22 มิถุนายน 2551

Dragon Zakura เข้ามหาวิทยาลัยน่ะเรื่องขี้ผง


คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

คิดว่าประโยคข้างบน พระเอกของเรื่อง Dragon Zakura หรือ "นายซ่าท้าเด็กแนว" คงพูดกรอกหูนักเรียนอยู่เป็นประจำค่ะ ที่จริงการ์ตูนเรื่องนี้เคยยกมาพูดไปแล้วพร้อมๆ กับช่วงที่ละครญี่ปุ่นซึ่งสร้างจากการ์ตูนเรื่องนี้กำลังฉายอยู่พอดี แต่แล้วหนังสือการ์ตูนก็ขาดช่วงไปนานมาก นานจนลืมเรื่องนี้ไปแล้ว เพิ่งได้ฤกษ์คลอดเล่ม 4 มาไม่กี่วันนี้เอง

"นายซ่าท้าเด็กแนว" เป็นการ์ตูนที่ได้รับรางวัลการ์ตูนยอดเยี่ยมประจำปี 2005 จากสำนักพิมพ์ Kodansha ซึ่งแจกรางวัลทุกปีสำหรับการ์ตูนและผู้รังสรรค์การ์ตูนผู้ทรงคุณค่า หลายเรื่องที่ได้รับรางวัลนี้ไม่ใช่การ์ตูนมหากาพย์ยิ่งใหญ่หรือยอดขายถล่มทลาย แต่เป็นการ์ตูนที่มีศิลปะการเล่าเรื่องได้น่าติดตาม เนื้อหาคุ้มค่าต่อการเสียเวลาอ่าน และสะท้อนภาพแนวคิดร่วมสมัยของญี่ปุ่นผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ ในการ์ตูนได้อย่างน่าชื่นชม จึงไม่แปลกที่ "นายซ่าฯ" จะเหมาะสมกับรางวัลนี้ที่สุดสำหรับประเทศที่คิดว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ต่างจากการออกรบ

ซากุระงิเป็นทนายความจนๆ ที่ตัดสินใจเข้าไปทวงหนี้โรงเรียนมัธยมปลายริวซัง โรงเรียนซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมคนหัวขี้เลื่อยและเด็กไม่เอาไหน เขาเห็นว่าการปิดโรงเรียนไม่ใช่ทางแก้ปัญหาจึงเสนอโครงการสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียนด้วยการตั้งเป้าหมายว่าจะต้องมีนักเรียนจากริวซังเข้ามหาวิทยาลัยโตเกียวให้ได้! สำหรับความรู้สึกของคนญี่ปุ่นยุคเก่า มหาวิทยาลัยโตเกียวคือสุดยอดของมหาวิทยาลัยสำหรับคนเก่งค่ะ ทุกคนเชื่อว่าจบมหาวิทยาลัยนี้ย่อมมีอนาคตที่สดใสรออยู่แน่นอน (แม้ในความเป็นจริง ปัจจุบันนี้มีมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าในญี่ปุ่นอีกหลายแห่งที่สอนบางสาขาวิชาแจ๋วกว่ามหาวิทยาลัยโตเกียวเพียบ)

ในเล่ม 4 เล่ามาถึงหน่วยกล้าตาย 2 คน ที่ยินดีเข้าคอร์สเรียนพิเศษของซากุระงิ ติวเข้ม 1 ปีเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยโตเกียวให้ได้ ทั้งสองคนกำลังเรียนภาษาอังกฤษค่ะ เด็กไทยบางคนกลัวภาษาอังกฤษเพราะพูดไม่เก่ง และเด็กยุคเก่าหลายคนเรียนแต่ไวยกรณ์โดยไม่ทราบวิธีการใช้ภาษาในชีวิตประจำวันด้วยซ้ำ แต่เชื่อไหมคะว่าญี่ปุ่นลำบากกว่าเราค่ะ

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษเลยก็อยู่ได้ เพราะทุกอย่างในบ้านเมืองเขาหาภาษาอังกฤษได้น้อยมากๆ ประกอบกับลักษณะคำในภาษาญี่ปุ่นไม่มีตัวสะกดและมีเสียงวรรณยุกต์ไม่หลากหลายนัก (ของไทยผันได้ตั้ง 5 เสียงแถมตัวสะกดได้เกือบทุกแบบ) ดังนั้น เวลาคนไทยพูดภาษาอังกฤษจึงฟังง่ายกว่าคนญี่ปุ่นพูด

เริ่มต้นแบบนี้แล้วรู้สึกภาคภูมิใจขึ้นไหมคะ ในการ์ตูนเรื่องนี้ก็หยิบยกความกลัวภาษาอังกฤษของชาวญี่ปุ่นมาพูดเหมือนกันค่ะ ครูพิเศษบอกกับนักเรียนว่าในบรรดาเด็กที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยโตเกียว มีน้อยคนเหลือเกินที่จะเก่งภาษาอังกฤษ และคำว่าเก่งภาษาอังกฤษก็ใช่ว่าจะต้องพูดกับฝรั่งได้เหมือนผีฝรั่งเข้าสิงเสียหน่อย ข้อสอบภาษาอังกฤษเข้ามหาวิทยาลัยโตเกียวไม่ได้ทดสอบว่าเราเก่งภาษาอังกฤษแต่ทดสอบว่าเราใช้ภาษาอังกฤษพื้นฐานสำหรับการเรียนมหาวิทยาลัยได้หรือไม่ต่างหากค่ะ

แบบนี้ก็สบายสิคะ ไวยกรณ์พื้นฐานอาจจำเป็น แต่สิ่งที่พบในวิชามารเรียนลัดของการ์ตูนเรื่องนี้คือการ "จำประโยคพื้นฐาน" ค่ะ ข้อสอบไม่ได้มีอะไรซับซ้อนมาก เพียงแค่เราจำความรู้พื้นฐานให้ได้และระวังไม่ให้เขียนผิด แค่นี้ก็เพียงพอแล้วค่ะ

สิ่งที่ได้รับตอนอ่านเล่ม 4 จบไม่ใช่เทคนิคการสอบภาษาอังกฤษ แต่เป็นความเข้าใจถึงธรรมชาติของวิชาและการสอบ ซากุระงิแสดงให้เราเห็นว่าคนเก่งอาจสอบได้คะแนนดี แต่คนที่รู้หลักการทำข้อสอบจะได้คะแนนดียิ่งกว่า เพราะข้อสอบไม่ใช่ตัววัดว่าเราโง่หรือฉลาดแต่วัดว่าความรู้ส่วนที่เขาต้องการให้มี เรามีและแสดงให้เห็นว่ามีจริงได้แค่ไหน ดังนี้ ถ้ามีความรู้เยอะแต่ไม่รู้จักดึงออกมาใช้หรือนำเสนอได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ย่อมสอบได้คะแนนไม่ดีเหมือนกัน

แต่แค่เทคนิคดีก็ใช่ว่าชีวิตจะประสบความสำเร็จนะคะ ไม่อย่างนั้นคนที่เรียนในโรงเรียนกวดวิชาก็ต้องสอบติดมหาวิทยาลัยดีๆ กันหมดแล้วสิ

คำตอบสุดท้ายที่ซากุระงิบอกเราคือต่อให้เทคนิคล้ำเลิศเพียงใด ความใส่ใจทุ่มเทต่างหากที่เป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จ

ยาจิม่า หนึ่งในสองนักเรียนคอร์สติวเข้มพิเศษของซากุระงิต้องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยโตเกียวให้ได้เพื่อพิสูจน์ให้ครอบครัวเห็นว่าเขาไม่ใช่เด็กเหลือขอ ความไม่มั่นใจในตัวเองของเขาทำให้ท้อและเป๋ไปบ้างเหมือนกัน ส่วนมิซึโนะต้องการเปลี่ยนชีวิตตัวเองจากวังวนของครอบครัวที่สิ้นหวัง เธอจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากสอบเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ให้ได้และทำงานเลี้ยงตัวเอง สิบกว่าปีที่ทั้งสองใช้ชีวิตขาดทุนมาตลอด จึงหวังว่ายอมขาดทุนยิ่งกว่าที่ผ่านมาโดยการตั้งใจเรียนอย่างยากลำบากเพื่อหวังผลให้ช่วงชีวิตที่เหลืออีกหลายสิบปีมีแต่กำไร

เป็นการ์ตูนที่ดีและเหมาะกับศักราชใหม่หลังประกาศผลสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบช่วงนี้เลยค่ะ หากอ่านแล้วเกิดแรงฮึดขึ้นมาตั้งแต่ต้นปีการศึกษาแบบนี้ น้องๆ ที่กำลังเตรียมสอบหรือรอสอบใหม่ปีหน้าจะได้มีความหวังว่าความพยายามอยู่ที่ไหน ใช่ว่าจะมีแต่ความพยายามอยู่ที่นั่น

ความสำเร็จก็อยู่ด้วยค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น: