20 กันยายน 2551

Detroit Metal City ฤๅเฮวี่เมทัลจะครองเมือง [1]

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ดนตรีแนวเฮวี่เมทัล (Heavy metal) อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูนักฟังเพลงส่วนใหญ่เท่าไรนักเพราะไม่ใช่เพลงที่เหมาะกับวันอากาศดีๆ และนอนเล่นอยู่ในสนามหญ้าที่กรุ่นด้วยกลิ่นดอกไม้หวานแหววแน่นอนค่ะ ลองนึกถึงคอนเสิร์ตฮอลล์แคบๆ และเสียงกลองกับกีตาร์ดังสนั่น ผสมกับเสียงแหบพร่าของนักร้องที่ให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังจะโดนดูดลงนรกไปพร้อมกับเพลงที่มีเนื้อหารุนแรง โดยส่วนตัวก็ไม่ได้ฟังบ่อยนักค่ะ แต่ทุกครั้งที่ได้ยินเสียงเพลงของวง Metallica ทีไร ไม่ทราบทำไมหัวมันโยกไปเองทุกที เผลอแป๊บเดียว อ้าว...ซื้อ CD ของเขามาตั้งแต่เมื่อไหร่กันเนี่ย

เพลงเฮวี่เมทัลมีอิทธิพลต่อจิตใต้สำนึกเหลือเกินค่ะ และไม่น่าเชื่อว่าวงการที่เต็มไปด้วยความร้อนระอุเช่นนี้จะถูกนำมาวาดล้อเลียนในการ์ตูนและโด่งดังเป็นพลุแตกในญี่ปุ่น นั่นคือตำนานของ Detroit Metal City (DMC) การ์ตูนที่วาดโดย อ.คิมิโนริ วาคาสุงิ ตั้งแต่ปี 2005

"โซอิจิ เนงิชิ" เด็กหนุ่มหน้าเปิ่นเป๋อซึ่งเติบโตในบ้านชานเมืองและทำไร่เลี้ยงวัวเป็นอาชีพในครอบครัวฝันอยากเป็นนักร้องดังในเมืองกรุง เขารักเพลงแนวหวานแหววโรแมนติคและเต็มไปด้วยความรักสีชมพู แน่นอนว่าฝีมือกีตาร์โปร่งแสนหวานของเขาก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร โซอิจิจึงตัดสินใจแน่วแน่มุ่งสู่โตเกียวเพื่อเป็นศิลปินและนักแต่งเพลงให้ได้

และฝันของโซอิจิก็เป็นจริง...บางส่วนค่ะ เพราะเขากับเพื่อนร่วมทีมอีกสองได้เปิดตัวกับค่ายเพลงอินดี้แนวเฮวี่เมทัล กลายเป็นวง DMC และตัวเขาใช้ชื่อปลอมว่า "โยฮาเนส ครอยเซอร์ที่ 2" โซอิจิต้องใส่ชุดประหลาดและแต่งหน้าสไตล์คล้ายๆ วง Kiss ทั้งที่เขามีเสียงใสปิ๊งยามร้องเพลงรัก แต่พอได้สวมชุด DMC โซอิจิก็ประดุจองค์ลง เขาดีดกีตาร์ด้วยเทคนิคอลังการและร้องเพลงด้วยเสียงแหบต่ำอย่างร็อคเกอร์ แน่นอนว่าเนื้อเพลงก็ล้วนกล่าวถึงเรื่องเย้ยศีลธรรมทั้งมวล ทั้งฆ่า ข่มขืน อาชญากรรม จนถึงขนาดมีคนร่ำลือว่าหากครอยเซอร์ที่ 2 ไม่ได้มาเป็นนักดนตรี เขาคงเป็นฆาตกรต่อเนื่องไปแล้ว...ขนาดนั้น

