24 ตุลาคม 2552

นายกฯฮาโตยามะกับการ์ตูนที่ชอบ

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

"ฮาโตยามะ ยูคิโอะ" คงเป็นนักการเมืองที่คนอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นอาจจะเคยได้ยินชื่อผ่านหูมาบ้างค่ะ เขาคือประธานพรรค DJP ซึ่งเพิ่งได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้เอง สาเหตุที่มีชื่อเสียงในหมู่นักอ่านการ์ตูนเพราะท่านนายกฯฮาโตยามะมีนิคเนมที่น่ารักว่า "นายกฯโอตาคุ" หรือนายกรัฐมนตรีผู้ชอบการ์ตูน หนังสือพิมพ์ The Nikkan Sports ได้สรุปบทสัมภาษณ์ที่ตีพิมพ์ลงนิตยสาร Otaku Eriito (ทับศัพท์จากคำว่า otaku elite หรือคนคลั่งการ์ตูนชั้นปัญญาชน) ฉบับพิเศษปี 2005 ในหัวข้อเกี่ยวกับความชอบการ์ตูนของคุณฮาโตยามะซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค DJP และจัดอันดับการ์ตูนในดวงใจไว้ดังนี้นะคะ

สิบอันดับหนังสือการ์ตูนในดวงใจของคุณฮาโตยามะ อันดับหนึ่งเลยคือเรื่อง Robot Santohei หรือ Private Robot ซึ่งเขียนขึ้นในปี 1952 ซึ่งไม่เคยดูเพราะเกิดไม่ทันค่ะ อันดับสองคือ Niji-iro no Trotsky ของ YAS ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ออกแบบคาแร็กเตอร์ในกันดั้มหลายต่อหลายภาค มีผลงานตีพิมพ์ในไทยพอสมควร อันดับสามคือนักฆ่าคิ้วสาหร่าย Golgo 13 การ์ตูนสไนเปอร์สุดคลาสสิคของญี่ปุ่นที่เพิ่งปัดฝุ่นเอามาทำเป็นแอนิเมชั่นฉายทางโทรทัศน์เมื่อปีที่แล้วนี้เอง อันดับสี่ Sangokushi หรือสามก๊กเวอร์ชั่น อ.โยโคยามะ มิตสุเทรุ อันดับห้า Kaji Ryuusuke no Gi เป็นเรื่องเกี่ยวกับลูกชายคนที่สองในตระกูลนักการเมืองซึ่งต้องขึ้นมาสืบทอดงานการเมืองต่อจากบิดาที่จากไปอย่างกะทันหัน อันดับที่หก Omoshiro Manga Bunko Series ไม่น่าใช่ชื่อเรื่องค่ะแต่เดาว่าหมายถึง bunko-ban ซึ่งเป็นหนังสือการ์ตูนขนาด A6 เล็กกว่าปกติ ใช้กระดาษดีและบางแต่จำนวนหน้ามากกว่าการ์ตูนปกติ มักเป็นเวอร์ชั่นพิเศษตีพิมพ์เพิ่มสำหรับการ์ตูนคลาสสิคบางเรื่องที่ผู้อ่านอยากซื้อไว้เพื่อให้พกพาไปอ่านได้สะดวก อันดับเจ็ด Ge Ge Ge no Kitaro หรืออสรูรน้อยคิทาโร่ที่เพิ่งมีคนนำกลับมาสร้างเป็นภาพยนตร์คนแสดงเมื่อปี 2007 นี้เอง เรื่องนี้มีตีพิมพ์ในไทยด้วยค่ะ อันดับแปดซึ่งโดยส่วนตัวยกให้เป็นอันดับหนึ่งคือโดราเอมอน การ์ตูนที่ไม่เคยให้โทษกับใคร อันดับเก้าเจ้าหนูอะตอมเวอร์ชั่นดั้งเดิมของ อ.เทตสึกะ โอซามุ ปรมาจารย์แห่งวงการการ์ตูนญี่ปุ่น และอันดับสิบ Sazae-san ซีรีส์การ์ตูนทางโทรทัศน์เมื่อปี 1969 ซึ่งโดดเด่นที่นางเอกผู้มีแนวคิดไม่เหมือนคนอนุรักษนิยมทั่วไปในยุคนั้น

เมื่อพิจารณาความชอบการ์ตูนของคุณฮาโตยามะจากรายชื่อเหล่านี้ สิ่งที่พอจะสรุปได้คือคุณฮาโตยามะอ่านและดูการ์ตูนในวัยเด็กและการ์ตูนเหล่านี้มีอิทธิพลต่อไปจนโต นอกจากการ์ตูนสำหรับเด็กผู้ชาย (shonen comic) ซึ่งกระตุ้นให้ฉีกตัวเองออกนอกกรอบของยุคสมัยหรือกระแสวัฒธรรมอย่างบรรดาการ์ตูนหุ่นยนต์หรือซาซาเอะซังแล้ว เขายังอ่านการ์ตูนเกี่ยวกับการเมืองที่สะท้อนเส้นทางอาชีพของตนในอนาคตด้วย การจับเรื่องการเมืองยากๆ มาผสมกับการผจญภัยดุเดือดอย่างใน Golgo 13 ยังเป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจศึกษาการเมืองระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน หรือต่อให้เป็นการ์ตูนแฟนตาซีเพ้อฝันอย่างคิทาโร่ โดราเอมอน หรือเจ้าหนูอะตอมก็ไม่ได้ให้แค่ความสนุกอย่างเดียว จินตนาการเหล่านี้ยังช่วยสนับสนุนให้เยาวชนหลุดจากกรอบความคิดที่ตีขึ้นจากการระบบศึกษาในโรงเรียนซึ่งจัดโดยผู้ใหญ่ยุคนั้นได้อีกด้วย

แม้คุณฮาโตยามะจะชอบการ์ตูนแต่เขาก็ไม่ถึงขนาดหยิบมานั่งอ่านระหว่างทำงานนะคะ เขาทำงานเป็นนักการเมืองไม่ใช่บรรณาธิการหนังสือการ์ตูน ดังนั้น ที่วัยรุ่นหลายคนหยิบการ์ตูนมาอ่านระหว่างเรียนหรือทำงานก็ไม่ใช่เรื่องโก้เก๋ค่ะ ควรทำให้ถูกกาละเทศะและคำนึงถึงความรู้สึกของคนรอบข้างด้วยแต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะซื่อสัตย์กับความชอบของตัวเองเช่นกัน ความชอบการ์ตูนของคุณฮาโตยามะอาจสรุปได้ว่าเขาเป็นนักอ่านที่ไม่ได้พิเศษไปกว่าคนอื่น ไม่ได้อ่านการ์ตูนแนวปรัชญาเข้าใจยากและไม่ได้อ่านการ์ตูนที่จงใจสอดแทรกความรู้ด้วย

เขาเป็นแค่ตัวแทนผู้ใหญ่คนหนึ่งที่หันกลับไปมองอดีตแล้วมาเล่าสู่กันฟังว่าเด็กที่อ่านการ์ตูนเมื่อหลายสิบปีก่อน บัดนี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบสังคมได้แล้ว ใครคิดว่าไม่อยากให้ลูกอ่านการ์ตูนเพราะกลัวจะเสียคนก็มองดูเขาเป็นตัวอย่างได้ค่ะ

วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11551 มติชนรายวัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น