22 มิถุนายน 2551

MANGA พจนานุกรมนักเขียนการ์ตูน/Cereal Comixเริ่มต้นเช้าวันใหม่ของวงการการ์ตูนไทย


คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

บังเอิญไปเจออีกแล้วค่ะ เดินเล่นอยู่ในร้านหนังสืออยู่ดีๆ ก็บังเอิญเหลือบไปเห็นหนังสือเล่มหนากว่าสมุดโทรศัพท์ แถมปกสีแดงแจ๊ดสะดุดตา เขียนตัวเบ้อเริ่มเทิ่มว่า "MANGA" อย่างนี้ก็ต้องรี่เข้าไปหาสิคะ MANGA เล่มนี้เปรียบเสมือนเป็นพจนานุกรมรายนามนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่น เขียนโดยคุณอามาโนะ มาซานาโอะ และจูเลียส วีดมันน์ และที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ในเล่มเดียวกันนี้ตีพิมพ์เป็น 3 ภาษาค่ะ

หนึ่งในนั้นมีภาษาอังกฤษแน่นอน ก่อนจะถึงเนื้อใน ต้องทำความรู้จักกับชื่อหนังสือสักนิดค่ะ คำว่า Manga (อ่านว่ามังหงะ) หมายถึงการ์ตูนญี่ปุ่นนี่ล่ะค่ะ ถือเป็นแขนงหนึ่งของวรรณกรรมในญี่ปุ่น มังหงะมีการตีพิมพ์ส่วนใหญ่เป็นแบบขาวดำและมักเป็นเรื่องยาวมากกว่าที่จะเป็นการ์ตูนแก๊กสั้นๆ เมื่อเปรียบเทียบกับการ์ตูนของชาติอื่นแล้ว มังหงะเองไม่ได้เพียงแค่มียอดตีพิมพ์หรือจำหน่ายมากกว่าเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลต่อนักอ่านและวัฒนธรรมมากกว่าที่หลายๆ คนคิด

ยอดขายมังหงะเพียงสัปดาห์เดียวมากเท่ากับยอดขายทั้งปีของการ์ตูนฝรั่งด้วยซ้ำ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาติตะวันตกสนใจวรรณกรรมขาวดำชนิดนี้มาก คำว่ามังหงะเริ่มใช้ครั้งๆ แรกเมื่อศตวรรษที่ 19 เมื่อศิลปินภาพพิมพ์ไม้แกะสลัก "โฮคุไซ" นำอักษรคันจิสองตัวคือ "มัง" ที่แปลว่า "ไหล" กับคำว่า "หงะ" ที่แปลว่า "ภาพ" มารวมกันเพื่ออธิบายงานภาพของเขาซึ่งเป็นภาพพิมพ์เล่าเรื่องต่อเนื่อง

แต่มังหงะยุคใหม่ซึ่งเป็นการ์ตูนช่องๆ แบบที่เราอ่านกันเพิ่งถือกำเนิดในศตวรรษที่ 20 นี่เอง หนังสือเล่มนี้จึงถือเป็นการเปิดโลกทรรศน์ให้ชาติตะวันตกได้มีโอกาสทำความรู้จักกับนักเขียนชั้นแนวหน้าในญี่ปุ่น นอกจากนั้นยังแถมดีวีดีภาพปกการ์ตูน 900 ปก และสัมภาษณ์นักเขียน 3 คน ที่สำคัญที่สุดคือมีนำเที่ยวร้านขายการ์ตูนในโตเกียวด้วยค่ะ

อันสุดท้ายนี่น่าสนใจ สำหรับรายชื่อนักเขียนในเล่ม ฉันคิดว่ามีนักเขียนที่ไม่มีงานปรากฏในเมืองไทยอยู่มากพอสมควรเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเพราะภาพไม่สวย หรือบางเรื่องค่อนข้างรุนแรง หรือเน้นเรื่องเซ็กซ์มากเกินไป พูดง่ายๆ คือการ์ตูนที่เด็กไทยได้อ่านส่วนใหญ่เป็นการ์ตูนบนดินที่คุณภาพดีพอสมควรค่ะ แต่เมื่อมองภาพรวมของการ์ตูนที่เด็กญี่ปุ่นได้อ่านทั้งหมด มีพวกการ์ตูนใต้ดินที่อันตรายปนอยู่ด้วยเยอะเหมือนกัน

ถ้าใครไม่ชอบอ่านภาษาอังกฤษเยอะๆ เล่มนี้ก็เป็นทางเลือกที่เหมาะดีนะคะ เพราะเขาสรุปประวัตินักเขียนให้ดูสั้นๆ มีสถานที่และปีเกิด ผลงานเปิดตัวครั้งแรก ผลงานที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด ผลงานที่ถูกนำไปสร้างเป็นแอนิเมชั่น และรายชื่อรางวัลที่เคยได้รับมาก่อนด้วย

