คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง
หลังจากหยิบหนังสือการ์ตูน "ถนนสายนี้หัวใจไม่เคยลืม" หรือ Sunset on Third Street มาพลิกไปพลิกมาด้วยความสงสัยว่าเพราะเหตุใดจึงราคาแพงกว่าการ์ตูนทั่วไปตั้งเท่าตัว ไม่มีอะไรจะบอกคุณค่าของการ์ตูนเรื่องนี้ได้จนกว่าจะลงมืออ่านค่ะ ผ่านไปไม่ถึงครึ่งเล่มน้ำตาก็ซึมแล้วต้องตะโกนออกมาดังๆ ว่า "การ์ตูนดีขนาดนี้ไปซ่อนอยู่ที่ไหนในโลกตั้งนานเนี่ย!"
Sunsetฯ มีชื่อญี่ปุ่นว่า Sanchoume no Yuuhi หรือเมืองยูฮีหมู่สาม ว่าด้วยผู้คนในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ชีวิตของคนญี่ปุ่นในช่วงนั้นหากจะนิยามสั้นๆ คือเป็นช่วง "ก่อร่างสร้างตัว" ความที่ไม่ใช่ประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติเหลือเฟือนัก ดังนั้น ผู้คนยุคนั้นจึงต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยปัจจัยสี่ที่จำกัด ไม่มีสาวออฟฟิศหรือเด็กวัยรุ่นถือกระเป๋าแบรนด์เนมสะพายมือถือรุ่นล่าสุด มีแต่ผู้คนที่ทำงานโรงงานเพื่อผลิตสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูง ไม่ก็ผู้ใช้แรงงานที่มีลูกหลายคนแต่ยากจนเกินกว่าจะเลี้ยงดูไหว การ์ตูนที่สร้างขึ้นบนสิ่งแวดล้อมที่จำกัดแบบนี้จึงเปี่ยมไปด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกจนแทบไม่น่าเชื่อว่าการ์ตูนตอนสั้นๆ ไม่กี่หน้าสามารถขมวดปมและจบลงอย่างซาบซึ้ง มากกว่าการ์ตูนในปัจจุบันหลายเรื่องที่บางครั้งอ่านจนจบเล่มแล้วยังหาประเด็นไม่เจอ
ตัวอย่างตอนหนึ่งที่น่าสนใจคือ "สายลมในเดือนพฤษภาคม" เล่าเรื่องของ "มิจิโกะ" เด็กสาววัยประถมที่เกลียดวันแม่ คุณแม่ของมิจิโกะเสียชีวิตไปแล้วเธอจึงรู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกจากเพื่อนคนอื่นตลอดเวลา โดยเฉพาะในวันแม่ที่เพื่อนทุกคนตื่นเต้นกับการเย็บผ้ากันเปื้อนในวิชาการฝีมือเป็นของขวัญให้คุณแม่ของตัวเอง อยู่มาวันหนึ่งคุณน้าของมิจิโกะซึ่งหน้าเหมือนคุณแม่มาเยี่ยมที่บ้าน มิจิโกะตื่นเต้นมากค่ะ แค่พาคุณน้าไปอวดเพื่อนๆ และใช้เวลาอยู่ด้วยกันทั้งวันในวันแม่ไม่พอเสียแล้ว มิจิโกะรักคุณน้ามากถึงขนาดซื้อผ้ากันเปื้อนให้เป็นของขวัญและขึ้นรถไฟเพื่อนำไปมอบให้ด้วยตัวเอง แต่เมื่อเห็นคุณน้าอยู่กับลูก มิจิโกะจึงเข้าใจว่าอย่างไรเสีย "ก็เป็นแม่ของคนอื่น" ไม่ใช่แม่เราอยู่ดี
ความสุดยอดของผู้วาดอยู่หลังจากนี้ล่ะค่ะ เพียงแค่สองหน้าตอนท้ายทำให้เราเห็นวุฒิภาวะของมิจิโกะอย่างชัดเจน เธอทิ้งของขวัญลงกล่องจดหมายหน้าบ้านคุณน้าและจากมาด้วยน้ำตา (มีฉากสะดุดหินตอนวิ่งร้องไห้ซึ่งเป็นฉากแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งแบบคลาสสิคด้วย) หลังจากนั้นมิจิโกะยืนอยู่บนเนินจ้องมองตะวันตกดินเหนือเมืองยูฮีและสัมผัสสายลมเย็นสบายจนเธอยิ้มออกได้ อ.ไซกัน เรียวเฮย์ ผู้วาดเขียนด้วยลายเส้น "บ้านๆ" ไม่มีเทคนิคหวือหวาอะไรเลยค่ะ ภาพเหมือนเด็ก ป.สี่วาดด้วยซ้ำ แต่คนอ่านเหมือนโดนหมัดฮุคเข้ากลางหัวใจเพราะมันช่างเหมาะเจาะได้จังหวะจริงๆ สุดท้ายเธอก็กลับบ้านมาเตรียมอาหารให้คุณพ่อ อาหารชนิดนั้นคือกะหล่ำปลียัดไส้ที่คุณน้าสอนนั่นเอง อูย...โดนค่ะโดน เรียบง่ายแต่โดนใจมาก!
Sanchoume no Yuuhi ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์แล้วสองภาคชื่อ Always: Sunset on Third Street และได้รับทั้งเงินและกล่องอย่างล้นหลามนะคะ สิ่งที่เป็นจุดร่วมระหว่างเวอร์ชั่นการ์ตูนกับภาพยนตร์ไม่ใช่เนื้อเรื่องแต่เป็น "ความซาบซึ้งใจ" ใครชอบดูหนังอาจจะเฉยๆ ตอนอ่านการ์ตูน ส่วนคนชอบอ่านการ์ตูนพอดูหนังแล้วอาจจะไม่ซึ้งมากนัก แต่ถ้าดูเวอร์ชั่นที่ตัวเองถนัดรับรองต่อมน้ำตาแตกเลยค่ะ จุดร่วมอีกจุดหนึ่งของทั้งสองเวอร์ชั่นคือ "อายุเท่าไหร่ก็ซึ้ง" เพราะเนื้อเรื่องกล่าวถึงวิกฤตของคนทุกเพศทุกวัยตั้งแต่เด็กจนแก่ ดังนั้น ในบรรดาเรื่องสั้นที่ร้อยเรียงเป็นภาพชีวิตเหล่านี้ต้องมีสักเรื่องที่มาโดนใจจนน้ำตาหยดบ้างค่ะ
Sunset on Third Street จึงสมกับชื่อที่ไม่ได้หมายถึงแค่ตะวันตกดินที่งดงามในเมืองยูฮี แต่หมายถึงการชักชวนให้นักอ่านเข้าถึงความรู้สึกของบรรพบุรุษที่ต่อสู้ในยุคหลังสงครามโลกด้วยความยากลำบากทั้งกายและใจ เด็กญี่ปุ่นที่เกิดในยุคแห่งความสะดวกสบายอาจพาประเทศล่มจมได้ถ้าไม่เคยรู้เลยว่าปู่ย่าตายายสร้างชาติมาแบบไหน
การสวมแว่นของคุณปู่วัยชรา (วัยตะวันจะลับฟ้า) แล้วมองอดีตผ่านการ์ตูนเรื่องนี้จึงไม่ได้ให้แค่ความซาบซึ้งค่ะ ความรู้สึกนับถือในความพยายามของบรรพบุรุษคืออีกสิ่งที่การ์ตูนมอบให้เยาวชนในรุ่นหลังของญี่ปุ่นด้วย
วันที่ 08 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11565 มติชนรายวัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น