คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง
วันนี้ได้มีโอกาสอ่านบทความของคุณ Jason Thompson ซึ่งได้รับฉายาว่าเอนไซโคลปีเดียการ์ตูนเดินได้คนหนึ่งของวงการเรื่องสาวน้อยน่ารักในชุดทหารหวานแหววแต่มือเธอกลับถือปืนสีโลหะเงาวับขัดแย้งกับท่าทางน่าเอ็นดูของเธออย่างชัดเจน เห็นเด็กสาวตาโตถือปืนแบบนี้อย่าคิดว่านี่คือการ์ตูนสำหรับเด็กผู้หญิงนะคะ วิธีแบ่งอายุของผู้ชมตามอายุและเพศของตัวเอกในการ์ตูนใช้ไม่ได้อีกต่อไปเพราะแม้สาวน้อยอายุไม่เกินสิบขวบคนนี้จะเป็นนางเอก แต่การ์ตูนเรื่องนี้ไม่ได้ถูกสร้างให้เด็กสาววัยประถมดู นี่คือการ์ตูนสำหรับ "ชายหนุ่ม" ผู้หลงใหลวัฒนธรรมการ์ตูนล่าสุดที่แรงและทำเงินมหาศาลในญี่ปุ่นขณะนี้ "วัฒนธรรมโมเอะ" (Moe subculture) ซึ่งโดยส่วนตัวไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของตลาดโมเอะจึงทำความเข้าใจความรู้สึกของหนุ่มๆ ยากพอดู แต่ก็จะพยายามค่ะ
เริ่มที่คำว่า "โมเอะ" ก่อน เชื่อว่าหลายท่านคงคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์อย่างฮัลโลคิตตี้หรือโปเกม่อนที่น่ารักน่าเอ็นดู เวลาที่เราเห็นของ "น่ารักเกินห้ามใจ!" เราจะอุทานออกมาว่า "โมเอะ" ซึ่งมีความหมายในเชิงกรี๊ดกร๊าดว่าทำไมน่ารักแบบนี้ หากสาวๆ วัยรุ่นเห็นตุ๊กตายัดนุ่นตัวกลมแล้วชมว่าน่ารักก็คงไม่แปลก แต่หากมีชายหนุ่มกำยำล่ำสันใส่ชุด ร.ด.เดินไปหยิบพวงกุญแจคิตตี้แล้วชมว่าน่ารักจังนะตัว...คงแปลกนิดๆ ใช่ไหมคะ และนี่คือจุดเริ่มต้นของความอยุติธรรมค่ะ! ทุกวันนี้ผู้หญิงลุกขึ้นมาทำงานนอกบ้านอย่างเข้มแข็ง เธอเลิกสนใจการเย็บปักถักร้อยหรือแต่งห้องด้วยผ้าม่านลูกไม้หวานแหววแต่กลับทำงานอยู่แถวหน้าของผู้ชายอย่างภาคภูมิ ในเมื่อคุณผู้หญิงหันไปนิยมอะไรที่ดูสมชายชาตรีแบบนี้ได้ แล้วทำไมคุณผู้ชายถึงจะเปลี่ยนมาชอบอะไรน่ารักๆ สีชมพูหวานๆ บ้างไม่ได้ล่ะ
แฮ่ม...อย่างไรก็ตามผู้ชายส่วนใหญ่ไม่ได้มีสัญชาตญาณชอบผ้าลูกไม้สีชมพูหวานๆ หรือคิตตี้ประดับพลอยแวววับสีชมพูค่ะ ผู้ชายก็ยังคงชอบปืน รถยนต์ เครื่องบิน หุ่นยนต์ หรือสิ่งไม่มีชีวิตที่ดูแล้วสมชายชาตรีเหมือนเดิม แต่การทำให้ของเหล่านี้ดูน่ารักขึ้นด้วยการทาสีชมพูไม่ใช่ทางออกที่คนทั่วไปยอมรับได้นัก ลองคิดถึงชุดทหารเต็มยศสีชมพูหวานหรือหุ่นยนต์ทัดดอกไม้แล้วถือกระเป๋าลายลูกไม้สิคะ โอ้...รับไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นลองเปลี่ยนให้เด็กสาวตัวเล็กๆ ใส่ชุดทหารผูกโบถือปืนกระบอกใหญ่หรือสาวน้อยน่ารักสวมชุดเกราะแบบเดียวกับหุ่นยนต์นั่งยิ้มหวานบ้างล่ะ...ดูเข้าท่าแฮะ
นี่คือที่มาของ "โมเอะ" ในความคิดของคุณเจสันค่ะ คือแม้หนุ่มๆ จะชอบตัวการ์ตูนเด็กสาววัยประถมใส่ชุดทหารน่ารักถือปืนก็ไม่ได้หมายความว่าเขาอยากจะพรากผู้เยาว์แต่อย่างใด สาวน้อยโมเอะคนนี้คือ "สัญลักษณ์ของปืนแบบหวานแหวว" ที่ดูน่ารักขึ้นโดยไม่ต้องทาสีชมพูนั่นเอง คุณเจสันอธิบายปรากฏการณ์นี้ว่าเป็นสิ่งเดียวกับ phatic language หรือคำที่ "พูดอย่างนั้นแต่ไม่ได้หมายความอย่างนั้น" เช่น เวลาเจอหน้ากันเราถามเพื่อนว่า "ไง! กินข้าวยัง" ความจริงไม่ได้อยากถามว่าเขากินข้าวแล้วหรือยัง แค่เป็นคำทักทายเวลาเจอหน้ากันเท่านั้นเอง หรือเวลามีคนขอบคุณเราก็ตอบไปว่า "ยินดีให้บริการค่ะ" ทั้งที่เราอาจจะไม่ได้ยินดีก็ได้แต่ต้องการตอบคำขอบคุณด้วยความถ่อมตนแก่ผู้ที่กล่าวขอบคุณเรานั่นเอง
บางทีหนุ่มๆ ในวัฒนธรรมโมเอะอาจจะชอบตัวการ์ตูนเด็กสาวตาโตสวมที่คาดผมหูแมว ใส่ถุงมือแมว และติดหางแมวไว้ที่ก้นโดยไม่ได้มีรสนิยมชอบจับลูกหลานที่บ้านมาแต่งชุดแมวแต่อย่างใด เขาไม่ได้ชอบแมวด้วยค่ะ แต่ชอบ "ความเป็นแมว" เช่น ชอบมาเคล้าแข้งเคล้าขาน่ารัก บางทีก็เข้ามาอ้อนเราแต่บางครั้งก็แสนงอนทำเหมือนเป็นเจ้านายเราซะแทน นิสัยแบบแมวๆ คือความชอบที่ถูกเปลี่ยนรูปแบบกลายเป็นสาวหูแมวนั่นเอง โอ้...หวังว่าคงจะเข้าใจถูกต้องนะคะ วัฒนธรรมโมเอะช่างลึกล้ำจริงๆ
ครั้งหน้ามาต่อเรื่องการเปลี่ยนให้สิ่งไม่มีชีวิตดูโมเอะขึ้นในขั้นสูงสุดตามทฤษฎี moe anthropomorphism บ้างค่ะ
วันที่ 06 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11593 มติชนรายวัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น