ตัวอย่างนักเขียนที่มีอยู่ในเล่มนี้ เช่น อาโยยามะ โงโช ผู้วาดโคนัน, อาดาจิ มิซึรึ ผู้วาด TOUCH ROUGH KATSU, อารากิ ฮิโรฮิโกะ ผู้วาด JOJO, อิเคงามิ เรียวอิชิ ผู้วาด Crying freeman, อิเคดะ ริโยโกะ ผู้วาดกุหลาบแวร์ซายส์, อิตางาคิ เคย์สุเกะ ผู้วาด บากิ, อิโนอุเอะ ทาเคฮิโกะ ผู้วาดสแลมดังค์, อุราซาวะ นาโอกิ ผู้วาด 20th century boy (รายชื่อรางวัลยาวเหยียด), โอโทโมะ คัทซึฮิโระ ผู้วาด AKIRA, โอบาตะ ทาเคชิ ผู้วาด Death Note, และ CLAMP(กลุ่มนักวาดการ์ตูน CLAMP จากซ้ายไปขวา: เนโกอิ ซึบากิ โอกาวะ อาเกฮะ อิการะชิ ซาซึกิ และ โมโคนะ :ภาพจาก วิกิพีเดีย)

ซึ่งเชื่อมั้ยคะว่า CLAMP เปิดตัวด้วยโดจินชิ และงานต่อมาคือ RG-Veda ซึ่งสวยหยาดฟ้ามาดิน อันนี้เปิดแค่ 1 ใน 100 ของเล่มค่ะ ยังมีนักเขียนอีกมากที่เรารู้จักมักคุ้นรอให้เปิดไปอ่าน เรียกว่าอ่านแล้วต้องกรี๊ดบ้านแตก คิดว่าทำไมนักเขียนคนนี้ถึงไม่มีงานมาลงในบ้านเราบ้าง ราคาจริงเล่มนี้คือ 5,900 เยนค่ะ แต่ถ้าสั่งซื้อจากร้านหนังสือในเมืองไทยจะตกประมาณ 1,700 บาท (รวมค่าขนส่ง) คนรักการ์ตูนจริงน่าจะมีไว้ค่ะ ราคาเท่าการ์ตูนสี่สิบกว่าเล่มเท่านั้นเอง

แต่ถ้าไม่ได้คิดจะสะสมการ์ตูนจริงก็ไม่ต้องซื้อหรอกค่ะ เก็บไว้ซื้อการ์ตูนสี่สิบเล่มดีกว่า

นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ออกมาท้ายุทธจักรการ์ตูนพอสมควร สำหรับนิตยสารการ์ตูนไทยที่ผสมกลิ่นของแม็กกาซีนเข้าไปด้วยอย่าง Cereal Comix เล่มนี้ค่ะ ต้องยอมรับว่าในยุคที่การ์ตูนญี่ปุ่นเฟื่องฟูสูงสุด (เมื่อเทียบกับการ์ตูนจากชาติอื่นในบ้านเรา) และยามที่คนเริ่มหันมาซื้อหนังสือการ์ตูนน้อยลง (ด้วยอิทธิพลจากอินเตอร์เน็ตและราคาการ์ตูนที่สูงเท่าราคาข้าว 2 จาน)การทำแม็กกาซีนการ์ตูนรายเดือนนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใจกล้าจริงๆ แต่แล้ว Cereal Comix นิตยสารการ์ตูนไทยรายเดือนก็กล้าท้าตลาดโดยการนำการ์ตูนไทยล้วนๆ ซึ่งไม่จำกัดว่าต้องเป็นแนวญี่ปุ่นเท่านั้นมารวมเล่มขาย ต้องขอบอกก่อนค่ะว่าแต่ละเรื่องให้อารมณ์ต่างกันสุดขั้ว ดังนั้น ไม่ต้องเป็นนักอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นเท่านั้นที่จะซื้อได้ เด็กแนวและอาร์ติสต์ซื้อไปก็ไม่ผิดหวังค่ะ

มาดูเนื้อในกันดีกว่า เริ่มจากการ "อยากขาย" กลุ่มเด็กผู้ชายอย่างออกนอกหน้าด้วยการมีภาพน้องนางแบบหน้าใสสวมวันพีซสีชมพูหวานถ่ายแบบอยู่หลายหน้าทีเดียว ได้รับคำยืนยันจากหนุ่มๆ ที่นิยมสาวแก้มชมพูว่า "น่ารักมากๆ!" ดังนั้น ถึงใครไม่อ่านการ์ตูน ซื้อไปดูรูปน้องเค้าก็คุ้มค่ะ เพียงแต่ฉันเป็นผู้หญิงก็เลยดูส่วนนี้แล้วงงๆ หน่อยว่า "มีไว้ทำไมเหรอ?"

การ์ตูนเรื่องแรก "เรื่องรักฉบับมินิ" เรื่องของสาวน้อยผู้คลั่งไคล้รุ่นพี่ฮีโร่ในดวงใจ ปฏิบัติการตามจีบอย่างมีชั้นเชิงจึงเริ่มขึ้น โดยมีเพื่อนสาวและรุ่นพี่หนุ่มผู้อารีเป็นผู้ช่วยลุ้น โดยส่วนตัวฉันชอบเรื่องนี้อยู่พอดูเลยค่ะ ตั้งแต่งานภาพที่ใช้การวาดแบบคลาสสิค สกรีนและลายเส้นแบบดั้งเดิม และพล็อตการ์ตูนสาวจีบหนุ่มที่เป็นสากล เขียนมุขนี้กี่ครั้งก็ยังฮา ถือว่าเป็นการ์ตูนที่อ่านแล้วสบายใจชวนให้อ่านแล้วอ่านอีกค่ะ

"ทะยานฝันไทยลีก" เล่าถึงความฝันของเด็กหนุ่มที่อยากค้าแข้งระดับชาติและความเป็นเพื่อนที่ชวนให้ปวดร้าวที่ต้องมองดูตัวเองได้ทะยานสู่ฟ้าในขณะที่เพื่อนไม่สามารถตามไปด้วยได้ ลายเส้นสวน แอ๊คชั่นงาม และมีแววว่านักเขียนท่านนี้จะได้ผลิตงานดีๆ ออกสู่สายตาอีกมากค่ะ

"I'AM" ไม่ได้มาสไตล์มังงะญี่ปุ่นค่ะ แต่ออกแนวการ์ตูนสี่ช่องจบที่เอามาจัดหน้าแบบญี่ปุ่นให้อ่านได้ง่ายขึ้น เรื่องนี้เล่าถึงเด็กน้อยที่อยากได้หุ่นยนต์ 30 บาท แต่แม่ไม่ซื้อให้ แม่ให้เก็บเงินเองวันละบาทไปเรื่อยๆ หักมุมตอนจบให้ยิ้มจนหน้าบานเป็นกระด้งเลยค่ะ น่ารักและชวนให้นึกย้อนถึงตอนอยากซื้อการ์ตูนสมัยเด็กๆ มากเลยค่ะ

ยุคที่การ์ตูนเล่มละ 12 บาท ตอนนั้นต้องเก็บเงินจนครบ 500 บาท แล้วไปถล่มจตุจักรซื้อการ์ตูนยกชุดเพราะราคาถูกกว่าซื้อของใหม่ จะได้อ่านการ์ตูนหลายๆ เรื่องค่ะ เก่าหน่อยไม่เป็นไร "Father X" เรื่องนี้เคยลงในรวมเล่มและพูดถึงไปแล้ว...งั้นผ่านค่ะ สุดท้าย "Improvise" คำถามแรกที่ผุดขึ้นในสมองหลังจากอ่านจบคือ "คนวาดมัวไปอยู่ไหนมา! งานดีๆ ขนาดนี้ทำไมไม่เอาออกมาโชว์เร็วกว่านี้!"เป็นการ์ตูนที่อาร์ตมากค่ะ ลายเส้นสวยหยาดฟ้ามาดิน แถมออกแบบตัวการ์ตูนได้น่ารักและน่าสะพรึงกลัวไม่แพ้ทิม เบอร์ตัน เลย เป็นเรื่องของ 5 สหายที่จิตวิปลาสหน่อยๆ แต่เข้าขากันดี ประกอบด้วย "ดราม่า" กระบองเพชโศกเศร้าที่วันๆ ร้องและเพลงเศร้า (แต่หน้าตาหลอนมาก) "ทอม" มะเขือเทศวิกลจริต (แต่หน้าตาดูวิตกจริตนะ) "ซัคกี้" นกกระจิบเดนตาย (เดธเมทัล) "ซิซซี่" กระต่ายเร้นลับ "ชุน" หมาไส้กรอกศิลปินซึ่งดูอารมณ์เขาออกแนวศิลปินตั้งแต่ต้นจนจบ

จริงๆ 5 สหายนี้ได้รับมอบหมายภารกิจให้มาลากตัวนักโทษกลับไปยังคุก ซึ่งสถานที่หลบซ่อนตัวคือ "เกาะนิ้วกลาง" อันเร้นลับและเต็มไปด้วยเรื่องชวนให้ทั้งขำทั้งกลัว เป็นการ์ตูนที่หยาบคายได้อารมณ์จริงๆ ค่ะ โดยรวมแล้วฉันชอบ Cereal Comix ค่ะ ไม่ใช่แค่เป็นการ์ตูนไทยที่ต้องเชียร์ตามมารยาท แต่เป็นงานคุณภาพที่เขาตั้งใจทำกันเต็มที่ ติดปัญหาที่หาซื้อยากพอดู ตอนนี้ยังหาเล่ม 2 ไม่ได้เลยค่ะ อย่าเพิ่งปิดตัวนะคะ มีอีกหลายคนรออ่านค่ะ.

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ 06 และ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548

ไม่มีความคิดเห็น: