22 มิถุนายน 2551

"Bootleg"กับความน่าสะพรึงกลัวของร้านขายสินค้าการ์ตูน

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดยวินิทรา นวลละออง

Bootleg ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงรองเท้าบู้ทแบบสวมถึงน่องนะคะ แต่หมายถึง "สินค้าผิดกฎหมาย" ค่ะ ในวงการอนิเมทอยฟิกเกอร์ส่วนใหญ่จะหมายถึงสินค้าที่ผลิตขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ พูดง่ายๆ คือ "ของปลอม" น่ะค่ะ

ที่จู่ๆ นึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะเมื่อวานอารมณ์ดีอยากได้เคโรโคะขนาดเท่าตัวจริง 1:1 มาตั้งเป็นอนุสรณ์ที่หัวเตียงซักหน่อยค่ะ ตามหาใน eBay ซึ่งเป็นเว็บไซต์ประมูลและร้านค้า online ที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นไปตามคาด มีเคโรโระจริงๆ ด้วยค่ะ

ค้นไปค้นมาด้วยความมันมือก็ต้องตกตะลึงพรึงเพริดเมื่อไปเจอพวงกุญแจ สร้อยคอ แหวน และสารพัดของที่ระลึกจากอนิเมและเกมดังๆ มากมาย ที่สำคัญ...ถูกจนแทบเสียสติ! จำได้ว่าของสะสมเหล่านี้เคยเห็นในร้านขายของที่ระลึกในโรงภาพยนตร์ใหญ่ๆ ที่มีสาขาอยู่ทั่วกรุงเทพฯ ในร้านนอกจากมีของกระจุกกระจิกแล้ว ยังมีโมเดลกันดั้มเวอร์ชั่นประหลาดๆ ที่ไม่บอกว่าชื่ออะไร,สมุดภาพการ์ตูนราคาถูก,และตุ๊กตาโทโทโร่ที่ราคาถูกจนน่าใจหาย

สืบหาในอินเตอร์เน็ตถึงได้ทราบภายหลังว่าของเหล่านี้คือ Bootleg (fake,replica) หรือของปลอมค่ะ

ของสะสมที่เกี่ยวข้องกับการ์ตูนปลอมๆ อาจจะยังไม่ค่อยคุ้นตานักอ่านการ์ตูนชาวไทยเท่าไรนัก ส่วนหนึ่งเพราะของสะสมการ์ตูนไม่ใช่ของที่ขายแพร่หลายในไทยเท่าไร และอีกส่วนหนึ่งก็คือของที่เราคิดว่าเป็นของจริง...กลับเป็นของปลอม

อ่านเรื่องเล่าของผู้ค้าใน eBay รายหนึ่งซึ่งอยู่ทางฝั่งอเมริกาแต่ไปช็อปปิ้งที่ฮ่องกงเพื่อหาของมาขาย เขาต้องตกใจเมื่อพบว่าฟิกเกอร์พลาสติครูปนางเอกการ์ตูนดังของที่นี่ราคาถูกกว่าที่เขาสั่งจากญี่ปุ่นถึงประมาณพันกว่าบาท! ดูจากกล่องแล้วไม่เห็นความแตกต่างแม้แต่น้อยค่ะ เขาจึงถามคนขายว่าทำไมมันถูกขนาดนี้และคำตอบที่ได้รับคือ "มันเป็นเวอร์ชั่นจีน"

ชายหนุ่มผู้ตกตะลึงกับโลกของ "เวอร์ชั่นจีน" จึงซื้อมาเปรียบเทียบกับของที่บ้านและพบว่ากล่องนั้นไม่ต่างกันเลยแต่คุณภาพพลาสติครวมถึงการลงสีเข้าขั้นแย่ และเมื่อเขาเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนๆ ฟัง ปรากฏว่ามีผู้ถูกหลอกลวงเช่นนี้มากมายและส่วนใหญ่ซื้อจากผู้ขายทางอินเตอร์เน็ตในประเทศแถบเอเชีย (เช่น ฮ่องกง,ไต้หวัน, สิงคโปร์...โชคดีไม่มีไทย)นี่คือของปลอมที่เย้ยกฎหมายที่สุดค่ะ "ของที่จงใจปลอมทั้งดุ้น" นอกจากนั้นยังมีของปลอมแบบอื่นๆ ที่ต้องพึงระมัดระวังเสมอนะคะ เช่น สมุดภาพที่หน้าตาคล้ายเวอร์ชั่นญี่ปุ่นแท้แต่ราคาถูกกว่ากัน 3 เท่า พิมพ์ด้วยภาษาจีน คุณภาพกระดาษแย่กว่าญี่ปุ่นมาก สีเพี้ยน มีบาร์โค้ดและชื่อโรงพิมพ์ดูน่าเชื่อถือแต่ไม่มีเขียนลิขสิทธิ์ถูกต้องจากเจ้าของในญี่ปุ่น..นั่นคือปลอมค่ะ

