คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง
หลังจากได้ดูการ์ตูนที่มีกลิ่นความเชื่อของญี่ปุ่นโบราณอย่าง Natsume Yuujinchou และ Mushishi ไปแล้ว ความรู้สึกตื่นเต้นกับเรื่องเหนือธรรมชาติก็ยังไม่หมดค่ะ แอบเหล่ดูกองการ์ตูนที่ยังดูไม่จบก็สะดุดตากับ Mononoke Hime แอนิเมชั่น (ภาพยนตร์การ์ตูน) ของ Studio Ghibli ที่สร้างเมื่อปี 1997 และกวาดรายได้จากการฉายถล่มทลายในขณะนั้น นอกจากเป็นแอนิเมชั่นที่สร้างความฮือฮาในด้านเนื้อหาแล้ว โมโนโนเกะฮิเมะยังเป็นแอนิเมชั่นที่ใช้ทุนสร้างสูงที่สุดในญี่ปุ่นขณะนั้นด้วย แม้ว่าการใช้คอมพิวเตอร์กราฟิค (CG) จะก้าวหน้าขึ้นมาก แต่เรามักพบบ่อยๆ ว่า CG ที่ผสมกับเทคนิคการทำการ์ตูนแบบเก่าด้วย cel (แผ่นใส) หลายเรื่องให้ความรู้สึก "ไม่เนียน" และกลายเป็นงานที่ดูลูกผีลูกคนจนน่าหงุดหงิด แต่โมโนโนเกะฮิเมะไม่ได้เอาทุนสร้างไปถมทะเลค่ะ นี่คือแอนิเมชั่นที่ใช้เทคนิคดั้งเดิมผสมกับ CG ได้อย่างลงตัว สวย นุ่มนวล ลื่นไหล และแม้จะมีฉากธรรมชาติที่งดงามมากมายเราก็ไม่ได้เคลิ้มจนหลับขณะดูค่ะ
ย้อนกลับมาที่เนื้อเรื่องสักนิด โมโนโนเกะฮิเมะไม่ใช่ "การ์ตูนสำหรับเด็ก" นะคะ นี่คือภาพยนตร์ดีๆ เรื่องหนึ่งที่ไม่ได้ใช้คนแสดง แต่ใช้ตัวการ์ตูนแสดงค่ะ เนื้อเรื่องเล่าถึงการต่อสู้ของ 3 กลุ่ม ได้แก่ ฝ่ายธรรมชาติ, จักรพรรดิ, และชาวเหมืองแร่ แรกสุดเนื้อเรื่องโอนเอียงไปทางชาวเหมืองแร่นิดหน่อยเมื่อ "เอโบชิ" หญิงสาวเจ้าของเหมืองแร่เหล็กผูกขาดการค้าเหล็กชั้นดีและดูแลชาวเหมืองให้อยู่ดีมีสุขรวมถึงเสมอภาคเท่าเทียมกันทั้งชายหญิง หากเทียบกับเมืองอื่นๆ ซึ่งต้องเผชิญกับสงครามชิงดินแดนและเหล่าทหารกับซามูไรที่เข่นฆ่าชาวบ้านเป็นว่าเล่น เหมืองเหล็กแห่งนี้คือสวรรค์เพราะตราบใดที่ยังทำงานได้ ทุกคนก็จะมีข้าวกินและได้รับการยอมรับ เหมืองแร่ของเอโบชิจึงเปรียบเสมือนตัวแทนของคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ซึ่งงานคือสิ่งที่สำคัญพอๆ กับการรับประทานอาหาร เราจะสังเกตได้ว่าเหมืองแร่นี้แทบไม่มีภาพครอบครัวลูกเด็กเล็กแดงเลย ทุกคนล้วนแต่ทำงานและภูมิใจที่ได้เสียสละตัวเองเพื่องานส่วนรวมค่ะ
"ซัง" หรือโมโนโนเกะฮิเมะคือนางเอกของเรื่องนี้ซึ่งเป็นตัวแทนของฝ่ายธรรมชาติค่ะ เธอต่อสู้กับเอโบชิเนื่องจากการทำเหมืองแร่ส่งผลให้ต้นไม้โดนโค่นทำลายไปมาก ซังเป็นเด็กสาวที่เติบโตจากการเลี้ยงดูของหมาป่าเทพเจ้าทำให้แม้เธอเป็นมนุษย์แต่เธอก็ปรารถนาจะยืนอยู่ฝ่ายธรรมชาติอย่างเต็มภาคภูมิ เธอเกลียดมนุษย์เช่นเดียวกับเผ่าพันธุ์สัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่าทุกตัวแต่การได้พบกับ "อาชิทากะ" พระเอกของเรื่องทำให้เธอเปลี่ยนความคิด อาชิทากะเดินทางตามหา "เทพเจ้ากวาง" ที่ดูแลป่าในแถบนี้เพื่อถอนคำสาปที่แขนขวาซึ่งเกิดจากความบ้าคลั่งของธรรมชาติ แม้อาชิทากะจะเข้าใจธรรมชาติแต่เขาก็ไม่ได้เกลียดมนุษย์แต่อย่างใด ซังจึงอาจเป็นตัวแทนของคนหัวเก่าและอนุรักษนิยมในญี่ปุ่นซึ่งถูกมองว่าเป็นตัวขัดขวางความเจริญและอยู่ดีกินดีในตอนต้นเรื่องในระหว่างที่อาชิทากะคือคนที่มาเพื่อรักษาสมดุลทั้งมวลค่ะ นานๆ จะเห็น Studio Ghibli สร้างพระเอกที่โดดเด่นแบบนี้ออกมาซักที อาชิทากะน่าจะเป็นผู้ชายในฝันของสาวๆ เลยล่ะค่ะ เพราะนอกจากเขามีฝีมือแล้ว เขายังช่วยเหลือทุกคนโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชังด้วย
แล้วจักรพรรดิมีบทบาทอย่างไร ในเรื่องจักรพรรดิต้องการเหล็กชั้นดีจากเหมืองของเอโบชิค่ะ (ยุคนั้นจักรพรรดิคือหัวหน้าแก๊งใหญ่สุด แต่ก็มีหัวเมืองใหญ่น้อยเป็นแก๊งเล็กๆ ที่ทำสงครามอยู่ด้วย ไม่ได้สงบสุขทั้งประเทศนะคะ) ไม่แน่ใจว่าต้องการผูกขาดเหล็กทั้งหมดหรือเปล่าแต่การกีดกันทางการค้ายุคนั้นไม่ได้เกิดจากกำแพงภาษี แต่เกิดจากแรงกดดันทางกายภาพ พูดง่ายๆ คือ จักรพรรดิยกทัพไปตีเหมืองน่ะค่ะ เอโบชิจึงตัดสินใจส่งของไปบรรณาการจักรพรรดิเพื่อให้เหมืองของตัวเองยังรอดอยู่ได้ และของบรรณาการคือศีรษะของเทพเจ้ากวางผู้ดูแลป่านั่นเอง จักรพรรดิจึงเปรียบเสมือน "ต่างชาติ" นี่ล่ะค่ะ คนกลุ่มนี้อาจทำลายญี่ปุ่นอย่างเงียบๆ ด้วยการยุยงให้คนรุ่นใหม่ฆ่าคนรุ่นเก่าทิ้งไปให้หมด เช่นเดียวกับที่จักรพรรดิส่ง "จิโกะ" หน่วยสืบราชการลับมาโน้มน้าวให้เอโบชิหันหน้าไปสู้กับธรรมชาติเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง หว่านล้อมว่าเทพเจ้ากวางคือต้นเหตุที่ทำให้เหมืองของเธอโดนเล่นงานตลอด (ซึ่งซังและเหล่าสัตว์เทพก็เล่นงานเอโบชิจริงๆ) คนที่มองเกมของจักรพรรดิออกเป็นคนแรกคืออาชิทากะนั่นเองค่ะ เขาจึงช่วยทุกฝ่ายอย่างเต็มใจเพราะทราบดีว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นความผิดของใครแม้แต่จิโกะซึ่งก็ทำเพราะเจ้านายสั่งมาอีกที
ยังไม่จบแค่นี้นะคะ งวดหน้ามาเล่าต่อถึงความยิ่งใหญ่ของโมโนโนเกะฮิเมะและความสามารถในการปลุกอารมณ์ฮึกเหิมอย่างชาญฉลาดของฮายาโอะ มิยาซากิ แห่ง Studio Ghibli หลายคนวิจารณ์ว่านี่คือแอนิเมชั่นที่ปลุกจิตสำนึกรักธรรมชาติ แต่ไหงดูแล้วเหมือนปลุกความเป็นชาตินิยมเสียมากกว่าค่ะ
วันที่ 08 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11320 มติชนรายวัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น