28 พฤศจิกายน 2552

ไคจิ กลโกงเกมมรณะ

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นการ์ตูนที่กล่าวถึงพระเอกนิสัยไม่ดีค่ะ อาจมีพระเอกแนวแอนตี้ฮีโร่ที่ฉลาดแกมโกงและชั่วร้าย หรือพระเอกที่จำใจลุกขึ้นมาปฏิวัติเพราะความดีหรือความยุติธรรมไม่อาจตอบคำถามในใจเขาได้ แต่โดยส่วนใหญ่พระเอกมักมีจุดยืนร่วมกันที่ "ความฉลาด" เราคงหงุดหงิดน่าดูถ้าพระเอกโง้โง่แถมเลวอีกต่างหาก แต่ปรากฏการณ์ที่น่าหงุดหงิดนี้กลายมาเป็นจุดขายสำคัญของ "ไคจิ กลโกงเกมมรณะ" หรือ Gambling Apocalypse Kaiji ซึ่งหากจะมองแต่ผิวเผินแล้ว การ์ตูนเรื่องนี้เต็มไปด้วยคุณสมบัติของการ์ตูนที่ไม่น่าจะขายออก ได้แก่ วาดไม่สวย, ตัวเอกไม่หล่อ, เนื้อเรื่องอืดอาด, พระเอกเอาแต่ฝันหวานถึงความร่ำรวยแต่กลับเล่นการพนัน, ยึดหลักทำเลววันละนิดจิตแจ่มใสด้วยการเจาะยางรถยนต์และขูดรถชาวบ้าน, พอคิดอะไรไม่ออกก็ร้องไห้, ไคลแมกซ์ของเรื่องเป็นเกมเป่ายิงฉุบ เป็นต้น แต่ถ้ามองข้ามคุณสมบัติด้านลบเหล่านี้แล้วค่อยๆ พลิกอ่านอย่างใจเย็นก็จะพบว่าการ์ตูนเรื่องนี้ดีกว่าที่คิด สมกับที่ได้รับรางวัลโคดันฉะมังก้าอวอร์ดประเภทการ์ตูนทั่วไปในปี 1998 ซึ่งเป็นปีที่ 3 หลังจากซีรีส์นี้เปิดตัว

"ไคจิ" เป็นเด็กหนุ่มที่ตัดสินใจเดินทางเข้ามาหางานทำในโตเกียวหลังจากจบชั้นมัธยมปลาย แต่ผลจากเศรษฐกิจตกต่ำประกอบกับเป็นคนที่มนุษยสัมพันธ์ไม่ดีนักทำให้ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาเขาไม่สามารถหางานดีๆ ทำได้เลย นอกจากเป็นลูกจ้างชั่วคราวค่าแรงต่ำ ไคจิใฝ่ฝันถึงความร่ำรวยแต่ตัวเองกลับดื่มเหล้าเล่นพนันให้หมดไปวันๆ ทุกครั้งที่เห็นรถยนต์หรูหราราคาแพงเป็นต้องอิจฉาตาร้อนและเข้าไปเจาะยางไม่ก็ขูดขีดรถจนเป็นรอยโดยอ้างว่าคนที่ขับรถแพงขนาดนี้ต้องเป็นคนไม่ดีที่หากำไรจากคนอื่นและหนีภาษีแน่ๆ เป็นพระเอกที่เปี่ยมด้วยคุณสมบัติของคนขี้แพ้อย่างครบถ้วนเลยค่ะ

ชีวิตของไคจิเปลี่ยนไปเมื่อวันหนึ่งมียากูซ่ามาบอกข่าวร้ายว่าเพื่อนที่ไคจิเคยเซ็นชื่อค้ำประกันเงินกู้เมื่อนานมาแล้วเกิดหายตัวไป ไคจิจึงต้องแบกรับภาระหนี้ที่เหลือซึ่งอาจต้องใช้เวลาเป็นสิบปีกว่าจะผ่อนชำระหมด แม้ดูแล้วเป็นการรีดเลือดกับปูแต่ยากูซ่าก็มีอีกหลายวิธีที่จะทำเงินจากไคจิซึ่งก็ไม่ใช่วิธีดีๆ แน่ค่ะ เขาจึงเสนอทางเลือกให้ไคจิว่าหากไม่อยากใช้หนี้ไปอีกสิบปี มีวิธีที่ทำให้หนี้ทั้งหมดสูญไปในคืนเดียวเพียงแค่ไคจิเข้าร่วมการพนันบนเรือ "เอสปัว" ซึ่งมีเหล่าลูกหนี้ที่สิ้นหวังไปรวมตัวกัน คนที่ชนะเกมบนเรือจะได้รับเงินก้อนใหญ่ไปใช้หนี้และตั้งตัวอีกครั้ง ไคจิยึกยักได้ไม่นานก็ตัดสินใจตกลงในที่สุด

การพนันที่จัดขึ้นบนเรือเอสปัวคือเกม "เป่ายิงฉุบ" ค่ะ! ความสนุกของเรื่องนี้อยู่ที่กติกาไม่ธรรมดา บนเรือเอสปัวทุกคนสามารถกู้เงินมาใช้จ่ายบนเรือได้และจะได้รับไพ่ซึ่งมีสัญลักษณ์กรรไกร กระดาษ และฆ้อน 12 ใบกับดาว 3 ดวง คนที่เป่ายิงฉุบแพ้ต้องเสียดาวให้คนชนะ ต้องจับคู่เล่นให้ไพ่หมดมือ ถ้าดาวยังเหลือ 3 ดวงก็จะรอดตายไม่โดนพาไปขายแรงงานต่างประเทศ ดังนั้น เกมนี้จึงไม่ได้มีแค่การเป่ายิงฉุบเท่านั้นค่ะ มีการหักหลัก ทรยศ ช้อนซื้อ เร่ขาย หรือแม้แต่ร่วมมือกันทำสัญญาลับๆ และหักหลังกันเองในวินาทีสุดท้าย เรียกว่ารวมเอาคุณสมบัติของคนขี้โกงทุกประเภทมาไว้ในการ์ตูนเรื่องเดียวเลย

ถ้าการ์ตูนเรื่องนี้มีแต่เรื่องชวนหดหู่ แล้วเพราะเหตุใดจึงได้รางวัลโคดันฉะ นอกเหนือจากความสนุกแล้ว ไคจิคือบทเรียนชั้นดีให้เรารู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของมิจฉาชีพค่ะ ไม่ได้เป็นการสอนให้มองคนในแง่ร้ายแต่สอนให้เรารู้ว่าคนชั่วมีจริงในโลกและเราไม่ควรประมาท แต่เนื่องจากการ์ตูนเรื่องนี้ไม่มีใครที่เป็นตัวอย่างที่ดีให้เยาวชนได้เลยแม้แต่ไคจิซึ่งเป็นพระเอก ดังนั้น จึงเหมาะกับคนที่อายุเกิน 18 ปีไปแล้วเท่านั้นค่ะ เด็กๆ อ่านแล้วจะงงเสียเปล่าๆ

ปัญหาอย่างเดียวของ "ไคจิ" คือหาซื้อยากมาก ไคจิพิมพ์โดย TMCX ซึ่งอาจจะหาบนแผงไม่ได้ครบทุกเล่ม ใครใช้อินเตอร์เน็ตเก่งอาจจะสั่งซื้อแบบออนไลน์แทนนะคะ อ่านแล้วจะซึ้งว่าคนที่หาอะไรดีไม่ได้เลยอย่างไคจิก็ยังเหลือศักดิ์ศรีในฐานะมนุษย์อยู่บ้างเหมือนกัน

วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11586 มติชนรายวัน

21 พฤศจิกายน 2552

Maison de Beauties บ้านนี้มีแต่คนสวย

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

เมื่อหลายสัปดาห์ก่อนมีโอกาสคุยกับนักศึกษาสาวคนหนึ่งค่ะ เธอมาปรึกษาด้วยปัญหากลุ้มใจตามแบบวัยรุ่นทั่วไปคือเรื่องการเรียน เรื่องเพื่อน และเรื่องเป้าหมายในชีวิต เรียกว่าเป็นคนที่มุ่งมั่นและมองตรงไปยังอนาคตข้างหน้าตั้งแต่อายุยังน้อยเลยทีเดียว ความที่เธอไม่ได้เรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ไม่ได้เรียนเก่งโดดเด่นหรือมีเพื่อนรุมรักนับร้อยทำให้เธอรู้สึกว่าชีวิตตัวเองธรรมดาเหลือเกิน จะหาข้อดีอะไรมาให้ภูมิใจสักข้อก็ไม่ได้เลย

"แต่น้องก็เป็นคนหน้าตาสวยรูปร่างดีไม่ใช่เหรอคะ"

ตอนนั้นตอบเธอไปแบบนั้นค่ะเพราะเธอเป็นเด็กสาวสูงเกิน 170 เซนติเมตรผอมบางผิวสีน้ำผึ้งที่หน้าเข้มและแต่งหน้าขึ้นทีเดียว อาจจะไม่ได้เปล่งประกายแบบดาราแต่ก็จัดว่าสวยล่ะค่ะ น่าแปลกที่เธอทำหน้างงอยู่สามตลบและไม่คิดว่า "ความสวย" เป็นข้อดีของตัวเองแต่อย่างใด สาเหตุเพราะความสวยเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดและไม่ได้สร้างขึ้นจากความสามารถของตัวเองเสียหน่อย วินาทีนั้นอยากจะส่งการ์ตูนเรื่อง "บ้านรักนักล่าฝัน" ให้ลองอ่านจังเลยค่ะ

"บ้านรักนักล่าฝัน" หรือ Maison de Beauties เป็นการ์ตูนผู้หญิงที่คลอดจากสำนักพิมพ์บุรพัฒน์ฯ ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่านิยมพิมพ์การ์ตูนจีนบู๊แหลกและการ์ตูนผู้ชายชั้นดี พอมีการ์ตูนผู้หญิงพิมพ์ออกมาเลยต้องชั่งใจอยู่สิบวินาทีว่าจะลองซื้อดีหรือเปล่า แต่ชื่อนักเขียน "มิสุชิโระ เซโทนะ" ก็ทำให้คว้าไปจ่ายเงินทันทีค่ะเนื่องจากเธอเป็นนักเขียนการ์ตูนแนว psychology หรือแนวจิตวิทยาที่มักคิดในมุมกลับจากความคิดของคนทั่วๆ ไปอยู่เสมอ

"อาริซากะ อุรัน" สาวน้อยที่เพิ่งจบชั้นมัธยมต้นตัดสินใจเด็ดเดี่ยวเดินทางเข้าโตเกียวเพื่อเป็นนางแบบให้ได้ ตั้งแต่เกิดมาเธอไม่เคยได้รับคำชมจากใครเลยเนื่องจากไม่ใช่คนที่เรียนเก่งหรือมั่นใจในตัวเองนัก แถมยังเซ่อซ่าซุ่มซ่ามจนไม่มีหนุ่มๆ มาสนใจอีกต่างหาก วันหนึ่งที่โรงเรียน อุรันได้ยินเพื่อนผู้ชายที่แอบชอบอยู่นินทาว่าเธอ "มีดีแค่หน้าตาเท่านั้นแหละ" หากเป็นผู้หญิงทั่วไปได้ยินคำดูถูกแบบนี้คงได้ระเบิดลงกันบ้างแต่อุรันไม่คิดเช่นนั้น ชีวิตของเธอเปลี่ยนไปหลังได้ยินคำสบประมาทนี้เพราะนี่คือ "คำชม" คำแรกที่เธอเคยได้รับตั้งแต่เกิดมา สำหรับคนที่ไม่ได้มีอะไรดีเลยอย่างเธอก็ยังมีข้อดีอยู่ตั้งหนึ่งอย่างคือ "ความสวย" นี่นะ หลังจากนั้นความสวยจึงกลายมาเป็นความมั่นใจเพียงหนึ่งเดียวและเป็นแรงผลักดันให้อุรันตัดสินใจใช้หน้าตาเป็นเครื่องมือทำมาหากินซะเลย เธอจึงลาออกจากโรงเรียนและมุ่งมั่นเข้าโตเกียวเพื่อจะเป็นซุปเปอร์โมเดลให้ได้

แต่ก็ตามประสาคนที่หัวไม่ค่อยดี อุรันไปออดิชั่นแทบจะไม่ผ่านเลยซักงาน เธอกำลังจะจนกรอบและอดตายอยู่ในโตเกียวแต่โชคดีที่ได้ยินข่าวเรื่อง "อพาร์ตเมนต์ที่รับแต่คนสวย" ซึ่งค่าเช่าถูกสุดชีวิต ทางเดียวที่เธอจะอยู่รอดคือหาทางเข้าพักในอพาร์ตเมนต์แห่งนี้ให้ได้และเธอก็ทำสำเร็จค่ะ อุรันพบเพื่อนร่วมอพาร์ตเมนต์หน้าตาดีอีกสองสามคนที่นอกจากหน้าตาแล้ว ยังมีความมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จในงานที่ตัวเองรักเช่นเดียวกับเธอด้วย

อุรันไม่ใช่นางเอกที่ยิ่งใหญ่และการ์ตูนเรื่องนี้ก็ไม่ใช่การ์ตูนผู้หญิงที่จะทำให้คนอ่านล่องลอยไปในโลกของความฝันอย่างเป็นสุขเหมือนการ์ตูนผู้หญิงขายดีเรื่องอื่นๆ แต่ถ้าลองอ่านในเวลาที่คิดว่าตัวเองไม่มีอะไรดีเลยซักอย่าง รับรองว่าความคิดจะเปลี่ยนไปเลยค่ะ หลายเหตุการณ์ในเรื่องสอนให้เรามองเห็นข้อดีเล็กๆ ในข้อเสียที่ยิ่งใหญ่และใช้ชีวิตอย่างภาคภูมิใจกับข้อดีเพียงเล็กน้อยที่มีอยู่อย่างมีความสุข อุรันคงอยากบอกเราว่า

"เกิดมามีดีแค่หน้าตาแล้วมันผิดตรงไหน ความมุ่งมั่นต่างหากที่เป็นตัววัดว่าใครมีสิทธิจะประสบความสำเร็จ"

วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11579 มติชนรายวัน

14 พฤศจิกายน 2552

Oishinbo จิตวิญญาณแห่งอาหารญี่ปุ่น

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

เคยรับประทานอาหารญี่ปุ่นไหมคะ? เชื่อว่าหลายท่านคงเคยรับประทานอย่างน้อยก็สักครั้งในชีวิต ถ้าอย่างนั้นตอนรับประทานเคยทราบไหมคะว่าแท้จริงแล้วปลาดิบจานละเป็นพันบาทหรือน้ำซุปถ้วยละห้าสิบบาทเขามีขั้นตอนการทำอย่างไรจึงได้แพงขนาดนี้ ลองอ่าน Oishinbo (โออิชินโบะ) ดูสักครั้งแล้วอาจจะทำให้หัวข้อสนทนากลางโต๊ะอาหารญี่ปุ่นของเรามีมากกว่า "อร่อยหรือไม่" กับ "คุ้มหรือเปล่า" ค่ะ

"โออิชินโบะ" คือการ์ตูนเกี่ยวกับอาหารที่เขียนต่อเนื่องยาวนานที่สุดเรื่องหนึ่งในญี่ปุ่น แนวคิดจากเรื่องนี้ไปปรากฏอยู่ในการ์ตูนเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่อง เช่น ศิลปะการใช้มีดสำหรับแล่ปลาดิบ, คุณสมบัติของพ่อครัวที่ดีกับบุหรี่, พื้นฐานการทำน้ำซุปดาชิ, หรือกระทั่งกว่าจะมาเป็นตะเกียบดีๆ สักคู่หนึ่งต้องใช้เวลาและความพยายามมากขนาดไหน เรียกว่าเป็นการ์ตูนที่ทำให้เราเห็นคุณค่าของวัตถุดิบที่นำมาใช้ปรุงอาหารและคนทำอาหารเลยล่ะค่ะ

