22 มิถุนายน 2551
การ์ตูนผู้ชายที่ไร้พระเอก
คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง
สมัยก่อนเราอาจแยกคร่าวๆ ว่าการ์ตูนเรื่องนี้เป็น "การ์ตูนสำหรับผู้หญิง" หรือ "การ์ตูนสำหรับผู้ชาย" ได้โดยดูว่าตัวการ์ตูนที่มีบทบาทโดดเด่นที่สุดเป็นใคร เช่น ดรากอนบอลล์มีโกคูเป็นพระเอก หมายความว่าเรื่องนี้เป็นการ์ตูนผู้ชาย ในระหว่างที่ฮานาโยริดังโงะ (หรือ F4 ที่โด่งดัง) มีสึกุชิเป็นนางเอก
ดังนั้นน่าจะเป็นการ์ตูนผู้หญิงความรู้สึกแปลกๆ ครั้งแรกที่ตัวเองสังเกตได้น่าจะเป็นยุคที่ "เซเลอร์มูน" ซึ่งควรจะเป็นการ์ตูนผู้หญิงร้อยเปอร์เซ็นต์กลับเป็นที่นิยมในหมู่ชาวคอสเพลย์ "ผู้ชาย" บางท่านค่ะ เซเลอร์มูนคงมีบางอย่างที่ "โดนใจ" หนุ่มๆ บางคนซึ่งอธิบายไม่ได้ ต่อมาได้เห็นกระแสนี้อีกครั้งเมื่อ "ซุซุมิยะ ฮารุฮิ" ซึ่งเป็นการ์ตูนที่มีฮารุฮิสาวน้อยน่ารักเป็นตัวเอก หนุ่มๆ ชอบเธอมากค่ะ แต่ไม่ใช่เพราะอยากได้เธอเป็นแฟนดังเช่นที่หลายคนเดา หนุ่มๆ เหล่านั้นรักและนับถือเธอเลยล่ะค่ะ!เรียกได้ว่าหนุ่มๆ หลายคนแต่งคอสเพลย์เป็นฮารุฮิ(ในชุดนักเรียนกระโปรงและที่คาดผมน่ารัก)เลยทีเดียว
อะไรทำให้ฮีโร่ในใจนักอ่านการ์ตูนชายหลายท่านเปลี่ยนชายผู้ชายบ้าพลังเป็นสาวน้อยน่ารักได้กันแน่ นี่คือคำถามที่ยังหาข้อมูลอ้างอิงไม่เจอค่ะ แต่ลองมองย้อนอดีตไปหน่อยว่าอะไรบ้างที่ทำให้ชายหนุ่มอยากกลายเป็นฮีโร่สาว นึกออกแต่ "คาบุกิ" ค่ะ
การให้ผู้ชายแต่งกายแบบผู้หญิงและร่ายรำรวมถึงแสดงท่าทางผู้หญิงดังปรากฏในตัวนางของ "ละครคาบุกิ" ศิลปะการแสดงที่งดงามและทรงคุณค่ามาหลายศตวรรษของญี่ปุ่นคือสิ่งที่ชาวตะวันตกหลายคนไม่เข้าใจ ด้วยค่านิยมตะวันตกที่ว่าผู้ชายจะต้องแข็งแกร่ง เป็นผู้นำ กล้ามโต กลายมาเป็นความน่าสนใจว่าภาพการมอง "บทบาทของเพศชาย" ในแต่ละสังคมมีความแตกต่างที่ละเอียดอ่อนบางอย่างแฝงอยู่
มีฝรั่งคนหนึ่งถามไว้ในเวบไซท์รวมคลิปวิดีโอ Youtube หัวข้อคาบุกิว่า "ตอนนี้ญี่ปุ่นก็มีผู้หญิงที่มีความสามารถตั้งเยอะแยะ ทำไมต้องจำกัดให้คาบุกิมีแต่นักแสดงชายด้วย" เรื่องนี้ "ทามะซาบุโร่ บุนโด" นักแสดงคาบุกิในบทตัวนางตอบไว้ได้น่าฟังมากค่ะ เขาบอกว่า "เราไม่ได้แสดงเป็นผู้หญิงจริงๆ เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้ชายจะเข้าใจมุมมองของผู้หญิงไปทุกอย่าง แต่สิ่งที่เราแสดงคือ "ผู้หญิงในความเข้าใจของผู้ชาย" ซึ่งอาจมีความงดงามอ่อนช้อยหรืออารมณ์อ่อนไหวรวมถึงจริตมารยามากกว่าผู้หญิงจริงๆ"
