22 มิถุนายน 2551
จะอะไรกันนักหนาล่ะ กันด๊าม กันดั้มKidou Senshi Gundam-san
คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง
สำหรับภาพยนตร์หรือการ์ตูนที่โด่งดังมากๆนั้น หากฝ่ายผลิตคิดจะหาเงินเข้ากระเป๋าจากความดัง ส่วนใหญ่มักจะนึกถึงการสร้างของที่ระลึก เช่น เสื้อยืด ถ้วยกาแฟ นาฬิกา ซึ่งสินค้าที่ระลึกเหล่านี้มีลิขสิทธิ์แน่นอน สิ่งนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่คนทั่วโลกทราบค่ะ แต่ในวัฒนธรรมของญี่ปุ่นมีของที่ระลึกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นตัววัดความดังของภาพยนตร์หรือการ์ตูนเรื่องนั้นได้เลย (วัดความดังนะคะ ไม่ได้วัดคุณภาพ) ของที่ระลึกแบบนี้ไม่ได้จัดทำโดยผู้ผลิตแต่กลับสร้างขึ้นจากบรรดาแฟนๆที่ชื่นชอบอย่างมาก
สิ่งนั้นคือ "โดจินชิ" หรือหนังสือทำมือค่ะ
โดจินชินั้นส่วนใหญ่จัดทำออกมารูปของหนังสือการ์ตูนหรือนิยายซึ่งจัดพิมพ์โดยแฟนๆ ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งหากวาดเองขายเองในอเมริกาต้องโดนดำเนินคดีแน่นอน แต่ญี่ปุ่นเองคิดว่าโดจินชิเหล่านี้เป็นตัวสร้างกระแสความดังให้กับภาพยนตร์หรือการ์ตูนเรื่องนั้นๆยิ่งขึ้น พูดง่ายๆคือถ้าโดจินชิดีคนก็ต้องวิ่งไปซื้อการ์ตูนต้นฉบับมาอ่าน และคนที่ซื้อสินค้าทำมือก็ใช่ว่าจะไม่ซื้อสินค้าลิขสิทธิ์ (ไม่เหมือนปั๊มแผ่น CD เถื่อนขาย) ดังนั้นวงการสิ่งตีพิมพ์ทำมือจากบรรดาแฟนๆเหล่านี้จึงขยายตลาดได้กว้างขวางมากในญี่ปุ่น
คราวนี้ลองนึกดูว่าถ้าโดจินชิทำมือเกิดสนุกมากๆจนสำนักพิมพ์ต้องการรวมเล่มขายเป็นล่ำเป็นสัน การ์ตูนล้อเหล่านั้นก็จะกลายมาเป็นหนังสือการ์ตูนรวมฮิตค่ะซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ที่หายากมากในเมืองไทยที่จะมีใครสักคนกล้านำการ์ตูนล้อเหล่านี้มาแปลขาย
"กันด๊าม กันดั้ม ปฐมบท" คือการ์ตูนล้อเล่มนั้นล่ะค่ะ
กันด๊าม กันดั้ม (เรียกชื่อกี่ครั้งก็ยังฮา) เป็นการ์ตูน 4 ช่องจบล้อเลียนกันดั้มยุคแรกๆ...มีหลายภาคมาก ยังดูไม่หมดค่ะ แต่สำหรับท่านที่ชอบแบบหนังสือการ์ตูนลองอ่าน Gundam the Origin ก็จะเข้าใจได้เช่นกัน ตัวเอกคือ "ชาร์ อัสนาเบิ้ล" ชายผู้ที่ได้สมญานามว่า "ดาวหางแดง" ซึ่งแม้เขาไม่ได้เป็นนักบินกันดั้มแต่ก็โดดเด่นเหนือกว่าหลายขุม
ชาร์ตัวจริงนั้นเป็นคนที่มุ่งมั่นในอุดมการณ์อย่างสูง หล่อ เท่ห์ เก่ง เย็นชา เพอร์เฟกต์ เรียกว่าเป็นตัวการ์ตูนที่ดึงดูดให้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงหลงใหลได้ไม่ยาก ความที่เขาบุคลิกโดดเด่นอย่างร้ายกาจทำให้ภาพของชาร์ในความทรงจำของหลายคนมีเพียง 3 เวอร์ชั่น คือยามที่เขาใส่ชุดทหารสีแดงแจ๊ดและหมวกปีก ชุดนักบินสีแดงแจ๊ดเช่นกัน และชุดสูทขาวกับแว่นเรย์แบนด์ (ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ใส่สูทแดง...อาจจะล่อกระทิงมากเกินไป)
แต่ในการ์ตูนล้อ 4 ช่องจบเรื่องนี้ ชาร์กลับกลายเป็นคนที่คลั่งสีแดงอย่างรุนแรง แม้จะฉลาดเฉลียวและมีความเป็นผู้นำสูงแต่การบัญชาการของเขานั้นออกจะเรียกว่าหลุดโลกจนแทบจะหยุดขำไม่ได้ ชาร์ฉบับล้อเลียนนี้ดูจะแพ้ทางผู้หญิง (ผิดกับเรื่องจริงที่ผู้หญิงแพ้ทางเขาเสียมาก) จึงได้ดูเป็นเบี้ยล่างของทั้งลาล่าและกีชิเรียอยู่บ่อยๆ
สำหรับท่านที่เคยดูภาคจริงมาแล้วคงนึกออกว่าเนื้อเรื่องในการ์ตูนล้อเหล่านี้ปรากฏอยู่จริงในเรื่องค่ะ อย่างน้อยก็ในช่องแรก แต่พอช่องที่ 2 ถึง 4 ทำไมมันกลายเป็นแบบนี้ไปได้! ขำจนหายใจหายคอไม่ออกเลยค่ะ
แม้คนที่ไม่ได้คุ้นเคยกับกันดั้มภาคนี้ (อย่างฉันเป็นต้นเพราะอ่านแค่จาก The Origin ซึ่งรู้เรื่องไม่ครบถ้วนทั้งหมด) แต่ก็ยังหัวเราะจนท้องคัดท้องแข็งได้แน่นอน เพียงแต่อย่างน้อยต้องรู้สักนิดว่าชาร์นั้นแท้จริงเป็นคนอย่างไร มาเจอช้าชาร์คนนี้เข้าไปรับรองหัวเราะจนน้ำตาเล็ดค่ะ
สำหรับประโยชน์ของกันด๊าม กันดั้มนอกเหนือจากความสนุกแล้วก็คงเป็นการมองโลกในมุมตีลังกา 180 องศาค่ะ ตอนดูกันดั้มภาคจริงนั้นเราแทบไม่รู้สึกถึงความตลกหรือจุดเล็กจุดน้อยที่น่าจะนำมาตีความต่อได้เลย การ์ตูนล้อทำให้ได้เห็นมุมมองใหม่ๆที่ไม่เคยเห็นมาก่อนซึ่งถ้าย้อนกลับไปดูภาคจริงอีกรอบสงสัยได้หัวเราะกันไม่หยุดแน่
น่าจะเป็นไอเดียดีๆสำหรับการสร้างของที่ระลึกอีกแบบหนึ่งนะคะ เปิดโอกาสให้สร้างมุมมองที่แตกต่าง และเสพมุมมองที่แตกต่างเช่นกัน
มติชนรายวันวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10571
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น