คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง
ครั้งก่อนได้แนะนำให้รู้จักแอนิเมชั่นฉายทางโทรทัศน์ในซีซั่นส่งท้าย ปี 2008 ซึ่งเป็นที่จับตามองเรื่องหนึ่งค่ะ นั่นคือ "Casshern Sins" ซึ่งนำเอาการ์ตูนแนวซุปเปอร์ฮีโร่ Retro (ย้อนยุค) ในช่วงยุค 70s มาปัดฝุ่นทำใหม่ ท่ามกลางแรงกดดันสองอย่าง
อย่างแรกคือ ฉบับแอนิเมชั่นดั้งเดิมที่จำหน่ายเป็น OVA (Original Video Animation คือขายเป็นตลับวิดีโอ VHS แต่ไม่ได้ฉายทางโทรทัศน์) ในปี 1973 ทำไว้ได้คลาสสิคอยู่แล้ว ถ้าครั้งนี้ทำออกมาเน่ากว่าของเก่ามีหวังโดนสวดยับแน่นอน
แรงกดดันอีกอย่างหนึ่งคือ ฉบับภาพยนตร์คนแสดง (Live-action movie) ซึ่งสร้างในปี 2004 ไม่ได้ชวนให้นึกถึงวันเก่าๆ เท่าไร แม้ตัวหนังโดดๆ จะดีแต่นักวิจารณ์บางท่านให้ความเห็นว่าเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ดัดแปลงจากการ์ตูนคลาสสิคที่แย่ที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่เคยสร้างมาเลยทีเดียว ประเด็นของหนังมุ่งไปที่ความรู้สึกนึกคิดของตัวเท็ตสึยะก่อนจะกลายเป็นคัชชาน แต่ด้วยความหลวมของพล็อตและไม่เหลืออะไรให้คิดถึงฉบับดั้งเดิมเลย เนื้อเรื่องคนละแนวและหมวกเรโทรสุดเท่ กลายเป็นหมวกกันน็อคประหลาด หนังจึงอาจประสบความสำเร็จ แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะประดับชื่อ Casshern ลงไป เพราะเหมือนไม่ใช่ Casshern ค่ะ
ดังนั้น มาเดากันดีกว่าว่า Casshern Sins ฉบับแอนิเมชั่นฉายทางโทรทัศน์ปลายปี 2008 จะมาแรงแซงทุกเรื่องในช่วงสิ้นปีนี้ หรือจะตกม้าตายแบบฉบับภาพยนตร์กันแน่
เริ่มจากเนื้อเรื่องก่อนค่ะ เหตุการณ์ในเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อเหล่าหุ่นยนตร์กลายเป็นผู้คุมกฎของโลก เมื่อมนุษย์ก็ทนไม่ไหวจึงขอร้องให้เด็กสาวลึกลับนามว่า "ลูน่า" มาช่วยปลดปล่อยเหล่ามนุษย์จากหุ่นยนต์ เบรคิงบอสจึงส่งไซบอร์กที่ทรงพลังที่สุด 3 คนไปเก็บเธอ หนึ่งในนั้นคือคัชชาน! โอ้...เป็นพล็อตที่น่าสนใจมากค่ะ ผลคือคัชชานฆ่าลูน่าสำเร็จ (อ้าว...นางเอกภาคก่อนไม่ใช่เหรอ) และประชากรมนุษย์ก็ลดลงจนกำลังจะสูญพันธุ์หลายร้อยปีผ่านไปเมื่อมนุษย์แทบไม่เหลือบนโลก หุ่นยนตร์เองก็ลำบากเหมือนกัน เพราะแม้จะไม่ตาย แต่สิ่งเดียวที่ทำลายหุ่นยนตร์ได้คือ "สนิม" ! แล้วจู่ๆ คัชชานก็ปรากฏกายขึ้นอีกครั้ง หลังจากหายหน้าไปนาน ไม่มีใครพบเขาอีกเลยหลังเขาฆ่าลูน่า แต่วันหนึ่งเขาก็ปรากฏตัวขึ้นมาโดยจำไม่ได้ว่าตัวเองเป็นใคร สิ่งเดียวที่เขารู้คือเขาชื่อ "คัชชาน" เพราะหุ่นยนตร์ทุกตัวที่เจอเขาต้องไล่ฆ่าเขาและพูดแต่ว่า "ฆ่าคัชชาน"
การต่อสู้ครั้งใหม่ของเขาจึงไม่ใช่เพื่อโลกนี้หรือเพื่อมวลมนุษย์ แต่เป็นการต่อสู้เพื่อตามหาความทรงจำของตัวเอง เป็นการเดินทางย้อนไปในอดีต แต่ตัวเขาอาจกลายเป็นอนาคตของบางคนอย่างคาดไม่ถึงในท้ายที่สุดก็ได้
ต้องยกนิ้วให้ค่าย Madhouse และทีมผู้สร้างที่ตีโจทย์การรีเมค (remake) การ์ตูนคลาสสิคได้แตกค่ะ แม้จะดำเนินรอยตามฉบับภาพยนตร์ ซึ่งมุ่งโฟกัสไปที่ความรู้สึกนึกคิดของคัชชาน แต่ก็ไม่ได้ทิ้งหรือทำให้ความคลาสสิคของฉบับดั้งเดิมเสียไปแม้แต่น้อย อย่างแรกคือ "ชุด" ขอสารภาพว่าครั้งแรกที่เห็นชุดของคัชชานภาคนี้ ถึงกับอมยิ้มแก้มป่องเลยค่ะ ก็เล่นใช้ชุดบอดี้สูทรัดติ้วกับหมวกซุปเปอร์ฮีโร่ยุค 70s บ่งบอกความโบราณเสียขนาดนั้น เลยเดาว่าเนื้อเรื่องต้องแก่สนิทแน่นอน แต่ผิดคาดค่ะ เนื้อเรื่องในตอนที่หนึ่ง ซึ่งฉายเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2008 ทำได้กลมกล่อมมาก ผสมความคลาสสิคและร่วมสมัยอย่างลงตัว การมุ่งไปที่คัชชานไม่ได้ลดทอนความยิ่งใหญ่ของเนื้อเรื่องสงครามหุ่นยนตร์กับมนุษย์ แต่กลับเป็นแนวการเล่าเรื่องในอีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจ
ลายเส้นและแอคชั่นที่ออกมาให้อารมณ์แบบเซนต์เซย่าผสมการ์ตูนของโมโต ฮากิโอะ ปรมาจารย์การ์ตูนผู้หญิงไซไฟแฟนตาซีของญี่ปุ่นค่ะ จึงเรียกแขกได้ทั้งชายหญิงในวัยรุ่นจนถึงวัยอายุสี่สิบกว่าเลยทีเดียว ลายเส้นที่ใช้เป็นแบบ G-pen หรือปากกาคอแร้งค่ะ! แต่เมื่อผสานกับการลงสีด้วยคอมพิวเตอร์สไตล์สีน้ำโปร่งแสง งานย้อนยุคก็กลายเป็น Retro เก๋ไก๋ขึ้นมาทันที
หากจะเปรียบ Casshern Sins กับแฟชั่นก็คงเหมือนแฟชั่น Retro ที่ฮิตกันตอนนี้ ไม่ใช่ว่าเราจะหยิบเสื้อของคุณแม่สมัยวัยรุ่นมาใส่แล้วจะเกิดนะคะ เราต้องเลือกหยิบชิ้นที่เหมาะกับเราเอามาแต่งอีกสไตล์หนึ่งให้ดูทันสมัยกว่าเดิม แน่นอนว่ามีของสมัยใหม่เข้าไปแจมด้วยก็ไม่ผิดค่ะ เพียงแต่ต้องประสานกับของเดิมอย่างลงตัวและมีเอกลักษณ์เท่านั้นเอง
บางทีการ์ตูนไทยอาจยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ถ้ารู้จักสร้าง "เทรนด์" ขึ้นมาแบบนี้ค่ะ
วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11187 มติชนรายวัน
26 ตุลาคม 2551
19 ตุลาคม 2551
Casshern Sins ซุปเปอร์ฮีโร่ Retro ส่งท้ายปี [1]
คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง
ระหว่างที่เดินเล่นอยู่ในลอนดอนตามประสาคนไม่ค่อยมีหัวด้านแฟชั่นเท่าไร สิ่งที่พอจะสะดุดตาและระลึกได้ว่าเคยเห็นมาก่อนแน่ๆ คือข้าวของเครื่องใช้ฝีมือนักออกแบบมีชื่อหลายคน สร้างขึ้นด้วยแนวคิด "Retro" หรือย้อนยุคค่ะ ลองจินตนาการถึงของที่ฮิตๆ ในยุค 60-70 ดูนะคะ ก็ประมาณยุคที่คนวัย 60 ยังเป็นวัยรุ่นอยู่น่ะค่ะ ดนตรีดิสโก้และดิสโก้เธคคือสวรรค์ยามราตรี ผมทรงอโฟรฟูฟ่อง กางเกงฮ็อตแพนท์ เชิ้ตฟิตๆ แว่นกันแดดใหญ่ยักษ์ และกางเกงขาบานแฉ่ง นั่นล่ะค่ะถือว่าเก๋มาก
สำหรับภาพยนตร์แนว Retro ที่พอจะนึกออกเร็วๆ นี้ก็คงเป็น "Speed Racer" ซึ่งหนุ่มนักร้องเกาหลี "เรน" ร่วมแสดงและได้รับคำวิจารณ์ในด้านดี (ไม่ทราบเพราะพี่น้องวาโชสกี้ผู้สร้าง The Matrix มาเขียนบท/กำกับหรือเปล่า) แต่ไม่ค่อยมีคนกล่าวถึงเท่าไรเลยค่ะว่าเป็นภาพยนตร์ที่สร้างในปี 2008 เรื่องนี้ดัดแปลงจากการ์ตูนญี่ปุ่นในยุค 60s เรื่อง "Mach GoGoGo" ของเท็ตสึยะ โยชิดะ แต่ต่อมาเมื่อจำหน่ายในอเมริกาจึงใช้ชื่อ Speed Racer เช่นเดียวกับในภาพยนตร์
ความคลาสสิคของฮีโร่ในหมวกกันน็อคกับบอดี้สูทฟิตเปรียะกลายเป็นแนวนิยมของแฟชั่นปลุกผี Retro แห่งวงการการ์ตูนและส่งให้สตูดิโอ Madhouse นำผลงานอีกเรื่องหนึ่งของเท็ตสึยะ โยชิดะมาปัดฝุ่นทำใหม่อีกครั้งในรูปแบบแอนิเมชัน นั่นคือ "Casshern" (อ่านว่า "แคชเชิร์น หรือ "คัชชาน" แบบญี่ปุ่น) การ์ตูนแนวไซไฟซุปเปอร์ฮีโร่สุดคลาสสิค ซึ่งเป็นยุคที่การออกแบบยังมีกลิ่นอเมริกันซุปเปอร์ฮีโร่อยู่มาก แต่เนื้อเรื่องการต่อสู้ระหว่างหุ่นยนต์กับคนถือว่าเป็นแนวเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นค่ะ
Casshern ฉบับแอนิเมชั่นดั้งเดิมเคยฉายทางโทรทัศน์ในปี 1973 (35 ปีก่อน...ยังไม่เกิดเลยค่ะ) แต่ต่อมาได้จัดทำเป็นซีรีย์จำหน่ายแบบ OVA (Original Video Animation) ช่วงปี 1993 และไม่น่าเชื่อว่าจะบุกตะลุยขยายตลาดไปขายฝั่งอเมริกาได้ในปีเดียวกันด้วยชื่อ Casshern: Robot Hunter เนื้อเรื่องของ OVA ค่อนข้างต่างกับฉบับปัจจุบันพอสมควร ขอเล่าก่อนเลยดีกว่าค่ะ
ฉบับ OVA 1973 กล่าวถึง "อาสุมะ เท็ตสึยะ" หรือ "Casshern" ไซเบอร์เนติกนีโอรอยเดอร์ (อะไรก็ไม่ทราบ แต่ทำนองมนุษย์พันธุ์ใหม่น่ะค่ะ) ผู้เปลี่ยนตัวเองเป็นไซบอร์กด้วยจุดประสงค์เดียวคือทำลายล้างหุ่นยนต์ให้หมดไปจากโลก ที่เขาต้องกระโดดเข้ามาแบกรับภาระอันยิ่งใหญ่นี้เพราะดอกเตอร์อาสุมะ บิดาของเขาเป็นผู้สร้างหุ่นยนต์และพัฒนาขึ้นเพื่อให้คอยรับใช้มนุษย์ แต่เมื่อหุ่นยนต์ฉลาดและเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง เหล่าหุ่นยนต์จึงรวมตัวกันและวางแผนกำจัดมนุษย์เสียแทน คัชชานจึงสมัครพรรคพวกอีกสองคือ "เฟรนเดอร์" หุ่นยนต์สุนัข และ "ลูน่า" สาวน้อยน่ารักเพื่อปราบ "เบรคิงบอส" ตัวการใหญ่ให้จงได้...พล็อตคลาสสิคไหมคะ
ในที่สุด เมื่อต้นปี 2008 ทางค่าย Madhouse ก็ประกาศว่าซีซั่นฤดูใบไม้ร่วงปีนี้จะสร้าง Casshern อีกครั้ง ซึ่งกลางปีก็ได้ชื่อเรื่องที่แน่นอนว่า "Casshern Sins" นำทีมโดยผู้กำกับชิเงยาสุ ยามาอุจิ (จากเซนต์เซย่า) ออกแบบตัวละครโดยโยชิฮิโกะ อุมิโคชิ (จากเบอร์เซิร์ก,มุชิฉิ) ไม่ค่อยแปลกใจว่าภาพที่ออกมาเหมือนดูเซนต์เซย่าใส่บอดี้สูทกับหน้ากากย้อนยุคแทนที่จะเป็นชุดคลอธ การนำเสนอและแอ๊คชั่นงามและย้อนยุคอย่างมีสไตล์ ถือเป็นงานที่น่าจับตามองในช่วงปลายปีเลยค่ะต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ตอนที่หนึ่งก็คลอดในที่สุด ท่านใดอยากชมภาพยนตร์ตัวอย่างสามารถดูได้ที่ http://www.casshern-sins.jp/ นะคะ ไม่แน่ใจว่าในไทยจะซื้อลิขสิทธิ์เข้ามาหรือเปล่า คงต้องรอลุ้นอีกครั้งปีหน้าเลยค่ะ ( หรือที่ http://www.youtube.com/watch?v=XrU_h4frGg8 :ซุนปิน )
ต้องถือว่าทีมผู้สร้างใจกล้ามากๆ เพราะ Casshern เพิ่งจะสร้างเป็นภาพยนตร์แบบคนแสดง (Live-action movie) ไปเมื่อปี 2004 นี่เอง เสียดายที่ไม่ได้ดูค่ะ แม้ตัวหนังทุนสร้าง 5 พันล้านจะมีหลายคนประทับใจ แต่ก็เป็นหนังรีเมคที่ตีความกันไปคนละแบบและไม่ได้หวังจะสร้างให้ออกแนว Retro เพื่อรื้อฟื้นความทรงจำยุคเก่าแต่อย่างใด
Casshern Sins จะกลายเป็นการ์ตูนเรโทรที่ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับที่ Speed Racer ทำได้หรือไม่ หรือจะกลายเป็นแค่ Remake ไม่ใช่ Retro แบบฉบับภาพยนตร์ ไว้ต่องวดหน้าค่ะ
วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11180 มติชนรายวัน
Casshern Sins - trailer
โดย วินิทรา นวลละออง
ระหว่างที่เดินเล่นอยู่ในลอนดอนตามประสาคนไม่ค่อยมีหัวด้านแฟชั่นเท่าไร สิ่งที่พอจะสะดุดตาและระลึกได้ว่าเคยเห็นมาก่อนแน่ๆ คือข้าวของเครื่องใช้ฝีมือนักออกแบบมีชื่อหลายคน สร้างขึ้นด้วยแนวคิด "Retro" หรือย้อนยุคค่ะ ลองจินตนาการถึงของที่ฮิตๆ ในยุค 60-70 ดูนะคะ ก็ประมาณยุคที่คนวัย 60 ยังเป็นวัยรุ่นอยู่น่ะค่ะ ดนตรีดิสโก้และดิสโก้เธคคือสวรรค์ยามราตรี ผมทรงอโฟรฟูฟ่อง กางเกงฮ็อตแพนท์ เชิ้ตฟิตๆ แว่นกันแดดใหญ่ยักษ์ และกางเกงขาบานแฉ่ง นั่นล่ะค่ะถือว่าเก๋มาก
สำหรับภาพยนตร์แนว Retro ที่พอจะนึกออกเร็วๆ นี้ก็คงเป็น "Speed Racer" ซึ่งหนุ่มนักร้องเกาหลี "เรน" ร่วมแสดงและได้รับคำวิจารณ์ในด้านดี (ไม่ทราบเพราะพี่น้องวาโชสกี้ผู้สร้าง The Matrix มาเขียนบท/กำกับหรือเปล่า) แต่ไม่ค่อยมีคนกล่าวถึงเท่าไรเลยค่ะว่าเป็นภาพยนตร์ที่สร้างในปี 2008 เรื่องนี้ดัดแปลงจากการ์ตูนญี่ปุ่นในยุค 60s เรื่อง "Mach GoGoGo" ของเท็ตสึยะ โยชิดะ แต่ต่อมาเมื่อจำหน่ายในอเมริกาจึงใช้ชื่อ Speed Racer เช่นเดียวกับในภาพยนตร์
ความคลาสสิคของฮีโร่ในหมวกกันน็อคกับบอดี้สูทฟิตเปรียะกลายเป็นแนวนิยมของแฟชั่นปลุกผี Retro แห่งวงการการ์ตูนและส่งให้สตูดิโอ Madhouse นำผลงานอีกเรื่องหนึ่งของเท็ตสึยะ โยชิดะมาปัดฝุ่นทำใหม่อีกครั้งในรูปแบบแอนิเมชัน นั่นคือ "Casshern" (อ่านว่า "แคชเชิร์น หรือ "คัชชาน" แบบญี่ปุ่น) การ์ตูนแนวไซไฟซุปเปอร์ฮีโร่สุดคลาสสิค ซึ่งเป็นยุคที่การออกแบบยังมีกลิ่นอเมริกันซุปเปอร์ฮีโร่อยู่มาก แต่เนื้อเรื่องการต่อสู้ระหว่างหุ่นยนต์กับคนถือว่าเป็นแนวเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นค่ะ
Casshern ฉบับแอนิเมชั่นดั้งเดิมเคยฉายทางโทรทัศน์ในปี 1973 (35 ปีก่อน...ยังไม่เกิดเลยค่ะ) แต่ต่อมาได้จัดทำเป็นซีรีย์จำหน่ายแบบ OVA (Original Video Animation) ช่วงปี 1993 และไม่น่าเชื่อว่าจะบุกตะลุยขยายตลาดไปขายฝั่งอเมริกาได้ในปีเดียวกันด้วยชื่อ Casshern: Robot Hunter เนื้อเรื่องของ OVA ค่อนข้างต่างกับฉบับปัจจุบันพอสมควร ขอเล่าก่อนเลยดีกว่าค่ะ
ฉบับ OVA 1973 กล่าวถึง "อาสุมะ เท็ตสึยะ" หรือ "Casshern" ไซเบอร์เนติกนีโอรอยเดอร์ (อะไรก็ไม่ทราบ แต่ทำนองมนุษย์พันธุ์ใหม่น่ะค่ะ) ผู้เปลี่ยนตัวเองเป็นไซบอร์กด้วยจุดประสงค์เดียวคือทำลายล้างหุ่นยนต์ให้หมดไปจากโลก ที่เขาต้องกระโดดเข้ามาแบกรับภาระอันยิ่งใหญ่นี้เพราะดอกเตอร์อาสุมะ บิดาของเขาเป็นผู้สร้างหุ่นยนต์และพัฒนาขึ้นเพื่อให้คอยรับใช้มนุษย์ แต่เมื่อหุ่นยนต์ฉลาดและเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง เหล่าหุ่นยนต์จึงรวมตัวกันและวางแผนกำจัดมนุษย์เสียแทน คัชชานจึงสมัครพรรคพวกอีกสองคือ "เฟรนเดอร์" หุ่นยนต์สุนัข และ "ลูน่า" สาวน้อยน่ารักเพื่อปราบ "เบรคิงบอส" ตัวการใหญ่ให้จงได้...พล็อตคลาสสิคไหมคะ
