22 มิถุนายน 2551

Manga for Adult เมื่อวงการการ์ตูนเริ่มโตเป็นหนุ่มเป็นสาว


คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

หลังจากที่ห่างหายวงการหนังสือการ์ตูนไปหลายสัปดาห์เนื่องจากมีแอนิเมชั่นดีๆ ให้ดูเยอะไปหมด โผล่ศีรษะออกมาจากถ้ำจำศีลครั้งแรกบรรดาสหายการ์ตูนและเจ้าของร้านการ์ตูนก็รีบอัพเดทข่าวสารวงการการ์ตูนให้ทันทีค่ะ ข่าวที่ดังที่สุดคงไม่พ้น "จับการ์ตูนลามกในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ" ซึ่งทำให้ทีมตำรวจตื่นตัวและกวาดจับอย่างจริงจัง เจ้าของร้านการ์ตูนเองก็ตื่นตัว (หรือตื่นกลัว) เก็บกันยกใหญ่ค่ะ...น่าตื่นเต้นจริงๆ

เท่าที่ถามความเห็นของนักอ่านการ์ตูนหลายคน การปิดแผงการ์ตูนลามกในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้รักการอ่านนั้น ส่วนใหญ่ "เห็นด้วยอย่างยิ่ง" ค่ะ สิ่งนี้คงสะท้อนให้เห็นว่านักอ่านการ์ตูนก็ไม่ได้หน้ามืดตามัวออกมาปกป้องผลประโยชน์และวงการของตนเองจนลืมที่จะมองความเป็นจริง

แต่ไม่ว่าความเห็นจะเป็นอย่างไร สิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่การให้สัมภาษณ์ของผู้มีอำนาจท่านหนึ่ง (ซึ่งขออภัยที่ไม่อาจทราบได้ว่าใคร เพื่อนเล่าให้ฟังค่ะ) สหายเล่าบอกว่า "พี่รู้มั้ย! ตอนเขากวาดล้างน่ะ มีคนออกมาให้สัมภาษณ์ว่าการ์ตูนมีไว้สำหรับเยาวชนเท่านั้น!!"

เอ่อ...พูดไม่ออกค่ะ

ย้อนกลับไป 15 ปีก่อน ไมเคิล จอห์นสัน ประธานบริษัท บัวนาวิสตาโฮมเอนเตอร์เทนเมนท์ ซึ่งเราทราบดีว่าเป็นค่ายยักษ์ใหญ่ที่ขายการ์ตูนในสหรัฐอเมริกาได้ให้สัมภาษณ์ใน "เดลี่วาไรตี้" เกี่ยวกับการที่แอนิเมชั่นเรื่อง "ปรินเซส โมโนโนเกะ" ขึ้นชาร์ตอันดับ 1 ภาพยนตร์ทำเงินของ box office ในประเทศญี่ปุ่น เขากล่าวว่า "นั่นมันไม่ใช่การ์ตูนแล้ว..." เดาว่าคงมีคนแซวที่ทำไมการ์ตูนของดิสนีย์ไม่เคยขึ้นอันดับ 1 ในอเมริกาเหนือได้บ้าง

ในช่วงเดียวกันนั้น ไมค์ แลซโซ รองประธานฝ่ายผังรายการของ Cartoon Network ยืนยันถึงเอกลักษณ์ของแอนิเมชั่นญี่ปุ่นอีกครั้งใน USA Today ว่า "การ์ตูนญี่ปุ่นนั้นแตกต่างจากการ์ตูนที่ฉายในอเมริกาอย่างสิ้นเชิง ขอบเขตมันกว้างไกลไปมาก,เหมาะสำหรับผู้ใหญ่,และมีฉากที่รุนแรง" ก็เป็นธรรมดาที่คนจากการ์ตูนเน็ตเวิร์กซึ่งมีแต่การ์ตูนสำหรับเด็กจะพูดเช่นนี้

การเติบโตของวงการการ์ตูนญี่ปุ่นจึงอาจเทียบได้กับการโตของฮอลลีวู้ดเลยค่ะ ทั้งทำเงินมหาศาลและชวนให้คลั่งไคล้ นอกจากนั้นยังเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมสู่สายตาชาวโลกอีกด้วย