พระเอกของเรื่องคือ "ยามาโอกะ ชิโร่" หนึ่งในทีมบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โคไซนิวส์ เขาได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าโครงการ "สุดยอดเมนู" ซึ่งทางสำนักพิมพ์ต้องการคัดเลือกร้านอาหารที่ดีที่สุดมานำเสนอผู้อ่าน กิจกรรมของชิโร่คือตระเวนไปตามร้านอาหารต่างๆ เพื่อค้นหาสุดยอดรสชาติแต่หลายครั้งที่เขาเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือพ่อครัวหรือเจ้าของร้านอาหารหลายแห่งที่ประสบปัญหา แม้ภายนอกชิโร่ไม่แสดงอารมณ์มากนักแต่ที่จริงเขามีฝีมือในการทำอาหารอย่างหาตัวจับยากเลยค่ะ แท้จริงแล้วเขาคือลูกชายของ "ไคบาระ ยูซัน" ซึ่งนอกจากเป็นศิลปินเครื่องปั้นดินเผาผู้มีชื่อเสียงและร่ำรวยแล้ว เขายังเป็นคนที่ละเอียดอ่อนเรื่องอาหารจนแทบจะเรียกจู้จี้เกินพิกัดก็ว่าได้ ชิโร่กับคุณพ่อเจอหน้ากันทีไรเป็นต้องฮึ่มแฮ่ใส่กันทุกครั้งสร้างสีสันให้การ์ตูนค่ะ ที่ว่าสร้างสีสันเพราะทุกครั้งที่ทะเลาะกันเราจะเห็นความผูกพันเล็กๆ ของสองพ่อลูกตอนท้ายเรื่องเสมอ บางครั้งชิโร่ก็พ่ายแพ้ให้กับความเก่งของพ่อแต่เขาก็ไม่ท้อและพยายามพัฒนาตัวเองเพื่อเอาชนะพ่อให้ได้ คือไม่ได้เกลียดแต่อยากเอาชนะน่ะค่ะ ส่วนไคบาระเองก็เผลอชื่นชมอาหารที่ชิโร่ทำโดยไม่รู้มาก่อน พอรู้เข้าเป็นต้องขว้างข้าวของอย่างหงุดหงิดแต่ก็แอบมายิ้มกับตัวเองตอนหลังด้วยความดีใจที่ลูกชายเราเก่งขึ้นอีกแล้ว

วัฒนธรรมการแสดงความรักแบบอ้อมๆ อย่างนี้พบได้บ่อยในครอบครัวแบบเอเชียและทำให้คาแร็กเตอร์ของการ์ตูนน่าสนใจมากพอๆ กับอาหารในเรื่อง แต่ฝรั่งอ่านโออิชินโบะอาจจะไม่ได้สนใจความสัมพันธ์ของสองพ่อลูกเลยก็ได้เพราะไม่เข้าใจว่าทะเลาะกันทำไมน่ะค่ะ

ที่กล่าวถึงฝรั่งเพราะ "โออิชินโบะ" ไม่มีแปลเป็นภาษาไทยนะคะ มีแต่ภาษาอังกฤษจะคัดเลือกเอาตอนที่มีธีมเดียวกันมาบรรจุไว้ในเล่มไม่เรียงตามลำดับตามตอนในญี่ปุ่น เล่มแรกว่าด้วยพื้นฐานอาหารญี่ปุ่น, เล่มสองสุราญี่ปุ่น, เล่มสามราเม็งและเกี๊ยวซ่า, เล่มสี่อาหารผัก, เล่มห้าซุชิกับซาชิมิ, และเล่มหกเกี่ยวกับข้าวค่ะ เล่มที่เจ็ดเกี่ยวกับอาหารในร้านนั่งดื่มแบบญี่ปุ่นกำลังจะวางแผงต้นปีหน้า ส่วนเล่มภาษาญี่ปุ่นซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1983 จนถึงปัจจุบัน (เกือบ 30 ปีแล้ว) ล่าสุดคือเล่ม 102 เข้าไปแล้วค่ะ

การคัดเฉพาะบางตอนที่เน้นความรู้เรื่องอาหารญี่ปุ่นในฉบับภาษาอังกฤษทำให้โออิชินโบะเกือบจะเป็น "การ์ตูนความรู้" กลายๆ แต่ข้อดีคือการ์ตูนเบสส์เซลเลอร์เรื่องนี้ต่อให้มีแต่บทบรรยายความรู้ยาวยืด ความสนุกก็ไม่ถูกลดทอนไปแม้แต่น้อย ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ท่านใดอยากให้ลูกเรียนภาษาอังกฤษจากการ์ตูนพร้อมๆ กับได้ความรู้เรื่องอาหารญี่ปุ่นไปด้วย โออิชินโบะคือทางเลือกที่ดีมากๆ เลยค่ะ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักอ่านการ์ตูนถึงจะอ่านเข้าใจนะคะเพราะโออิชินโบะใช้เทคนิคการวาดที่เรียบง่ายแบบโดราเอมอนคือขวามาซ้าย บนลงล่าง ไม่มีอะไรซับซ้อนเหมาะกับนักอ่านทั่วไปค่ะ

จะติดอยู่นิดเดียวตรงนี้ต้องหาซื้อในร้านหนังสือที่มีหนังสือต่างประเทศและราคาแพงกว่าการ์ตูนไทยเกือบสิบเท่าได้ แต่ระหว่างการ์ตูนที่อ่านเอาสนุกอย่างเดียวสิบเล่มกับการ์ตูนที่ทั้งสนุก มีสาระ ได้ฝึกภาษา และสร้างแรงบันดาลใจเล่มเดียว ทางเลือกหลังน่าจะดีกว่าค่ะ

วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11572 มติชนรายวัน

07 พฤศจิกายน 2552

Sunset on Third Street ความทรงจำก่อนตะวันลับขอบฟ้า

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

หลังจากหยิบหนังสือการ์ตูน "ถนนสายนี้หัวใจไม่เคยลืม" หรือ Sunset on Third Street มาพลิกไปพลิกมาด้วยความสงสัยว่าเพราะเหตุใดจึงราคาแพงกว่าการ์ตูนทั่วไปตั้งเท่าตัว ไม่มีอะไรจะบอกคุณค่าของการ์ตูนเรื่องนี้ได้จนกว่าจะลงมืออ่านค่ะ ผ่านไปไม่ถึงครึ่งเล่มน้ำตาก็ซึมแล้วต้องตะโกนออกมาดังๆ ว่า "การ์ตูนดีขนาดนี้ไปซ่อนอยู่ที่ไหนในโลกตั้งนานเนี่ย!"

Sunsetฯ มีชื่อญี่ปุ่นว่า Sanchoume no Yuuhi หรือเมืองยูฮีหมู่สาม ว่าด้วยผู้คนในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ชีวิตของคนญี่ปุ่นในช่วงนั้นหากจะนิยามสั้นๆ คือเป็นช่วง "ก่อร่างสร้างตัว" ความที่ไม่ใช่ประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติเหลือเฟือนัก ดังนั้น ผู้คนยุคนั้นจึงต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยปัจจัยสี่ที่จำกัด ไม่มีสาวออฟฟิศหรือเด็กวัยรุ่นถือกระเป๋าแบรนด์เนมสะพายมือถือรุ่นล่าสุด มีแต่ผู้คนที่ทำงานโรงงานเพื่อผลิตสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูง ไม่ก็ผู้ใช้แรงงานที่มีลูกหลายคนแต่ยากจนเกินกว่าจะเลี้ยงดูไหว การ์ตูนที่สร้างขึ้นบนสิ่งแวดล้อมที่จำกัดแบบนี้จึงเปี่ยมไปด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกจนแทบไม่น่าเชื่อว่าการ์ตูนตอนสั้นๆ ไม่กี่หน้าสามารถขมวดปมและจบลงอย่างซาบซึ้ง มากกว่าการ์ตูนในปัจจุบันหลายเรื่องที่บางครั้งอ่านจนจบเล่มแล้วยังหาประเด็นไม่เจอ

ตัวอย่างตอนหนึ่งที่น่าสนใจคือ "สายลมในเดือนพฤษภาคม" เล่าเรื่องของ "มิจิโกะ" เด็กสาววัยประถมที่เกลียดวันแม่ คุณแม่ของมิจิโกะเสียชีวิตไปแล้วเธอจึงรู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกจากเพื่อนคนอื่นตลอดเวลา โดยเฉพาะในวันแม่ที่เพื่อนทุกคนตื่นเต้นกับการเย็บผ้ากันเปื้อนในวิชาการฝีมือเป็นของขวัญให้คุณแม่ของตัวเอง อยู่มาวันหนึ่งคุณน้าของมิจิโกะซึ่งหน้าเหมือนคุณแม่มาเยี่ยมที่บ้าน มิจิโกะตื่นเต้นมากค่ะ แค่พาคุณน้าไปอวดเพื่อนๆ และใช้เวลาอยู่ด้วยกันทั้งวันในวันแม่ไม่พอเสียแล้ว มิจิโกะรักคุณน้ามากถึงขนาดซื้อผ้ากันเปื้อนให้เป็นของขวัญและขึ้นรถไฟเพื่อนำไปมอบให้ด้วยตัวเอง แต่เมื่อเห็นคุณน้าอยู่กับลูก มิจิโกะจึงเข้าใจว่าอย่างไรเสีย "ก็เป็นแม่ของคนอื่น" ไม่ใช่แม่เราอยู่ดี

ความสุดยอดของผู้วาดอยู่หลังจากนี้ล่ะค่ะ เพียงแค่สองหน้าตอนท้ายทำให้เราเห็นวุฒิภาวะของมิจิโกะอย่างชัดเจน เธอทิ้งของขวัญลงกล่องจดหมายหน้าบ้านคุณน้าและจากมาด้วยน้ำตา (มีฉากสะดุดหินตอนวิ่งร้องไห้ซึ่งเป็นฉากแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งแบบคลาสสิคด้วย) หลังจากนั้นมิจิโกะยืนอยู่บนเนินจ้องมองตะวันตกดินเหนือเมืองยูฮีและสัมผัสสายลมเย็นสบายจนเธอยิ้มออกได้ อ.ไซกัน เรียวเฮย์ ผู้วาดเขียนด้วยลายเส้น "บ้านๆ" ไม่มีเทคนิคหวือหวาอะไรเลยค่ะ ภาพเหมือนเด็ก ป.สี่วาดด้วยซ้ำ แต่คนอ่านเหมือนโดนหมัดฮุคเข้ากลางหัวใจเพราะมันช่างเหมาะเจาะได้จังหวะจริงๆ สุดท้ายเธอก็กลับบ้านมาเตรียมอาหารให้คุณพ่อ อาหารชนิดนั้นคือกะหล่ำปลียัดไส้ที่คุณน้าสอนนั่นเอง อูย...โดนค่ะโดน เรียบง่ายแต่โดนใจมาก!

Sanchoume no Yuuhi ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์แล้วสองภาคชื่อ Always: Sunset on Third Street และได้รับทั้งเงินและกล่องอย่างล้นหลามนะคะ สิ่งที่เป็นจุดร่วมระหว่างเวอร์ชั่นการ์ตูนกับภาพยนตร์ไม่ใช่เนื้อเรื่องแต่เป็น "ความซาบซึ้งใจ" ใครชอบดูหนังอาจจะเฉยๆ ตอนอ่านการ์ตูน ส่วนคนชอบอ่านการ์ตูนพอดูหนังแล้วอาจจะไม่ซึ้งมากนัก แต่ถ้าดูเวอร์ชั่นที่ตัวเองถนัดรับรองต่อมน้ำตาแตกเลยค่ะ จุดร่วมอีกจุดหนึ่งของทั้งสองเวอร์ชั่นคือ "อายุเท่าไหร่ก็ซึ้ง" เพราะเนื้อเรื่องกล่าวถึงวิกฤตของคนทุกเพศทุกวัยตั้งแต่เด็กจนแก่ ดังนั้น ในบรรดาเรื่องสั้นที่ร้อยเรียงเป็นภาพชีวิตเหล่านี้ต้องมีสักเรื่องที่มาโดนใจจนน้ำตาหยดบ้างค่ะ

Sunset on Third Street จึงสมกับชื่อที่ไม่ได้หมายถึงแค่ตะวันตกดินที่งดงามในเมืองยูฮี แต่หมายถึงการชักชวนให้นักอ่านเข้าถึงความรู้สึกของบรรพบุรุษที่ต่อสู้ในยุคหลังสงครามโลกด้วยความยากลำบากทั้งกายและใจ เด็กญี่ปุ่นที่เกิดในยุคแห่งความสะดวกสบายอาจพาประเทศล่มจมได้ถ้าไม่เคยรู้เลยว่าปู่ย่าตายายสร้างชาติมาแบบไหน

การสวมแว่นของคุณปู่วัยชรา (วัยตะวันจะลับฟ้า) แล้วมองอดีตผ่านการ์ตูนเรื่องนี้จึงไม่ได้ให้แค่ความซาบซึ้งค่ะ ความรู้สึกนับถือในความพยายามของบรรพบุรุษคืออีกสิ่งที่การ์ตูนมอบให้เยาวชนในรุ่นหลังของญี่ปุ่นด้วย

วันที่ 08 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11565 มติชนรายวัน