ต่อมาคือกันดั้มจีน (ซึ่งสาวกกันดั้มบางท่านให้การยอมรับอย่างออกนอกหน้าเพราะถูกกว่ากันหลายอยู่) ซึ่งจะมีภาพกันดั้มแบบญี่ปุ่นแต่ไม่มีเขียนรายละเอียดว่าชื่ออะไรเพื่อป้องกันปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ค่ะ (แต่รูปที่กล่องใช่เลย) พวกนี้แม้ราคาถูกกว่า 2-5 เท่าแต่คุณภาพพลาสติกต่างกันอย่างชัดเจน (เผลอซื้อมาแล้วค่ะ) ตอบรับตลาดคนชอบของถูกแต่ไม่สนคุณภาพ

ตุ๊กตายัดนุ่น (Plush toy) ปลอม ไม่น่าเชื่อว่ามันวางขายอยู่ในห้างสรรพสินค้าใกล้ๆ ชั้นวางของแท้เลยค่ะ!! มันคือหมอนอิงเคโรโระ 199 บาท (ของจริงตัวเท่าฝ่ามือก็เหยียบพัน) เนื่องจากไม่มีป้ายอะไรติดจึงบอกยากว่าอันไหนปลอมอันไหนจริง แต่ถ้าหน้าไม่เหมือนให้เดาก่อนว่าปลอมค่ะ ผลิตจากแถวๆ เลยนครปฐมไปหน่อยนี่เอง ดังนั้นการซื้อของในห้างก็ใช่ว่าจะได้ของจริงกลับมา (มีห้างดังหรูหราห้างหนึ่งขายคิตตี้ปลอมคู่กับของจริงเลย)

ฟิกเกอร์ (ตุ๊กตาพลาสติค PVC) ปลอม พวกนี้ดูไม่ยากค่ะเพราะคุณภาพแย่กว่าของจริงอย่างชัดเจน มีตั้งแต่เป็นพวงกุญแจขายรวมเป็นถุงใหญ่ๆ หลายสิบตัว 500 บาทเอง ไปจนถึงฟิกเกอร์สาวน้อยแพคในกล่องเรียบร้อยก็ยังปลอมได้เช่นกัน พวกนี้เขาจะไม่หลอกว่าเป็นของจริงแล้วขายราคาเท่าของจริงเนื่องจากต้องการขายคนชอบของถูกอยู่แล้ว ดังนั้นแยกไม่ยาก

และสุดท้ายคือ Anime goods หรือของสะสมการ์ตูนปลอมที่เป็นรุ่น "จีนประดิษฐ์" ที่พบเกร่อคือพวงกุญแจ,สร้อยคอ,ไฟแช็ก,เสื้อยืด,หมวก,อุปกรณ์คอสเพลย์ ซึ่งดีไซเนอร์โรงงานปลอมจะนำของจริงมาหล่อแบบแล้วดัดแปลงเป็นสินค้าให้เลือกหลากหลายชนิด ดูไม่ยากเช่นกันเพราะคุณภาพแย่อย่างรุนแรง ที่สำคัญคือของแท้เขาไม่เคยทำสินค้าแบบนี้ออกมาค่ะ

ที่กล่าวมาทั้งหมดคือของที่หลงซื้อมาแล้วทั้งนั้นค่ะ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราต้องระวังตัวและหาข้อมูลก่อนซื้อเสมอ โชคดีที่ bootleg เหล่านี้ผลิตด้วยคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานมากจึงแยกไม่ยากสำหรับผู้ที่มีประสบการณ์ แต่อย่างไรก็ตาม พึงระลึกเสมอว่าการซื้อของปลอมด้วยเหตุผลว่าเราชอบแต่ไม่มีเงินซื้อของจริงก็อาจทำให้ผู้ผลิตของจริงเจ๊งได้เหมือนกัน

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้ซื้อของจริงค่ะ! ว่าแต่..ตกลงเคโรโระ 1:1 ตัวนั้นมันปลอมหรือจริงล่ะเนี่ย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น