คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง
เคยอ่านหนังสือคำคมเล่มไหนสักเล่มกล่าวถึงบริษัทขายฟิล์มถ่ายภาพยี่ห้อหนึ่งว่าเขาไม่ได้ขาย "ฟิล์ม" แต่เขาขาย "ความทรงจำ" ค่ะ ดังนั้นคนเราไม่ได้ถ่ายภาพเพราะแค่อยากได้ภาพถ่ายเท่านั้น แต่ทุกครั้งที่ย้อนกลับมาดูแผ่นกระดาษเก่าๆ ที่เคยมีเราและคนรอบข้างทำอะไรประหลาดๆ สักอย่างในภาพถ่าย ความทรงจำทั้งสุขและเศร้าก็จะหลั่งไหลออกมาได้ราวกับเปิดอ่านไดอารี่ นั่นคงเป็นสิ่งที่ Umimachi Diary "วันที่เสียงจักจั่นซา" ต้องการนำเสนอให้ผู้อ่านรับรู้ผ่านหน้าหนังสือการ์ตูนที่ได้รับรางวัล Excelent Prize ประจำปี 2007 ของ Japan Media Arts Festival ครั้งที่ 11 เรื่องนี้
"วันที่เสียงจักจั่นซา" คือเรื่องเล่าของครอบครัวโคดะซึ่งประกอบด้วยสามสาวพี่น้องวัยทำงาน อยู่มาวันหนึ่งทั้งสามคนทราบข่าวการเสียชีวิตของคุณพ่อที่แยกไปมีครอบครัวใหม่และไม่ได้เจอกันมา 15 ปี สามสาวจึงวางแผนจะไปงานศพด้วยความรู้สึกที่แปลกประหลาดในฐานะลูก นั่นเพราะพวกเธอไม่ได้รู้สึกเศร้าเสียใจ จะว่าไปก็ไม่รู้สึกอะไรเลยด้วยซ้ำ เพราะสำหรับพวกเธอแล้ว พ่อก็เหมือนคนแปลกหน้าที่แทบไม่มีความทรงจำร่วมกันมาก่อน
"โยชิโนะ" กับ "ชิกะ" น้องสาวตัดสินใจเดินทางล่วงหน้าไปร่วมเคารพศพ เพราะ "ซาจิ" พี่สาวคนโตเป็นพยาบาลและติดอยู่เวรกลางคืนจึงอาจไปร่วมงานไม่ได้ สองสาวได้พบกับ "ซึสึ" เด็กสาวมัธยมต้นที่มีใบหน้านิ่งเรียบเหมือนผู้ใหญ่กว่าวัย ซึสึเป็นลูกติดของภรรยาคนที่สองของพ่อ แต่ภายหลังเมื่อคุณแม่ของซึสึเสียชีวิต พ่อจึงแต่งงานใหม่กับหม้ายลูกสามอีกครั้ง ผลคือซึสึต้องเลี้ยงน้องที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดแม้แต่น้อยและอยู่กับพ่อที่ไม่ใช่พ่อแท้ๆ ของเธอเช่นกัน ความห่างเหินทางสายเลือดทำให้เธอพยายามเก็บความรู้สึกและทำตัวเป็นประโยชน์กับคนรอบข้างให้มากที่สุด สามพี่น้องคงเป็นคนแรกๆ ที่มีโอกาสได้เห็นซึสึร้องไห้ในงานศพของพ่อเพราะเธอเข้มแข็งเสียจนทุกคนลืมไปว่าเธอก็เป็นแค่เด็กสาวที่เพิ่งสูญเสียพ่อไปเท่านั้น
สามพี่น้องสารภาพว่าพวกเธอไม่ได้รู้สึกอะไรกับการจากไปของพ่อเลย เพราะตอนที่พ่อจากไป พวกเธอยังเด็กมาก ดังนั้น งานศพครั้งนี้จึงเหมือนงานศพของคนไม่รู้จักเสียมากกว่า จนกระทั่งเมื่อซึสึมอบซองกระดาษหนาซองหนึ่งให้ ทั้งสามคนก็รู้สึกเหมือนบางอย่างกำลังหลั่งไหลออกมาจากความทรงจำ
ซองนั้นบรรจุภาพถ่ายวัยเด็กของทั้งสามคนไว้นั่นเองค่ะ ในภาพอัดแน่นด้วยความทรงจำร่วมกันระหว่างพวกเธอกับพ่อ กระทั่งรายละเอียดเล็กน้อยที่ตอนเด็กไม่เข้าใจก็สามารถเข้าใจได้ในตอนนี้ว่าแท้จริงสิ่งที่พ่อทำล้วนก่อขึ้นจากความเป็นห่วงและรักใคร่ ความทรงจำจากภาพสีจางบนกระดาษเก่าๆ ทำให้ชายแปลกหน้าในโลงศพกลับกลายเป็นพ่อของพวกเธอขึ้นมาอีกครั้ง และทำให้พวกเธอลบความโกรธเมื่อวัยเด็กที่ถูกพ่อทอดทิ้งออกไปได้จนหมดสิ้น
นอนอ่านถึงตรงนี้แล้วน้ำตาหยดแหมะเลยค่ะ
ดูจากเนื้อเรื่องแล้ว "วันที่เสียงจักจั่นซา" ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการ์ตูนแนวฮิวแมนดราม่าที่ดำเนินเรื่องในเมืองเก่าอย่างคามาคุระซึ่งเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณความเป็นญี่ปุ่น สิ่งที่ทำให้ "โยชิดะ อาคิมิ" ผู้วาดได้รับรางวัลการ์ตูนยอดเยี่ยมไม่ใช่แค่เนื้อหานะคะ แต่เป็นการนำเสนอเรื่องที่เป็นพื้นฐานที่สุดของครอบครัว ซึ่งก็คือ "ความผูกพัน" ให้เริ่มด้วยปมยุ่งเหยิงจากอดีตและจบด้วยการคลายอย่างช้าๆ นุ่มนวล ไม่มีความโกรธแค้นบ้าคลั่งในเรื่องนี้ค่ะ ทุกช่องทุกจังหวะเต็มไปด้วยการแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติ รื่นไหล แต่เมื่อถึงจุดวิกฤตของครอบครัวกลับถ่ายทอดออกมากระแทกอารมณ์จนน้ำตาร่วงอย่างที่เห็นนี่ล่ะค่ะ
นี่ไม่ใช่รางวัลแรกของ "โยชิดะ อาคิมิ" นะคะ ตอนหน้ามาแกะรอยความสำเร็จของเธอในฐานะนักเขียนการ์ตูนผู้หญิงที่กล่าวกันว่าเป็นนักเขียนที่ยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งในปลายยุค 70 ยุคทองของการ์ตูนญี่ปุ่นกันค่ะ
วันที่ 03 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11376 มติชนรายวัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น