คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง
คำโปรยด้านบนคือหัวข้อข่าวจากหนังสือพิมพ์เดอะโกเบชิมบุนที่นำเสนอเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมาก่อนวันแม่ในบ้านเราไม่นานเลยค่ะ สำหรับท่านที่ไม่รู้จักว่า "กันดั้ม" (Gundam) คืออะไร กันดั้มคือหุ่นยนต์จากแอนิเมชั่น (ภาพยนตร์การ์ตูน) เรื่องกันดั้มที่สร้างออกมาหลายภาคและออกแบบหุ่นกันดั้มแตกต่างกันไปโดยยังคงเอกลักษณ์ใบหน้าไว้ให้ใกล้เคียงเดิมที่สุด แต่สิ่งที่เหล่านักสะสมกันดั้มชื่นชอบนอกเหนือจากแอนิเมชั่นคือ "กันดั้ม พลาสติค โมเดล" (หรือคนญี่ปุ่นเรียกย่อๆ ว่า "กันพลา") ซึ่งเป็นหุ่นประกอบจากพลาสติคมากมายหลายเกรดหลายรุ่น เรียกว่าเป็นของสะสมที่มีคุณค่าทางใจอย่างสูงเลยล่ะค่ะ พ่อสารถีที่บ้านก็มีอยู่หลายตัวทีเดียว
ข่าวจากหนังสือพิมพ์ระบุว่านาย "โยชิฟุมิ ทาคาเบะ" อายุ 29 ปี ทำงานเป็นพนักงานในโรงงานแห่งหนึ่งลุกขึ้นมาราดน้ำมันก๊าดในห้องของเขาที่บ้านและจุดไฟเผา ส่งผลให้บ้านที่อาศัยอยู่กับมารดาไหม้ราบเป็นหน้ากลองอย่างรวดเร็วแต่โชคดีที่เขาและมารดาปลอดภัย จากคำกล่าวอ้างของตำรวจบอกว่านายโยชิฟุมิเล่าสาเหตุที่ทำเช่นนี้เนื่องจากมารดาทิ้งกันพลาที่เขารักมากไปจึงรู้สึกอยากตายขึ้นมา
ไม่แปลกใจเลยค่ะว่าคนส่วนใหญ่ที่อ่านข่าวนี้จะประณามว่าลูกเลว ลูกทรพี รักกันดั้มแค่ไหนแต่เผาบ้านแบบนี้ก็เกินไปแล้ว การเผาบ้านไม่ว่าจะสาเหตุใดก็ไม่ใช่สิ่งถูกต้องแน่นอน แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกเข้าไปอีกนิด ข่าวสั้นๆ ข่าวนี้มีหลายอย่างให้เราต้องติดตามต่อว่าเกิดอะไรขึ้นกับชายหนุ่มผู้รักกันดั้มคนนี้กันแน่
สิ่งที่ต้องพิจารณาคือเกิดอะไรขึ้นเขาถึงตัดสินใจเผาบ้านตัวเองและรู้สึก "อยากตาย" เมื่อรู้ว่าของสะสมที่มีค่าและรักเหมือนลูกถูกโยนทิ้ง ความรู้สึกอยากตายนี้น่าสนใจค่ะ เมื่อ 2-3 ปีก่อนเคยทำวิจัยเกี่ยวกับผู้ป่วยที่เข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากทำร้ายตัวเองด้วยวิธีต่างๆ เช่น กินยาเกินขนาด กรีดข้อมือ ฯลฯ สิ่งที่สังเกตได้คือส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการ "ฆ่าตัวตาย" แต่วิกฤตชีวิตบางอย่างเจ็บปวดเกินกว่าที่เขาจะรับมือไหว การทำร้ายตัวเองจึงเป็นการสื่อสารแบบหนึ่งให้ตัวเองและคนรอบข้างรับรู้ว่า "ฉันก็เจ็บนะ ฉันเสียใจ ฉันทรมาน ฉันทำพลาดไปแล้ว ฉันขอโทษ ฯลฯ" แต่เพราะไม่สามารถกลั่นออกมาเป็นคำพูดได้จึงแสดงออกด้วยการทำร้ายตัวเองเสียแทน คนกลุ่มนี้ถ้ามีใครสักคนรับฟังและเข้าใจ ไม่ต้องช่วยแก้ปัญหาก็ได้ค่ะ บางทีแค่รับฟังก็เกินพอแล้ว ความรู้สึกอยากทำร้ายตัวเองจะลดลงมาก อีกข้อสังเกตหนึ่งคือคนที่ทำร้ายตัวเองหลายคน "เมา" ค่ะ เวลาเสียใจหนักๆ แล้วเมาจนขาดสติก็อาจเผลอทำอะไรหุนหันพลันแล่นออกไปได้ ส่วนใหญ่มักจะเสียใจตอนสร่างนะคะ อีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการ "ฆ่าตัวตาย" จริงๆ และใช้วิธีรุนแรงชนิดที่ตายได้แน่ๆ เช่น กระโดดตึก ผูกคอ ใช้ปืน กลุ่มนี้มักมีความเจ็บป่วยทางจิตใจซ่อนอยู่ ไม่ใช่คนปกติที่แค่ผิดหวังตูมเดียวแล้วจะฆ่าตัวตายแน่ๆ กลุ่มนี้ต้องรีบพามาหาจิตแพทย์เลยค่ะ
นอกจากความรู้สึกอยากตายของนายโยชิฟุมิแล้ว อีกคนที่ต้องหันไปคุยคือคุณแม่ซึ่งทิ้งกันพลาจนเป็นเหตุให้ลูกชายลุกขึ้นมาเผาบ้าน คงเป็นไปไม่ได้ที่คุณแม่จะเผลอโยนกันพลาทิ้งเพราะไม่รู้ว่าของสะสมที่ลูกชายประคบประหงมมาหลายปีเป็นของมีค่า ในข่าวไม่ได้บอกค่ะว่าทำไมคุณแม่ถึงตัดสินใจทิ้งของสะสมเหล่านั้น เกิดอะไรขึ้นกับนายโยชิฟุมิที่ทำให้คนเป็นแม่ถึงขนาดต้องทิ้งของรักของลูกชายจนอีกฝ่ายเผาบ้านแบบนี้ แท้จริงนายโยชิฟุมิเป็นแค่ไอ้หนุ่มที่บ้ากันดั้มจนเกินปกติ หรือแค่เผาเพราะเมา หรือมีสาเหตุอื่นๆ ประกอบด้วยกันแน่ ข้อมูลเหล่านี้สำคัญเพราะถ้าอนาคตเราจะทิ้งของรักของหวงของใครสักคนจะได้พอนึกออกว่าจะเกิดอะไรตามมาอีกบ้างและควรจะระวังอะไร
น่าแปลกที่คดีนี้ไม่ยักมีใครเชียร์ให้ส่งนายโยชิฟุมิมาพบจิตแพทย์ มีแต่บอกให้เข้าไปนอนคุกน่ะดีแล้ว แต่จิตแพทย์ที่นั่งเขียนคอลัมน์อยู่ตรงนี้อยากคุยกับเขานะคะว่าเกิดอะไรขึ้น เชื่ออยู่ลึกๆ ว่าคนที่รักกันดั้มไม่น่าเป็นคนไม่ดีค่ะ
วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11509 มติชนรายวัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น