22 มิถุนายน 2551

Shitajikiของสะสมจากวัฒนธรรมรักระเบียบ


คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

Shitajiki หรือ pencil board แปลเป็นไทยว่า "แผ่นรองเขียน" เป็นของสะสมของนักอ่านการ์ตูนอีกชนิดหนึ่งที่ไม่ค่อยแพร่หลายในไทยค่ะ ด้วยความที่ราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับราคาการ์ตูนบ้านเรา และหายากเหลือเกิน ดังนั้น คนที่รักจะสะสมจริงๆ จึงมักสั่งซื้อเอาจากต่างประเทศหรือจากร้านขายของสะสมการ์ตูนระดับเทพเท่านั้น มีขายในเมืองไทยบ้างแต่ราคาก็พอๆ กับการ์ตูน 10 เล่มเลยค่ะ

วันนี้จะมาทำความรู้จักกับของสะสมราคาสูงปรี๊ดชนิดนี้กันนะคะ Shitajiki นั้นแท้จริงแล้วเป็นแผ่นพลาสติคแข็งบางๆ ที่พิมพ์ลวดลายตามความนิยมลงไปค่ะ ส่วนใหญ่มีขนาดประมาณ 7 x 11 นิ้ว

ประโยชน์ดั้งเดิมของแผ่นรองเขียนนี้เกิดจากวัฒนธรรมความเป็นระเบียบของคนญี่ปุ่นซึ่งเวลาจดงานลงในสมุด เขาไม่ชอบให้รอยปากกากดทะลุไปถึงหน้าถัดไป ดังนั้น จึงนำแผ่นพลาสติคมาสอดไว้ระหว่างหน้ากระดาษเพื่อให้ไม่มีรอยดังกล่าวและเพื่อให้เขียนได้ง่ายขึ้นค่ะ

เมื่อมีการพิมพ์ลายลงไปซึ่งส่วนใหญ่เป็นลายการ์ตูน ลายดารา ลายเทศกาลในญี่ปุ่น หรือภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ทำให้หลายคนเริ่มซื้อมาเพื่อเก็บสะสม ซึ่งทางบริษัทผู้ผลิตเองก็เล็งเห็นกำไรในส่วนนี้ จึงมีการผลิตขึ้นมาเป็นชุดหรือซีรีย์เอาใจนักสะสมค่ะ บางครั้งก็มีการผลิตขึ้นเพื่อเป็นของแถมหรือของแจกเนื่องในโอกาสพิเศษ ทำให้ราคาของ Shitajiki ไม่ได้ขึ้นกับวัสดุ แต่ขึ้นอยู่กับความหายาก ความครบชุด และสภาพในขณะนั้นค่ะ ราคาขายเริ่มต้นมักอยู่ที่ประมาณ 3 ดอลลาร์ (ประมาณร้อยกว่าบาท)

แต่เมื่อกลายเป็นของสะสม ราคาอาจพุ่งไปถึง 40 ดอลลาร์ หรือพันกว่าบาทเลยทีเดียว เพื่อให้ง่ายแก่การสะสม บริษัทผู้ผลิตบางเจ้าจึงทำรหัสประจำแผ่นขึ้นมาเรียกว่า Shitajiki code ค่ะ ในภาพที่โชว์จะเห็นมีตัวเลขเล็กๆ อยู่บริเวณมุมขวาล่างของแผ่น

รหัสเหล่านั้นมีความหมายหลายอย่างค่ะ ซึ่งส่วนใหญ่จะบอกถึงเรื่องที่ผลิต, ชนิดของผลิตภัณฑ์, หมายเลขการผลิต, เดือนและปีที่จำหน่าย เป็นต้น รหัสนี้คิดค้นโดยค่าย Movic แต่ค่ายอื่นก็อาจใช้ code ต่างๆ กันไปได้ตามความเหมาะสม สำหรับบางบริษัทที่ไม่ใช้เลขรหัสก็อาจใช้อักษรภาษาอังกฤษแทน เช่น G หมายถึง Shitajiki ที่ผลิตจากภาพยนตร์ เพราะย่อมาจากคำว่า "Gekijou" ซึ่งแปลว่าโรงภาพยนตร์ หรือ EV ย่อมาจาก Event ซึ่งหมายถึงผลิตขึ้นเนื่องในโอกาสพิเศษบางอย่าง และ FE หมายถึงผลิตขึ้นในงานนิทรรศการค่ะ