การ์ตูนปรากฏในญี่ปุ่นครั้งแรกช่วงทศวรรษที่ 50 โดยยังเป็นการ์ตูนขำขันตามหนังสือพิมพ์เท่านั้น ต่อมาข้อจำกัดด้านเงินทุนในการสร้างภาพยนตร์ทำให้การ์ตูนญี่ปุ่นใช้เทคนิคการสร้างภาพยนตร์เข้ามาช่วย

ในการเขียนการ์ตูน และเกิดเป็นภาพยนตร์บนหน้ากระดาษขาวดำแทนที่จะเป็นบนแผ่นฟิล์ม เด็กหนุ่มสาวในยุค 50 จึงกลายมาเป็นนักเขียนการ์ตูนมืออาชีพในยุค 70 ซึ่งเป็นยุคทองของการ์ตูนญี่ปุ่น

ปัจจุบันนี้เข้าสู่ศตวรรษที่ 21 วงการการ์ตูนนั้นตอบรับเด็กที่เกิดในยุค 70-80 ซึ่งปัจจุบันคนเหล่านั้นทำงานและมีครอบครัวแล้ว หลายคนเริ่มเห็นลูกของตัวเองอ่านการ์ตูนบ้าง ดังนั้นการ์ตูนญี่ปุ่นจึงเป็น "สื่อ" ชนิดหนึ่ง (เหมือนเพลง ภาพยนตร์ นวนิยาย) ซึ่งคนในยุค 70 สามารถเข้าใจได้ง่ายกว่าสื่อประเภทอื่นๆ และยินดีควักกระเป๋าจ่ายหากสิ่งที่อยากดูทำออกมาในรูปการ์ตูน

สิ่งที่อยากดูคงรวมถึงหนังโป๊ด้วยค่ะ การ์ตูนลามกของญี่ปุ่นก็ยังคงมีเอกลักษณ์ต่างจากของโป๊เปลือยทางตะวันตกอยู่มาก พอล กราเว็ตต์ กล่าวไว้ในหนังสือ Manga : Sixty years of Japanese comics ว่า "การ์ตูนญี่ปุ่นต่อให้ลามกแค่ไหนก็จะไม่วาดอวัยวะเพศ" (มองในภาพรวมนะคะ) นั่นเพราะวัฒนธรรมตะวันออกเคร่งครัดเรื่องเพศเหลือเกิน แค่จินตนาการก็ผิดแล้ว จะให้มาดูแบบเห็นกันจะจะยิ่งรู้สึกผิดเข้าไปใหญ่ ในการ์ตูนจึงพยายามเว้นบริเวณนั้นไว้ให้จินตนาการกันเอง..เป็นวัฒนธรรมที่น่ารักจริงๆ

การปิดกั้นและกดขี่ทางเพศในสังคมตะวันออกส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมที่น่าตื่นตะลึงและถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การ์ตูนญี่ปุ่นทุกเล่มค่ะ นั่นคือการกำเนิด boy"s love หรือการ์ตูนที่หนุ่มๆ 2 คนรักกันแต่กลับเป็นการ์ตูนสำหรับผู้หญิง!! ไม่ใช่การ์ตูนสำหรับเกย์!!...พระเจ้าช่วยกล้วยทอด มิน่าวงบอยแบนด์เกาหลีวงหนึ่งถึงขายภาพหนุ่มสวยจิ๊จ๊ะกันหวานหยด ทั้งที่รู้ว่าหนุ่มๆ พวกนั้นอาจสนแต่หนุ่มๆ ด้วยกันเอง แต่ทำไมแฟนเพลงสาวๆ ถึงชอบ!!

ยิ่งกว่านั้นยี่สิบกว่าปีผ่านไปความซับซ้อนในเรื่องเพศของชาวญี่ปุ่นส่งผลให้เกิดวัฒนธรรม Yuri ซึ่งมีสาวน้อยน่ารัก 2 คนรักกันแต่สร้างเพื่อตอบรับตลาดผู้ชาย!! ไม่ใช่เลสเบี้ยน!!

อา..ถ้าอ่านงานวิจัยพวกนี้เสร็จคงได้มาเล่าให้ฟังค่ะ เยอะจริงๆ...


15 เมษายน พ.ศ. 2550

ไม่มีความคิดเห็น: