คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง
สองสัปดาห์ก่อนเล่าให้ฟังถึงแอนิเมชั่นเรื่อง Nasu ซึ่งกล่าวถึงนักปั่นจักรยานมืออาชีพที่ต้องต่อสู้กับแรงกดดันมากมาย นอกจากเพื่อเอาชนะในเกมแล้ว เขายังต้องเอาชนะตัวเองและรู้จักเสียสละเพื่อชัยชนะของทีมด้วย ผลงานเรื่อง Nasu ทั้งสองภาคกำกับโดยผู้กำกับ "โคซากะ คิทาโร่" ซึ่งเป็นที่รู้จักมาก่อนในฐานะผู้กำกับแอนิเมชั่น (Animation director and supervisor) ของ Studio Ghibli สตูดิโอแอนิเมชั่นที่โด่งดังที่สุดในญี่ปุ่น เขามีส่วนร่วมในผลงานที่โด่งดังของ Ghibli เกือบทุกชิ้นรวมถึง Spirited Away ที่ได้รับรางวัลออสการ์ด้วย ลองมาดูบทสัมภาษณ์ของเขาโดยคุณมาร์โก้ เบลลาโน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2009 ที่ผ่านมา ณ งานภาพยนตร์แอนิเมชั่นเมืองตูริน ถอดความจาก www.ghibliworld.com นะคะ
คุณมาร์โก้ถามผู้กำกับโคซากะในฐานะที่เป็นผู้กำกับแอนิเมชั่น (หมายถึงผู้ดูแลการผลิตงานที่เกี่ยวกับ "ภาพ" ทั้งหมด) ของ Studio Ghibli ว่าอะไรที่ทำให้งานภาพและโปรดักชั่นของ Ghibli ออกมามีมิติล้ำลึกกว่างานแอนิเมชั่นอื่น ผู้กำกับโคซากะตอบได้สมกับเป็นแอนิเมเตอร์ค่ะ เขาบอกว่าแม้ผลงานของ Ghibli ส่วนใหญ่จะเป็นแนวแฟนตาซีและเน้นจินตนาการมากกว่าเรื่องเล่าทั่วไปในชีวิตประจำวัน แต่แท้จริงแล้วผลการการ์ตูนของค่ายนี้ต่างจากการดูการ์ตูนแฟนตาซีที่ทำให้คนดูซื้อตั๋วท่องไปในโลกแห่งความฝันที่เห็นได้ทั่วไปตามท้องตลาด แท้จริงแฟนตาซีในแบบของผู้กำกับมิยาซากิ ฮายาโอะแห่ง Ghibli (เจ้านายของผู้กำกับโคซากะและเป็นผู้กำกับแอนิเมชั่นที่เทพที่สุดในประวัติศาสตร์วงการการ์ตูนญี่ปุ่น) คือการนำเสนอภาพ "ความเป็นจริง" ในอีกแง่มุมหนึ่ง เนื่องจากภาพความเป็นจริงมันดูน่ากลัวเกินไป งานของ Ghibli จึงนำเสนอสิ่งเหล่านี้ด้วยมุมมองใหม่ที่รื่นรมย์มากขึ้น ตัวอย่างเช่นต้นหญ้าเล็กๆ ซึ่งหากเรามองเห็นภาพจริงเราคงไม่ได้รู้สึกอะไรนอกจาก "เขียวดี" แต่งานภาพของ Ghibli สร้างมุมมองด้วยการวาดและใช้สีที่ทำให้คนดูรู้สึกสดชื่นและเป็นสุขได้แม้จะเป็นภาพของต้นหญ้าที่เห็นอยู่ทุกวันก็ตาม นี่คือแฟนตาซีในแบบของ Ghibli ซึ่งให้ความสำคัญกับภาพ สี และการเคลื่อนไหวอย่างมากนั่นเอง
คุณมาร์โก้ถามต่อถึง Nasu ผลงานที่ผู้กำกับโคซากะลุยร่วมกับ Studio Madhouse บ้าง สังเกตว่าผลงานเรื่อง Nasu กล่าวถึงการแข่งจักรยานทางไกลซึ่งดู "สมจริง" ต่างจากงานแฟนตาซีของ Ghibli มาก แล้วจริงๆ เขาชอบงานแนวไหนกันแน่ ผู้กำกับโคซากะตอบตรงไปตรงมาว่าเขาชอบแนวสมจริงแบบ Nasu มากกว่าค่ะ ในความเป็นจริงใช่ว่าทุกคนจะได้ทำงานในสิ่งที่ตนชอบแต่เขาก็ไม่ได้เกลียดงานแนวแฟนตาซีของผู้กำกับมิยาซากินะคะ เขาบอกว่าผู้กำกับมิยาซากิคือยอดครูที่ทำให้เขาได้เรียนรู้การเล่าเรื่อง (storytelling) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำให้การ์ตูนดูแล้วสนุก เขาได้เรียนรู้การทำงานภาพแอนิเมชั่นด้วยเช่นกันแต่ผู้กำกับมิยาซากิก็ไม่ได้เป็นครูที่ดีเท่าไหร่ พูดง่ายๆ คือเป็นอัจฉริยะที่เต็มไปด้วยพรสวรรค์แต่สอนไม่เป็นน่ะค่ะ ดังนั้น วิธีการเรียนรู้ของผู้กำกับโคซากะคือ "อะไรที่เป็นเทคนิค เราต้องขโมยมาด้วยตัวเอง" คือต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองไม่ต้องรอให้อาจารย์สอน
สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากความสำเร็จของผู้กำกับโคซากะ คือทุกสิ่งรอบตัว คือการเรียนรู้ซึ่งเราจะเรียนรู้ได้หรือไม่ก็ขึ้นกับความสามารถในการตักตวงของเราเอง อย่ารอพึ่งครูเพียงอย่างเดียว และแม้สิ่งที่ทำอยู่จะยากลำบากและไม่ได้เป็นสิ่งที่รักอย่างแท้จริง สุดท้ายความรู้ที่ตักตวงมาตลอดก็จะทำให้สามารถสร้างงานที่เรารักได้อย่างดีเยี่ยมสมความเหนื่อยยากค่ะ
ความสำเร็จชั่วข้ามคืนของผู้กำกับโคซากะจึงมาจากความอดทนและตั้งใจเรียนรู้ตลอดหลายสิบปีนั่นเอง น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการเรียนรู้ทุกวันนี้นะคะ นอกจากต้องการครูดี สื่อการสอนดี เรายังต้องการนักเรียนที่ดีและมุ่งมั่นด้วยเช่นกัน
วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11481 มติชนรายวัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น