คราวนี้ถึงไม่มีรหัสก็ใช่ว่าจะเป็นของเก๊นะคะ บางแผ่นก็ไม่มีอะไรเลย แต่หากจะให้แน่ใจว่าเป็นของแท้ บางแผ่นจะมีสติ๊กเกอร์จากบริษัทผู้ผลิตติดมาให้ด้วยดังที่เห็นตรงมุมซ้ายล่างของภาพ เป็นสติ๊กเกอร์สีฟ้าเล็กๆ ที่เขียนว่า Kodakawa ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การ์ตูนเรื่อง X ค่ะ สวยหยาดฟ้ามาดินและออปชั่นครบแบบนี้ สนนราคาก็เหยียบพันค่ะ เหมาะแก่การใส่กรอบโชว์เท่านั้น เอามารองเขียนไม่ลงจริงๆ คราวนี้ถ้าเรารู้สึกอยากซื้อ Shitajiki ขึ้นมาแล้ว สิ่งสุดท้ายที่ต้องคำนึงถึงคือ "สภาพ" ค่ะ

มีการแบ่งสภาพของสะสมทุกแบบออกเป็น 7 ระดับคร่าวๆ ได้แก่ Mint หมายถึงใหม่เอี่ยมเหมือนเพิ่งลงจากแท่นพิมพ์ บอกแบบนี้คงพอนึกออกนะคะว่าสำหรับ Shitajiki นั้น หา Mint ยากเหลือเกิน เพราะในขั้นตอนการขนส่งบางครั้งอาจเกิดรอยขีดข่วนเหมือนขนแมวได้ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ใช่ข้ออ้างค่ะ เราจะประเมินตามสภาพจริงเท่านั้น ไม่นับว่าใหม่หรือมือสอง

ต่อมาคือ Near Mint หมายถึงมีรอยขนแมวเล็กน้อย ต้องเพ่งจนตาแทบถลนจึงจะเห็น Excellent คือ สภาพเยี่ยมคืออาจเห็นขนแมวได้แต่รวมๆ ยังสวย Good หรือสภาพดี คือ อาจมีรอยขนแมวเต็มแผ่นหรือรอยกดทับบ้างแต่ยังดูดี Fair หรือพอใช้ คือ มีรอยถลอกหรือกดทับชัดเจน 1-2 รอย แต่รวมๆ ก็ดูได้ Poor หรือโทรม อาจมีรอยถลอกหรือขูดสาหัสไม่ก็หักพับหรือรอยของทับชัดเจนมากๆ จนชักไม่สวย

และสุดท้าย Damaged หรือชำรุดค่ะ คือ ถ้าผิวแตก รอยกดลึก รอยไหม้ ขอบบิ่น โค้ง งอ เจาะ ลอก ซีดจากแสงแดด เปื้อน พวกนี้จัดว่าชำรุดค่ะ กว่าจะได้ของสะสมชั้นดีมาเชยชม นอกจากมีเงินแล้วก็ต้องมีความรู้ด้วยเสมอค่ะ ของสะสมราคาแสนแพงเหล่านี้ ไม่แนะนำให้น้องๆ ที่หาเงินเองไม่ได้ซื้อมานะคะ หรือถ้าจะซื้อคงต้องรอโอกาสพิเศษจริงๆ เช่น สอบได้คะแนนดีหรือวันเกิด เพราะของดีๆ มีแค่ชิ้นเดียวก็สุขใจแล้วค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น