คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง
"ช็อปปิ้ง" หมายถึงการซื้อของในความคิดของคนทั่วๆ ไป แต่สำหรับบางคน การช็อปปิ้งเป็นมากกว่าแค่ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค แต่มันคือ "พิธีกรรม" ที่ส่งผลทางจิตใจในหลายเรื่อง เช่น ผ่อนคลายความเครียด สนุกสนานเฮฮาเหมือนเที่ยวสวนสนุก หรืออาจจะเป็นเป้าหมายในชีวิตเพื่อกระตุ้นให้อดทนสู้ทำงานอย่างมุ่งมั่นโดยหวังว่าสักวันจะเก็บเงินได้เพียงพอที่จะซื้อของที่หมายปอง ถ้าเห็นคนใกล้ตัวบ้าช็อปปิ้งแล้วรู้สึกหงุดหงิด ลองอ่าน "โตเกียว อลิซ" ดูนะคะ รับรองว่าจะหงุดหงิดน้อยลง (เพราะไม่อยากเชื่อว่าจะมีคนบ้าช็อปได้ขนาดนี้)
"อาริสุกาวะ ฟู" นางเอกของเรื่องคือเด็กสาวทำงานออฟฟิศธรรมดาที่นับถือการช็อปปิ้งเป็นลัทธิประจำใจ หลายคนอาจใช้ความสงบ ความดี หรือบุคคลที่นับถือเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว แต่สำหรับฟูแล้ว เธอปรารถนาเพียงการช็อปปิ้ง ขอให้ได้ซื้อของเถอะ สิ่งร้ายๆ ก็จะถูกปัดเป่าให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
ปัญหาที่เธอมักจะพบเป็นประจำคือตัวเลขในบิลบัตรเครดิตปลายเดือนค่ะ เพราะทั้งที่คิดว่าจะประหยัดเงินอดมื้อกินมื้อเพื่อสอยกระเป๋าชาแนลรุ่นคัมบอนไลน์ (Cambon line) สีชมพูน่ารักมานอนกอด (เธอคิดจะเอามากอดบนเตียงจริงๆ) แต่พอเผลอเห็นข้าวของที่ลดราคาตามห้างทำตาระยิบระยับแล้วขอไปอยู่ด้วย เธอก็ใจอ่อนซื้อมาจนค่าใช้จ่ายเกือบติดลบทุกเดือน แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ลำบากที่สุดแต่ฟูก็ไม่เคยเข็ด เธอยังคงช็อปต่อไปและมุ่งมั่นฝันถึงคัมบอนไลน์ทุกคืน
ในที่สุดวันที่ต้องการก็มาถึง ฟูชวนเพื่อนสาวไปห้างสรรพสินค้าด้วยกันเพื่อซื้อคัมบอนไลน์ให้ได้ เธอถึงขนาดต้องเอาที่ปิดตามาปิดไว้เพื่อไม่ให้เผลอสบสายตาออดอ้อนจากบรรดาสินค้าที่เรียงรายอยู่ก่อนถึงเคานท์เตอร์กระเป๋าชาแนล (ขนาดนั้นเลยนะ) แม้จะเตรียมการอย่างดี แต่ช่วงลดถล่มราคาของบาร์นนี่ส์ก็ทำให้ฟูและเพื่อนขาดสติ ช็อปกระจายจนสิ้นเนื้อประดาตัวและต้องพลาดหวังจากชาแนลสุดรักอีกครั้งค่ะอ่านแล้วก็ตลกทั้งฟูและเพื่อนของเธอค่ะ ลองคิดเล่นๆ ดูว่าถ้าฟูชอบชาแนลมาก อย่างนี้ไปทำงานเป็นพนักงานขายกระเป๋าชาแนลเลยไม่ดีกว่าเหรอ
