คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง
เคยรับประทานอาหารญี่ปุ่นไหมคะ? เชื่อว่าหลายท่านคงเคยรับประทานอย่างน้อยก็สักครั้งในชีวิต ถ้าอย่างนั้นตอนรับประทานเคยทราบไหมคะว่าแท้จริงแล้วปลาดิบจานละเป็นพันบาทหรือน้ำซุปถ้วยละห้าสิบบาทเขามีขั้นตอนการทำอย่างไรจึงได้แพงขนาดนี้ ลองอ่าน Oishinbo (โออิชินโบะ) ดูสักครั้งแล้วอาจจะทำให้หัวข้อสนทนากลางโต๊ะอาหารญี่ปุ่นของเรามีมากกว่า "อร่อยหรือไม่" กับ "คุ้มหรือเปล่า" ค่ะ
"โออิชินโบะ" คือการ์ตูนเกี่ยวกับอาหารที่เขียนต่อเนื่องยาวนานที่สุดเรื่องหนึ่งในญี่ปุ่น แนวคิดจากเรื่องนี้ไปปรากฏอยู่ในการ์ตูนเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่อง เช่น ศิลปะการใช้มีดสำหรับแล่ปลาดิบ, คุณสมบัติของพ่อครัวที่ดีกับบุหรี่, พื้นฐานการทำน้ำซุปดาชิ, หรือกระทั่งกว่าจะมาเป็นตะเกียบดีๆ สักคู่หนึ่งต้องใช้เวลาและความพยายามมากขนาดไหน เรียกว่าเป็นการ์ตูนที่ทำให้เราเห็นคุณค่าของวัตถุดิบที่นำมาใช้ปรุงอาหารและคนทำอาหารเลยล่ะค่ะ
พระเอกของเรื่องคือ "ยามาโอกะ ชิโร่" หนึ่งในทีมบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โคไซนิวส์ เขาได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าโครงการ "สุดยอดเมนู" ซึ่งทางสำนักพิมพ์ต้องการคัดเลือกร้านอาหารที่ดีที่สุดมานำเสนอผู้อ่าน กิจกรรมของชิโร่คือตระเวนไปตามร้านอาหารต่างๆ เพื่อค้นหาสุดยอดรสชาติแต่หลายครั้งที่เขาเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือพ่อครัวหรือเจ้าของร้านอาหารหลายแห่งที่ประสบปัญหา แม้ภายนอกชิโร่ไม่แสดงอารมณ์มากนักแต่ที่จริงเขามีฝีมือในการทำอาหารอย่างหาตัวจับยากเลยค่ะ แท้จริงแล้วเขาคือลูกชายของ "ไคบาระ ยูซัน" ซึ่งนอกจากเป็นศิลปินเครื่องปั้นดินเผาผู้มีชื่อเสียงและร่ำรวยแล้ว เขายังเป็นคนที่ละเอียดอ่อนเรื่องอาหารจนแทบจะเรียกจู้จี้เกินพิกัดก็ว่าได้ ชิโร่กับคุณพ่อเจอหน้ากันทีไรเป็นต้องฮึ่มแฮ่ใส่กันทุกครั้งสร้างสีสันให้การ์ตูนค่ะ ที่ว่าสร้างสีสันเพราะทุกครั้งที่ทะเลาะกันเราจะเห็นความผูกพันเล็กๆ ของสองพ่อลูกตอนท้ายเรื่องเสมอ บางครั้งชิโร่ก็พ่ายแพ้ให้กับความเก่งของพ่อแต่เขาก็ไม่ท้อและพยายามพัฒนาตัวเองเพื่อเอาชนะพ่อให้ได้ คือไม่ได้เกลียดแต่อยากเอาชนะน่ะค่ะ ส่วนไคบาระเองก็เผลอชื่นชมอาหารที่ชิโร่ทำโดยไม่รู้มาก่อน พอรู้เข้าเป็นต้องขว้างข้าวของอย่างหงุดหงิดแต่ก็แอบมายิ้มกับตัวเองตอนหลังด้วยความดีใจที่ลูกชายเราเก่งขึ้นอีกแล้ว
วัฒนธรรมการแสดงความรักแบบอ้อมๆ อย่างนี้พบได้บ่อยในครอบครัวแบบเอเชียและทำให้คาแร็กเตอร์ของการ์ตูนน่าสนใจมากพอๆ กับอาหารในเรื่อง แต่ฝรั่งอ่านโออิชินโบะอาจจะไม่ได้สนใจความสัมพันธ์ของสองพ่อลูกเลยก็ได้เพราะไม่เข้าใจว่าทะเลาะกันทำไมน่ะค่ะ
ที่กล่าวถึงฝรั่งเพราะ "โออิชินโบะ" ไม่มีแปลเป็นภาษาไทยนะคะ มีแต่ภาษาอังกฤษจะคัดเลือกเอาตอนที่มีธีมเดียวกันมาบรรจุไว้ในเล่มไม่เรียงตามลำดับตามตอนในญี่ปุ่น เล่มแรกว่าด้วยพื้นฐานอาหารญี่ปุ่น, เล่มสองสุราญี่ปุ่น, เล่มสามราเม็งและเกี๊ยวซ่า, เล่มสี่อาหารผัก, เล่มห้าซุชิกับซาชิมิ, และเล่มหกเกี่ยวกับข้าวค่ะ เล่มที่เจ็ดเกี่ยวกับอาหารในร้านนั่งดื่มแบบญี่ปุ่นกำลังจะวางแผงต้นปีหน้า ส่วนเล่มภาษาญี่ปุ่นซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1983 จนถึงปัจจุบัน (เกือบ 30 ปีแล้ว) ล่าสุดคือเล่ม 102 เข้าไปแล้วค่ะ
การคัดเฉพาะบางตอนที่เน้นความรู้เรื่องอาหารญี่ปุ่นในฉบับภาษาอังกฤษทำให้โออิชินโบะเกือบจะเป็น "การ์ตูนความรู้" กลายๆ แต่ข้อดีคือการ์ตูนเบสส์เซลเลอร์เรื่องนี้ต่อให้มีแต่บทบรรยายความรู้ยาวยืด ความสนุกก็ไม่ถูกลดทอนไปแม้แต่น้อย ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ท่านใดอยากให้ลูกเรียนภาษาอังกฤษจากการ์ตูนพร้อมๆ กับได้ความรู้เรื่องอาหารญี่ปุ่นไปด้วย โออิชินโบะคือทางเลือกที่ดีมากๆ เลยค่ะ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักอ่านการ์ตูนถึงจะอ่านเข้าใจนะคะเพราะโออิชินโบะใช้เทคนิคการวาดที่เรียบง่ายแบบโดราเอมอนคือขวามาซ้าย บนลงล่าง ไม่มีอะไรซับซ้อนเหมาะกับนักอ่านทั่วไปค่ะ
จะติดอยู่นิดเดียวตรงนี้ต้องหาซื้อในร้านหนังสือที่มีหนังสือต่างประเทศและราคาแพงกว่าการ์ตูนไทยเกือบสิบเท่าได้ แต่ระหว่างการ์ตูนที่อ่านเอาสนุกอย่างเดียวสิบเล่มกับการ์ตูนที่ทั้งสนุก มีสาระ ได้ฝึกภาษา และสร้างแรงบันดาลใจเล่มเดียว ทางเลือกหลังน่าจะดีกว่าค่ะ
วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11572 มติชนรายวัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น