี้โกงทุกประเภทมาไว้ในการ์ตูนเรื่องเดียวเลย

ถ้าการ์ตูนเรื่องนี้มีแต่เรื่องชวนหดหู่ แล้วเพราะเหตุใดจึงได้รางวัลโคดันฉะ นอกเหนือจากความสนุกแล้ว ไคจิคือบทเรียนชั้นดีให้เรารู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของมิจฉาชีพค่ะ ไม่ได้เป็นการสอนให้มองคนในแง่ร้ายแต่สอนให้เรารู้ว่าคนชั่วมีจริงในโลกและเราไม่ควรประมาท แต่เนื่องจากการ์ตูนเรื่องนี้ไม่มีใครที่เป็นตัวอย่างที่ดีให้เยาวชนได้เลยแม้แต่ไคจิซึ่งเป็นพระเอก ดังนั้น จึงเหมาะกับคนที่อายุเกิน 18 ปีไปแล้วเท่านั้นค่ะ เด็กๆ อ่านแล้วจะงงเสียเปล่าๆ

ปัญหาอย่างเดียวของ "ไคจิ" คือหาซื้อยากมาก ไคจิพิมพ์โดย TMCX ซึ่งอาจจะหาบนแผงไม่ได้ครบทุกเล่ม ใครใช้อินเตอร์เน็ตเก่งอาจจะสั่งซื้อแบบออนไลน์แทนนะคะ อ่านแล้วจะซึ้งว่าคนที่หาอะไรดีไม่ได้เลยอย่างไคจิก็ยังเหลือศักดิ์ศรีในฐานะมนุษย์อยู่บ้างเหมือนกัน

วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11586 มติชนรายวัน

21 พฤศจิกายน 2552

Maison de Beauties บ้านนี้มีแต่คนสวย

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

เมื่อหลายสัปดาห์ก่อนมีโอกาสคุยกับนักศึกษาสาวคนหนึ่งค่ะ เธอมาปรึกษาด้วยปัญหากลุ้มใจตามแบบวัยรุ่นทั่วไปคือเรื่องการเรียน เรื่องเพื่อน และเรื่องเป้าหมายในชีวิต เรียกว่าเป็นคนที่มุ่งมั่นและมองตรงไปยังอนาคตข้างหน้าตั้งแต่อายุยังน้อยเลยทีเดียว ความที่เธอไม่ได้เรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ไม่ได้เรียนเก่งโดดเด่นหรือมีเพื่อนรุมรักนับร้อยทำให้เธอรู้สึกว่าชีวิตตัวเองธรรมดาเหลือเกิน จะหาข้อดีอะไรมาให้ภูมิใจสักข้อก็ไม่ได้เลย

"แต่น้องก็เป็นคนหน้าตาสวยรูปร่างดีไม่ใช่เหรอคะ"

ตอนนั้นตอบเธอไปแบบนั้นค่ะเพราะเธอเป็นเด็กสาวสูงเกิน 170 เซนติเมตรผอมบางผิวสีน้ำผึ้งที่หน้าเข้มและแต่งหน้าขึ้นทีเดียว อาจจะไม่ได้เปล่งประกายแบบดาราแต่ก็จัดว่าสวยล่ะค่ะ น่าแปลกที่เธอทำหน้างงอยู่สามตลบและไม่คิดว่า "ความสวย" เป็นข้อดีของตัวเองแต่อย่างใด สาเหตุเพราะความสวยเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดและไม่ได้สร้างขึ้นจากความสามารถของตัวเองเสียหน่อย วินาทีนั้นอยากจะส่งการ์ตูนเรื่อง "บ้านรักนักล่าฝัน" ให้ลองอ่านจังเลยค่ะ

"บ้านรักนักล่าฝัน" หรือ Maison de Beauties เป็นการ์ตูนผู้หญิงที่คลอดจากสำนักพิมพ์บุรพัฒน์ฯ ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่านิยมพิมพ์การ์ตูนจีนบู๊แหลกและการ์ตูนผู้ชายชั้นดี พอมีการ์ตูนผู้หญิงพิมพ์ออกมาเลยต้องชั่งใจอยู่สิบวินาทีว่าจะลองซื้อดีหรือเปล่า แต่ชื่อนักเขียน "มิสุชิโระ เซโทนะ" ก็ทำให้คว้าไปจ่ายเงินทันทีค่ะเนื่องจากเธอเป็นนักเขียนการ์ตูนแนว psychology หรือแนวจิตวิทยาที่มักคิดในมุมกลับจากความคิดของคนทั่วๆ ไปอยู่เสมอ

"อาริซากะ อุรัน" สาวน้อยที่เพิ่งจบชั้นมัธยมต้นตัดสินใจเด็ดเดี่ยวเดินทางเข้าโตเกียวเพื่อเป็นนางแบบให้ได้ ตั้งแต่เกิดมาเธอไม่เคยได้รับคำชมจากใครเลยเนื่องจากไม่ใช่คนที่เรียนเก่งหรือมั่นใจในตัวเองนัก แถมยังเซ่อซ่าซุ่มซ่ามจนไม่มีหนุ่มๆ มาสนใจอีกต่างหาก วันหนึ่งที่โรงเรียน อุรันได้ยินเพื่อนผู้ชายที่แอบชอบอยู่นินทาว่าเธอ "มีดีแค่หน้าตาเท่านั้นแหละ" หากเป็นผู้หญิงทั่วไปได้ยินคำดูถูกแบบนี้คงได้ระเบิดลงกันบ้างแต่อุรันไม่คิดเช่นนั้น ชีวิตของเธอเปลี่ยนไปหลังได้ยินคำสบประมาทนี้เพราะนี่คือ "คำชม" คำแรกที่เธอเคยได้รับตั้งแต่เกิดมา สำหรับคนที่ไม่ได้มีอะไรดีเลยอย่างเธอก็ยังมีข้อดีอยู่ตั้งหนึ่งอย่างคือ "ความสวย" นี่นะ หลังจากนั้นความสวยจึงกลายมาเป็นความมั่นใจเพียงหนึ่งเดียวและเป็นแรงผลักดันให้อุรันตัดสินใจใช้หน้าตาเป็นเครื่องมือทำมาหากินซะเลย เธอจึงลาออกจากโรงเรียนและมุ่งมั่นเข้าโตเกียวเพื่อจะเป็นซุปเปอร์โมเดลให้ได้

แต่ก็ตามประสาคนที่หัวไม่ค่อยดี อุรันไปออดิชั่นแทบจะไม่ผ่านเลยซักงาน เธอกำลังจะจนกรอบและอดตายอยู่ในโตเกียวแต่โชคดีที่ได้ยินข่าวเรื่อง "อพาร์ตเมนต์ที่รับแต่คนสวย" ซึ่งค่าเช่าถูกสุดชีวิต ทางเดียวที่เธอจะอยู่รอดคือหาทางเข้าพักในอพาร์ตเมนต์แห่งนี้ให้ได้และเธอก็ทำสำเร็จค่ะ อุรันพบเพื่อนร่วมอพาร์ตเมนต์หน้าตาดีอีกสองสามคนที่นอกจากหน้าตาแล้ว ยังมีความมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จในงานที่ตัวเองรักเช่นเดียวกับเธอด้วย

อุรันไม่ใช่นางเอกที่ยิ่งใหญ่และการ์ตูนเรื่องนี้ก็ไม่ใช่การ์ตูนผู้หญิงที่จะทำให้คนอ่านล่องลอยไปในโลกของความฝันอย่างเป็นสุขเหมือนการ์ตูนผู้หญิงขายดีเรื่องอื่นๆ แต่ถ้าลองอ่านในเวลาที่คิดว่าตัวเองไม่มีอะไรดีเลยซักอย่าง รับรองว่าความคิดจะเปลี่ยนไปเลยค่ะ หลายเหตุการณ์ในเรื่องสอนให้เรามองเห็นข้อดีเล็กๆ ในข้อเสียที่ยิ่งใหญ่และใช้ชีวิตอย่างภาคภูมิใจกับข้อดีเพียงเล็กน้อยที่มีอยู่อย่างมีความสุข อุรันคงอยากบอกเราว่า

"เกิดมามีดีแค่หน้าตาแล้วมันผิดตรงไหน ความมุ่งมั่นต่างหากที่เป็นตัววัดว่าใครมีสิทธิจะประสบความสำเร็จ"

วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11579 มติชนรายวัน

14 พฤศจิกายน 2552

Oishinbo จิตวิญญาณแห่งอาหารญี่ปุ่น

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

เคยรับประทานอาหารญี่ปุ่นไหมคะ? เชื่อว่าหลายท่านคงเคยรับประทานอย่างน้อยก็สักครั้งในชีวิต ถ้าอย่างนั้นตอนรับประทานเคยทราบไหมคะว่าแท้จริงแล้วปลาดิบจานละเป็นพันบาทหรือน้ำซุปถ้วยละห้าสิบบาทเขามีขั้นตอนการทำอย่างไรจึงได้แพงขนาดนี้ ลองอ่าน Oishinbo (โออิชินโบะ) ดูสักครั้งแล้วอาจจะทำให้หัวข้อสนทนากลางโต๊ะอาหารญี่ปุ่นของเรามีมากกว่า "อร่อยหรือไม่" กับ "คุ้มหรือเปล่า" ค่ะ

"โออิชินโบะ" คือการ์ตูนเกี่ยวกับอาหารที่เขียนต่อเนื่องยาวนานที่สุดเรื่องหนึ่งในญี่ปุ่น แนวคิดจากเรื่องนี้ไปปรากฏอยู่ในการ์ตูนเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่อง เช่น ศิลปะการใช้มีดสำหรับแล่ปลาดิบ, คุณสมบัติของพ่อครัวที่ดีกับบุหรี่, พื้นฐานการทำน้ำซุปดาชิ, หรือกระทั่งกว่าจะมาเป็นตะเกียบดีๆ สักคู่หนึ่งต้องใช้เวลาและความพยายามมากขนาดไหน เรียกว่าเป็นการ์ตูนที่ทำให้เราเห็นคุณค่าของวัตถุดิบที่นำมาใช้ปรุงอาหารและคนทำอาหารเลยล่ะค่ะ

พระเอกของเรื่องคือ "ยามาโอกะ ชิโร่" หนึ่งในทีมบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โคไซนิวส์ เขาได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าโครงการ "สุดยอดเมนู" ซึ่งทางสำนักพิมพ์ต้องการคัดเลือกร้านอาหารที่ดีที่สุดมานำเสนอผู้อ่าน กิจกรรมของชิโร่คือตระเวนไปตามร้านอาหารต่างๆ เพื่อค้นหาสุดยอดรสชาติแต่หลายครั้งที่เขาเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือพ่อครัวหรือเจ้าของร้านอาหารหลายแห่งที่ประสบปัญหา แม้ภายนอกชิโร่ไม่แสดงอารมณ์มากนักแต่ที่จริงเขามีฝีมือในการทำอาหารอย่างหาตัวจับยากเลยค่ะ แท้จริงแล้วเขาคือลูกชายของ "ไคบาระ ยูซัน" ซึ่งนอกจากเป็นศิลปินเครื่องปั้นดินเผาผู้มีชื่อเสียงและร่ำรวยแล้ว เขายังเป็นคนที่ละเอียดอ่อนเรื่องอาหารจนแทบจะเรียกจู้จี้เกินพิกัดก็ว่าได้ ชิโร่กับคุณพ่อเจอหน้ากันทีไรเป็นต้องฮึ่มแฮ่ใส่กันทุกครั้งสร้างสีสันให้การ์ตูนค่ะ ที่ว่าสร้างสีสันเพราะทุกครั้งที่ทะเลาะกันเราจะเห็นความผูกพันเล็กๆ ของสองพ่อลูกตอนท้ายเรื่องเสมอ บางครั้งชิโร่ก็พ่ายแพ้ให้กับความเก่งของพ่อแต่เขาก็ไม่ท้อและพยายามพัฒนาตัวเองเพื่อเอาชนะพ่อให้ได้ คือไม่ได้เกลียดแต่อยากเอาชนะน่ะค่ะ ส่วนไคบาระเองก็เผลอชื่นชมอาหารที่ชิโร่ทำโดยไม่รู้มาก่อน พอรู้เข้าเป็นต้องขว้างข้าวของอย่างหงุดหงิดแต่ก็แอบมายิ้มกับตัวเองตอนหลังด้วยความดีใจที่ลูกชายเราเก่งขึ้นอีกแล้ว

วัฒนธรรมการแสดงความรักแบบอ้อมๆ อย่างนี้พบได้บ่อยในครอบครัวแบบเอเชียและทำให้คาแร็กเตอร์ของการ์ตูนน่าสนใจมากพอๆ กับอาหารในเรื่อง แต่ฝรั่งอ่านโออิชินโบะอาจจะไม่ได้สนใจความสัมพันธ์ของสองพ่อลูกเลยก็ได้เพราะไม่เข้าใจว่าทะเลาะกันทำไมน่ะค่ะ

ที่กล่าวถึงฝรั่งเพราะ "โออิชินโบะ" ไม่มีแปลเป็นภาษาไทยนะคะ มีแต่ภาษาอังกฤษจะคัดเลือกเอาตอนที่มีธีมเดียวกันมาบรรจุไว้ในเล่มไม่เรียงตามลำดับตามตอนในญี่ปุ่น เล่มแรกว่าด้วยพื้นฐานอาหารญี่ปุ่น, เล่มสองสุราญี่ปุ่น, เล่มสามราเม็งและเกี๊ยวซ่า, เล่มสี่อาหารผัก, เล่มห้าซุชิกับซาชิมิ, และเล่มหกเกี่ยวกับข้าวค่ะ เล่มที่เจ็ดเกี่ยวกับอาหารในร้านนั่งดื่มแบบญี่ปุ่นกำลังจะวางแผงต้นปีหน้า ส่วนเล่มภาษาญี่ปุ่นซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1983 จนถึงปัจจุบัน (เกือบ 30 ปีแล้ว) ล่าสุดคือเล่ม 102 เข้าไปแล้วค่ะ

การคัดเฉพาะบางตอนที่เน้นความรู้เรื่องอาหารญี่ปุ่นในฉบับภาษาอังกฤษทำให้โออิชินโบะเกือบจะเป็น "การ์ตูนความรู้" กลายๆ แต่ข้อดีคือการ์ตูนเบสส์เซลเลอร์เรื่องนี้ต่อให้มีแต่บทบรรยายความรู้ยาวยืด ความสนุกก็ไม่ถูกลดทอนไปแม้แต่น้อย ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ท่านใดอยากให้ลูกเรียนภาษาอังกฤษจากการ์ตูนพร้อมๆ กับได้ความรู้เรื่องอาหารญี่ปุ่นไปด้วย โออิชินโบะคือทางเลือกที่ดีมากๆ เลยค่ะ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักอ่านการ์ตูนถึงจะอ่านเข้าใจนะคะเพราะโออิชินโบะใช้เทคนิคการวาดที่เรียบง่ายแบบโดราเอมอนคือขวามาซ้าย บนลงล่าง ไม่มีอะไรซับซ้อนเหมาะกับนักอ่านทั่วไปค่ะ

จะติดอยู่นิดเดียวตรงนี้ต้องหาซื้อในร้านหนังสือที่มีหนังสือต่างประเทศและราคาแพงกว่าการ์ตูนไทยเกือบสิบเท่าได้ แต่ระหว่างการ์ตูนที่อ่านเอาสนุกอย่างเดียวสิบเล่มกับการ์ตูนที่ทั้งสนุก มีสาระ ได้ฝึกภาษา และสร้างแรงบันดาลใจเล่มเดียว ทางเลือกหลังน่าจะดีกว่าค่ะ

วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11572 มติชนรายวัน

07 พฤศจิกายน 2552

Sunset on Third Street ความทรงจำก่อนตะวันลับขอบฟ้า

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

หลังจากหยิบหนังสือการ์ตูน "ถนนสายนี้หัวใจไม่เคยลืม" หรือ Sunset on Third Street มาพลิกไปพลิกมาด้วยความสงสัยว่าเพราะเหตุใดจึงราคาแพงกว่าการ์ตูนทั่วไปตั้งเท่าตัว ไม่มีอะไรจะบอกคุณค่าของการ์ตูนเรื่องนี้ได้จนกว่าจะลงมืออ่านค่ะ ผ่านไปไม่ถึงครึ่งเล่มน้ำตาก็ซึมแล้วต้องตะโกนออกมาดังๆ ว่า "การ์ตูนดีขนาดนี้ไปซ่อนอยู่ที่ไหนในโลกตั้งนานเนี่ย!"

Sunsetฯ มีชื่อญี่ปุ่นว่า Sanchoume no Yuuhi หรือเมืองยูฮีหมู่สาม ว่าด้วยผู้คนในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ชีวิตของคนญี่ปุ่นในช่วงนั้นหากจะนิยามสั้นๆ คือเป็นช่วง "ก่อร่างสร้างตัว" ความที่ไม่ใช่ประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติเหลือเฟือนัก ดังนั้น ผู้คนยุคนั้นจึงต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยปัจจัยสี่ที่จำกัด ไม่มีสาวออฟฟิศหรือเด็กวัยรุ่นถือกระเป๋าแบรนด์เนมสะพายมือถือรุ่นล่าสุด มีแต่ผู้คนที่ทำงานโรงงานเพื่อผลิตสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูง ไม่ก็ผู้ใช้แรงงานที่มีลูกหลายคนแต่ยากจนเกินกว่าจะเลี้ยงดูไหว การ์ตูนที่สร้างขึ้นบนสิ่งแวดล้อมที่จำกัดแบบนี้จึงเปี่ยมไปด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกจนแทบไม่น่าเชื่อว่าการ์ตูนตอนสั้นๆ ไม่กี่หน้าสามารถขมวดปมและจบลงอย่างซาบซึ้ง มากกว่าการ์ตูนในปัจจุบันหลายเรื่องที่บางครั้งอ่านจนจบเล่มแล้วยังหาประเด็นไม่เจอ

ตัวอย่างตอนหนึ่งที่น่าสนใจคือ "สายลมในเดือนพฤษภาคม" เล่าเรื่องของ "มิจิโกะ" เด็กสาววัยประถมที่เกลียดวันแม่ คุณแม่ของมิจิโกะเสียชีวิตไปแล้วเธอจึงรู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกจากเพื่อนคนอื่นตลอดเวลา โดยเฉพาะในวันแม่ที่เพื่อนทุกคนตื่นเต้นกับการเย็บผ้ากันเปื้อนในวิชาการฝีมือเป็นของขวัญให้คุณแม่ของตัวเอง อยู่มาวันหนึ่งคุณน้าของมิจิโกะซึ่งหน้าเหมือนคุณแม่มาเยี่ยมที่บ้าน มิจิโกะตื่นเต้นมากค่ะ แค่พาคุณน้าไปอวดเพื่อนๆ และใช้เวลาอยู่ด้วยกันทั้งวันในวันแม่ไม่พอเสียแล้ว มิจิโกะรักคุณน้ามากถึงขนาดซื้อผ้ากันเปื้อนให้เป็นของขวัญและขึ้นรถไฟเพื่อนำไปมอบให้ด้วยตัวเอง แต่เมื่อเห็นคุณน้าอยู่กับลูก มิจิโกะจึงเข้าใจว่าอย่างไรเสีย "ก็เป็นแม่ของคนอื่น" ไม่ใช่แม่เราอยู่ดี

ความสุดยอดของผู้วาดอยู่หลังจากนี้ล่ะค่ะ เพียงแค่สองหน้าตอนท้ายทำให้เราเห็นวุฒิภาวะของมิจิโกะอย่างชัดเจน เธอทิ้งของขวัญลงกล่องจดหมายหน้าบ้านคุณน้าและจากมาด้วยน้ำตา (มีฉากสะดุดหินตอนวิ่งร้องไห้ซึ่งเป็นฉากแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งแบบคลาสสิคด้วย) หลังจากนั้นมิจิโกะยืนอยู่บนเนินจ้องมองตะวันตกดินเหนือเมืองยูฮีและสัมผัสสายลมเย็นสบายจนเธอยิ้มออกได้ อ.ไซกัน เรียวเฮย์ ผู้วาดเขียนด้วยลายเส้น "บ้านๆ" ไม่มีเทคนิคหวือหวาอะไรเลยค่ะ ภาพเหมือนเด็ก ป.สี่วาดด้วยซ้ำ แต่คนอ่านเหมือนโดนหมัดฮุคเข้ากลางหัวใจเพราะมันช่างเหมาะเจาะได้จังหวะจริงๆ สุดท้ายเธอก็กลับบ้านมาเตรียมอาหารให้คุณพ่อ อาหารชนิดนั้นคือกะหล่ำปลียัดไส้ที่คุณน้าสอนนั่นเอง อูย...โดนค่ะโดน เรียบง่ายแต่โดนใจมาก!

Sanchoume no Yuuhi ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์แล้วสองภาคชื่อ Always: Sunset on Third Street และได้รับทั้งเงินและกล่องอย่างล้นหลามนะคะ สิ่งที่เป็นจุดร่วมระหว่างเวอร์ชั่นการ์ตูนกับภาพยนตร์ไม่ใช่เนื้อเรื่องแต่เป็น "ความซาบซึ้งใจ" ใครชอบดูหนังอาจจะเฉยๆ ตอนอ่านการ์ตูน ส่วนคนชอบอ่านการ์ตูนพอดูหนังแล้วอาจจะไม่ซึ้งมากนัก แต่ถ้าดูเวอร์ชั่นที่ตัวเองถนัดรับรองต่อมน้ำตาแตกเลยค่ะ จุดร่วมอีกจุดหนึ่งของทั้งสองเวอร์ชั่นคือ "อายุเท่าไหร่ก็ซึ้ง" เพราะเนื้อเรื่องกล่าวถึงวิกฤตของคนทุกเพศทุกวัยตั้งแต่เด็กจนแก่ ดังนั้น ในบรรดาเรื่องสั้นที่ร้อยเรียงเป็นภาพชีวิตเหล่านี้ต้องมีสักเรื่องที่มาโดนใจจนน้ำตาหยดบ้างค่ะ

Sunset on Third Street จึงสมกับชื่อที่ไม่ได้หมายถึงแค่ตะวันตกดินที่งดงามในเมืองยูฮี แต่หมายถึงการชักชวนให้นักอ่านเข้าถึงความรู้สึกของบรรพบุรุษที่ต่อสู้ในยุคหลังสงครามโลกด้วยความยากลำบากทั้งกายและใจ เด็กญี่ปุ่นที่เกิดในยุคแห่งความสะดวกสบายอาจพาประเทศล่มจมได้ถ้าไม่เคยรู้เลยว่าปู่ย่าตายายสร้างชาติมาแบบไหน

การสวมแว่นของคุณปู่วัยชรา (วัยตะวันจะลับฟ้า) แล้วมองอดีตผ่านการ์ตูนเรื่องนี้จึงไม่ได้ให้แค่ความซาบซึ้งค่ะ ความรู้สึกนับถือในความพยายามของบรรพบุรุษคืออีกสิ่งที่การ์ตูนมอบให้เยาวชนในรุ่นหลังของญี่ปุ่นด้วย

วันที่ 08 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11565 มติชนรายวัน

31 ตุลาคม 2552

ค่ายการ์ตูนไซไฟกับเยาวชนไทย

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปคุยกับน้องๆ เยาวชนไทยยี่สิบกว่าคนที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในโครงการประกวด "การ์ตูนไซไฟไทย ก้าวไกลสู่สากล ครั้งที่ 1" ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรค่ะ น้องๆ เหล่านี้คือทีมผู้ส่งผลงานการ์ตูนสั้น 10 ทีมระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาที่ผ่านเข้ารอบและมีโอกาสมาเข้าค่ายฝึกฝนเรียนรู้การสร้างการ์ตูนกันในค่ายเป็นเวลาสามวัน ทันทีที่ถึงค่าย คำถามแรกที่ถามผู้ริเริ่มโครงการนี้คือ

"ไซไฟคืออะไรคะ?"

คำว่า "การ์ตูนไซไฟ" หรือ "การ์ตูนวิทยาศาสตร์" มักจะชวนให้คิดถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ หรือไม่ก็หุ่นยนต์เสมอเลยค่ะ แต่จากการสอบถามได้ความรู้ที่น่าสนใจว่า "วิทยาศาสตร์" ในที่นี้หมายถึง "การคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์" ซึ่งการ์ตูนต้องนำเสนอและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านรู้จักคิดเป็นเหตุเป็นผล รู้จักคิดอะไรใหม่ๆ และค้นหาความจริงเพื่อนำไปสู่จุดนั้นได้ จะเรียกว่าเชียร์ให้คนอยากสร้างงานวิจัยหรือค้นคว้าหาความจริงก็ไม่ผิดค่ะ แล้วถ้าเป็น "การ์ตูนวิทยาศาสตร์" บ้าง ถ้าถามใจของตัวเองว่าอยากเห็นอะไร คำตอบคืออยากเห็นการ์ตูนที่อ่านจนจบเรื่องแล้วรู้สึกว่าการ์ตูนสุดโม้เรื่องนี้ "อาจจะเกิดขึ้นจริงๆ ในโลกเราก็ได้" เนื่องจากมีเหตุมีผลประกอบน่าเชื่อถือ ไม่ใช่แบบคัมภีร์ลี้ลับที่เปิดอ่านปุ๊บก็เก่งเลย อันนั้นไม่ใช่ไซไฟแต่เป็นแฟนตาซีค่ะ

ทั้งๆ ที่ไซไฟเป็นเรื่องเข้าใจง่ายแต่ในทางปฏิบัติคงยากน่าดูเหมือนกัน เพราะงานหลายชิ้นออกมาก็ยังจับจุดของ "วิทยาศาสตร์" ไม่ได้เสียที อุปสรรคสองสามข้อที่เจอเมื่อได้คุยกับน้องๆ นักวาดการ์ตูนที่ผ่านเข้ารอบและอาจจะเป็นปัญหาหนักอกให้ตีโจทย์คำว่าไซไฟกันไม่แตกอย่างแรกคือหลายคน "ยังเด็ก" ค่ะ อายุก็เป็นส่วนหนึ่งแต่วุฒิภาวะเป็นประเด็นที่สำคัญกว่า หลายคนยังมีแนวคิดอยู่ภายใต้กรอบที่คนอื่นตีขึ้นและไม่สามารถวิ่งให้หลุดออกมาจากกรอบได้ เรื่องนี้ต้องใช้เวลาและประสบการณ์เข้าช่วยนะคะ วันนี้เขายังเด็กแต่ถ้าได้ฝึกฝนก็จะโตขึ้นได้เอง ผู้ใหญ่เก่งๆ ทุกคนก็เคยเป็นเด็กและอยู่ในกรอบความคิดของคนอื่นมาแล้วทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องน่าอายอะไรที่เรายังเด็กค่ะ

อุปสรรคข้อสอง "อะไรคือความเป็นไทย?" คาดว่าหลายคนเข้าใจไปว่าต้องใช้ชื่อไทย ฉากไทย ลายไทย (ว่าเข้านั่น) แท้จริงความเป็นไทยในการ์ตูนไม่ใช่เรื่องยากแต่กระทั่งผู้ใหญ่หลายคนในวงการสื่อสิ่งพิมพ์การ์ตูนเองก็ยังไม่เข้าใจค่ะ มันคืออะไรก็ได้ที่คนชาติอื่นเห็นปุ๊บแล้วรู้สึกว่านี่แหละไทย! ลองนึกว่าถ้าเราเป็นฝรั่ง เห็นตัวการ์ตูนเอาผักจิ้มน้ำพริกแล้วรู้ไหมว่านี่คือไทย คำตอบคือไม่รู้ค่ะเพราะภาพในการ์ตูนไม่ได้ชัดขนาดให้รู้ว่ามันคือถั่วฝักยาวกับน้ำพริกกะปิ หรือต่อให้เห็นภาพจริงก็อาจจะไม่เข้าใจอยู่ดีว่าเอาถั่วไปจิ้มโคลนทำไม (เขาไม่รู้จักน้ำพริกค่ะ) เป็นอันว่าฉากนี้นำเสนอความเป็นไทยไม่ได้ แล้วถ้าตอนนางเอกออกจากบ้านไปโรงเรียนแล้วยกมือขึ้นไหว้คุณแม่ล่ะ ฝรั่งดีดนิ้วโป๊ะเลยค่ะ ไหว้ทักทายแบบนี้ไทยแลนด์แน่ๆ ต่อให้เป็นแค่ช่องเล็กๆ ในการ์ตูนแต่สิ่งที่สอดแทรกอยู่นี่ล่ะค่ะคือความเป็นไทย อีกซักตัวอย่างที่ง่ายกว่านั้นคือตัวละครเดินคุยกันแล้วฉากหลังเป็นรถตุ๊กๆ แล่นผ่าน หรือนางเอกชอบใส่หมวกแก๊ปปักลายช้างเชียงใหม่ส่วนพระเอกอยู่บ้านนุ่งกางเกงมวยไทย! เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ลองบริหารสมองเล่นค่ะ ถ้าโจทย์คือความเป็นไทยล่ะก็ เขียนแบบนี้ต้องไทยแน่ๆ ค่ะ หรือใครจะเถียง

ข้อสุดท้ายคือข้อดีที่กลายเป็นอุปสรรคนั่นคือน้องๆ ส่วนใหญ่ "เป็นแฟนการ์ตูน" ค่ะ คือคนที่อ่านเยอะและอยากกระโดดมาเขียนบ้าง แต่สิ่งที่โครงการนี้ต้องการคือ "นักเขียนการ์ตูน" ไม่ใช่แฟนการ์ตูน ดังนั้น ต้องเป็นนักวาดและนักเล่าเรื่อง วาดสวยแต่อ่านไม่รู้เรื่องไม่ได้ค่ะ หรือเรื่องสนุกแต่วาดแล้วไม่รู้ว่าอะไรก็ไม่ดีเช่นกัน สุดท้ายวาดเก่งเรื่องสนุกก็อาจจะไม่ชนะเลิศก็ได้ถ้าไอเดียที่ถ่ายทอดไม่ใช่วิทยาศาสตร์

คงต้องลุ้นกันค่ะว่าทีมใดจะชนะเลิศในการประกวดนี้ แต่คนที่ชนะไปแล้วแน่ๆ คือวงการการ์ตูนไทยนี่ล่ะค่ะ น่าดีใจจริงๆ ที่ผู้ใหญ่หลายคนเห็นความสำคัญและสนับสนุนการเรียนรู้ผ่านสื่อชนิดนี้ วงการการ์ตูนไทยต้องสดใสแน่ค่ะ

วันที่ 01 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11558 มติชนรายวัน

24 ตุลาคม 2552

นายกฯฮาโตยามะกับการ์ตูนที่ชอบ

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

"ฮาโตยามะ ยูคิโอะ" คงเป็นนักการเมืองที่คนอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นอาจจะเคยได้ยินชื่อผ่านหูมาบ้างค่ะ เขาคือประธานพรรค DJP ซึ่งเพิ่งได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้เอง สาเหตุที่มีชื่อเสียงในหมู่นักอ่านการ์ตูนเพราะท่านนายกฯฮาโตยามะมีนิคเนมที่น่ารักว่า "นายกฯโอตาคุ" หรือนายกรัฐมนตรีผู้ชอบการ์ตูน หนังสือพิมพ์ The Nikkan Sports ได้สรุปบทสัมภาษณ์ที่ตีพิมพ์ลงนิตยสาร Otaku Eriito (ทับศัพท์จากคำว่า otaku elite หรือคนคลั่งการ์ตูนชั้นปัญญาชน) ฉบับพิเศษปี 2005 ในหัวข้อเกี่ยวกับความชอบการ์ตูนของคุณฮาโตยามะซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค DJP และจัดอันดับการ์ตูนในดวงใจไว้ดังนี้นะคะ

สิบอันดับหนังสือการ์ตูนในดวงใจของคุณฮาโตยามะ อันดับหนึ่งเลยคือเรื่อง Robot Santohei หรือ Private Robot ซึ่งเขียนขึ้นในปี 1952 ซึ่งไม่เคยดูเพราะเกิดไม่ทันค่ะ อันดับสองคือ Niji-iro no Trotsky ของ YAS ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ออกแบบคาแร็กเตอร์ในกันดั้มหลายต่อหลายภาค มีผลงานตีพิมพ์ในไทยพอสมควร อันดับสามคือนักฆ่าคิ้วสาหร่าย Golgo 13 การ์ตูนสไนเปอร์สุดคลาสสิคของญี่ปุ่นที่เพิ่งปัดฝุ่นเอามาทำเป็นแอนิเมชั่นฉายทางโทรทัศน์เมื่อปีที่แล้วนี้เอง อันดับสี่ Sangokushi หรือสามก๊กเวอร์ชั่น อ.โยโคยามะ มิตสุเทรุ อันดับห้า Kaji Ryuusuke no Gi เป็นเรื่องเกี่ยวกับลูกชายคนที่สองในตระกูลนักการเมืองซึ่งต้องขึ้นมาสืบทอดงานการเมืองต่อจากบิดาที่จากไปอย่างกะทันหัน อันดับที่หก Omoshiro Manga Bunko Series ไม่น่าใช่ชื่อเรื่องค่ะแต่เดาว่าหมายถึง bunko-ban ซึ่งเป็นหนังสือการ์ตูนขนาด A6 เล็กกว่าปกติ ใช้กระดาษดีและบางแต่จำนวนหน้ามากกว่าการ์ตูนปกติ มักเป็นเวอร์ชั่นพิเศษตีพิมพ์เพิ่มสำหรับการ์ตูนคลาสสิคบางเรื่องที่ผู้อ่านอยากซื้อไว้เพื่อให้พกพาไปอ่านได้สะดวก อันดับเจ็ด Ge Ge Ge no Kitaro หรืออสรูรน้อยคิทาโร่ที่เพิ่งมีคนนำกลับมาสร้างเป็นภาพยนตร์คนแสดงเมื่อปี 2007 นี้เอง เรื่องนี้มีตีพิมพ์ในไทยด้วยค่ะ อันดับแปดซึ่งโดยส่วนตัวยกให้เป็นอันดับหนึ่งคือโดราเอมอน การ์ตูนที่ไม่เคยให้โทษกับใคร อันดับเก้าเจ้าหนูอะตอมเวอร์ชั่นดั้งเดิมของ อ.เทตสึกะ โอซามุ ปรมาจารย์แห่งวงการการ์ตูนญี่ปุ่น และอันดับสิบ Sazae-san ซีรีส์การ์ตูนทางโทรทัศน์เมื่อปี 1969 ซึ่งโดดเด่นที่นางเอกผู้มีแนวคิดไม่เหมือนคนอนุรักษนิยมทั่วไปในยุคนั้น

เมื่อพิจารณาความชอบการ์ตูนของคุณฮาโตยามะจากรายชื่อเหล่านี้ สิ่งที่พอจะสรุปได้คือคุณฮาโตยามะอ่านและดูการ์ตูนในวัยเด็กและการ์ตูนเหล่านี้มีอิทธิพลต่อไปจนโต นอกจากการ์ตูนสำหรับเด็กผู้ชาย (shonen comic) ซึ่งกระตุ้นให้ฉีกตัวเองออกนอกกรอบของยุคสมัยหรือกระแสวัฒธรรมอย่างบรรดาการ์ตูนหุ่นยนต์หรือซาซาเอะซังแล้ว เขายังอ่านการ์ตูนเกี่ยวกับการเมืองที่สะท้อนเส้นทางอาชีพของตนในอนาคตด้วย การจับเรื่องการเมืองยากๆ มาผสมกับการผจญภัยดุเดือดอย่างใน Golgo 13 ยังเป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจศึกษาการเมืองระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน หรือต่อให้เป็นการ์ตูนแฟนตาซีเพ้อฝันอย่างคิทาโร่ โดราเอมอน หรือเจ้าหนูอะตอมก็ไม่ได้ให้แค่ความสนุกอย่างเดียว จินตนาการเหล่านี้ยังช่วยสนับสนุนให้เยาวชนหลุดจากกรอบความคิดที่ตีขึ้นจากการระบบศึกษาในโรงเรียนซึ่งจัดโดยผู้ใหญ่ยุคนั้นได้อีกด้วย

แม้คุณฮาโตยามะจะชอบการ์ตูนแต่เขาก็ไม่ถึงขนาดหยิบมานั่งอ่านระหว่างทำงานนะคะ เขาทำงานเป็นนักการเมืองไม่ใช่บรรณาธิการหนังสือการ์ตูน ดังนั้น ที่วัยรุ่นหลายคนหยิบการ์ตูนมาอ่านระหว่างเรียนหรือทำงานก็ไม่ใช่เรื่องโก้เก๋ค่ะ ควรทำให้ถูกกาละเทศะและคำนึงถึงความรู้สึกของคนรอบข้างด้วยแต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะซื่อสัตย์กับความชอบของตัวเองเช่นกัน ความชอบการ์ตูนของคุณฮาโตยามะอาจสรุปได้ว่าเขาเป็นนักอ่านที่ไม่ได้พิเศษไปกว่าคนอื่น ไม่ได้อ่านการ์ตูนแนวปรัชญาเข้าใจยากและไม่ได้อ่านการ์ตูนที่จงใจสอดแทรกความรู้ด้วย

เขาเป็นแค่ตัวแทนผู้ใหญ่คนหนึ่งที่หันกลับไปมองอดีตแล้วมาเล่าสู่กันฟังว่าเด็กที่อ่านการ์ตูนเมื่อหลายสิบปีก่อน บัดนี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบสังคมได้แล้ว ใครคิดว่าไม่อยากให้ลูกอ่านการ์ตูนเพราะกลัวจะเสียคนก็มองดูเขาเป็นตัวอย่างได้ค่ะ

วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11551 มติชนรายวัน

18 ตุลาคม 2552

ทัวร์ร้านการ์ตูนในลอนดอน (2)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ต่อภาคสองสำหรับการทัวร์ร้านการ์ตูนในลอนดอนค่ะ สัปดาห์ก่อนพาเดินจากพิคคาดิลลีเซอร์คัสแวะ Japan Center และร้าน Adanami ไปแล้ว คราวนี้เราจะไปร้านการ์ตูนภาษาอังกฤษบ้าง ก้าวขาออกจาก Adanami ที่ Brewer street ให้เลาะเข้า Shaftesbury avenue ชมร้านรวงจนเห็น Palace theatre ซึ่งตอนนี้แสดง Priscilla, Queen of the Dessert อยู่ ให้เลี้ยวขวาตัดเข้า Great Newport street ซึ่งเลขที่ 8 เป็นที่ตั้งของร้าน Orbital Comics นั่นเอง การ์ตูนในร้านส่วนใหญ่จะเป็นการ์ตูนแนวอเมริกันที่เล่มบางๆ สีสันสวยงาม มีการ์ตูนญี่ปุ่นภาษาอังกฤษบ้างแต่ก็น้อยมากและส่วนใหญ่เป็นการ์ตูนแนว cult ซึ่งเป็นแนวโหดสยองปนน่าเอ็นดู ไม่มีแนวตลาดอย่างนารุโตะค่ะ ก็เลยชมๆ พอชื่นใจแล้วก็ออกไปลุยร้านอื่นต่อ

ออกมาจากร้านแล้วเดินเลี้ยวขวาไปตาม Charing Cross road นะคะ สองข้างทางเต็มไปด้วยร้านหนังสือมือสองเพื่อการอ่านและสะสม ราคาก็มากน้อยตามความหายากน่ะค่ะ เสร็จแล้วเลี้ยวขวาเข้า Shaftesbury avenue อีกครั้ง เลขที่ 179 เป็นที่ตั้งของร้าน Forbidden Planet ซึ่งคือสวรรค์ของนักอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นในลอนดอนค่ะ! ร้านนี้มี 2 คูหาและสองชั้น ชั้นพื้นดินจะเป็นการ์ตูนฝรั่งและบรรดาของสะสมแนวๆ มากมาย ส่วนชั้นล่างนอกจากการ์ตูน DVD และหนังสือของบรรดาวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการ์ตูนอย่างไซไฟ คัลท์ หรือพวกโมเดลของเล่นทั้งหลาย ก็จะมีชั้นวางการ์ตูนญี่ปุ่นภาษาอังกฤษเรียงตามลำดับอักษรเต็มเหยียดเป็นสิบตู้ให้เราแทบทรุดลงไปนอนร่ำไห้ด้วยความดีใจ ฮือ...เดินมาตั้งไกลไม่เสียเปล่าจริงๆ

Forbidden Planet มีการ์ตูนญี่ปุ่นฉบับภาษาอังกฤษที่ใหม่พอสมควรอยู่เยอะมาก คาดว่าจะเยอะที่สุดในลอนดอนแล้ว นอกจากนั้นยังมีสมุดภาพและหนังสือภาษาอังกฤษที่ว่าด้วยวัฒนธรรมการ์ตูนญี่ปุ่นบ้าง ที่สำคัญที่สุดคือมี "การ์ตูนลดราคา" ค่ะ! เล่มไหนเป็นเศษจากชุดหรือเหลือเยอะๆ ก็จะเอามาลดเหลือ 2-5 ปอนด์ แล้วแต่ว่าขายยากแค่ไหน หรือใครอยากดูการ์ตูนของ Studio Ghibli ก็มีขายเป็น DVD ราคาไม่แพง กระทั่งแผ่นบลูเรย์ของ Final Fantasy VII AC complete ก็ยังมี เรียกว่ามาร้านนี้ก็แทบไม่ต้องไปร้านอื่นแล้วค่ะ

ออกมาจากร้านพร้อมด้วยการ์ตูนและหนังสือหอบใหญ่เต็มถุงจนไหล่แทบทรุดก็เดินต่อไปทาง British Museum เลขที่ 39 Great Russell Street ตรงข้ามเกท 2 ของพิพิธภัณฑ์คือที่ตั้งของ Gosh Comics ร้านเล็กๆ ที่มีป้ายรูปค้างคาวดำเหลืองโดดเด่นเป็นสง่า ร้านนี้ส่วนใหญ่ขายการ์ตูนและสมุดภาพสำหรับเด็ก ถ้าเดินลงมาชั้นใต้ดินก็จะเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นภาษาอังกฤษเยอะพอสมควร แพงกว่า Forbidden Planet นิดหน่อยแต่ก็มีเล่มที่ร้านอื่นไม่มีและส่วนใหญ่จะมีครบชุดเลยค่ะ นอกจากนั้นก็จะเป็นนิยายภาพฝรั่งแนวคัลท์และแนวทั่วไปที่ไม่ใช่การ์ตูนอเมริกันอีกเยอะ มีการ์ตูนลดราคาเหลือ 1.5 ปอนด์ อยู่ในกล่องเช่นกัน คุ้ยๆ ดูซักหน่อยอาจจะเจอของดี แต่เสียดายที่ครั้งนี้ไม่ได้อะไรเพิ่มเติมก็เลยเดินออกมาแล้วแวะไปเที่ยวบริติชมิวเซียมเสียเลย จบหนึ่งวันค่ะ

มีอีกร้านหนึ่งซึ่งคงต้องไปวันเสาร์สำหรับคนที่อยากไปเที่ยว Portobello market ที่ Notting Hill มีตลาดวันเสาร์วันเดียวนะคะ ลงรถเมล์ที่ป้ายก็จะเจอร้าน Book & Comic Exchange ซึ่งขายหนังสือมือสองราคาย่อมเยา การ์ตูนส่วนใหญ่เป็นแนวซุปเปอร์ฮีโร่อเมริกัน มีการ์ตูนญี่ปุ่นบ้างแต่ไม่มากนัก (มีการ์ตูนไทยหลงไปด้วยแฮะ) ตู้จะซ่อนอยู่ในหลืบซ้ายมือก่อนลงบันไดไปชั้นใต้ดินค่ะ ชมเสร็จก็เดินตามคลื่นมหาชนเข้าไปเที่ยวตลาดนัดต่อ ถ้าหิวลองแวะกินไส้กรอกเยอรมันแท้ในรถเข็นริมทางราคา 2.50 ปอนด์ได้ค่ะ นอกจากนั้นยังมีของกินมากมายและของแอนทีคน่ารักให้เลือกซื้อจนกระเป๋าแทบฉีก สุดตลาดเป็นเสื้อผ้าและของมือสองแต่คนเยอะจนมึน ดังนั้น ต้องระวังพลัดหลงกับเพื่อนด้วยนะคะ

เป็นอันสิ้นสุดทัวร์ร้านการ์ตูนในลอนดอนทั้งสองวัน ที่จริงมีร้านอื่นอีกรวมเป็นสิบร้านแต่ถ้ามีเวลาจำกัดและอยากเที่ยวโดยเอาร้านการ์ตูนเป็นจุดมุ่งหมาย คิดว่าทัวร์นี้ก็เกินคุ้มค่ะ

วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11544 มติชนรายวัน

ทัวร์ร้านการ์ตูนในลอนดอน (1)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

หลังจากมาใช้ชีวิตอยู่ลอนดอนกว่าปีก็ได้เวลากลับบ้านเสียทีค่ะ กิจกรรมที่วางแผนไว้ว่าจะทำก่อนกลับเพราะต้องรอดูว่ามีเงินค่าขนมเหลือพอหรือเปล่าคือ "ทัวร์ร้านการ์ตูน" นั่นเอง แต่เป็นที่ทราบดีว่าการ์ตูนญี่ปุ่นไม่ค่อยแพร่หลายในประเทศแถบยุโรปนักจึงมีร้านไม่มาก ดังนั้น การทัวร์ครั้งนี้เราจึงชมนกชมไม้ไปด้วยเพื่อความคุ้มค่ะ

การเดินทางเริ่มต้นจาก Piccadilly Circus ซึ่งเป็นวงเวียนน้ำพุมีรูปปั้นอีรอสยืนหล่อถือธนูอยู่ตรงกลาง เป็นหนึ่งในสถานที่ที่นักท่องเที่ยวลอนดอนต้องรู้จัก เนื่องจากอยู่ใกล้ย่านช็อปปิ้งชื่อดังอย่าง Bond street กับ Carnaby street แถมใกล้ไชน่าทาวน์และแหล่งดูละครเวทีมากมายในแถบเลสเตอร์สแควร์ เดินไปอีกหน่อยก็จะเจอ Covent Garden ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเช่นกัน โปรแกรมทัวร์การ์ตูนเริ่มต้นแต่เช้าซัก 9 โมงไปชมสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้และถ่ายภาพ Trafalgar Square เสียให้หนำใจก่อนค่ะ ซัก 10 โมงพอร้านรวงเริ่มเปิดแล้ว ใครอยากจบทัวร์เย็นนี้ด้วยละครเวทีอาจจะซื้อตั๋วไว้ก่อนก็ได้ เรื่องที่น่าชมก็คงเป็น the Phantom of the Opera ซึ่งเคยมีเวอร์ชั่นการ์ตูนเขียนโดย JET ความที่เคยอ่านการ์ตูนมาแล้วเลยซื้อตั๋วดูเรื่องนี้ก่อนเพื่อนเลยค่ะ เป็นละครเวทีที่แสดงมากว่า 20 ปี ดังนั้นมั่นใจได้ค่ะว่ายอดเยี่ยมทั้งนักแสดงและฉาก ราคาตั๋วที่นั่งดีๆ ตกประมาณ 50-60 ปอนด์นะคะ

หลังจากนั้นถ้าหิวอาจจะเดินไปกินเป็ดย่าง Four Seasons ที่ไชน่าทาวน์ก็ได้ หรือถ้าอยากเน้นปริมาณให้อยู่ท้องทั้งวันอาจจะพึ่งข้าวหมูทอดหรืออาหารกล่องร้าน Misato ซึ่งขายอาหารญี่ปุ่นราคาย่อมเยาไม่ห่างจากเลสเตอร์สแควร์นัก มื้อละไม่ถึง 10 ปอนด์ค่ะ แต่ถ้าใครชื่นชอบข้าวห่อสาหร่ายอาจจะแวะไปที่ Japan Center ตรงพิคคาดิลลี่เซอร์คัส ซื้อข้าวห่อสาหร่ายไม่ก็ข้าวกล่องหรือราเมงอุ่นๆ แบบเทคอะเวย์แล้วนั่งรับประทานที่ร้านก็ยังได้ ชั้นล่างของ Japan Center ส่วนที่เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตจะมีร้านหนังสือญี่ปุ่นซึ่งมีการ์ตูน แม็กกาซีน และสมุดภาพการ์ตูนญี่ปุ่นขายนิดหน่อย แวะไปชมดูได้ค่ะ ราคาก็...เหมือนหนังสือนั่งเครื่องบินจากญี่ปุ่นมาลอนดอนน่ะค่ะ สาหัสเหมือนกัน

ออกจาก Japan Center ถ้าใครอยากกินขนมญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมอาจจะข้ามถนนไปสักนิด มีร้านขนมญี่ปุ่นแท้ๆ ชื่อ Minamoto Kitchoan วันนั้นได้ขนมที่เคยเห็นในการ์ตูนและอยากกินมานานแล้วอย่างคุสะโมจิ วางาชิ และมาเมะไดฟุกุค่ะ มีกระทั่งโยคัง ขนมน้ำ และบรรดาขนมรับประทานกับน้ำชาสวยๆ ที่เห็นแล้วเลือกแทบไม่ถูก พนักงานขายสาวสวยเป็นคนญี่ปุ่นนะคะ ปกติจะมีแต่ลูกค้าญี่ปุ่นไปอุดหนุน ดังนั้น พอเห็นเราหน้าเอเชียเธอเลยพูดญี่ปุ่นทักทายค่ะ เล่นเอาตอบเป็นภาษาอังกฤษไม่ทันเลยทีเดียว

เดินจากมาพร้อมถุงกระดาษลายกิ่งซากุระที่มีโมจิอยู่สี่ชิ้น เราจะเริ่มทัวร์จากร้านหนังสือการ์ตูนภาษาญี่ปุ่นมือสองที่ราคาถูกที่สุดในลอนดอนค่ะ "Adanami" ร้านนี้อยู่ที่เลขที่ 30 Brewer Street ต้องเดินตัดพิคคาดิลลี่เซอร์คัสผ่านโรงละครที่เล่นเรื่อง Greece จนไปถึงร้าน Adanami ซึ่งอยู่ห้องแถวริมสุดติดอาคารจอดรถเอกชน เราไม่มีทางรู้เลยว่าเป็นร้านนี้เพราะป้ายหน้าร้านเขียนว่า De-luxe Cleaning! ป้ายร้านซักแห้ง! สาเหตุเพราะอาดานามิเพิ่งย้ายมาจากที่อื่นป้ายจึงยังไม่ได้เปลี่ยน แต่จะมีหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นแพ็คโตๆ วางโชว์หน้าร้านให้เราพอเดาได้ค่ะ

อาดานามิขายหนังสือการ์ตูนรวมถึงหนังสืออ่านเล่นและหนังญี่ปุ่นมือสองในราคาที่ถูกจนเราต้องเผลอหอบกลับซักชุดเสมอ การ์ตูนเก่า (10-20 ปีก่อน) บางเรื่องที่เคยอ่านตอนเด็กก็มีขายที่นี่เล่มละ 1 ปอนด์ ซึ่งถือว่าถูกมากถ้าเทียบกับการ์ตูนญี่ปุ่นภาษาอังกฤษใหม่ๆ เล่มละ 10 ปอนด์ขึ้นไป ควรเตรียมถุงผ้าไปด้วยนะคะเพราะซื้อแล้วจะได้สะพายสบายๆ เนื่องจากต้องเดินอีกหลายร้านเลย

เสียดายที่แค่ร้านแรกก็หมดโควต้าเสียแล้ว สัปดาห์หน้ามาทัวร์กันต่อค่ะ

วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11537 มติชนรายวัน

03 ตุลาคม 2552

Master Keaton จับฉ่ายของอุราซาว่า นาโอกิ

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ระหว่างจัดข้าวของเตรียมกลับเมืองไทยหลังเรียนจบก็หาโอกาสแวะไปร้านหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นมือสองที่ Piccadilly Circus ในลอนดอนเสียหน่อยค่ะ ท่ามกลางวันที่อากาศร้อนจัดและร้านการ์ตูนเหมือนเตาอบ การ์ตูนปกสีดำยับยู่ยี่และกระดาษเหลืองเก่าโทรมเล่มหนึ่งวางเด่นเป็นสง่าอยู่ที่มุมหนังสือแนะนำของร้าน สายตาสะดุดที่ราคา 2.80 ปอนด์ (ประมาณ 150 บาท) ซึ่งถือว่าผิดวิสัยร้านหนังสือราคาถูกแห่งนี้และนับเป็นราคาที่โหดร้ายมากสำหรับการ์ตูนเศษ (หมายถึงการ์ตูนที่อยู่เล่มเดียวไม่ครบชุด) เรื่องนั้นคือ "Master Keaton" ผลงานของ "อุราซาว่า นาโอกิ" ซึ่งตีพิมพ์เป็นหนังสือการ์ตูนรวม 18 เล่ม (1988-98) และทำเป็นแอนิเมชั่น (ภาพยนตร์การ์ตูน) 39 ตอน (1998-99) เนื่องจากหาอ่านฉบับหนังสือการ์ตูนไม่ได้เสียทีจึงขอเล่าตามที่ดูฉบับแอนิเมชั่นเป็นหลักนะคะ

"มาสเตอร์คีตัน" คือการผจญภัยของ "ไทจิ ฮิรางะ คีตัน" ชายหนุ่มลูกครึ่งอังกฤษ-ญี่ปุ่นซึ่งใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในประเทศอังกฤษ เขาจบการศึกษาด้านโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและแต่งงานกับภรรยาชาวอังกฤษ แต่หลังจากที่ "ยูริโกะ" ลูกสาวคนเดียวอายุได้ห้าขวบ เขากับภรรยาก็หย่าขาดจากกัน หลังจากนั้นไทจิจึงตัดสินใจเข้าร่วม SAS หรือหน่วยรบพิเศษของกองทัพอังกฤษทำให้เขามีความเชี่ยวชาญในการต่อสู้และใช้อาวุธ แต่โชคชะตาก็พาให้จับพลัดจับผลูมาเป็นผู้ตรวจสอบของบริษัทประกันและเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาโบราณคดีด้วย เป็นคุณสมบัติที่จับฉ่ายมาก

ความสนุกของ "มาสเตอร์คีตัน" คือการนำเสนอความสามารถที่หลากหลายของไทจินี่ล่ะค่ะ ในแต่ละคดีที่ไทจิไปตรวจสอบมักจะมีเรื่องเล่าโบราณคดีหรือประวัติศาสตร์ยุโรปให้เราได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับลุ้นฉากบู๊ แม้การดำเนินเรื่องส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปแต่การ์ตูนก็ยังคงความเป็นญี่ปุ่นได้อย่างเหนียวแน่นได้เพราะคาแร็กเตอร์ของไทจิที่มักจะสวม "สูท" อยู่เสมอ ชุดสูทของไทจิเป็นเครื่องแต่งกายที่บางครั้งก็ดูขัดแย้งกับสถานการณ์อย่างชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อเขาสวมสูทใส่รองเท้าหนังในคดีที่เกิดในเมืองร้อนอบอ้าวหรือชนบทที่ต้องเดินด้วยเท้าหลายไมล์ สูทของไทจิได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของ "คนญี่ปุ่น" ซึ่งสื่อถึงความหลักแหลม เป็นมิตร และเป็นนักธุรกิจในเวลาเดียวกัน ด้วยคุณสมบัติเหมือนเจมส์ บอนด์ไดฮาร์ดผสมอินเดียน่า โจนส์ที่ห้อยพระดี (เนื่องจากหนังเหนียวตายยากมาก) ทำให้มาสเตอร์คีตันเป็นงานที่เนื้อหาเบาและรับตลาดผู้อ่านหลายวัยมากกว่างานอื่นของ อ.อุราซาว่าที่ค่อนข้างหนักและจับตลาดเฉพาะผู้อ่านวัยผู้ใหญ่ แต่ถึงเบาก็ยังหนักกว่าการ์ตูนทั่วไปเยอะนะคะ

สาเหตุที่ผลงานชิ้นนี้แตกต่างจากงานของ อ.อุราซาว่าชิ้นอื่นๆ มาก เนื่องจากมาสเตอร์คีตันประพันธ์โดย "คัทสุชิกะ โฮคุเซย์" ส่วน อ.อุราซาว่าเป็นเพียงผู้วาดนั่นเอง แต่หลังจากที่คุณคัทสุชิกะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในปี 2004 อ.อุราซาว่าได้ให้สัมภาษณ์ลงนิตยสารชูกังบุนชุนเมื่อปี 2005 ว่าตนเองกับคุณคัทสุชิกะมีปัญหาส่วนตัวจึงแยกวงกันนานแล้ว ความที่ อ.อุราซาว่าต้องประพันธ์เนื้อเรื่องเองบางตอนจึงต้องการให้ชื่อของตนที่ปรากฏบนปกการ์ตูนใหญ่กว่าชื่อของคุณคัทสุชิกะ ซึ่งถือว่าผิดวิสัยการ์ตูนญี่ปุ่นที่มักให้ชื่อผู้ประพันธ์ใหญ่กว่าชื่อผู้วาด เหตุการณ์นี้ทำให้เพื่อนของคุณคัทสุชิกะซึ่งเป็นใหญ่เป็นโตในสำนักพิมพ์โชกักกุคังผู้ตีพิมพ์มาสเตอร์คีตันออกมาวิพากษ์วิจารณ์ อ.อุราซาว่าอย่างรุนแรง ผลจากความขัดแย้งทำให้โชกักกุคังตัดสินใจหยุดการพิมพ์มาสเตอร์คีตันเพิ่มเติมตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา แม้ว่ายังมีโอกาสทำเงินได้อีกมากก็ตาม

และนี่คือสาเหตุที่ทำให้ "มาสเตอร์คีตัน" ฉบับหนังสือการ์ตูนกลายเป็นของสะสมราคาแพงในปัจจุบันนี้ เข้าตำราของเก่าที่ทรงคุณค่าเพราะเนื้อเรื่องดี ไม่มีพิมพ์เพิ่ม คนเขียนตายแล้ว คนวาดก็กลายเป็นมือเทพมือทองโกยรางวัลมากมาย แถมมีประวัติดำมืดให้เล่าต่อกันสนุกปากอีกด้วย

แต่ที่น่าเสียดายคงเป็นคุณค่าที่แท้จริงของ "มาสเตอร์คีตัน" ที่ไม่สามารถตีพิมพ์เผยแพร่ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมอีกแล้วค่ะ

วันที่ 04 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11530 มติชนรายวัน

27 กันยายน 2552

แฟนสาวจากโลกการ์ตูน (2)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

สัปดาห์ที่แล้วเล่าให้ฟังเรื่องคุณเซโตะ มาซาโตะ อายุ 37 ปี ที่ถือหมอนข้างรูปตัวการ์ตูนสาวน้อยนามว่า "เนมุตัน" ในชุดบิกีนี่ไปไหนต่อไหนและปฏิบัติกับเธอ (หมอน) อย่างให้เกียรติราวกับเธอเป็นผู้หญิงที่มีชีวิต คุณเซโตะขอให้ทุกคนเรียกเขาว่า "นี้ซัง" ซึ่งแปลว่าพี่ชาย และเป็นคำที่เนมุตันใช้เรียกพี่ชายต่างสายเลือดในแอนิเมชั่นเรื่อง Da Capo ที่เธอเป็นนางเอก นี้ซังบอกอย่างเต็มปากว่าเขารักและคิดว่าเนมุตันเป็นเกิร์ลเฟรนด์ แต่ไม่ใช่รักหมอนใบที่เขาถืออยู่แบบเดียวกับเด็กๆ รักตุ๊กตาที่เล่นจนเปียกน้ำลายสกปรกเพราะ "เนมุตัน" ที่เขารักแท้จริงไม่ใช่หมอนแต่เธออยู่ในจินตนาการไม่สามารถจับต้องได้ ไม่จำเป็นที่เนมุตันต้องกลายร่างเป็นคนเพราะนี้ซังชอบที่เธอเป็นสาวสองมิติ (2D) แบนๆ บนหมอนแบบนี้

ฟังแล้วอย่าเพิ่งกลัวและคิดว่าจะพานี้ซังไปพบจิตแพทย์นะคะ เพราะนี้ซังบอกว่าอยากแต่งงานกับผู้หญิงที่เป็นคน เพียงแต่เขาก็มองเห็นความจริงว่าไม่มีผู้หญิงคนไหนจะสนใจตาลุงหัวเหม่งที่ป่วยกระเสาะกระแสะและบ้าการ์ตูนอย่างเขาหรอก อย่างน้อยเขาก็ภูมิใจว่าครั้งหนึ่งที่ได้รักเนมุตันเป็นรักแท้ คำอธิบายความรักของนี้ซังที่มีต่อเนมุตันเท่าที่พอจะนึกออกตอนนี้มีอยู่ 2 แบบค่ะ อย่างแรกคือเป็นทางออกให้มีชีวิตอยู่อย่างเข้มแข็งท่ามกลางความโดดเดี่ยวและความเหงาที่ไม่เคยได้รับการยอมรับจากผู้หญิงจริงๆ และอย่างที่สองคือสิ่งที่เขาปฏิบัติต่อหมอนเนมุตันสะท้อนสิ่งที่เขาต้องการให้คนอื่นๆ ปฏิบัติกับเขาบ้าง

"Loser" หรือไอ้ขี้แพ้ คือคำที่มักจะใช้ดูถูกหนุ่มๆ ที่รักสาวสองมิติแบบนี้ค่ะ หลายคนอาจมองว่าการเมินผู้หญิงเพราะโดนทิ้งครั้งเดียวแล้วหันไปรักตัวการ์ตูนแทนเป็นแค่การหนีปัญหาของคนขี้แพ้ ทำไมไม่ลุกขึ้นมาปรับปรุงตัวให้สาวๆ หันมามองบ้างล่ะ! พูดแบบนี้เห็นทีคงได้ชกกับเพื่อนแน่ค่ะ เป็นธรรมดาของมนุษย์ถ้ามีทางเลือกที่ดีกว่าก็ต้องเลือกไว้ก่อน เช่นเดียวกับนี้ซังซึ่งบอกว่าเขาก็อยากแต่งงานกับผู้หญิงจริงๆ เช่นกันเพียงแต่โอกาสในขณะนี้ไม่อำนวย ถ้าจะต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนตัวเองให้สาวหลงซึ่งไม่รู้ว่าต้องใช้เวลากี่ปีและต้องจมอยู่กับความโดดเดี่ยวอีกนานเท่าไร เขาเลือกที่จะฝึกวิธีปฏิบัติต่อผู้หญิงกับ "หมอน" ตัวแทนของหญิงสาวที่เขารักและบูชาซึ่งก็คือเนมุตันดีกว่า การที่จะรักและนับถือใครไม่จำเป็นว่าเขาต้องมีตัวตนให้เราเห็น เช่นเดียวกับที่หลายคนชอบนักร้องจากภาพที่ค่ายเพลงสร้างขึ้น ตัวจริงอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่ถูกค่ายเพลงปั้นแต่งขึ้นมาก็ได้ ดังนั้น นักร้องในวัฒนธรรมป๊อปหลายคนที่สาวๆ กรี๊ดกร๊าดก็คือภาพมายาที่ถูกสร้างขึ้นเช่นเดียวกับเนมุตัน

กรณีที่สอง สิ่งที่นี้ซังปฏิบัติต่อหมอนเนมุตันอาจจะเป็นความรู้สึกลึกๆ ที่ต้องการให้ใครสักคนปฏิบัติกับเขาเช่นนี้บ้าง นั่นคือรัก ให้เกียรติ และมองเห็นคุณค่าโดยไม่ตัดสินแค่เพียงภายนอกเช่นเดียวกับที่นี้ซังไม่มองว่าเนมุตันเป็น "แค่หมอน" เขาอาจต้องการให้คนอื่นมองเขาโดยไม่คิดว่าเป็น "แค่ตาแก่หัวเหม่งบ้าการ์ตูน" เหมือนกัน

บทความเรื่องความรักต่อสาวสองมิติ (2D) ของคุณลิซ่า คาตายาม่า ที่ตีพิมพ์ในนิวยอร์กไทม์เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมานี้ มีกระแสวิจารณ์ตอบกลับจากผู้อ่านฟากตะวันตกค่ะ โดยสรุปคือฝรั่งไม่เข้าใจวัฒนธรรมรักสาว 2D เดาว่าถ้าเขาเป็นนี้ซังเขาอาจจะเลือกเป็นโสดไม่ก็หันไปเข้ายิมเล่นกล้ามหรือทำศัลยกรรมให้สาวมองแต่คงไม่เลือกที่จะรักสาวน้อยในการ์ตูน เหตุผลหนึ่งเพราะชาติตะวันตกไม่ได้ใกล้ชิดการ์ตูนเหมือนญี่ปุ่น และอีกเหตุผลอาจเพราะวัฒนธรรมตะวันตกมีค่านิยมในการเปลี่ยนรูปกายภายนอกมากกว่าทำความเข้าใจกับความรู้สึกรักหรือซาบซึ้งภายใน

แต่ไม่ว่าจะเป็นหนุ่มญี่ปุ่นรักสาว 2D หรือหนุ่มฝรั่งเพาะกล้าม สิ่งที่เหมือนกันคือค่านิยมทั้งสองแบบตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของวัฒนธรรมที่สร้างรายได้อย่างมหาศาลให้ผู้สร้างกระแส มันคือค่านิยมที่ช่วยให้การ์ตูนสาวน้อยขายดีในญี่ปุ่นเช่นเดียวกับที่กิจกรรมเมคโอเวอร์ขายดีในอเมริกา

ใครคิดจะว่ายตามกระแสอาจจะต้องหยุดคิดสักนิดค่ะว่าคุณค่าที่แท้จริงของตัวเราอยู่ที่ไหน ไม่อย่างนั้นคงได้เสียเงินกระเป๋าฉีกกันแน่

วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11523 มติชนรายวัน

20 กันยายน 2552

แฟนสาวจากโลกการ์ตูน (1)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ลองนึกภาพว่าถ้ามีผู้ชายวัยกลางคนถือหมอนข้างรูปสาวน้อยจากแอนิเมชั่น (ภาพยนตร์การ์ตูน) ขับรถไปท่องเที่ยวที่ต่างๆ และดูแลเธอเป็นอย่างดีราวกับหมอนใบนั้นมีชีวิต จัดให้เธอนั่งบนรถในท่าที่ศีรษะตั้งตรงและให้เกียรติโดยไม่เผลอเอามือแตะโดนร่างกายของเธอ (หมอน) ในบริเวณที่ไม่ควรเช่นเดียวกับที่ปฏิบัติกับผู้หญิงทั่วไป แวบแรกเราคิดอย่างไรคะ เก็บไว้ในใจแล้วมาทำความรู้จักกับเขาก่อนดีกว่าค่ะ

บทความนี้เขียนโดยคุณลิซ่า คาตายาม่า ตีพิมพ์ในนิตยสารนิวยอร์กไทม์วันที่ 21 กรกฎาคมปีนี้ และสร้างกระแสฮือฮาไปทั่วเนื่องจากเป็นหนึ่งในไม่กี่ครั้งที่ชีวิตของผู้คลั่งไคล้การ์ตูนอย่างรุนแรงและบางครั้งถูกเรียกในเชิงลบว่า "โอตาคุ" จะได้รับการตีแผ่ให้ชาวโลกรับทราบ ชายหนุ่มที่รักหมอนสาวน้อยถึงขนาดไปไหนมาไหนด้วยกันคนนี้ชื่อว่าคุณเซโตะ มาซาโตะ เขาอายุแค่ 37 ปี แต่รูปร่างหน้าตาล้ำไปไกลมากแล้ว คุณเซโตะต้องการให้คนเรียกเขาว่า "นี้ซัง" เป็นภาษาญี่ปุ่นหมายถึงพี่ชาย แต่สาเหตุแท้จริงที่อยากให้ทุกคนเรียกเช่นนี้เพราะเป็นสรรพนามที่ "เนมุตัน" ใช้เรียกพี่ชายที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือดของเธอนั่นเอง

"เนมุตัน" คือสาวน้อยที่อยู่บนหมอนของนี้ซังนั่นเองค่ะ ชื่อจริงของเธอคือ "เนมุ" เป็นตัวการ์ตูนจากเรื่อง Da Capo ซึ่งเป็นการ์ตูนแนวรักวัยรุ่นธรรมดา คำว่า "ตัน" เป็นคำต่อท้ายที่ให้ความหมายว่าเอ็นดูและรักคลั่งไคล้มาก (มากกว่า "จัง" อีกค่ะ) แต่เนมุตันที่อยู่บนหมอนของนี้ซังเป็นเนมุตันเวอร์ชั่นประดิษฐ์ใหม่ซึ่งปรากฏอยู่ในเกมที่สร้างจากตัวการ์ตูนเรื่องเดียวกันเพียงแต่ติดเรตและไม่เหมาะกับเยาวชน เนมุตัน (หมอน) จึงออกจะโชว์เนื้อหนังกว่าในการ์ตูนจริงๆ อยู่สักหน่อย

นี้ซังให้สัมภาษณ์ว่า เขารู้ดีว่าเนมุตันไม่มีตัวตนและเธอเป็นแค่การ์ตูนสองมิติ แต่เขาก็รักเนมุตันจากใจและพูดได้เต็มปากว่าเธอเป็น "เกิร์ลเฟรนด์" ของเขา นี้ซังเคยคบผู้หญิง (ที่ไม่ใช่หมอน) มาก่อนแต่ก็ถูกทิ้งในที่สุด ใช่ว่าเขาจะไม่ชอบผู้หญิงจริงๆ แต่รักแรกพบกับเนมุตันทำให้เขาปักใจรักและอุดหนุนหมอนเนมุตันมาเพียบ เรียกว่าพอสีซีดแล้วก็ยังมีใบใหม่สำรองไว้เปลี่ยนให้เนมุตัน (หมอน) สดใสตลอดเวลา

ความรักที่มีให้สาวสองมิติในโลกแห่งจินตนาการเช่นนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมญี่ปุ่นมาระยะหนึ่งแล้วค่ะ บางครั้งถูกเรียกว่า "Moe subculture" หรือวัฒนธรรมย่อยโมเอะ ซึ่งคำว่าโมเอะใช้อธิบายความรู้สึกกรี๊ดกร๊าดเวลาเห็นอะไรน่ารักอย่างรุนแรงจนอดใจไม่อยู่ กลุ่มคนที่หลงรักสาวน้อยสองมิติเหล่านี้บางครั้งถูกเรียกว่า "2-D lovers" ค่ะ

พักเรื่องนี้ซังไว้ตรงนี้ก่อน เพราะเชื่อว่าหลายท่านถ้าได้เจอนี้ซังเดินอุ้มหมอนอยู่ตามท้องถนนคงคิดแวบแรกว่า "พาไปพบจิตแพทย์เถอะ" ซึ่งนี้ซังก็บอกว่าถ้าเขาเห็นคนที่เป็นอย่างตัวเขาเอง เขาก็คงคิดแบบเดียวกัน ใช่ว่าเขาไม่อยากแต่งงานกับผู้หญิงจริงๆ แต่ดูสารรูปตัวเองแล้วเขาก็คิดว่าผู้หญิงที่ไหนอยากจะมาแต่งงานด้วย ในช่วงเวลาที่ต้องโดดเดี่ยวและถูกโรคเบาหวานรุมเร้า เขาไม่ประชดชีวิตดื่มเหล้าหรือโทษโชคชะตาแต่เลือกที่จะ "รักเนมุตัน" และมีชีวิตอยู่อย่างไม่แคร์สายตาใคร

จริงอยู่ว่านี้ซังทำตัวแปลกกว่าคนทั่วไป แต่ถ้าเราลองเปลี่ยนนี้ซังเป็นตัวเราสมัยสองสามขวบและเปลี่ยนเนมุตัน (หมอน) เป็นตุ๊กตาหรือของเล่นที่เคยเล่นตอนเด็กๆ บ้าง เชื่อว่าเด็กผู้หญิงหลายคนต้องเคยเล่นสมมุติว่าตัวเองเป็นแม่แล้วให้ตุ๊กตาเป็นลูก อุ้มตุ๊กตาขึ้นมาแนบอกด้วยความรักและพูดเพราะๆ กับตุ๊กตา เด็กผู้ชายอาจจะเคยมีตุ๊กตาไอ้มดแดงทำจากยางตัวเล็กๆ เอามาเล่นเตะต่อยจนตุ๊กตาตัวอื่นล้มกลิ้ง บางทีก็ชูขึ้นมาทำท่าเหาะเหินเดินอากาศและกำจัดเหล่าร้ายแบบที่เห็นในการ์ตูน นั่นอาจจะเป็นความหมายของสิ่งที่นี้ซังปฏิบัติต่อเนมุตัน

การให้เกียรติ ดูแลเอาใจใส่ รักเนมุตันโดยไม่ต้องการสิ่งตอบแทนอาจเป็นจิตใต้สำนึกที่เขาต้องการให้คนอื่นๆ ปฏิบัติต่อเขาแบบเดียวกันก็ได้ เช่นเดียวกับเด็กผู้หญิงเล่นเป็นแม่ให้ตุ๊กตาเพราะนอกจากเลียนแบบแม่ที่ตัวเองเห็นในชีวิตจริงแล้ว บางครั้งก็เลียนแบบแม่ในฝันที่รักและพูดเพราะๆ ดูแลเอาใจใส่ลูกเช่นกัน

เห็นทีเรื่องของนี้ซังและเนมุตันจะยาว ไว้ต่อสัปดาห์หน้าดีกว่าค่ะ

วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11516 มติชนรายวัน

12 กันยายน 2552

เผาบ้านเพราะแค้นที่แม่ทิ้งกันดั้ม

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

คำโปรยด้านบนคือหัวข้อข่าวจากหนังสือพิมพ์เดอะโกเบชิมบุนที่นำเสนอเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมาก่อนวันแม่ในบ้านเราไม่นานเลยค่ะ สำหรับท่านที่ไม่รู้จักว่า "กันดั้ม" (Gundam) คืออะไร กันดั้มคือหุ่นยนต์จากแอนิเมชั่น (ภาพยนตร์การ์ตูน) เรื่องกันดั้มที่สร้างออกมาหลายภาคและออกแบบหุ่นกันดั้มแตกต่างกันไปโดยยังคงเอกลักษณ์ใบหน้าไว้ให้ใกล้เคียงเดิมที่สุด แต่สิ่งที่เหล่านักสะสมกันดั้มชื่นชอบนอกเหนือจากแอนิเมชั่นคือ "กันดั้ม พลาสติค โมเดล" (หรือคนญี่ปุ่นเรียกย่อๆ ว่า "กันพลา") ซึ่งเป็นหุ่นประกอบจากพลาสติคมากมายหลายเกรดหลายรุ่น เรียกว่าเป็นของสะสมที่มีคุณค่าทางใจอย่างสูงเลยล่ะค่ะ พ่อสารถีที่บ้านก็มีอยู่หลายตัวทีเดียว

ข่าวจากหนังสือพิมพ์ระบุว่านาย "โยชิฟุมิ ทาคาเบะ" อายุ 29 ปี ทำงานเป็นพนักงานในโรงงานแห่งหนึ่งลุกขึ้นมาราดน้ำมันก๊าดในห้องของเขาที่บ้านและจุดไฟเผา ส่งผลให้บ้านที่อาศัยอยู่กับมารดาไหม้ราบเป็นหน้ากลองอย่างรวดเร็วแต่โชคดีที่เขาและมารดาปลอดภัย จากคำกล่าวอ้างของตำรวจบอกว่านายโยชิฟุมิเล่าสาเหตุที่ทำเช่นนี้เนื่องจากมารดาทิ้งกันพลาที่เขารักมากไปจึงรู้สึกอยากตายขึ้นมา

ไม่แปลกใจเลยค่ะว่าคนส่วนใหญ่ที่อ่านข่าวนี้จะประณามว่าลูกเลว ลูกทรพี รักกันดั้มแค่ไหนแต่เผาบ้านแบบนี้ก็เกินไปแล้ว การเผาบ้านไม่ว่าจะสาเหตุใดก็ไม่ใช่สิ่งถูกต้องแน่นอน แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกเข้าไปอีกนิด ข่าวสั้นๆ ข่าวนี้มีหลายอย่างให้เราต้องติดตามต่อว่าเกิดอะไรขึ้นกับชายหนุ่มผู้รักกันดั้มคนนี้กันแน่

สิ่งที่ต้องพิจารณาคือเกิดอะไรขึ้นเขาถึงตัดสินใจเผาบ้านตัวเองและรู้สึก "อยากตาย" เมื่อรู้ว่าของสะสมที่มีค่าและรักเหมือนลูกถูกโยนทิ้ง ความรู้สึกอยากตายนี้น่าสนใจค่ะ เมื่อ 2-3 ปีก่อนเคยทำวิจัยเกี่ยวกับผู้ป่วยที่เข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากทำร้ายตัวเองด้วยวิธีต่างๆ เช่น กินยาเกินขนาด กรีดข้อมือ ฯลฯ สิ่งที่สังเกตได้คือส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการ "ฆ่าตัวตาย" แต่วิกฤตชีวิตบางอย่างเจ็บปวดเกินกว่าที่เขาจะรับมือไหว การทำร้ายตัวเองจึงเป็นการสื่อสารแบบหนึ่งให้ตัวเองและคนรอบข้างรับรู้ว่า "ฉันก็เจ็บนะ ฉันเสียใจ ฉันทรมาน ฉันทำพลาดไปแล้ว ฉันขอโทษ ฯลฯ" แต่เพราะไม่สามารถกลั่นออกมาเป็นคำพูดได้จึงแสดงออกด้วยการทำร้ายตัวเองเสียแทน คนกลุ่มนี้ถ้ามีใครสักคนรับฟังและเข้าใจ ไม่ต้องช่วยแก้ปัญหาก็ได้ค่ะ บางทีแค่รับฟังก็เกินพอแล้ว ความรู้สึกอยากทำร้ายตัวเองจะลดลงมาก อีกข้อสังเกตหนึ่งคือคนที่ทำร้ายตัวเองหลายคน "เมา" ค่ะ เวลาเสียใจหนักๆ แล้วเมาจนขาดสติก็อาจเผลอทำอะไรหุนหันพลันแล่นออกไปได้ ส่วนใหญ่มักจะเสียใจตอนสร่างนะคะ อีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการ "ฆ่าตัวตาย" จริงๆ และใช้วิธีรุนแรงชนิดที่ตายได้แน่ๆ เช่น กระโดดตึก ผูกคอ ใช้ปืน กลุ่มนี้มักมีความเจ็บป่วยทางจิตใจซ่อนอยู่ ไม่ใช่คนปกติที่แค่ผิดหวังตูมเดียวแล้วจะฆ่าตัวตายแน่ๆ กลุ่มนี้ต้องรีบพามาหาจิตแพทย์เลยค่ะ

นอกจากความรู้สึกอยากตายของนายโยชิฟุมิแล้ว อีกคนที่ต้องหันไปคุยคือคุณแม่ซึ่งทิ้งกันพลาจนเป็นเหตุให้ลูกชายลุกขึ้นมาเผาบ้าน คงเป็นไปไม่ได้ที่คุณแม่จะเผลอโยนกันพลาทิ้งเพราะไม่รู้ว่าของสะสมที่ลูกชายประคบประหงมมาหลายปีเป็นของมีค่า ในข่าวไม่ได้บอกค่ะว่าทำไมคุณแม่ถึงตัดสินใจทิ้งของสะสมเหล่านั้น เกิดอะไรขึ้นกับนายโยชิฟุมิที่ทำให้คนเป็นแม่ถึงขนาดต้องทิ้งของรักของลูกชายจนอีกฝ่ายเผาบ้านแบบนี้ แท้จริงนายโยชิฟุมิเป็นแค่ไอ้หนุ่มที่บ้ากันดั้มจนเกินปกติ หรือแค่เผาเพราะเมา หรือมีสาเหตุอื่นๆ ประกอบด้วยกันแน่ ข้อมูลเหล่านี้สำคัญเพราะถ้าอนาคตเราจะทิ้งของรักของหวงของใครสักคนจะได้พอนึกออกว่าจะเกิดอะไรตามมาอีกบ้างและควรจะระวังอะไร

น่าแปลกที่คดีนี้ไม่ยักมีใครเชียร์ให้ส่งนายโยชิฟุมิมาพบจิตแพทย์ มีแต่บอกให้เข้าไปนอนคุกน่ะดีแล้ว แต่จิตแพทย์ที่นั่งเขียนคอลัมน์อยู่ตรงนี้อยากคุยกับเขานะคะว่าเกิดอะไรขึ้น เชื่ออยู่ลึกๆ ว่าคนที่รักกันดั้มไม่น่าเป็นคนไม่ดีค่ะ

วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11509 มติชนรายวัน

05 กันยายน 2552

ตุ๊กตาปลอมระบาดในไทย (2)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

สัปดาห์ก่อนเล่าให้ฟังเรื่องค่านิยมที่ไม่ถูกต้องของคนบางกลุ่มที่คิดว่าการลอกเลียนแบบหรือนำผลงานที่เกิดจากความคิดของผู้อื่นมาก๊อบปี้ขายต่อเป็นเรื่องปกติ รวมถึงปัญหาตุ๊กตา BJD (ball joint doll ตุ๊กตาเรซิ่นที่ราคาหลายหมื่นบาท) ของบริษัท Volks ในญี่ปุ่นถูกก๊อบปี้ในประเทศจีนและนำมาขายในเว็บไซต์ประมูลของญี่ปุ่นกันอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย วันนี้จะเล่าต่อถึงตุ๊กตา BJD ปลอมด้วยมือคนไทยที่มักง่ายกลุ่มหนึ่งซึ่งหลายคนหลงซื้อไปเสียแล้ว

เพื่อนผู้เล่น BJD สองคนเล่าให้ฟังว่า 2 เดือนที่ผ่านมาได้ไปเดินเที่ยวแถวสะพานเหล็กซึ่งเป็นที่ทราบดีว่าเป็นแหล่งจำหน่ายฟิกเกอร์และโมเดลการ์ตูนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย ทั้งสองท่านสะดุดตากับ BJD สาวน้อยสูงประมาณ 41 ซม. ตัวหนึ่งเข้าค่ะ ราคา 6,500 บาท แต่เมื่อรวมวิกผม, รองเท้า และชุดก็เป็น 9,500 บาท ความที่ชอบและอยากเล่น BJD อยู่เป็นทุนก็เลยสอบถามข้อมูลจากคนขายแต่ทั้งสองท่านกลับได้ข้อมูลมาคนละแบบ

ท่านแรกทราบจากคนขายว่า BJD รุ่นนี้ชื่อซีซ่าดอลล์นำเข้าจากจีน แต่เมื่อถามถึงการนำเข้า บริษัทผู้ผลิต และรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ คนขายก็อ้ำอึ้งและดูเหมือนไม่ค่อยอยากตอบเท่าไร ส่วนท่านที่สองทราบว่า BJD รุ่นนี้ลูกชายเจ้าของร้านหล่อเรซิ่นเองกับมือ บอกว่าเป็นของที่คนไทยทำเองอย่างภาคภูมิใจ หว่านล้อมจนทั้งสองท่านซื้อ BJD มาในที่สุดเพราะคิดว่าราคาถูกกว่าซื้อของเกาหลี ที่สำคัญเป็นฝีมือปั้นของคนไทยเสียด้วยยิ่งต้องช่วยอุดหนุนเข้าไปใหญ่ ทั้งสองท่านดูแลตุ๊กตาลูกสาวด้วยความรักค่ะ แต่งตัวให้ เย็บเสื้อผ้าให้ และถ่ายภาพมาอวดเพื่อนๆ ที่รัก BJD ด้วยกัน แต่เมื่อเพื่อนๆ เข้ามามุงดูก็เริ่มรู้สึกประหลาดใจและมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า

"ดูแล้วคล้าย BJD ของเกาหลีรุ่นนึงเลยนะ"

ภาพที่เห็นนี้คือภาพ BJD ที่ได้รับจากหนึ่งในสองท่านที่ซื้อมาในไทยค่ะ ขอบคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลนะคะ หลังจากที่หลายสิบตาช่วยกันเช็คก็ปรากฏว่าเหมือน BJD ของเกาหลีมากและน่าจะเป็นรุ่นเดียวกัน จึงสรุปในเบื้องต้นว่า BJD ไทยที่หลงภูมิใจและชื่นชมไปในตอนแรก "เป็นของปลอม!" ที่น่าจะเกิดจากคนผลิตซื้อของจริงมาแยกส่วนและหล่อเองตามแบบ เป็นของปลอมจากวัสดุราคาไม่กี่ร้อยบาทที่ขายต่อเกือบหมื่นบาทนั่นเอง

หากข่าวคนไทยก๊อบปี้ตุ๊กตา BJD แพร่ออกไปคงเสียหายหนักค่ะเพราะเมืองไทยจะถูกมองว่าเป็นดินแดนแห่งของปลอมในสายตานักเล่น BJD ทั่วโลกทันที นักออกแบบ BJD ฝีมือเยี่ยมชาวไทยหลายคนอาจขายผลงานได้ลำบากขึ้น และ BJD ที่ขายจากคนไทยก็จะถูกมองอย่างระแวงว่าจะปลอมหรือไม่

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้มีการค้นพบว่าเว็บไซต์ขายสินค้าแห่งหนึ่งในจีนประกาศขายตุ๊กตาของตนเองซึ่งเป็นสินค้าเลียนแบบจากต้นฉบับเกาหลี เขาให้เหตุผลว่า "เพื่อให้เด็กๆ ได้มีโอกาสเล่นตุ๊กตาแพงๆ เราจึงเสนอทางเลือกด้วยตุ๊กตาแบบเดียวกับของบริษัท XXX ในราคาที่ถูกกว่ามาก!" เป็นที่รู้กันว่าการขายตัดราคาแบบนี้ทำได้เพราะใช้วัสดุคุณภาพต่ำและลอกเขามาทั้งดุ้นค่ะ ข่าวนี้ทำให้นักสะสม BJD ทั่วโลกกังวลในการซื้อของมือสองมากขึ้นเนื่องจากไม่มั่นใจว่า BJD รุ่นหายากราคาแพงลิบหลายหมื่นบาทที่ซื้อมาเป็นของแท้หรือไม่ แต่คนที่ลำบากที่สุดคงจะเป็นนักเล่น BJD ในจีนเองซึ่งนอกจากแทบจะขาย BJD มือสองให้คนต่างชาติไม่ได้แล้ว ยังต้องมาระแวงคนจีนกันเองว่าของที่ซื้อต่อมาเป็นของแท้แน่หรือเปล่า

ได้แต่หวังว่า BJD ณ สะพานเหล็กในร้านนั้นคงไม่ใช่ของปลอมที่เกิดจากมือคนไทยค่ะ เพราะถ้าคนไทยก๊อปเองจริง เห็นทีนักเล่น BJD ชาวไทยคงร้อนๆ หนาวๆ กันบ้างว่าของที่เราซื้อต่อมาด้วยราคาหลายหมื่นอาจจะกลายเป็นศูนย์บาทในพริบตาเพราะเป็นของปลอมก็ได้

วิธีแก้ปัญหานี้ทำได้ไม่ยาก คือ ไม่สนับสนุนหรือซื้อของที่สงสัยว่าอาจจะทำปลอมขึ้นมา และสร้างจิตสำนึกว่าอย่ามักง่ายซื้อของปลอมแค่เพราะต้องการของราคาถูก จะรอให้คนขี้โกงถูกดำเนินคดีคงไม่ทันการณ์ เริ่มจากตัวเองและเพื่อนๆ ด้วยการไม่อุดหนุนของปลอมเหล่านี้ และไม่ชื่นชมคนที่ใช้ของเลียนแบบดีกว่าค่ะ

วันที่ 06 กันยายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11502 มติชนรายวัน

29 สิงหาคม 2552

ตุ๊กตาปลอมระบาดในไทย (1)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

สัปดาห์ก่อนเล่าให้ฟังเรื่องคดีมิวสิควิดีโอของเกาหลีลอกฉากหนึ่งในแอนิเมชั่น (ภาพยนตร์การ์ตูน) ของญี่ปุ่นส่งผลให้ต้องจ่ายเงินชดเชย 400 ล้านวอน ไปแล้ว สัปดาห์นี้ก็ได้ยินข่าวสินค้าเลียนแบบอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้รู้สึกเศร้าใจค่ะเพราะครั้งนี้คาดว่าคนไทยจะก๊อบปี้เสียเอง เป็นการก๊อบปี้ตุ๊กตาบอลล์จอยท์ดอลล์ (ball joint doll-BJD) ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย ก่อนที่จะไปดูว่าตกลงก๊อปหรือไม่ก๊อป คนไทยทำจริงหรือไม่ ลองมาดูสักนิดนะคะว่าตุ๊กตา BJD คืออะไร ทำไมต้องทำของเลียนแบบออกมาขายกันและทำไมจึงไม่ควรสนับสนุน

BJD คือตุ๊กตาที่สร้างจากเรซิ่นซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายพลาสติคแข็ง คุณภาพของ BJD และราคาขึ้นกับหน้าตา ระบบข้อต่อ และคุณภาพเรซิ่นเป็นหลักค่ะ แน่นอนว่าถ้าปั้นออกมาสวยและข้อต่อช่วยในการโพสท่าได้หลายหลายเท่าไรก็จะยิ่งแพงมากขึ้น ส่วนเรซิ่นของ BJD ชั้นดีมักจะดูนวลเนียนเหมือนผิวคนจริงๆ ประเทศที่ผลิตและจำหน่ายอย่างกว้างขวางคือญี่ปุ่นและเกาหลีโดยบริษัทที่ผูกขาดตลาด BJD ในญี่ปุ่นชื่อ "โวคส์" (Volks) ส่วนในเกาหลีมีมากมายหลายเจ้าเลยค่ะ มีผู้ผลิตจากจีนและตะวันตกบ้างแต่ก็ไม่ใช่ตลาดที่ใหญ่นักเมื่อเทียบกับสองประเทศนี้

สิ่งที่ทำให้ BJD เป็นของที่หลายท่านอยากได้แต่ไม่มีโอกาสเป็นเจ้าของก็เพราะ "ราคา" นี่ล่ะค่ะ สำหรับ BJD ขนาดใหญ่ (สูงประมาณ 60-70cm) ราคาตั้งแต่ตัวละเกือบสองหมื่นบาทไปจนถึงเกือบแสนบาทก็มีค่ะ! ถ้าจินตนาการถึงตุ๊กตาราแพงขนาดนี้แล้วนึกภาพไม่ออก ลองคิดถึงกระเป๋าแบรนด์เนมนะคะ สาวๆ ที่อยากถือของแพงแต่ไม่มีเงินพอจะซื้อและตัดใจไม่ลงมักจะทำอย่างไร คำตอบคือบางคนเลือกซื้อของปลอมและหลอกตัวเองว่า "เพราะฉันไม่รวย ใช้ของปลอมก็พอแล้ว" ซึ่งเป็นค่านิยมที่ไม่ถูกต้องค่ะ

กลับมาที่ BJD บ้าง ความที่เรซิ่นราคาไม่กี่ร้อยบาทสามารถขายได้ในราคาหลายพันบาททำให้มีพ่อค้าไร้คุณธรรมกลุ่มหนึ่งนำแบบตุ๊กตา BJD ของบริษัท Volks ไปหล่อใหม่ด้วยเรซิ่นคุณภาพต่ำกว่าของแท้เพื่อขายตัดราคา จากประกาศเตือนของ Volks เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาทำให้ทราบว่าสินค้าเลียนแบบเหล่านี้ผลิตในจีน และที่น่ากลัวกว่านั้นคือนำไปประมูลขายทางเว็บไซต์ประมูล Yahoo! auction ในญี่ปุ่นเย้ยของแท้เลยค่ะ! นอกจากคนซื้อจะตกเป็นเหยื่อเสียเงินจำนวนมากโดยไม่ทราบว่าซื้อของปลอมมาแล้ว การผลิต จำหน่าย และเป็นเจ้าของสินค้าเลียนแบบเหล่านี้ถือว่าผิดกฎหมายเลยล่ะค่ะ คนที่ซื้อไปนอกจากจะโดนหลอกให้ซื้อของปลอมแล้ว ยังกลายเป็นอาชญากรที่ครอบครองของปลอมด้วย

มีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับการลอกผลงานผู้อื่นค่ะ เมื่อไม่กี่วันก่อนอ่านในเว็บบล็อกของท่านหนึ่งว่าด้วยการ "ห้ามคลิกขวา" ผู้เขียนท่านนั้นเล่าว่าเว็บไซต์ที่ห้ามคลิกขวา (หมายถึงไม่สามารถก็อปปี้ภาพหรือเนื้อหาในเว็บไซต์ไปเผยแพร่ต่อได้เพราะการก็อปปี้ต้องคลิกขวาที่เมาส์ก่อน) ย่อมมีเจตนาไม่ต้องการให้ใครลอกเลียนแบบหรือนำไอเดียที่เจ้าของเว็บไซต์คิดขึ้นมาอย่างเหน็ดเหนื่อยไปใช้ต่อโดยอ้างว่าเป็นผลงานของตัวเอง สิ่งที่น่าตกใจคือคนที่เข้ามาตอบ (คนไทย) หลายคนบอกว่ามันเป็นการปิดกั้นวัฒนธรรม, ไม่รู้จักแบ่งปัน, จะหวงไว้ทำไม, ก็ฉันคิดไม่ได้ฉันก็เลยลอก ใครมันจะไปรู้ ฯลฯ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนเหล่านี้ไม่มีจิตสำนึกในคุณค่าของนวัตกรรมที่ต้องใช้ทั้งเวลาและความสามารถในการคิดแม้แต่น้อย คนที่คิดว่าการลอกเป็นเรื่องปกติย่อมเป็นคนที่ไม่เคยคิดอะไรด้วยตัวเองเลย การรู้สึกเฉยเมยต่อการลอกจึงเป็นค่านิยมผิดๆ ที่น่าเศร้าค่ะ

เรื่องที่น่าเศร้ากว่านั้นคือเมื่อวันก่อน เพื่อนที่มาเรียนต่ออยู่ประเทศเดียวกันแอบกระซิบถามว่าทำยังไงถึงจะเขียนบทความวิชาการส่งอาจารย์ได้เยอะๆ เราใช้วิธีก๊อบปี้มาจากบทความหลายๆ ฉบับแล้วแปะดีมั้ย ฟังแล้วแทบเป็นลมเลยค่ะ! ได้แต่มองหน้าเขาอย่างตะลึงแล้วบอกว่าการลอกงานเขียนโดยเฉพาะผลงานวิชาการมันไม่ถูกต้องนะ ไม่ควรแม้แต่จะคิด งานวิชาการระดับปริญญาเอกถ้าไม่ใช่ความคิดของตัวเองแล้วมันจะไปมีค่าอะไร

มึนงงกับเรื่องลอกเลียนแบบอยู่พักหนึ่ง สหายก็ส่งข่าวมาว่ามี BJD เลียนแบบออกมาระบาดในไทยแถมฝีมือคนไทยทำเสียด้วย! ภาพที่เห็นวันนี้คือ BJD ของจริงค่ะ เป็นสาวน้อยชื่อ Ani ของบริษัท Luts ในเกาหลี สัปดาห์หน้ามาดูค่ะว่าของเลียนแบบในไทยหน้าตาเป็นเช่นไร

วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11495 มติชนรายวัน

23 สิงหาคม 2552

ปิดฉากคดีลอกแห่งทศวรรษ สแควร์อีนิกซ์ฆ่าได้หยามไม่ได้

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

นับเป็นคดีที่ยืดเยื้อมายาวนานและปิดฉากลงพร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากวงการการ์ตูนค่ะ คดีนี้เกิดจากบริษัทสแควร์อีนิกซ์ของญี่ปุ่นเจ้าของลิขสิทธิ์แอนิเมชั่น (ภาพยนตร์การ์ตูน) เรื่อง "ไฟนอลแฟนตาซี 7 แอดเวนท์ชิลเดรน" (Final fantasy VII Advent Children : FFVIIAC) แอนิเมชั่นซึ่งสร้างต่อเนื่องจากเกมไฟนอลแฟนตาซี 7 และวางจำหน่ายในญี่ปุ่นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2005 ฟ้องร้องบริษัทแฟนท่อมเอ็นเตอร์เทนเมนท์ในเกาหลีที่ปล่อยมิวสิควิดีโอเพลง "Temptation Sonata" ของนักร้องสาวชาวเกาหลี "ไอวี่" ออกมาเมื่อปี 2007 โดยภาพที่ปรากฏในมิวสิควิดีโอเกือบทั้งหมดเหมือนฉากหนึ่งใน FFVIIAC เรียกว่าแทบจะถ่ายภาพมาทาบได้เฟรมต่อเฟรม

มิวสิควิดีโอลอกสะท้านวงการชุดนี้เรียกได้ว่าทุกคนที่ดูไม่มีใครใช้คำว่า "ได้รับอิทธิพล" หรือ "ได้รับแรงบันดาลใจ" เลยค่ะ ยอมรับว่า...ลอกได้เหมือนมาก ในที่สุดเมื่อเดือนธันวาคมปี 2007 ศาลชั้นต้นของเกาหลีใต้ตัดสินว่าบริษัทแฟนท่อมผิดจริง โดยให้เหตุผลว่า 80% ของมิวสิควิดีโอนี้ใช้เนื้อหา, มุมกล้อง, การแสดง และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายจาก FFVIIAC ศาลชั้นต้นพิพากษาให้หยุดการเผยแพร่และจำหน่ายมิวสิควิดีโอนี้ ส่วนบริษัทแฟนท่อมและผู้กำกับฯมิวสิควิดีโอต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินรวมกันประมาณ 16 ล้านวอน ผู้กำกับฯทั้งสองยื่นอุทธรณ์ต่อ แต่ทั้งสองก็ยังคงแพ้คดีและจบการพิจารณาในชั้นอุทธรณ์เมื่อเดือนมีนาคม 2008 โดยจำนวนเงินค่าปรับเพิ่มเป็น 300 ล้านวอน!

เรื่องควรจะจบเพียงเท่านี้ค่ะเพราะนอกจากแฟนท่อมเอ็นเตอร์เทนเมนท์จะชื่อเสียงป่นปี้แล้ว การลอกสะท้านวงการครั้งนี้ทำให้ภาพพจน์ของกระแสวัฒนธรรมเกาหลีฟีเวอร์เสียหายหนักขึ้น อย่างน้อยก็ในสายตาของคนเล่นเกมและดูการ์ตูน แต่เรื่องกลับไม่จบเมื่อทางแฟนท่อมยื่นเรื่องต่อศาลสูง (High court) ในเกาหลีอีกครั้ง ในที่สุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2009 ที่ผ่านมานี้เอง ศาลสูงได้พิจารณาให้บริษัทแฟนท่อมและผู้กำกับฯชดใช้ค่าเสียหายเพิ่มขึ้นอีกเป็น 400 ล้านวอน (ประมาณ 11 ล้านบาท) ไม่แน่ใจว่าทางแฟนท่อมจะยื่นเรื่องต่อ Supreme Court อีกหรือไม่ค่ะ คงต้องคอยติดตามข่าวต่อไป

มาดูประวัติของเกมไฟนอลแฟนตาซี 7 (FFVII) และ FFVIIAC สักนิดนะคะว่าทำไมทางสแควร์อีนิกซ์ถึงแค้นน่าดู FFVII เป็นเกมในซีรีส์ไฟนอลแฟนตาซีซึ่งกำเนิดในปี 1987 โดยมีเนื้อหาแตกต่างกันไปทุกภาค ภาค 7 ออกจำหน่ายในปี 1997 ผ่านระบบเครื่องเล่นเพลย์สเตชั่นของ Sony นอกจากภาพสวย เพลงเพราะ และตัวละครโดดเด่นแล้ว เนื้อหาของเกมนี้ได้แยกย่อยไปเป็นเกมอื่นๆ และนวนิยายอีกเป็นกุรุส จนกระทั่งปี 2005 เมื่อแอนิเมชั่น FFVIIAC ออกจำหน่ายจึงช่วยปลุกกระแสความนิยม FFVII ขึ้นมาอีกครั้ง แอนิเมชั่นเรื่องนี้คว้ารางวัลมากมายและกวาดรายได้ไปเพียบ เรียกว่าเป็นบ่อเงินบ่อทองของสแควร์อีนิกส์เลยก็ว่าได้ ในปี 2006 สามารถทุบสถิติเป็น DVD แอนิเมชั่นที่ยอดขายสูงสุดของอเมริกาและยุโรปเลยค่ะ (1.4 ล้านแผ่น) แถมยังมีของสะสมออกมากินเงินแฟนๆ ไปอีกบานตะไท

ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2009 ที่ผ่านมา ทางสแควร์อีนิกซ์ปล่อย "FFVIIAC Complete" ซึ่งเป็น FFVIIAC ในแบบความละเอียดสูงพร้อมเนื้อหาเพิ่มเติมและออปชั่นเสริมมากมาย จำหน่ายได้ 1 แสนแผ่นในการเปิดขายวันแรกที่ญี่ปุ่นค่ะ เป็น 12 ปีแห่งความนิยมใน FFVII ที่ไม่จืดจางจริงๆ

คดีนี้น่าจะเป็นตัวอย่างให้คนที่คิดจะลอกระลึกได้ค่ะว่าข้อมูลข่าวสารสมัยนี้เร็วเกือบเท่าความไวแสงแล้ว ลอกอยู่ส่วนหนึ่งบนโลก อีกชั่วโมงต่อมาคนอีกซีกโลกอาจจะรู้แล้ว โดยเฉพาะดันมาลอก FVIIAC ซึ่งเหมือนอู่ข้าวอู่น้ำของสแควร์อีนิกซ์เช่นนี้

ไม่แปลกใจเลยค่ะที่สแควร์อีนิกซ์จะออกมาตอบโต้ว่า เรื่องนี้ฆ่าได้หยามไม่ได้ และลอกก็ไม่ได้เหมือนกัน

วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11488 มติชนรายวัน

20 สิงหาคม 2552

Nasu มะเขือม่วงกับนักปั่นแข้งทอง (3)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

สองสัปดาห์ก่อนเล่าให้ฟังถึงแอนิเมชั่นเรื่อง Nasu ซึ่งกล่าวถึงนักปั่นจักรยานมืออาชีพที่ต้องต่อสู้กับแรงกดดันมากมาย นอกจากเพื่อเอาชนะในเกมแล้ว เขายังต้องเอาชนะตัวเองและรู้จักเสียสละเพื่อชัยชนะของทีมด้วย ผลงานเรื่อง Nasu ทั้งสองภาคกำกับโดยผู้กำกับ "โคซากะ คิทาโร่" ซึ่งเป็นที่รู้จักมาก่อนในฐานะผู้กำกับแอนิเมชั่น (Animation director and supervisor) ของ Studio Ghibli สตูดิโอแอนิเมชั่นที่โด่งดังที่สุดในญี่ปุ่น เขามีส่วนร่วมในผลงานที่โด่งดังของ Ghibli เกือบทุกชิ้นรวมถึง Spirited Away ที่ได้รับรางวัลออสการ์ด้วย ลองมาดูบทสัมภาษณ์ของเขาโดยคุณมาร์โก้ เบลลาโน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2009 ที่ผ่านมา ณ งานภาพยนตร์แอนิเมชั่นเมืองตูริน ถอดความจาก www.ghibliworld.com นะคะ

คุณมาร์โก้ถามผู้กำกับโคซากะในฐานะที่เป็นผู้กำกับแอนิเมชั่น (หมายถึงผู้ดูแลการผลิตงานที่เกี่ยวกับ "ภาพ" ทั้งหมด) ของ Studio Ghibli ว่าอะไรที่ทำให้งานภาพและโปรดักชั่นของ Ghibli ออกมามีมิติล้ำลึกกว่างานแอนิเมชั่นอื่น ผู้กำกับโคซากะตอบได้สมกับเป็นแอนิเมเตอร์ค่ะ เขาบอกว่าแม้ผลงานของ Ghibli ส่วนใหญ่จะเป็นแนวแฟนตาซีและเน้นจินตนาการมากกว่าเรื่องเล่าทั่วไปในชีวิตประจำวัน แต่แท้จริงแล้วผลการการ์ตูนของค่ายนี้ต่างจากการดูการ์ตูนแฟนตาซีที่ทำให้คนดูซื้อตั๋วท่องไปในโลกแห่งความฝันที่เห็นได้ทั่วไปตามท้องตลาด แท้จริงแฟนตาซีในแบบของผู้กำกับมิยาซากิ ฮายาโอะแห่ง Ghibli (เจ้านายของผู้กำกับโคซากะและเป็นผู้กำกับแอนิเมชั่นที่เทพที่สุดในประวัติศาสตร์วงการการ์ตูนญี่ปุ่น) คือการนำเสนอภาพ "ความเป็นจริง" ในอีกแง่มุมหนึ่ง เนื่องจากภาพความเป็นจริงมันดูน่ากลัวเกินไป งานของ Ghibli จึงนำเสนอสิ่งเหล่านี้ด้วยมุมมองใหม่ที่รื่นรมย์มากขึ้น ตัวอย่างเช่นต้นหญ้าเล็กๆ ซึ่งหากเรามองเห็นภาพจริงเราคงไม่ได้รู้สึกอะไรนอกจาก "เขียวดี" แต่งานภาพของ Ghibli สร้างมุมมองด้วยการวาดและใช้สีที่ทำให้คนดูรู้สึกสดชื่นและเป็นสุขได้แม้จะเป็นภาพของต้นหญ้าที่เห็นอยู่ทุกวันก็ตาม นี่คือแฟนตาซีในแบบของ Ghibli ซึ่งให้ความสำคัญกับภาพ สี และการเคลื่อนไหวอย่างมากนั่นเอง

คุณมาร์โก้ถามต่อถึง Nasu ผลงานที่ผู้กำกับโคซากะลุยร่วมกับ Studio Madhouse บ้าง สังเกตว่าผลงานเรื่อง Nasu กล่าวถึงการแข่งจักรยานทางไกลซึ่งดู "สมจริง" ต่างจากงานแฟนตาซีของ Ghibli มาก แล้วจริงๆ เขาชอบงานแนวไหนกันแน่ ผู้กำกับโคซากะตอบตรงไปตรงมาว่าเขาชอบแนวสมจริงแบบ Nasu มากกว่าค่ะ ในความเป็นจริงใช่ว่าทุกคนจะได้ทำงานในสิ่งที่ตนชอบแต่เขาก็ไม่ได้เกลียดงานแนวแฟนตาซีของผู้กำกับมิยาซากินะคะ เขาบอกว่าผู้กำกับมิยาซากิคือยอดครูที่ทำให้เขาได้เรียนรู้การเล่าเรื่อง (storytelling) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำให้การ์ตูนดูแล้วสนุก เขาได้เรียนรู้การทำงานภาพแอนิเมชั่นด้วยเช่นกันแต่ผู้กำกับมิยาซากิก็ไม่ได้เป็นครูที่ดีเท่าไหร่ พูดง่ายๆ คือเป็นอัจฉริยะที่เต็มไปด้วยพรสวรรค์แต่สอนไม่เป็นน่ะค่ะ ดังนั้น วิธีการเรียนรู้ของผู้กำกับโคซากะคือ "อะไรที่เป็นเทคนิค เราต้องขโมยมาด้วยตัวเอง" คือต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองไม่ต้องรอให้อาจารย์สอน

สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากความสำเร็จของผู้กำกับโคซากะ คือทุกสิ่งรอบตัว คือการเรียนรู้ซึ่งเราจะเรียนรู้ได้หรือไม่ก็ขึ้นกับความสามารถในการตักตวงของเราเอง อย่ารอพึ่งครูเพียงอย่างเดียว และแม้สิ่งที่ทำอยู่จะยากลำบากและไม่ได้เป็นสิ่งที่รักอย่างแท้จริง สุดท้ายความรู้ที่ตักตวงมาตลอดก็จะทำให้สามารถสร้างงานที่เรารักได้อย่างดีเยี่ยมสมความเหนื่อยยากค่ะ

ความสำเร็จชั่วข้ามคืนของผู้กำกับโคซากะจึงมาจากความอดทนและตั้งใจเรียนรู้ตลอดหลายสิบปีนั่นเอง น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการเรียนรู้ทุกวันนี้นะคะ นอกจากต้องการครูดี สื่อการสอนดี เรายังต้องการนักเรียนที่ดีและมุ่งมั่นด้วยเช่นกัน

วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11481 มติชนรายวัน

13 สิงหาคม 2552

Nasu มะเขือม่วงกับนักปั่นแข้งทอง (2)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

สัปดาห์ก่อนเล่าให้ฟังถึงงานแอนิเมชั่นเกี่ยวกับนักกีฬาจักรยานมืออาชีพที่เล่าผ่านมะเขือดองน้ำมันมะกอก วันนี้ "เปเป้" ตัวเอกของเรื่องมาแข่งเจแปนทัวร์พร้อมกับลิ้มรสมะเขือม่วงดองแบบญี่ปุ่นในภาคต่อของ Nasu (แปลว่ามะเขือม่วง) ชื่อตอน A Migratory Bird with Suitcase ซึ่งได้รับรางวัล Tokyo Anime Award สำหรับผลงานแบบ Original Video Category (จำหน่ายเป็น DVD โดยไม่ฉายโรงหรือทีวี) ในปี 2008 ที่ผ่านมา สิ่งที่หนังภาคต่อจะต้องโดนเสมอคือการ "เปรียบเทียบกับภาคแรก" และ Nasu ภาคต่อนี้ก็ทำได้ดีกว่าภาคแรกอย่างชัดเจนเลยค่ะ

เรื่องยังคงเล่าผ่าน "เปเป้" นักปั่นน่องเหล็กชาวสเปนสังกัดทีมเปาเปาเบียร์ของเบลเยียม ก่อนที่เขาและทีมจะเดินทางไปแข่งเจแปนทัวร์ ข่าวร้ายในวงการก็แพร่ไปทั่วเมื่อ "มาร์โก้" นักปั่นชาวอิตาลีซึ่งเป็นฮีโร่ของวงการฆ่าตัวตายด้วยการกินยานอนหลับเกินขนาด ความตายของเขานอกจากทำให้เปเป้และแฟนๆ ของมาร์โก้เสียใจมากแล้ว เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อนักกีฬาอีกสองคน คนหนึ่งคือ "ซานโคนี่" เพื่อนร่วมทีมของมาร์โก้ซึ่งเป็นมือหนึ่งในวงการเมื่อปีก่อน อีกคนหนึ่งคือ "จอจจี้" เพื่อนร่วมทีมของเปเป้ซึ่งเกิดเมืองเดียวกับมาร์โก้และเป็นเพื่อนสนิทกันมาตลอด

จอจจี้บอกกับเปเป้ว่าเขาจะลาออกจากทีมในปีนี้เพื่อรับช่วงกิจการของครอบครัวเนื่องจากเขาไม่มี "ออร่า" ของผู้ชนะดังเช่นที่มาร์โก้หรือซานโคนี่มี พูดง่ายๆ คือแข่งต่อไปก็มีแต่จะเป็นได้แค่ไม้ประดับในทีม จอจจี้บอกว่า "ชีวิต" ควรจะเป็นการได้อยู่กับครอบครัว กินเท่าที่อยากกิน และเป็นหวัดก็กินยาแก้หวัดได้ แต่เป็นที่ทราบดีว่านักกีฬาน่องเหล็กต้องเดินสายแข่งขันทั่วโลกจนไม่มีเวลาอยู่บ้าน ต้องควบคุมน้ำหนักอย่างเคร่งครัดและห้ามกินยาแก้หวัดซึ่งตรวจพบได้ในการตรวจปัสสาวะหาสารกระตุ้น แต่เปเป้กลับคิดตรงข้าม เขาบอกว่าสิ่งที่เราทำคือการอดเปรี้ยวไว้กินหวานในวันข้างหน้า แม้คนอื่นจะมองว่าเขาอดทนสู้ความลำบากอย่างเต็มที่แต่เปเป้กลับคิดว่าเขาไม่ได้ลำบากอะไร

"ฉันมีดีแค่ที่ร่างกายเท่านั้นนี่นา"

เปเป้บอกเป็นนัยว่านี่คืองานที่ดีที่สุดที่เขาสามารถทำได้นั่นเอง การฝึกซ้อมอย่างหนักจึงไม่ใช่ความทุกข์สำหรับเขา วันที่ลงแข่งไม่ได้ต่างหากถึงจะเรียกว่าทุกข์อย่างแท้จริง

Nasu ภาคสองนี้นำเสนองานโปรดัคชั่นได้เทียบเท่า Ghibli ต้นสังกัดของผู้กำกับฯ "โคซากะ คิทาโร่" ผู้กำกับเรื่องนี้จริงๆ ค่ะ มุมกล้องสวยๆ โผล่มาให้ตื่นเต้นเยอะมาก แต่ที่ดีขึ้นชัดเจนกว่าภาคแรกคือ "ความสมดุลของเนื้อเรื่อง" ซึ่งทำให้ดูสนุกจนแทบลุกจากที่นั่งไม่ได้เลยตลอดเรื่อง

ความสมดุลเกิดจากมุมมองชีวิตของคนสามคนหลังการจากไปของมาร์โก้ คนแรกคือ "ซานโคนี่" ที่เสียเพื่อนร่วมทีมและคู่แข่งที่ดีไปจนทำให้เขาเดินเข้าสู่ความมืดและค้นหาว่าเขาต่อสู้ทุกวันนี้เพื่ออะไรกันแน่ อะไรคือชัยชนะที่แท้จริงสำหรับเขา คนที่สองคือ "จอจจี้" ที่เคยแต่วิ่งตามแผ่นหลังของมาร์โก้มาตลอดและไม่รู้ว่าจะวิ่งตามใครต่อไปดี เขาเดินอยู่ในความมืดมาตลอดแต่บางอย่างทำให้เขามองเห็นแสงสว่างในท้ายที่สุด คนสุดท้ายคือ "เปเป้" ที่มีมาร์โก้เป็นฮีโร่ในใจและเกิดมาเพื่อชนะแต่เขาก็ได้เรียนรู้ว่าชัยชนะของทีมสำคัญกว่าชัยชนะของเขาเอง เรื่องยังเล่าผ่านมุมมองจากจุดเล็กๆ ของ "ฮิคารุ" สาวน้อยผู้ช่วยในทีมซึ่งอยากมีส่วนร่วมในความสำเร็จด้วยการดูแลนักกีฬาอย่างเต็มที่ กับน้องชายของฮิคารุที่เฝ้ามองเหล่านักแข่งด้วยดวงตาที่เปี่ยมด้วยความชื่นชม ทุกส่วนเล่าได้สมดุลทั้งสุข โศก ตลก และซาบซึ้งจนดูซ้ำได้หลายๆ รอบไม่มีเบื่อ เรียกว่าเป็นผลงานที่ดีสมกับรางวัลที่ได้รับเลยล่ะค่ะ

สัปดาห์หน้ามาทำความรู้จักผู้กำกับฯ "โคซากะ คิทาโร่" สักนิดว่าเขามีแนวคิดอย่างไรในการสร้างผลงานแอนิเมชั่นของตัวเองและอะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จ งวดหน้าค่ะ

วันที่ 09 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11474 มติชนรายวัน

08 สิงหาคม 2552

Nasu มะเขือม่วงกับนักปั่นแข้งทอง (1)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

วันนี้เจอเพื่อนชาวอิตาลีนั่งกินพาสต้าอยู่ก็เลยชวนคุยเรื่องอาหารค่ะ หนึ่งในอาหารอิตาลีที่เราไม่ค่อยคุ้นหูคือ "มะเขือดองในน้ำมันมะกอก" พอพูดถึงมะเขือดองก็ต้องนึกถึงอาหารญี่ปุ่นแต่เจ้ามะเขือดองแบบนี้กลับเป็นอาหารแถบยุโรปและกลายมาเป็นธีมหลักของแอนิเมชั่น (ภาพยนตร์การ์ตูน) เสียด้วย ทีแรกคิดว่าต้องเป็นการ์ตูนทำอาหารแน่แต่คาดผิดไปไกลค่ะ เรื่อง "Nasu" (แปลว่ามะเขือม่วง) คือเรื่องของนักกีฬาจักรยานมืออาชีพผู้เลือกเดินบนเส้นทางนักสู้ที่มีแต่ความยากลำบาก

Nasu สร้างขึ้นจากหนังสือการ์ตูนชื่อเดียวกันโดย "คุโรดะ อิโออุ" ส่วนแอนิเมชั่นกำกับโดย "โคซากะ คิทาโร่" ความโดดเด่นของเขาคือเป็นสตาฟฟ์เก่าแก่ใน Studio Ghibli สตูดิโอที่โด่งดังที่สุดในญี่ปุ่น เขาดูแลงานแอนิเมชั่นของ Ghibli หลายชิ้น เช่น Howl"s Moving Castle, นาอูชิก้า, ปริ๊นเซสโมโนโนเกะ, Spirited away ซึ่งได้รับออสการ์, และล่าสุดคือ Ponyo ดังนั้น คิดไว้ในใจได้ว่า Nasu จะเป็นผลงานที่ภาพสวยและมุมกล้องแจ่มแน่ๆ

Nasu ภาคแรกชื่อว่า Summer in Andalusia สร้างขึ้นในปี 2003 โดยเล่าถึงช่วงเวลาหนึ่งในความทรงจำของ "เปเป้ เบเนเกลี่" นักปั่นชาวสเปนสังกัดทีมเปาเปาเบียร์ของเบลเยียม เขาได้มาแข่งที่เมืองบ้านเกิดพร้อมกับความกดดันมากมาย อย่างแรกคือสปอนเซอร์ไม่ปลื้มและคิดจะไล่เขาออกจากทีมหลังสิ้นสุดการแข่งขันครั้งนี้ และอีกเรื่องหนึ่งคืออดีตคนรักกำลังจะแต่งงานกับพี่ชายของเขาเองในขณะที่เขากำลังแข่งขันอยู่

เมื่อเทียบงานแอนิเมชั่นที่สร้างในช่วงเวลาเดียวกัน Nasu ภาคแรกถือว่าใช้เทคนิคภาพอยู่ในเกณฑ์ดีสมศักดิ์ศรีที่เอาผู้กำกับแอนิเมชั่นของ Ghibli มากำกับค่ะ เล่าเรื่องได้กระชับเหมือนดูเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งจบในเวลา 45 นาที โดยปกติเวลาดูแอนิเมชั่นเราอาจจะพิจารณาว่าแจ่มไม่แจ่มได้จากสามองค์ประกอบหลักคือ "สนุก เสน่ห์ และสร้างสรรค์" (storytelling, characters, and production values) คือเล่าเรื่องได้สนุกและลื่นไหลสมดุลตลอดทั้งเรื่องหรือไม่ ตัวการ์ตูนมีเสน่ห์ให้เราจดจำถึงขนาดเอามาวาดเองได้หรือเปล่า และโปรดัคชั่นของผลงานโดยรวมดูดีและเนียนกว่าที่มือสมัครเล่นทำแค่ไหน Nasu ภาคแรกอยู่ในระดับ "กลางๆ ค่อนไปทางดี" ของทุกข้อค่ะ แต่งานภาพและโปรดัคชั่นเด่นขึ้นมากกว่าสนุกและเสน่ห์เยอะหน่อย

แม้จะดูสนุกและลื่นไหล แต่สิ่งที่ทำให้รู้สึก "ไกลตัว" อย่างบอกไม่ถูกคงเพราะเนื้อเรื่องและตัวการ์ตูนทั้งหมดไม่มีอะไรเป็นญี่ปุ่นเลย สถานที่และวัฒนธรรมเป็นต่างชาติทั้งหมด กระทั่งแนวคิดของเปเป้ตัวเอกเองยังดูไม่ค่อยสร้างแรงบันดาลใจตามแบบแอนิเมชั่นญี่ปุ่นนัก เปเป้บอกเราตอนจบการแข่งขันว่าสิ่งเดียวที่คนไม่ค่อยฉลาดและเกิดในครอบครัวชั้นกลางอย่างเขาสามารถทำเพื่อถีบตัวเองให้กลายเป็นคนดังและร่ำรวยได้คือเป็นนักกีฬานี่ล่ะค่ะ มันก็ดูสมจริงดีแต่แอนิเมชั่นที่ดูแล้วสนุกอย่างเดียวก็ไม่ต่างอะไรกับกินลูกกวาด คือตอนกินก็อร่อยดี ให้พลังงานสูง แต่คุณค่าทางอาหารไม่มากพอที่จะทำให้เรากินแล้วเติบโตได้ เจ้าคุณค่าทางอาหารที่ผู้กำกับฯโคซากะขาดไปในระหว่างที่งานของ Ghibli โดยมิยาซากิไม่เคยขาดก็คือ "แรงบันดาลใจ" นี่ล่ะค่ะ

ภาคแรกนี้ฉายทางโรงภาพยนตร์ในญี่ปุ่นและได้รับคัดเลือกให้ฉายในงาน Tokyo International Anime Fair ในปี 2004 นอกจากนั้น ยังเป็นแอนิเมชั่นญี่ปุ่นเพียงเรื่องเดียวที่ได้รับคัดเลือกให้ฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์ที่ Cannes ฝรั่งเศสอีกด้วย สี่ปีต่อมาผู้กำกับฯโคซากะได้สร้าง Nasu อีกภาคหนึ่งขึ้นมาซึ่งทำให้นักวิจารณ์ยอมรับว่าเขาพัฒนาขึ้นจนสร้างงานในระดับชั้น "เทียบเท่า Ghibli" ได้ในที่สุด เก็บไว้เล่าต่อตอนหน้าค่ะ

วันที่ 02 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11467 มติชนรายวัน

26 กรกฎาคม 2552

Eden of the East ราชาในต้นศตวรรษใหม่ (3)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

สองสัปดาห์ก่อนเล่าให้ฟังถึง Eden of the East แอนิเมชั่นที่เพิ่งฉายจบ 11 ตอนทางโทรทัศน์ในญี่ปุ่นซีซั่นฤดูใบไม่ผลิที่ผ่านมา โดยกล่าวถึงการค้นหาผู้ที่สามารถ "ช่วยเหลือญี่ปุ่น" ได้จากการสุ่มเลือกคนขึ้นมา 12 คน (เรียกว่าเซเลเซา) และให้เงินหมื่นล้านเยนพร้อมกับโทรศัพท์ที่สั่งการได้ทุกอย่างผ่านสุภาพสตรีชื่อ Juiz หนึ่งในเซเลเซาคือ "ทาคิซาว่า อากิระ" เด็กหนุ่มที่ไม่ได้มีความสามารถพิเศษหรือเก่งอะไรเลย สิ่งเดียวที่เขาทำคือ "สิ่งที่ควรทำ" เท่านั้นเอง และสิ่งที่ควรทำสำหรับเขาก็แค่ช่วยคนหลายหมื่นให้รอดชีวิตจากมิซไซล์ที่ยิงถล่มญี่ปุ่น และดึงเอาคนเก่งแต่ไม่รู้จักทำงานทำการ (NEETs หรือคนที่พอใจกับการอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ทำงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่มีแรงจูงใจที่จะพัฒนาตัวเองเพื่อส่วนรวม ได้แต่ทำงานพาร์ทไทมค์ค่าแรงต่ำไปวันๆ) ให้มาอุทิศตัวเพื่อคนอื่นด้วย

"โมริมิ ซากิ" บัณฑิตจบใหม่จากมหาวิทยาลัยไปเที่ยวอเมริกากับเพื่อนและพบทาคิซาว่าที่ยืนโป๊อยู่หน้าทำเนียบขาวค่ะ เธอเป็นเด็กสาวหน้าตาสวยและมีความสามารถพิเศษในการ "มองเห็นคุณค่าของผู้อื่น" เธอเป็นสมาชิกของ "ชมรมรีไซเคิล" ในมหาวิทยาลัยที่นำของเก่ามาซ่อมและขายใหม่อีกครั้ง ความที่ซาประเมินคุณค่าได้ เธอกับ "มิจจอง" เพื่อนสาวในชมรมจึงร่วมกันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ชื่อว่า "Eden of the East" ขึ้นโดยใช้งานเป็น search engine รูปภาพ พูดง่ายๆ คือแค่ถ่ายภาพมา เราก็จะสามารถบอกได้ว่าส่วนต่างๆ ในภาพนั้นคืออะไร เป็นคนชื่ออะไร เป็นสถานที่หรือสิ่งของอะไรรุ่นไหน เมื่อโปรแกรมนี้ใช้การได้ในมือถือ ความนิยมจึงขยายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะเพียงแค่ถ่ายภาพจากกล้องบนโทรศัพท์ เราก็บอกได้แล้วว่าคนคนนี้เป็นใครจากฐานข้อมูลที่รวบรวมไว้ทั้งหมดค่ะ

ความน่าทึ่งของโปรแกรม Eden of the East คือมันไม่ได้เกิดจากคนเก่งเพียงคนเดียว จริงอยู่ว่ามิจจองพัฒนาขึ้นบนแนวคิดของซากิ แต่คนที่เติมฐานข้อมูลให้เต็มก็คือสมาชิกของ Eden of the East นั่นเอง เป็นการสื่อความหมายในทางเดียวกับทาคิซาว่านั่นคือคนที่จะประสบความสำเร็จและช่วยญี่ปุ่นได้ไม่จำเป็นต้องเก่งเทพ แต่เป็นคนที่ดึงให้คนเก่งอื่นๆ มาร่วมมือกันได้ก็พอแล้ว

ทาคิซาว่าเฉลยในตอนท้ายซีรีส์ว่าตอนแรกเขาเองก็ไม่ได้มุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อการ "ช่วยเหลือญี่ปุ่น" นักหรอก แต่เขาเปลี่ยนความคิดเพราะ "มีคนคนหนึ่งเห็นคุณค่าในตัวเขา" ซากินั่นเองค่ะ ตรงนี้โดนใจนะคะ คนเก่งหลายคนเป็น NEET และไม่คิดจะทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อใครเพราะทำไปก็ไม่มีใครเห็นคุณค่า Eden of the East จึงบอกกับเราว่าการดึงให้คนกลุ่มนี้ลุกขึ้นมาเสียสละทำได้โดยให้ "โอกาส" นั่นเองและโอกาสที่ทาคิซาว่าได้รับก็คือโทรศัพท์วิเศษในมือของเขา

โดยภาพรวม นี่คือแอนิเมชั่นที่ปฏิวัติแนวคิดการเป็นคนเก่งในต้นศตวรรษที่ 21 โดยการบอกว่าคนเก่งที่ไม่ใช้ความเก่งของตัวเองเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมถือว่าไม่มีค่า ดังนั้น สิ่งที่ญี่ปุ่นต้องทำในตอนนี้ไม่ใช่พัฒนาการศึกษาเพื่อทำให้คนญี่ปุ่นแต่ละคนมีความสามารถเฉพาะตัวสูงอีกแล้ว แต่เป็นการหาทางจูงใจให้คนเก่งที่ซ่อนตัวอยู่ในมุมมืดของสังคมกล้าเดินออกมาใช้ความสามารถของตัวเองในการพัฒนาชาติบ้านเมืองต่างหาก

แอนิเมชั่นเรื่องนี้ได้วง Oasis มาทำเพลงเปิดให้เลยค่ะ และหลายเพลงในเรื่องก็ออกมาได้จังหวะเหมาะให้เราน้ำตาร่วงทุกที สิ่งที่เซอร์ไพรส์ที่สุดในห้าวินาทีสุดท้ายของตอนที่ 11 คือข่าวจากทีมผู้สร้างเขียนบอกว่า "อีก 2 ตอนที่เหลือเราจะฉายเป็นภาพยนตร์ในโรงนะจ๊ะ รอดูปลายปีนี้และต้นปีหน้าจ้ะ" เท่านั้นล่ะค่ะ! กรี๊ดลั่นห้องด้วยความดีใจและเสียใจทันที ที่ดีใจเพราะเรื่องนี้เพิ่งดำเนินมาได้ครึ่งทางเท่านั้นเอง เนื้อเรื่องยังมีปมให้แก้อีกเยอะเลยค่ะ แต่ที่เสียใจคือเราจะเหาะไปดูในโรงที่ญี่ปุ่นได้ยังไงกันล่ะเนี่ย

จบแอนิเมชั่นดีๆ ไปอีกหนึ่งเรื่องแล้ว แม้คนดูแอนิเมชั่นจะไม่เยอะนักเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรโลก แต่ถ้าลองคิดว่าค่านิยมดีๆ แบบนี้เปลี่ยนให้คนดูแอนิเมชั่นกลุ่มหนึ่งกลายเป็นคนที่มีหัวคิดมากขึ้นกว่าเดิม การ์ตูนก็เป็นสื่อที่ใช้สร้างเยาวชนวันนี้ให้เป็นผู้ใหญ่ที่สังคมต้องการในวันหน้าได้อย่างดีเลยล่ะค่ะ

วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11460 มติชนรายวัน

18 กรกฎาคม 2552

Eden of the East ราชาในต้นศตวรรษใหม่ (2)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

สัปดาห์ก่อนเล่าเรื่องทีมงานมือทองและพล็อตเรื่อง Eden of the East ซึ่งฉายทางโทรทัศน์ในซีซั่นฤดูใบไม้ร่วงที่เพิ่งจบไปในญี่ปุ่นค่ะ โดยสรุปคือ "ทาคิซาว่า อากิระ" เด็กหนุ่มชาวญี่ปุ่นลืมตาขึ้นมาหน้าทำเนียบขาว เขาพบว่าตัวเองโป๊อยู่และไม่มีความทรงจำอะไรเหลือเลย มือทั้งสองมีแค่ปืนกระบอกหนึ่งกับโทรศัพท์มือถือที่มีเงินบรรจุอยู่ 8.2 พันล้านเยน! นอกจากเงินแล้ว โทรศัพท์ยังใช้ติดต่อกับสุภาพสตรีชื่อ Juiz (ภาษาโปรตุเกสหมายถึงผู้พิพากษา) ซึ่งทำทุกสิ่งที่เขาต้องการได้ทันทีตั้งแต่สั่งให้ฆ่าคนไปจนถึงให้นายกรัฐมนตรีพูดแปลกๆ ออกอากาศ คำถามที่ทาคิซาว่าต้องการคำตอบในซีรีส์นี้คือ "เขาเป็นใคร" และ "ทำไมจึงมีโทรศัพท์วิเศษในมือ"

คำตอบแบบรวบรัดคือโทรศัพท์เงินล้านและ Juiz เกิดจากแนวคิดของ "มิสเตอร์เอ๊าต์ไซด์" ซึ่งเขาได้สุ่มเลือกคน 12 คนขึ้นมาและเรียกแต่ละคนว่า Selecao (ภาษาโปรตุเกสแปลว่าผู้ได้รับเลือก) สิ่งที่เซเลเซาทั้งสิบสองได้รับคือโทรศัพท์ที่มีเงินหนึ่งหมื่นล้านเยนและสามารถโทร.บอกให้ Juiz ทำสิ่งใดก็ได้ที่ต้องการโดยหักค่าใช้จ่ายจากโทรศัพท์ไปเรื่อยๆ กติกาคือทุกคนต้องใช้เงินไปเพื่อหาหนทาง "ช่วยเหลือญี่ปุ่น" หากใครนำเงินไปใช้เพื่อการอื่น หรือใช้เงินจนหมดโดยยังไม่ได้ช่วยญี่ปุ่น หนึ่งในสิบสองเซเลเซาที่เป็น "ซัพพอร์เตอร์"จะถูกส่งไปฆ่าคนคนนั้น และสุดท้ายผู้ชนะเกมนี้จะเป็นเพียงคนเดียวที่รอดชีวิต

"ช่วยเหลือญี่ปุ่น" เป็นคำเรียบง่ายแต่ที่จริงยากมากเพราะแต่ละคนตีความการช่วยเหลือญี่ปุ่นไปต่างๆ กัน คุณหมออาจจะคิดว่าช่วยชีวิตมนุษย์ก็เป็นการช่วยญี่ปุ่นแล้ว หรือผู้นำเผด็จการคิดว่าการทำให้คนหวาดกลัวเพื่อจะได้ร่วมมือกันต่อสู้คือการช่วยญี่ปุ่น แต่สำหรับทาคิซาว่าพระเอกของเรื่อง เขาไม่ได้คิดอะไรที่ยิ่งใหญ่ขนาดนั้นเลย ทาคิซาว่าพูดได้น่าฟังมากในตอนหนึ่งว่าคนที่สามารถจะช่วยเหลือญี่ปุ่นได้น่าจะเป็นพวกนักการเมืองหรือคนเรียนเก่งๆ ไม่ใช่เหรอ คนธรรมดาๆ ที่ไม่ฉลาดอย่างเขาช่วยญี่ปุ่นไม่ได้หรอก สิ่งที่ทาคิซาว่าใช้เงินพันกว่าล้านเยนไปจึงเป็นแค่การทำ "สิ่งที่ควรทำ" เท่านั้นเอง

สามเดือนก่อนเขาทราบว่าหนึ่งในเซเลเซาสั่งมิซไซล์ให้มายิงถล่มญี่ปุ่น เขาจึงใช้เงินในการอพยพผู้คนไปยังที่ปลอดภัยและสุดท้ายก็ไม่มีใครเสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ความสมจริงและน่าประทับใจอยู่ตรงวิธีคิดของทาคิซาว่าค่ะ เขาไม่ฉลาดพอที่จะรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะรอดจากมิซไซล์จึงบอกให้เหล่า NEET สองหมื่นคนใช้โทรศัพท์พิมพ์ SMS บอกวิธีที่จะช่วยคนจากมิซไซล์ได้ หลังจากนั้นจึงให้ Juiz คัดเลือกวิธีที่ดีที่สุดขึ้นมา หมายความว่าแม้เขาไม่ใช่คนฉลาดแต่ก็รู้วิธีที่จะดึงศักยภาพของคนฉลาดคนอื่นๆ ออกมาช่วยชาติบ้านเมืองได้นั่นเอง

NEET เป็นตัวย่อของคำว่า "Not currently engaged in Employment, Education or Training" คือคนวัยทำงานที่อยู่ว่างๆ โดยไม่ได้เรียนหรือทำงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน จัดเป็นปัญหาแรงงานของญี่ปุ่นในปัจจุบันเพราะคนเหล่านี้ไม่มีแรงจูงใจในการเสียสละหรือทำงานเพื่อส่วนรวม ไม่สนใจที่จะดิ้นรนให้ชีวิตตัวเองดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ด้วย ได้แต่อยู่บ้านเฉยๆ เล่นอินเตอร์เน็ต และหารายได้เล็กน้อยจากการทำงานพาร์ทไทม์ค่าแรงถูกเท่านั้นทั้งที่ NEET หลายคนเป็นคนเก่งและสามารถทำงานใหญ่เพื่อพัฒนาบ้านเมืองได้สบาย

Eden of the East จบตอนที่ 11 ทางโทรทัศน์ด้วยการแสดงให้เห็นว่าคนที่สามารถช่วยเหลือญี่ปุ่นได้และญี่ปุ่นต้องการคือ "ราชา" ค่ะ เป็นคำที่ดีเพราะไม่ได้หมายถึงคนเก่งและมีความสามารถสูงอย่าง "ฮีโร่" ที่ญี่ปุ่นพยายามผลิตและสะท้อนให้เห็นได้จากการ์ตูนฮีโร่เกลื่อนตลาดเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน "ราชา" คือศูนย์รวมจิตใจและผู้ที่ทำให้คนเก่งหลายคนเคลื่อนไหวได้ คือผู้ที่ทำให้คนอื่นยอมอุทิศตัวเพื่อนประโยชน์ส่วนรวม ศัพท์แบบฝรั่งๆ หน่อยคือผู้ที่ "มีความเป็นผู้นำ" หรือ leadership นั่นเอง

ตอนหน้ามาลงลึกอีกนิดว่านางเอกของเรื่องมีบทบาทอย่างไร และเมื่อแนวคิด "ฮีโร่" ตกยุคไปแล้ว คนที่จะได้รับการยอมรับจากสังคมในยุคนี้คือคนแบบไหน มาต่อครั้งหน้าค่ะ

วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11453 มติชนรายวัน

12 กรกฎาคม 2552

Eden of the East ราชาในต้นศตวรรษใหม่ (1)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายนที่ผ่านมาคือซีซั่นฤดูใบไม้ผลิของวงการการ์ตูนที่ฉายทางโทรทัศน์ในญี่ปุ่นค่ะ ถ้าจะถามว่าเรื่องไหนที่ดูแล้วประทับใจมากที่สุด คงต้องเทใจให้ Higashi no Eden หรือแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Eden of the East ซึ่งเต็มไปด้วยคำว่า "เซอร์ไพรส์!" ตั้งแต่ก่อนเริ่มฉายจนกระทั่งฉายจบไป 11 ตอนแล้ว

เซอร์ไพรส์แรกสุดตั้งแต่ก่อนเรื่องนี้ออกฉายคือโปสเตอร์โฆษณาที่เห็นนี่ล่ะค่ะ มีภาพโทรศัพท์มือถือค่อยๆ หลอมกลายเป็นน้ำผึ้งราดบนผลแอปเปิ้ลซึ่งน่าจะสื่อถึงสวนอีเดนที่บางครั้งใช้แทนสถานที่ที่เหมือนสวรรค์ บนผลแอปเปิ้ลมีคำว่า Noblesse Oblige หมายถึงสิทธิพิเศษที่ได้รับย่อมมีข้อผูกมัดในการตอบแทนภายหลังซึ่งเป็นธีมหลักของเรื่องนี้ สุดท้ายคือใบโคลเวอร์เล็กๆ ที่วางประดับข้างผลแอปเปิ้ล ทั้งหมดนี้มีความหมายค่ะ

ก่อนอื่นเมื่อเห็นมือถือไซเบอร์พังค์กับชื่อ Production I.G. ที่มุมโปสเตอร์ คนแรกที่แวบเข้ามาในหัวคือผู้กำกับ "คามิยามะ เคนจิ" ซึ่งฝากผลงานไว้ใน Ghost in the Shell เกือบทุกภาค และเป็นดังคาด Eden of the East เป็นผลงานที่ผู้กำกับฯคามิยามะประพันธ์และวางสคริปต์เอง กำกับศิลป์และเขียนสตอรี่บอร์ดเองในตอนที่เป็นคีย์เนื้อเรื่อสำคัญ ผลงานของผู้กำกับฯคามิยามะโดดเด่นเรื่องการใส่เสน่ห์ให้คาแร็กเตอร์และกำกับมุมกล้องได้สวยมาก ดำเนินเรื่องดีและเก่งในการทิ้งปริศนาไว้ท้ายตอนเพื่อให้เราอยากดูตอนต่อไป เรียกว่าเกิดมาเพื่อกำกับฯแอนิเมชั่นสำหรับฉายรายสัปดาห์จริงๆ แต่สิ่งที่ทำให้แฟนๆ ส่วนใหญ่ตัดสินใจเลือกดูเรื่องนี้อาจไม่ใช่เพราะผู้กำกับคามิยามะ แต่เป็นผู้ออกแบบตัวละครเรื่องนี้เสียแทนค่ะ

"อ.อุมิโนะ จิกะ" ผู้วาดเรื่อง Honey and Clover ซึ่งแอนิเมชั่นเรื่องนี้ได้กลายเป็นตำนานการ์ตูนชีวิตวัยรุ่นที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์มาเป็นผู้ออกแบบตัวละครให้ Eden of the East ผลคือเพื่อนๆ หลายคน (รวมถึงตัวเองด้วย) ตัดสินใจดู Eden of the East เพราะชอบผลงานเรื่อง Honey and Clover มาก่อนค่ะ ดังนั้น ภาพน้ำผึ้งกับใบโคลเวอร์บนโปสเตอร์โฆษณาต้องการสื่อถึง อ.อุมิโนะนั่นเอง เมื่อสามยักษ์ใหญ่ ได้แก่ ผู้กำกับฯที่ทำให้ Ghost in the Shell ที่มีฉากคุยกันทั้งเรื่องกลายเป็นหนังสนุกและน่าติดตามได้, โปรดักชั่นที่ทำภาพการ์ตูนสองมิติได้เนียนสวยระดับเทพ, และผู้ออกแบบคาแร็กเตอร์ที่ทำให้ตัวการ์ตูนน่าจดจำมาร่วมมือกัน สิ่งที่ตามมาก็คืองานที่น่าจะโกยทั้งเงินทั้งกล่องในปี 2009 นี้ไปได้เพียบ

แค่โปสเตอร์ก็ว่าน่าตื่นตะลึงแล้ว เนื้อเรื่องและการดำเนินเรื่องในสไตล์ของผู้กำกับฯคามิยามะยิ่งน่าตื่นตะลึงเข้าไปใหญ่ค่ะ ลองคิดว่าอะไรจะเกิดขึ้นหากเราลืมตาขึ้นมาและพบว่ายืนโป๊อยู่หน้าทำเนียบขาวโดยไม่มีความทรงจำอะไรเหลืออยู่เลย ทั้งตัวมีแค่ปืนและโทรศัพท์มือถือแปลกๆ อยู่ในมือและในโทรศัพท์มีเงิน (ดิจิตอลมันนี่) อยู่ 8.2 พันล้านเยน! นั่นคือสิ่งที่พระเอกของเรื่องนี้มีในตอนต้น เขาค่อยๆ สืบหาความทรงจำของตัวเองไปทีละนิดและพบว่าตนเองอาจจะเป็นผู้ก่อการร้ายที่ยิงมิซไซล์ถล่มญี่ปุ่นเมื่อสามเดือนก่อนก็ได้

ในที่สุดพระเอกของเราตัดสินใจเลือกพาสปอร์ตที่ใช้ชื่อ "ทาคิซาว่า อากิระ" จากพาสปอร์ตหลายเล่มและเดินทางกลับญี่ปุ่นเพื่อสืบหาว่าเขาเป็นใครกันแน่ มีอยู่สองคนที่เขาสามารถพูดคุยและสอบถามได้ในเวลานี้ คนแรกคือ "โมริมิ ซากิ" หญิงสาวที่เขาเจอตอนที่ตัวเองยืนโป๊อยู่หน้าทำเนียบขาว และอีกคนคือ Juiz ซึ่งเป็นเสียงสุภาพสตรีในโทรศัพท์มีหน้าที่ "ทำทุกอย่าง" ที่ทาคิซาว่าต้องการ เธอจะรับคำสั่งและดำเนินการโดยหักค่าใช้จ่ายจากเงินที่มีอยู่ในโทรศัพท์ หลังจากเธอรับคำสั่ง เธอจะกล่าวคำว่า Noblesse Oblige (ที่ปรากฏอยู่บนแอปเปิ้ลในโปสเตอร์) และเตือนสติว่าภารกิจของผู้ที่ได้โทรศัพท์เงินล้านเครื่องนี้คือการเป็นผู้ที่จะกลายมาเป็นผู้กอบกู้ญี่ปุ่นในอนาคต

พล็อตน่าสนใจไม่เลวเลยใช่ไหมคะ ตอนหน้ามาดูว่าเซอร์ไพรส์ของเรื่องนี้มีอะไรอีกค่ะ

วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11446 มติชนรายวัน

04 กรกฎาคม 2552

ศิลปะแบบ Superflat กับวัฒนธรรมโอตาคุ (3)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

สองสัปดาห์ก่อนเกริ่นให้ฟังถึง "มุราคามิ ทาคาชิ" ศิลปินแนว Superflat ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในตะวันตก ช่วงปี 2001 เขาเป็นคนแรกที่เปิดตัวและนิยามงานศิลปะของตัวเองว่า Superflat พูดง่ายๆ คืองานศิลปะที่ดูแล้ว "เหมือนการ์ตูนญี่ปุ่น" นั่นเอง งานปั้นของเขาชื่อ My Lonesome Cowboy ซึ่งหน้าตาเหมือนฟิกเกอร์การ์ตูนขนาดเท่าคนจริงขายได้ในราคา 15.1 ล้านดอลล่าร์! และในปี 2003 บริษัทกระเป๋าแบรนด์ดังของฝรั่งเศส Louis Vuitton ให้เขาออกแบบคอลเลคชั่น Multicolor กลายเป็นกระเป๋าหลุยส์ฯ สีสันสดใสแต่ราคาแพงลิ่วค่ะ วันนี้จะมาเล่าต่ออีกนิดถึงศิลปินญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จระดับโลกด้วยแรงบันดาลใจจากการ์ตูนญี่ปุ่น

เมื่อแรกเริ่มที่มุราคามิโด่งดังใหม่ๆ สิ่งที่ทำให้มุราคามิถูกต่อต้านจากเหล่าโอตาคุคือเขาให้สัมภาษณ์ว่าเขา "ไม่ใช่โอตาคุ" ทั้งที่ผลงานทุกชิ้นดูอย่างไรก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการ์ตูนและแอนิเมชั่นแน่ๆ เมื่อลองอ่านบทสัมภาษณ์ของเขาแล้วถึงเพิ่งเข้าใจค่ะ มุราคามิเองก็เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งมีความเชื่อเช่นเดียวกับคนในสังคมญี่ปุ่นว่า "โอตาคุ" เป็นคำที่ใช้นิยามพวกที่หมกมุ่นอยู่แต่การ์ตูนจนไม่เป็นอันทำอะไร แต่เขาไม่ได้ดูถูกคนที่ชอบการ์ตูนนะคะ เขาเพียงแค่ไม่อยากให้คนทั่วไปมองเขาด้วยภาพลบของ "โอตาคุ" ดั้งเดิมเท่านั้นเอง จะว่าไปเขาก็ไม่ชอบให้คนมองเขาว่าเป็นอย่างนู้นอย่างนี้ตามประสาศิลปินที่มีความเป็นปัจเจกสูงค่ะ ความไม่ยึดติดกับรูปแบบศิลปะใดๆ เลยได้กลายมาเป็นเอกลักษณ์ของเขา และสุดท้ายเอกลักษณ์ของเขาก็ได้กลายมาเป็นรูปแบบของตัวเองซึ่งเต็มไปด้วยกลิ่นของแอนิเมชั่นชัดเจน

วิธีการคือเขาสร้างคำนิยามใหม่เสียเลยว่าผลงานออกแบบใดก็ตามที่ได้รับอิทธิพลจากการ์ตูนหรือแอนิเมชั่นญี่ปุ่น เราจะเรียกว่า "Superflat" พูดง่ายๆ คือเขาต้องการสร้างวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมาบนรากฐานเดิมของโอตาคุนั่นเอง อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมแนวครึ่งป๊อปครึ่งโอตาคุมีในญี่ปุ่นมานานแล้วแต่อาจอยู่ตามใต้ดินเป็นสตรีทแฟชั่นและถูกเรียกด้วยศัพท์แบบญี่ปุ่นว่า "Poku" (Pop+Otaku) คำนี้คงไม่สามารถสื่อให้ชาวโลกเข้าใจได้เท่า Superflat ค่ะ

มุราคามิให้สัมภาษณ์ลงใน Journal of Contemporary Art เมื่อปี 2000 ว่าเขาเองก็อยากจะเป็นเจ้าปฐพีในวงการที่เขาชอบนั่นคือเป็นราชาของเหล่าโอตาคุ แต่เขาก็เป็นไม่ได้เนื่องจากบรรดาของสะสมและความสามารถของเขามีไม่มากพอที่จะทำให้คนในวงการให้การยอมรับเขาในฐานะราชา เรียกว่าพรสวรรค์ในการเดินตามกระแสวัฒนธรรมการ์ตูนที่ชาวบ้านสร้างขึ้นมาถึงจุดอิ่มตัวสำหรับเขาเสียแล้วค่ะ เขาจึงเปลี่ยนตัวเองจากโอตาคุมาเป็นศิลปินเสียแทน หรืออีกนัยหนึ่งคือเปลี่ยนจากผู้เดินตามวัฒนธรรมของคนอื่นมาเป็นผู้สร้างวัฒนธรรมเสียเอง

มุราคามิเลือกที่จะตีความโอตาคุในมุมมองของเขาและปรับให้เป็นสไตล์ซึ่งถ่ายทอดออกมาในงานศิลปะโดยมีจุดมุ่งหมายให้ชาวโลกรู้ว่าคนเป็นโอตาคุก็มีพลังสร้างสรรค์เหมือนกันนะ และเขาก็ได้เป็นราชาในวัฒนธรรม Superflat ที่เขาสร้างขึ้นในที่สุด ผู้คนไม่มองเขาอย่างเหยียดหยามแบบที่มองโอตาคุอีกต่อไปเพราะเขาคือผู้นำวัฒนธรรมใหม่ที่ไม่เคยลืมความเป็นโอตาคุของตัวเอง ที่ทราบว่าเขาไม่ลืมเพราะลมหายใจในชิ้นงานของมุราคามิเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมการ์ตูนทั้งนั้นเลยค่ะ

ในฤดูใบไม้ผลิปี 2009 นี้ ทางหลุยส์วิตตองได้ให้มุราคามิปรับโฉมคอลเลคชั่น Multicolor Spring Palette อีกครั้งต่อเนื่องจาก Superflat Monogram เดิมที่เขาเคยออกแบบไว้เมื่อปี 2003 คอลเลคชั่นนี้มีกำหนดเปิดตัววันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมานี่เองค่ะ และคลอดมาพร้อมแอนิเมชั่น (ภาพยนตร์การ์ตูน) Superflat First Love ซึ่งมีแพนดาสีเจ็บเป็นไอคอน

สาวๆ คนรักการ์ตูนท่านไหนอยากถือกระเป๋าแบรนด์เนมที่ยังคงความเป็นโอตาคุไว้นิดๆ คงหนีไม่พ้นต้องเสียเงินให้ LV แล้วล่ะค่ะ แต่สนนราคาคอลเลคชั่นใหม่ใบละหกหมื่นขึ้นไป ก็คงต้องคิดกันหนักๆ ก่อนตัดสินใจนะคะ


วันที่ 05 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11439 มติชนรายวัน