ในที่สุด เมื่อต้นปี 2008 ทางค่าย Madhouse ก็ประกาศว่าซีซั่นฤดูใบไม้ร่วงปีนี้จะสร้าง Casshern อีกครั้ง ซึ่งกลางปีก็ได้ชื่อเรื่องที่แน่นอนว่า "Casshern Sins" นำทีมโดยผู้กำกับชิเงยาสุ ยามาอุจิ (จากเซนต์เซย่า) ออกแบบตัวละครโดยโยชิฮิโกะ อุมิโคชิ (จากเบอร์เซิร์ก,มุชิฉิ) ไม่ค่อยแปลกใจว่าภาพที่ออกมาเหมือนดูเซนต์เซย่าใส่บอดี้สูทกับหน้ากากย้อนยุคแทนที่จะเป็นชุดคลอธ การนำเสนอและแอ๊คชั่นงามและย้อนยุคอย่างมีสไตล์ ถือเป็นงานที่น่าจับตามองในช่วงปลายปีเลยค่ะต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ตอนที่หนึ่งก็คลอดในที่สุด ท่านใดอยากชมภาพยนตร์ตัวอย่างสามารถดูได้ที่ http://www.casshern-sins.jp/ นะคะ ไม่แน่ใจว่าในไทยจะซื้อลิขสิทธิ์เข้ามาหรือเปล่า คงต้องรอลุ้นอีกครั้งปีหน้าเลยค่ะ ( หรือที่ http://www.youtube.com/watch?v=XrU_h4frGg8 :ซุนปิน )
ต้องถือว่าทีมผู้สร้างใจกล้ามากๆ เพราะ Casshern เพิ่งจะสร้างเป็นภาพยนตร์แบบคนแสดง (Live-action movie) ไปเมื่อปี 2004 นี่เอง เสียดายที่ไม่ได้ดูค่ะ แม้ตัวหนังทุนสร้าง 5 พันล้านจะมีหลายคนประทับใจ แต่ก็เป็นหนังรีเมคที่ตีความกันไปคนละแบบและไม่ได้หวังจะสร้างให้ออกแนว Retro เพื่อรื้อฟื้นความทรงจำยุคเก่าแต่อย่างใด
Casshern Sins จะกลายเป็นการ์ตูนเรโทรที่ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับที่ Speed Racer ทำได้หรือไม่ หรือจะกลายเป็นแค่ Remake ไม่ใช่ Retro แบบฉบับภาพยนตร์ ไว้ต่องวดหน้าค่ะ
วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11180 มติชนรายวัน
Casshern Sins - trailer
11 ตุลาคม 2551
แมว Mix โทราจิและศิลปะการเล่าเรื่องแฟนตาซี
คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง
เคยสังเกตไหมคะว่าบางครั้งเรื่องเดียวกัน แต่หากเป็นคนละคนนำมาเล่าต่อ เราจะเกิดความรู้สึกต่างกันค่ะ แม้จะเป็นเรื่องธรรมดาสามัญขนาดไหน ถ้าคนเล่าเก่งเล่าให้ฟัง เราจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่น่าตื่นเต้นเหลือเกินและเกิดอาการ "อิน" ได้ไม่ยาก ในระหว่างที่คนเล่าเรื่องไม่เก่ง ต่อให้เอาแฮร์รี่ พอตเตอร์มาเล่าก็อาจกลายเป็นไม่สนุกไปได้ นักเล่าเรื่องเก่งๆ ในวงการการ์ตูนเรานิยมเรียกว่า "storyteller" ค่ะ
หนึ่งในสตอรี่เทลเลอร์ของวงการการ์ตูนผู้หญิงแนวแฟนตาซีต้องยกให้ "ทามุระ ยูมิ" ผู้โด่งดังจาก Basara และ 7 seeds ในอดีตค่ะ ผลงานใหม่ล่าสุดคือ "มหัศจรรย์แมว mix ผจญภัยโทราจิ" ซึ่งแม้ชื่อจะดูเมาๆ จนเดาไม่ถูกว่าเกี่ยวกับอะไร แต่เนื้อในอาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้
เริ่มอ่านโดยมีความประทับใจเก่าๆ ของ อ.ทามุระอยู่เป็นทุน คือถ้าเรื่องนี้ไม่สนุกจะโวยให้น่าดูน่ะค่ะ
"ไพยัน" คืออัศวินผู้กล้าแห่งอาณาจักรหนึ่งในโลกแฟนตาซี งานหลักของเขาคือต่อสู้กับ "หนู" ซึ่งหนูในโลกนี้ไม่ได้น่ารักเหมือนมิกกี้เมาส์บ้านเรานะคะ แต่เป็นหนูที่มีความสามารถต่างๆ หลากหลาย ตั้งแต่ควบคุมความฝัน ใช้เวทมนต์ แน่นอนว่าหนูพวกนี้ชอบกินคนเป็นอาหารเสียด้วย ความที่เหล่าหนูเก่งกาจ มันจึงสาปให้สัตว์ต่างๆ ลุกขึ้นมาเดิน 2 ขาและพูดภาษาคนได้ซึ่งสัตว์เหล่านี้จะเรียกว่า "mix" และ "โทราจิ" คือลูกแมวตัวเล็กที่โดนสาปให้เป็นแมวมิกซ์เช่นกัน
ไพยันและโทราจิร่วมเดินทางเพื่อออกตามหาลูกชายของไพยันซึ่งถูกหนูแห่งเวทมนต์จับตัวไป นอกจากต้องต่อสู้กับเหล่าหนูที่มีความสามารถประหลาดระหว่างทางแล้ว ไพยันยังต้องต่อสู้กับตัวเองด้วยเช่นกัน เขาต้องดูแลลูกแมวอย่างโทราจิทั้งที่ตัวเขาเองไม่เคยแม้แต่ดูแลลูกชาย ทุกครั้งที่เขาไม่เข้าใจโทราจิ เขาก็ต้องเจ็บปวดเมื่อมองเห็นความจริงว่าเขาไม่เคยเข้าใจภรรยาและลูกชายด้วยเช่นกัน การตามหาลูกชายจึงอาจเป็นการตามหา "ความเป็นพ่อ" สำหรับไพยันด้วย เรียกว่าเป็นการเดินทางสู่วัยผู้ใหญ่ก็คงไม่ผิดค่ะ
ความสนุกของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่กฎเกณฑ์แปลกๆ ซึ่งถูกบัญญัติขึ้นในโลกแฟนตาซีเท่านั้น ดราม่าหลายตอนทำให้เราน้ำตาซึมเอาง่ายๆ เลยทีเดียว อย่างตอนหนึ่งที่ "หนูประภาคาร" ทำหน้าที่ส่องไฟนำทางให้ "เรือหนู" จับเด็กๆ ในหมู่บ้านไป โทราจิลอบเข้าไปในประภาคารแล้วจับภรรยาของหนูประภาคารออกมาเคี้ยวซะ ผลคือเมื่อแยกจากภรรยา หนูประภาคารก็ตาย เป็นความผูกพันของหนูสองตัวที่เหล่าหนูอื่นเห็นแล้วก็สงสาร แต่ไพยันซึ่งยังตื่นตระหนกไม่ได้สนใจเรื่องนั้น เขาวิ่งเข้าไปตามหาลูกชายจากบรรดาเด็กๆ ที่ถูกหนูเรือจับไปพร้อมกับ "ท่านเคานท์" สุนัข mix ซึ่งออกตามหาเจ้านายที่โดนหนูจับไปเช่นกัน
ท่ามกลางเด็กๆ ไพยันก็ระลึกได้ว่าเขาจะหาลูกชายเจอได้อย่างไรในเมื่อเขายังจำหน้าลูกชายไม่ได้ด้วยซ้ำ! เขาได้แต่บอกโทราจิให้ช่วยหาแทน ส่วนท่านเคานท์ดมกลิ่นแล้วก็ทราบว่าเจ้านายไม่ได้อยู่ที่นี่มาก่อนแน่แม้ว่าจะมีกองกระดูกของเด็กๆ กองอยู่ นั่นก็เพราะต่อให้เหลือแต่กระดูก ท่านเคานท์ก็ยังจำเจ้านายของตัวเองได้เสมอ ตรงนี้ทำให้ไพยันยิ่งรู้สึกล้มเหลวในความเป็นพ่อของตัวเองยิ่งขึ้นไปอีกค่ะ
ระหว่างที่โกรธแค้นเหล่าหนู ไพยันเดินทางต่อไปยังเมืองที่มีฝนพรำ เขาได้พบกับ "แฮมสเตอร์" ซึ่งเป็นนักข่าวและผลิต "หนังสือพิมพ์แฮม" ขนาดเล็กจิ๋วแปะไปตามฝาบ้านคนเพื่อแจ้งข่าวที่เกี่ยวข้องกับวงการหนูให้ชาวเมืองทราบ ไพยันได้เห็นการต่อต้านหนูอย่างสันติจากเหล่าแฮมสเตอร์ ทั้งที่ก็เป็นสายพันธุ์หนูเหมือนกันแต่ความคิดต่างกันก็ไม่จำเป็นต้องเห็นดีเห็นงามไปเสียทุกเรื่อง หลายอย่างที่เขาเคยเรียนรู้ด้วยสัญชาตญาณความเป็นมิตรศัตรูจึงต้องรีเซ็ตใหม่หมดและเปลี่ยนดวงตาให้มองคนอื่นอย่างสุจริตมากขึ้น
อ่านจนจบเล่มหนึ่ง รู้สึกเลยค่ะว่ามีธนูแล่นมาแทงหัวใจดังฉึกๆๆ ไม่หยุด เป็นการ์ตูนที่โดนใจมากๆ! ไพยันคือตัวแทนของการมองโลกในแง่ร้ายของมนุษย์ค่ะ และการตามหาลูกคือตัวแทนสัญชาตญาณด้านดีที่เขารู้แต่เพียงว่าต้องทำ เขาต้องตามหาลูกชายเพราะเขาคือพ่อที่ดี แต่เมื่อกลับมามองตัวเองยามผ่านเหตุการณ์ต่างๆ เขาจึงเข้าใจว่าเขาไม่ใช่พ่อที่ดีเลยสักนิด การตามหาลูกชายจึงกลายเป็นการลบล้างความผิดของตัวเองที่เป็นพ่อไม่ได้ความ พร้อมๆ กับเรียนรู้ความผูกพันที่แท้จริงจากโทราจิและหลายคนรอบตัว
ไม่บ่อยนักค่ะที่จะเจอการ์ตูนแฟนตาซีที่อบอุ่นและดึงเราเข้าสู่อีกโลกหนึ่งได้อย่างน่าทึ่งขนาดนี้ ใครอยากเห็นเทคนิคการเล่าเรื่องของสตอรี่เทลเลอร์แนวหน้าของวงการการ์ตูน เรื่องนี้คือตัวอย่างที่ดีเลยค่ะ
วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11173 มติชนรายวัน
โดย วินิทรา นวลละออง
เคยสังเกตไหมคะว่าบางครั้งเรื่องเดียวกัน แต่หากเป็นคนละคนนำมาเล่าต่อ เราจะเกิดความรู้สึกต่างกันค่ะ แม้จะเป็นเรื่องธรรมดาสามัญขนาดไหน ถ้าคนเล่าเก่งเล่าให้ฟัง เราจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่น่าตื่นเต้นเหลือเกินและเกิดอาการ "อิน" ได้ไม่ยาก ในระหว่างที่คนเล่าเรื่องไม่เก่ง ต่อให้เอาแฮร์รี่ พอตเตอร์มาเล่าก็อาจกลายเป็นไม่สนุกไปได้ นักเล่าเรื่องเก่งๆ ในวงการการ์ตูนเรานิยมเรียกว่า "storyteller" ค่ะ
หนึ่งในสตอรี่เทลเลอร์ของวงการการ์ตูนผู้หญิงแนวแฟนตาซีต้องยกให้ "ทามุระ ยูมิ" ผู้โด่งดังจาก Basara และ 7 seeds ในอดีตค่ะ ผลงานใหม่ล่าสุดคือ "มหัศจรรย์แมว mix ผจญภัยโทราจิ" ซึ่งแม้ชื่อจะดูเมาๆ จนเดาไม่ถูกว่าเกี่ยวกับอะไร แต่เนื้อในอาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้
เริ่มอ่านโดยมีความประทับใจเก่าๆ ของ อ.ทามุระอยู่เป็นทุน คือถ้าเรื่องนี้ไม่สนุกจะโวยให้น่าดูน่ะค่ะ
"ไพยัน" คืออัศวินผู้กล้าแห่งอาณาจักรหนึ่งในโลกแฟนตาซี งานหลักของเขาคือต่อสู้กับ "หนู" ซึ่งหนูในโลกนี้ไม่ได้น่ารักเหมือนมิกกี้เมาส์บ้านเรานะคะ แต่เป็นหนูที่มีความสามารถต่างๆ หลากหลาย ตั้งแต่ควบคุมความฝัน ใช้เวทมนต์ แน่นอนว่าหนูพวกนี้ชอบกินคนเป็นอาหารเสียด้วย ความที่เหล่าหนูเก่งกาจ มันจึงสาปให้สัตว์ต่างๆ ลุกขึ้นมาเดิน 2 ขาและพูดภาษาคนได้ซึ่งสัตว์เหล่านี้จะเรียกว่า "mix" และ "โทราจิ" คือลูกแมวตัวเล็กที่โดนสาปให้เป็นแมวมิกซ์เช่นกัน
ไพยันและโทราจิร่วมเดินทางเพื่อออกตามหาลูกชายของไพยันซึ่งถูกหนูแห่งเวทมนต์จับตัวไป นอกจากต้องต่อสู้กับเหล่าหนูที่มีความสามารถประหลาดระหว่างทางแล้ว ไพยันยังต้องต่อสู้กับตัวเองด้วยเช่นกัน เขาต้องดูแลลูกแมวอย่างโทราจิทั้งที่ตัวเขาเองไม่เคยแม้แต่ดูแลลูกชาย ทุกครั้งที่เขาไม่เข้าใจโทราจิ เขาก็ต้องเจ็บปวดเมื่อมองเห็นความจริงว่าเขาไม่เคยเข้าใจภรรยาและลูกชายด้วยเช่นกัน การตามหาลูกชายจึงอาจเป็นการตามหา "ความเป็นพ่อ" สำหรับไพยันด้วย เรียกว่าเป็นการเดินทางสู่วัยผู้ใหญ่ก็คงไม่ผิดค่ะ
ความสนุกของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่กฎเกณฑ์แปลกๆ ซึ่งถูกบัญญัติขึ้นในโลกแฟนตาซีเท่านั้น ดราม่าหลายตอนทำให้เราน้ำตาซึมเอาง่ายๆ เลยทีเดียว อย่างตอนหนึ่งที่ "หนูประภาคาร" ทำหน้าที่ส่องไฟนำทางให้ "เรือหนู" จับเด็กๆ ในหมู่บ้านไป โทราจิลอบเข้าไปในประภาคารแล้วจับภรรยาของหนูประภาคารออกมาเคี้ยวซะ ผลคือเมื่อแยกจากภรรยา หนูประภาคารก็ตาย เป็นความผูกพันของหนูสองตัวที่เหล่าหนูอื่นเห็นแล้วก็สงสาร แต่ไพยันซึ่งยังตื่นตระหนกไม่ได้สนใจเรื่องนั้น เขาวิ่งเข้าไปตามหาลูกชายจากบรรดาเด็กๆ ที่ถูกหนูเรือจับไปพร้อมกับ "ท่านเคานท์" สุนัข mix ซึ่งออกตามหาเจ้านายที่โดนหนูจับไปเช่นกัน
ท่ามกลางเด็กๆ ไพยันก็ระลึกได้ว่าเขาจะหาลูกชายเจอได้อย่างไรในเมื่อเขายังจำหน้าลูกชายไม่ได้ด้วยซ้ำ! เขาได้แต่บอกโทราจิให้ช่วยหาแทน ส่วนท่านเคานท์ดมกลิ่นแล้วก็ทราบว่าเจ้านายไม่ได้อยู่ที่นี่มาก่อนแน่แม้ว่าจะมีกองกระดูกของเด็กๆ กองอยู่ นั่นก็เพราะต่อให้เหลือแต่กระดูก ท่านเคานท์ก็ยังจำเจ้านายของตัวเองได้เสมอ ตรงนี้ทำให้ไพยันยิ่งรู้สึกล้มเหลวในความเป็นพ่อของตัวเองยิ่งขึ้นไปอีกค่ะ
ระหว่างที่โกรธแค้นเหล่าหนู ไพยันเดินทางต่อไปยังเมืองที่มีฝนพรำ เขาได้พบกับ "แฮมสเตอร์" ซึ่งเป็นนักข่าวและผลิต "หนังสือพิมพ์แฮม" ขนาดเล็กจิ๋วแปะไปตามฝาบ้านคนเพื่อแจ้งข่าวที่เกี่ยวข้องกับวงการหนูให้ชาวเมืองทราบ ไพยันได้เห็นการต่อต้านหนูอย่างสันติจากเหล่าแฮมสเตอร์ ทั้งที่ก็เป็นสายพันธุ์หนูเหมือนกันแต่ความคิดต่างกันก็ไม่จำเป็นต้องเห็นดีเห็นงามไปเสียทุกเรื่อง หลายอย่างที่เขาเคยเรียนรู้ด้วยสัญชาตญาณความเป็นมิตรศัตรูจึงต้องรีเซ็ตใหม่หมดและเปลี่ยนดวงตาให้มองคนอื่นอย่างสุจริตมากขึ้น
อ่านจนจบเล่มหนึ่ง รู้สึกเลยค่ะว่ามีธนูแล่นมาแทงหัวใจดังฉึกๆๆ ไม่หยุด เป็นการ์ตูนที่โดนใจมากๆ! ไพยันคือตัวแทนของการมองโลกในแง่ร้ายของมนุษย์ค่ะ และการตามหาลูกคือตัวแทนสัญชาตญาณด้านดีที่เขารู้แต่เพียงว่าต้องทำ เขาต้องตามหาลูกชายเพราะเขาคือพ่อที่ดี แต่เมื่อกลับมามองตัวเองยามผ่านเหตุการณ์ต่างๆ เขาจึงเข้าใจว่าเขาไม่ใช่พ่อที่ดีเลยสักนิด การตามหาลูกชายจึงกลายเป็นการลบล้างความผิดของตัวเองที่เป็นพ่อไม่ได้ความ พร้อมๆ กับเรียนรู้ความผูกพันที่แท้จริงจากโทราจิและหลายคนรอบตัว
ไม่บ่อยนักค่ะที่จะเจอการ์ตูนแฟนตาซีที่อบอุ่นและดึงเราเข้าสู่อีกโลกหนึ่งได้อย่างน่าทึ่งขนาดนี้ ใครอยากเห็นเทคนิคการเล่าเรื่องของสตอรี่เทลเลอร์แนวหน้าของวงการการ์ตูน เรื่องนี้คือตัวอย่างที่ดีเลยค่ะ
วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11173 มติชนรายวัน
04 ตุลาคม 2551
Osen ศิลปะที่ปลายลิ้น
คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง
ช่วงหลังมีทั้งภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ในญี่ปุ่นที่สร้างจากหนังสือการ์ตูนมากขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ เดาว่าการนำผลงานที่ได้รับความนิยมมาสร้างย่อมได้เปรียบกว่าสร้างจากบทภาพยนตร์ใหม่เอี่ยมที่ไม่มีใครรู้จัก นั่นก็เพราะอย่างน้อยต้องมีแฟนผลงานเดิมเป็นฐานลูกค้าจำนวนหนึ่งแน่นอน แต่ก็ใช่ว่าผลงานที่สร้างจากหนังสือการ์ตูนจะประสบความสำเร็จทุกเรื่องนะคะ บางเรื่องดูแล้วคิดว่าผู้สร้างภาพยนตร์ยังมี "กึ๋น" ไม่พอที่จะถ่ายทอดเหมือนกัน
"โอเซน" คือละครโทรทัศน์ที่ฉาย 10 ตอนทาง NTV ในญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนเมษายนถึงมิถุนายนปีนี้ค่ะ นับว่าสั้นจนน่าตกใจ ทั้งที่ฉบับหนังสือการ์ตูนเรื่องนี้สนุกและทำได้ดีจนทำให้คนอ่านอยากกินอาหารญี่ปุ่นแทบจะทันทีหลังอ่านจบ
โอเซนคือชื่อเล่นของ "ฮันดะ เซน" สาวน้อยผู้สืบทอดร้านอาหารญี่ปุ่นแบบหรูหราดั้งเดิม "อิชโชอัน" เธอได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กให้ชื่นชมในความเป็นญี่ปุ่น ดังนั้น เธอจึงสวมแต่กิโมโนตลอดเวลา และอยู่ในบ้านที่ไม่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าทันสมัยเลยแม้แต่ชิ้นเดียว ขนาดโทรศัพท์ของที่ร้านยังเป็นรุ่นหมุนเบอร์แบบโบราณเลยค่ะ อยู่มาวันหนึ่ง "เอซากิ โยชิโอะ" ซึ่งโอเซนเรียกอย่างนับถือผสมเอ็นดูว่า "คุณโย้จจัง" ก็เดินเข้ามาขอสมัครทำงานที่ร้าน ก่อนหน้านี้เอซากิทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารแนวฟิวชั่น ซึ่งเน้นความตื่นตาตื่นใจในการกินมากกว่ารสชาติแท้จริง ความที่เขาฝึกฝนการทำอาหารมาแต่เด็ก การทำงานโดยเห็นความสำคัญของรสชาติเป็นอันดับสองทำให้เขาเบื่อหน่าย ในที่สุดเขาจึงตัดสินใจลาออกและไปสมัครงานที่ร้านอิชโชอันซึ่งเขาเคยไปรับประทานกับคุณพ่อเมื่อยังเด็ก และจำได้ว่าเจ้าของร้านในขณะนั้นบอกว่าหากเขาต้องการเป็นพ่อครัว ก็ให้มาทำงานที่ร้านได้
แต่กลายเป็นว่าเจ้าของร้านที่เอซากิเจอคือโอเซน ด้วยเหตุผลบางอย่างทำให้โอเซนรับเอซากิทำงานเป็นลูกมือล้างจานทั้งที่เขาไม่มีความเป็นมืออาชีพในการทำอาหารเอาเสียเลย แค่ให้ลองแล่ปลาเขาก็ทำพลาดด้วยการใส่แหวนขณะแล่จนเนื้อปลาช้ำ ในระหว่างที่ทุกคนมองว่าเอซากิไร้ประโยชน์ ตัวเอซากิเองกลับคิดว่าเขาถูกกดขี่ด้วยการให้ทำงานเยี่ยงทาสแลกที่พักกับอาหารและค่าแรงแสนถูก เขาจึงขอลาออกจากร้านหลายต่อหลายครั้ง แต่เมื่อค้นพบสัจธรรมของอาหารญี่ปุ่นในอิชโชอันที่อาศัยความอดทนและพิถีพิถันในการทำ เขาก็กลับมาตายรังทุกครั้งไปละครนำเสนอความขัดแย้งระหว่างอาหารในความคิดของคนสมัยใหม่กับอาหารดั้งเดิมเป็นประเด็นหลัก เช่นตอนหนึ่งที่ผู้จัดรายการโทรทัศน์เชิญโอเซนไปออกรายการแข่งทำอาหารกับปรมาจารย์การทำอาหารด้วยไมโครเวฟที่ประหยัดเวลาแต่รสชาติเหมือนนั่งเหลา แม้โอเซนจำใจช่วย แต่เธอก็ยังคงปรุงอาหารแข่งด้วยวิธีดั้งเดิมของเธอ ละเมียดซอยต้นหอมญี่ปุ่นอย่างใจเย็น และปรุงด้วยสีหน้าเปี่ยมสุขพร้อมกับภาวนาให้อาหารออกมาอร่อยถูกใจผู้รับประทาน
ทุกอย่างในละครลงตัวหมดค่ะ ทั้งผู้แสดงที่ดังทะลุฟ้าอย่าง "อาโออิ ยู" ซึ่งรับบทโอเซน และ "อุจิ ฮิโรคิ" รับบทเอซากิ สถานที่ถ่ายทำได้บรรยากาศญี่ปุ่นแท้สวยงาม อาหารปรุงออกมาดูน่ากิน และกิโมโนทุกตัวของโอเซนสวยหาที่ติไม่ได้ แต่ไม่ทราบเกิดอะไรขึ้น ตอนแรกๆ ก็สนุกดีค่ะ แต่ยิ่งดูยิ่งเหมือนละครทั่วๆ ไปซึ่งมุ่งจะคลายปมในเรื่องให้กระจ่างมากกว่าเน้นความโดดเด่นของตัวละคร ตอนอ่านการ์ตูนเราจะรู้สึกว่าโอเซนเป็นผู้หญิงที่ "เท่ชะมัด" ส่วนเอซากิก็เป็นผู้ชายธรรมดาที่ "มีเสน่ห์แบบธรรมดา" ความสุดขั้วของสองคนนี้คือสิ่งที่ทำให้เนื้อเรื่องดำเนินไปได้ ไม่ใช่ปัจจัยอื่นๆ ภายนอกอย่างที่ปรากฏในละคร
แม้จะไม่ประสบความสำเร็จล้นหลามแบบละครที่สร้างจากการ์ตูนอีกหลายเรื่อง แต่ "Osen" ก็ทำให้ภาพความหรูหราดูสมจริงมากขึ้น อาจจะสมจริงเกินไปจนต่อยอดจินตนาการไม่ค่อยออกค่ะ เป็นเรื่องแปลกที่ดูละครแล้วไม่หิว แต่อ่านการ์ตูนแล้วหิวจนท้องร้อง
คิดแล้วก็อยากอ่านเรื่องนี้ในฉบับหนังสือการ์ตูนต่อจริงๆ ค่ะ น่าเสียดายที่สำนักพิมพ์ในไทยหยุดไปนานจนเกือบลืม แต่ก็หวังว่าสักวันจะกลับมาพิมพ์อีก ไม่บ่อยนักที่อ่านการ์ตูนแล้วได้กลิ่นหอมของอาหารลอยออกมาจากหน้าหนังสือได้ Osen คือหนึ่งในการ์ตูนไม่กี่เรื่องที่กระตุ้นประสาทสัมผัสได้อย่างน่าทึ่งค่ะ
วันที่ 05 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11166 มติชนรายวัน
โดย วินิทรา นวลละออง
ช่วงหลังมีทั้งภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ในญี่ปุ่นที่สร้างจากหนังสือการ์ตูนมากขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ เดาว่าการนำผลงานที่ได้รับความนิยมมาสร้างย่อมได้เปรียบกว่าสร้างจากบทภาพยนตร์ใหม่เอี่ยมที่ไม่มีใครรู้จัก นั่นก็เพราะอย่างน้อยต้องมีแฟนผลงานเดิมเป็นฐานลูกค้าจำนวนหนึ่งแน่นอน แต่ก็ใช่ว่าผลงานที่สร้างจากหนังสือการ์ตูนจะประสบความสำเร็จทุกเรื่องนะคะ บางเรื่องดูแล้วคิดว่าผู้สร้างภาพยนตร์ยังมี "กึ๋น" ไม่พอที่จะถ่ายทอดเหมือนกัน
"โอเซน" คือละครโทรทัศน์ที่ฉาย 10 ตอนทาง NTV ในญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนเมษายนถึงมิถุนายนปีนี้ค่ะ นับว่าสั้นจนน่าตกใจ ทั้งที่ฉบับหนังสือการ์ตูนเรื่องนี้สนุกและทำได้ดีจนทำให้คนอ่านอยากกินอาหารญี่ปุ่นแทบจะทันทีหลังอ่านจบ
โอเซนคือชื่อเล่นของ "ฮันดะ เซน" สาวน้อยผู้สืบทอดร้านอาหารญี่ปุ่นแบบหรูหราดั้งเดิม "อิชโชอัน" เธอได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กให้ชื่นชมในความเป็นญี่ปุ่น ดังนั้น เธอจึงสวมแต่กิโมโนตลอดเวลา และอยู่ในบ้านที่ไม่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าทันสมัยเลยแม้แต่ชิ้นเดียว ขนาดโทรศัพท์ของที่ร้านยังเป็นรุ่นหมุนเบอร์แบบโบราณเลยค่ะ อยู่มาวันหนึ่ง "เอซากิ โยชิโอะ" ซึ่งโอเซนเรียกอย่างนับถือผสมเอ็นดูว่า "คุณโย้จจัง" ก็เดินเข้ามาขอสมัครทำงานที่ร้าน ก่อนหน้านี้เอซากิทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารแนวฟิวชั่น ซึ่งเน้นความตื่นตาตื่นใจในการกินมากกว่ารสชาติแท้จริง ความที่เขาฝึกฝนการทำอาหารมาแต่เด็ก การทำงานโดยเห็นความสำคัญของรสชาติเป็นอันดับสองทำให้เขาเบื่อหน่าย ในที่สุดเขาจึงตัดสินใจลาออกและไปสมัครงานที่ร้านอิชโชอันซึ่งเขาเคยไปรับประทานกับคุณพ่อเมื่อยังเด็ก และจำได้ว่าเจ้าของร้านในขณะนั้นบอกว่าหากเขาต้องการเป็นพ่อครัว ก็ให้มาทำงานที่ร้านได้
แต่กลายเป็นว่าเจ้าของร้านที่เอซากิเจอคือโอเซน ด้วยเหตุผลบางอย่างทำให้โอเซนรับเอซากิทำงานเป็นลูกมือล้างจานทั้งที่เขาไม่มีความเป็นมืออาชีพในการทำอาหารเอาเสียเลย แค่ให้ลองแล่ปลาเขาก็ทำพลาดด้วยการใส่แหวนขณะแล่จนเนื้อปลาช้ำ ในระหว่างที่ทุกคนมองว่าเอซากิไร้ประโยชน์ ตัวเอซากิเองกลับคิดว่าเขาถูกกดขี่ด้วยการให้ทำงานเยี่ยงทาสแลกที่พักกับอาหารและค่าแรงแสนถูก เขาจึงขอลาออกจากร้านหลายต่อหลายครั้ง แต่เมื่อค้นพบสัจธรรมของอาหารญี่ปุ่นในอิชโชอันที่อาศัยความอดทนและพิถีพิถันในการทำ เขาก็กลับมาตายรังทุกครั้งไปละครนำเสนอความขัดแย้งระหว่างอาหารในความคิดของคนสมัยใหม่กับอาหารดั้งเดิมเป็นประเด็นหลัก เช่นตอนหนึ่งที่ผู้จัดรายการโทรทัศน์เชิญโอเซนไปออกรายการแข่งทำอาหารกับปรมาจารย์การทำอาหารด้วยไมโครเวฟที่ประหยัดเวลาแต่รสชาติเหมือนนั่งเหลา แม้โอเซนจำใจช่วย แต่เธอก็ยังคงปรุงอาหารแข่งด้วยวิธีดั้งเดิมของเธอ ละเมียดซอยต้นหอมญี่ปุ่นอย่างใจเย็น และปรุงด้วยสีหน้าเปี่ยมสุขพร้อมกับภาวนาให้อาหารออกมาอร่อยถูกใจผู้รับประทาน
ทุกอย่างในละครลงตัวหมดค่ะ ทั้งผู้แสดงที่ดังทะลุฟ้าอย่าง "อาโออิ ยู" ซึ่งรับบทโอเซน และ "อุจิ ฮิโรคิ" รับบทเอซากิ สถานที่ถ่ายทำได้บรรยากาศญี่ปุ่นแท้สวยงาม อาหารปรุงออกมาดูน่ากิน และกิโมโนทุกตัวของโอเซนสวยหาที่ติไม่ได้ แต่ไม่ทราบเกิดอะไรขึ้น ตอนแรกๆ ก็สนุกดีค่ะ แต่ยิ่งดูยิ่งเหมือนละครทั่วๆ ไปซึ่งมุ่งจะคลายปมในเรื่องให้กระจ่างมากกว่าเน้นความโดดเด่นของตัวละคร ตอนอ่านการ์ตูนเราจะรู้สึกว่าโอเซนเป็นผู้หญิงที่ "เท่ชะมัด" ส่วนเอซากิก็เป็นผู้ชายธรรมดาที่ "มีเสน่ห์แบบธรรมดา" ความสุดขั้วของสองคนนี้คือสิ่งที่ทำให้เนื้อเรื่องดำเนินไปได้ ไม่ใช่ปัจจัยอื่นๆ ภายนอกอย่างที่ปรากฏในละคร
แม้จะไม่ประสบความสำเร็จล้นหลามแบบละครที่สร้างจากการ์ตูนอีกหลายเรื่อง แต่ "Osen" ก็ทำให้ภาพความหรูหราดูสมจริงมากขึ้น อาจจะสมจริงเกินไปจนต่อยอดจินตนาการไม่ค่อยออกค่ะ เป็นเรื่องแปลกที่ดูละครแล้วไม่หิว แต่อ่านการ์ตูนแล้วหิวจนท้องร้อง
คิดแล้วก็อยากอ่านเรื่องนี้ในฉบับหนังสือการ์ตูนต่อจริงๆ ค่ะ น่าเสียดายที่สำนักพิมพ์ในไทยหยุดไปนานจนเกือบลืม แต่ก็หวังว่าสักวันจะกลับมาพิมพ์อีก ไม่บ่อยนักที่อ่านการ์ตูนแล้วได้กลิ่นหอมของอาหารลอยออกมาจากหน้าหนังสือได้ Osen คือหนึ่งในการ์ตูนไม่กี่เรื่องที่กระตุ้นประสาทสัมผัสได้อย่างน่าทึ่งค่ะ
วันที่ 05 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11166 มติชนรายวัน