คำตอบอยู่ในตอนถัดไปไม่กี่ตอนค่ะ เมื่อฟูบ้าช็อปปิ้งอีกครั้งและซื้อช็อกโกแลตมามากจนกินไปถึงชาติหน้าก็ไม่หมด เธอจึงนำมาจัดเป็นดิสเพลย์แล้วยกให้หัวหน้างานของเธอค่ะ เดาว่าเป็นการถ่ายเทสต๊อคสำหรับนักช็อปเพื่อเตรียมพื้นที่ให้ซื้อของมาเพิ่มอีกได้ ฟูมอบให้หัวหน้าในวันวาเลนไทน์โดยไม่คิดอะไรแต่รู้สึกว่าหัวหน้าจะคิดค่ะ เขาเห็นรูปกระเป๋าชาแนลบนโต๊ะทำงานของฟูและทราบว่าเป็นสิ่งที่เธออยากได้ ก็เลยซื้อมาให้เป็นของขวัญขอบคุณซะเลย
อ่านถึงตรงนี้แล้ววี้ดวิ้วในใจค่ะ คิดว่าฟูคงดีใจกรี๊ดกร๊าดที่ได้ของที่ต้องการแน่นอน แต่...ไม่ใช่อย่างนั้นเลยค่ะ! หัวหน้าไม่เข้าใจถึงวิญญาณนักช็อป! สิ่งที่เธอต้องการไม่ใช่กระเป๋าชาแนล แต่เป็นความรู้สึกที่ได้เก็บเงินและเฝ้ามองอยู่ทุกวัน จนวันที่เงินถึงก็เดินไปซื้อมานอนกอดต่างหาก! ของฟรีที่มีคนยื่นให้มันไร้ค่าสิ้นดี ส่งผลให้ฟูรับกระเป๋ามาและวางไว้ห่างๆ ด้วยความเสียใจ
แม้จะไม่ค่อยเข้าใจสิงห์นักช็อปเท่าไรแต่ก็เห็นใจฟูค่ะ ศรัทธาของคนเราตีความด้วยสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในสังคมเข้าใจไม่ได้ทั้งหมดหรอก แต่ก็ยังงงอยู่ดี งงได้สองวันก็บรรลุเลยค่ะ เมื่อฝากเพื่อนซื้อเครื่องสำอางในร้าน duty free สนามบินเพราะถูกกว่าในห้างสรรพสินค้า เพื่อนก็ใจดีน่ารักมากค่ะ ซื้อแล้วส่งไปรษณีย์มาให้โดยคิดแค่ค่าสินค้ากับค่าส่ง ไม่คิดค่าเหนื่อยหรือค่าแรงแม้แต่นิดเดียว ทีแรกนึกว่าเขาคงเกรงใจเรา แต่ไม่ใช่ค่ะ เธอบอกว่า...
"มีอีกก็ฝากอีกได้นะ ถ้าไม่รู้ราคาก็ถามได้ เรามีบินบ่อยๆ (เป็นแอร์ฯ น่ะค่ะ) รับรองไม่คิดค่าแรง เพราะเราชอบช็อปปิ้งน่ะ"
สรุปว่าเธอชอบความรู้สึกที่ได้เดินดูสินค้า เปรียบเทียบ ตัดสินใจ จ่ายตังค์ (ถ้าจ่ายน้อยจะยิ่งดี หรือเพื่อนจ่ายแต่เราขอไปเดินช่วยเลือกก็จะดีมาก) หลังจากซื้อแล้ว ถ้าเป็นของชอบก็อาจจะเอากลับมากอด แต่ถ้าเฉยๆ อาจจะไม่ใช้ไม่แตะเลยก็ได้ค่ะ นี่น่ะหรือ...ลัทธิช็อปปิ้ง
คงต้องลองศึกษาสัจธรรมนักช็อปจากการ์ตูนเรื่องนี้อีกซักหน่อยค่ะ แค่ทุกวันนี้ช็อปการ์ตูนเดือนละหลายพันบาทก็แทบต้องกินแกลบแทนข้าวอยู่แล้ว อย่าต้องให้ช็อปปิ้งขึ้นสมองแบบสาวฟูเลยค่ะ งานนี้กระทั่งแกลบอาจจะไม่มีให้กินก็ได้
จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับวันที่วันที่ 03 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11103
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น