26 กรกฎาคม 2552

Eden of the East ราชาในต้นศตวรรษใหม่ (3)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

สองสัปดาห์ก่อนเล่าให้ฟังถึง Eden of the East แอนิเมชั่นที่เพิ่งฉายจบ 11 ตอนทางโทรทัศน์ในญี่ปุ่นซีซั่นฤดูใบไม่ผลิที่ผ่านมา โดยกล่าวถึงการค้นหาผู้ที่สามารถ "ช่วยเหลือญี่ปุ่น" ได้จากการสุ่มเลือกคนขึ้นมา 12 คน (เรียกว่าเซเลเซา) และให้เงินหมื่นล้านเยนพร้อมกับโทรศัพท์ที่สั่งการได้ทุกอย่างผ่านสุภาพสตรีชื่อ Juiz หนึ่งในเซเลเซาคือ "ทาคิซาว่า อากิระ" เด็กหนุ่มที่ไม่ได้มีความสามารถพิเศษหรือเก่งอะไรเลย สิ่งเดียวที่เขาทำคือ "สิ่งที่ควรทำ" เท่านั้นเอง และสิ่งที่ควรทำสำหรับเขาก็แค่ช่วยคนหลายหมื่นให้รอดชีวิตจากมิซไซล์ที่ยิงถล่มญี่ปุ่น และดึงเอาคนเก่งแต่ไม่รู้จักทำงานทำการ (NEETs หรือคนที่พอใจกับการอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ทำงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่มีแรงจูงใจที่จะพัฒนาตัวเองเพื่อส่วนรวม ได้แต่ทำงานพาร์ทไทมค์ค่าแรงต่ำไปวันๆ) ให้มาอุทิศตัวเพื่อคนอื่นด้วย

"โมริมิ ซากิ" บัณฑิตจบใหม่จากมหาวิทยาลัยไปเที่ยวอเมริกากับเพื่อนและพบทาคิซาว่าที่ยืนโป๊อยู่หน้าทำเนียบขาวค่ะ เธอเป็นเด็กสาวหน้าตาสวยและมีความสามารถพิเศษในการ "มองเห็นคุณค่าของผู้อื่น" เธอเป็นสมาชิกของ "ชมรมรีไซเคิล" ในมหาวิทยาลัยที่นำของเก่ามาซ่อมและขายใหม่อีกครั้ง ความที่ซาประเมินคุณค่าได้ เธอกับ "มิจจอง" เพื่อนสาวในชมรมจึงร่วมกันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ชื่อว่า "Eden of the East" ขึ้นโดยใช้งานเป็น search engine รูปภาพ พูดง่ายๆ คือแค่ถ่ายภาพมา เราก็จะสามารถบอกได้ว่าส่วนต่างๆ ในภาพนั้นคืออะไร เป็นคนชื่ออะไร เป็นสถานที่หรือสิ่งของอะไรรุ่นไหน เมื่อโปรแกรมนี้ใช้การได้ในมือถือ ความนิยมจึงขยายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะเพียงแค่ถ่ายภาพจากกล้องบนโทรศัพท์ เราก็บอกได้แล้วว่าคนคนนี้เป็นใครจากฐานข้อมูลที่รวบรวมไว้ทั้งหมดค่ะ

ความน่าทึ่งของโปรแกรม Eden of the East คือมันไม่ได้เกิดจากคนเก่งเพียงคนเดียว จริงอยู่ว่ามิจจองพัฒนาขึ้นบนแนวคิดของซากิ แต่คนที่เติมฐานข้อมูลให้เต็มก็คือสมาชิกของ Eden of the East นั่นเอง เป็นการสื่อความหมายในทางเดียวกับทาคิซาว่านั่นคือคนที่จะประสบความสำเร็จและช่วยญี่ปุ่นได้ไม่จำเป็นต้องเก่งเทพ แต่เป็นคนที่ดึงให้คนเก่งอื่นๆ มาร่วมมือกันได้ก็พอแล้ว

ทาคิซาว่าเฉลยในตอนท้ายซีรีส์ว่าตอนแรกเขาเองก็ไม่ได้มุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อการ "ช่วยเหลือญี่ปุ่น" นักหรอก แต่เขาเปลี่ยนความคิดเพราะ "มีคนคนหนึ่งเห็นคุณค่าในตัวเขา" ซากินั่นเองค่ะ ตรงนี้โดนใจนะคะ คนเก่งหลายคนเป็น NEET และไม่คิดจะทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อใครเพราะทำไปก็ไม่มีใครเห็นคุณค่า Eden of the East จึงบอกกับเราว่าการดึงให้คนกลุ่มนี้ลุกขึ้นมาเสียสละทำได้โดยให้ "โอกาส" นั่นเองและโอกาสที่ทาคิซาว่าได้รับก็คือโทรศัพท์วิเศษในมือของเขา

โดยภาพรวม นี่คือแอนิเมชั่นที่ปฏิวัติแนวคิดการเป็นคนเก่งในต้นศตวรรษที่ 21 โดยการบอกว่าคนเก่งที่ไม่ใช้ความเก่งของตัวเองเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมถือว่าไม่มีค่า ดังนั้น สิ่งที่ญี่ปุ่นต้องทำในตอนนี้ไม่ใช่พัฒนาการศึกษาเพื่อทำให้คนญี่ปุ่นแต่ละคนมีความสามารถเฉพาะตัวสูงอีกแล้ว แต่เป็นการหาทางจูงใจให้คนเก่งที่ซ่อนตัวอยู่ในมุมมืดของสังคมกล้าเดินออกมาใช้ความสามารถของตัวเองในการพัฒนาชาติบ้านเมืองต่างหาก

แอนิเมชั่นเรื่องนี้ได้วง Oasis มาทำเพลงเปิดให้เลยค่ะ และหลายเพลงในเรื่องก็ออกมาได้จังหวะเหมาะให้เราน้ำตาร่วงทุกที สิ่งที่เซอร์ไพรส์ที่สุดในห้าวินาทีสุดท้ายของตอนที่ 11 คือข่าวจากทีมผู้สร้างเขียนบอกว่า "อีก 2 ตอนที่เหลือเราจะฉายเป็นภาพยนตร์ในโรงนะจ๊ะ รอดูปลายปีนี้และต้นปีหน้าจ้ะ" เท่านั้นล่ะค่ะ! กรี๊ดลั่นห้องด้วยความดีใจและเสียใจทันที ที่ดีใจเพราะเรื่องนี้เพิ่งดำเนินมาได้ครึ่งทางเท่านั้นเอง เนื้อเรื่องยังมีปมให้แก้อีกเยอะเลยค่ะ แต่ที่เสียใจคือเราจะเหาะไปดูในโรงที่ญี่ปุ่นได้ยังไงกันล่ะเนี่ย

จบแอนิเมชั่นดีๆ ไปอีกหนึ่งเรื่องแล้ว แม้คนดูแอนิเมชั่นจะไม่เยอะนักเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรโลก แต่ถ้าลองคิดว่าค่านิยมดีๆ แบบนี้เปลี่ยนให้คนดูแอนิเมชั่นกลุ่มหนึ่งกลายเป็นคนที่มีหัวคิดมากขึ้นกว่าเดิม การ์ตูนก็เป็นสื่อที่ใช้สร้างเยาวชนวันนี้ให้เป็นผู้ใหญ่ที่สังคมต้องการในวันหน้าได้อย่างดีเลยล่ะค่ะ

วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11460 มติชนรายวัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น