สิ่งนี้ตอบคำถามได้อย่างชัดเจนว่าเพราะเหตุใดตัวนางในคาบุกิซึ่งบางครั้งสวยกว่าผู้หญิงจริงๆ จึงยังคงมีแฟนผลงานเป็นผู้หญิงด้วย นั่นเพราะเขามีความสามารถในการตีความ "ความเป็นผู้หญิง" ได้อย่างดีเยี่ยมและเข้าถึงบทบาทนั่นเอง เขาคือ "ผู้ชายที่มีความสามารถ" ไม่ใช่ "ผู้ชายที่ดูเหมือนผู้หญิง"
สังคมญี่ปุ่นไม่เห็นว่าการที่ผู้ชายแสดงบทบาทของผู้หญิงคือเรื่องผิดแปลกค่ะ อาจจะเหมือนกับโขนไทยซึ่งตัวนางอาจแสดงโดยนักแสดงชายผู้มากความสามารถ หรือตลกสามช่าที่เมื่อแต่งเป็นผู้หญิง คนดูก็ยังยอมรับและเข้าใจโดยไม่ตะขิดตะขวงใจแต่อย่างใด
กลับมาที่ภาพชายหนุ่มแต่งชุด "เซเลอร์มูน" แขนกุดขนรักแร้ปลิวบ้างค่ะ
อืม...คิดอย่างใจเป็นกลางคือเขาก็อยากแต่งตัวเป็นบุคคลซึ่งเป็นฮีโร่ประจำใจนะคะ เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่พึงจะทำได้ ไม่ผิดเลยแม้แต่น้อย ใครไม่อยากดูก็หลับตาไปสิ หรือถ้าโชคดีเขาแต่งออกมาสวยก็น่าภูมิใจไม่ใช่เหรอ แล้วในเมื่อมีชายหนุ่มที่เห็นสาวน้อยน่ารักเป็นฮีโร่ จึงไม่น่าแปลกที่ตลาดการ์ตูนสำหรับผู้ชายจะขายการ์ตูนที่ตัวเอกคือ "นางเอก" ไม่ใช่ "พระเอก" (คืออาจมีผู้ชายในเรื่องแต่ไม่ใช่บุคคลที่คนอ่านชื่นชมจนอยากแต่งตัวเหมือนเขา)
เหล่านางเอกในการ์ตูนผู้ชายที่ไร้พระเอกเหล่านี้จึงอาจเป็น "ผู้หญิงที่มีความสามารถ" ในการเข้าใจ "ความเป็นผู้ชาย" อย่างลึกซึ้งค่ะ เธออาจเข้าใจความอ่อนแอขี้ใจน้อยของผู้ชายได้ หรืออาจรักแต่แสดงออกไม่เก่ง ไม่ก็แค่ทำตาเหงาๆ ก็มีคนมารุมรักโดยไม่ต้องพูด สรุปว่าเธอคือผลผลิตจากความปรารถนาลึกๆ ของผู้ชาย ซึ่งเป็นความปรารถนาที่คนทั่วไปนิยามว่า "นิสัยแบบผู้หญิง" นั่นเองค่ะ และเพื่อความกลมกล่อมจึงได้นำเสนอผ่านตัวการ์ตูนผู้หญิงเสียแทน เป็นที่มาว่าทำไมการ์ตูนที่นางเอกเด่นจึงอาจไมใช่การ์ตูนสำหรับผู้หญิงเสียทีเดียว
ช่างเป็นวัฒนธรรมที่ซับซ้อนเหลือเกินค่ะ เชื่อว่าใครวิเคราะห์ความต้องการเช่นนี้ได้ น่าจะเป็นผู้นำตลาดผลิตภัณฑ์ทางเลือกสำหรับกลุ่มคนที่นิยามตนเองด้วยเพศที่ติดตัวแต่กำเนิดไม่ได้ในอนาคตค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น