โซอิจิเองกังวลกับบุคลิกสุดขั้วของเขามากเพราะแท้จริงเขาเป็นหนุ่มน้อยขี้อายและสุภาพ แท้จริงเขาอยากเป็นครูโรงเรียนอนุบาลและแต่งเพลงรักที่คนฟังรู้สึกซาบซ่านหัวใจจนแก้มระเรื่อเป็นสีชมพู แต่สุดท้ายเขากลับ "อิน" ทุกครั้งที่สวมบทบาทเป็นครอยเซอร์ ที่สำคัญคือเขามีแฟนเพลงที่ยอมตายเพื่อครอยเซอร์จำนวนมาก ในระหว่างที่โซอิจิตัวจริงๆ ไปยืนดีดกีตาร์ร้องเพลงรักอยู่ริมถนน ไม่มีใครสักคนที่ฟังเขา

การ์ตูนเรื่องนี้ออกมา 5 เล่มในญี่ปุ่นแล้วค่ะ ส่วนในไทยไม่มั่นใจว่ามีบ้างหรือยัง ต้องคิดหนักก่อนจัดทำเลยค่ะเพราะเนื้อหาไม่เหมาะกับเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีเอาเสียเลย ต้องใช้วิจารณญาณขณะอ่านมากๆ เพราะหลายเรื่องเป็นตลกร้ายที่เสียดสีความบ้าคลั่งของมนุษย์ได้อย่างโดนใจ แต่ก็มีแง่คิดที่ดีว่าถึงเราจะต้องทำงานและสวมบทบาทในสิ่งที่เราไม่ได้รักมากนัก สมดุลระหว่างความรับผิดชอบต่องานที่ทำกับเอกลักษณ์ความเป็นตัวเองคือสิ่งสำคัญที่ทำให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุขในระดับหนึ่ง เช่นเดียวกับที่โซอิจิไม่เคยทอดทิ้งเพลงรัก เขายังคงแต่งเพลงและร้องริมถนนแบบศิลปินข้างทางเช่นเดิมแม้ว่าจะเป็นศิลปินเฮวี่เมทัลขายดีก็ตาม การ "ไม่ทิ้งความฝันแต่ก็ไม่ปฏิเสธความเป็นจริง" คือบุคลิกที่ทำให้โซอิจิกลายเป็นฮีโร่ของนักอ่านค่ะ

ความโด่งดังของ DMC ฉบับหนังสือการ์ตูนทำให้ DMC ได้รับการจัดทำเป็นแอนิเมชั่นหรือหนังการ์ตูนจำหน่ายแบบ OVA คือไม่ฉายโทรทัศน์แต่ขายเป็น DVD น่ะค่ะ ความน่าทึ่งของแอนิเมชั่น DMC จะขอยกไปกล่าวในตอนถัดไปนะคะ ถือเป็นการปฏิวัติวงการแอนิเมชั่นญี่ปุ่นอีกขั้นหนึ่งก็ว่าได้ค่ะ และอาจจะเป็นคำตอบของผู้ที่ข้องใจว่าทำไมหนังสือการ์ตูนบางเรื่องจึงถูกจัดเป็นสื่อที่ยิ่งใหญ่เทียบเท่าวรรณกรรมและกำลังทิ้งห่างแอนิเมชั่นไปไกลจนแทบไม่รู้ตัว

ล่าสุด DMC ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ฉายโรงแล้วค่ะ รายงานจาก Box office ในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปลายเดือนสิงหาคม ปรากฏว่า DMC ขึ้นชาร์ทหนังทำเงินอันดับ 2 รองจากปูเนียว (Ponyo on the Cliff by the Sea) แอนิเมชั่นของฮายาโอะ มิยาซากิผู้เคยสอยออสการ์มาแล้ว โดยผู้แสดงนำคือ "มัตสึยามะ เคนอิจิ" ซึ่งเคยผ่านตาจากบท "L" ใน Deah Noth และบท "ชิน" ใน Nana มาแล้วค่ะ แต่สัปดาห์ถัดมาก็โดน 20th Century Boy ภาพยนตร์ไตรภาคที่สร้างจากการ์ตูนของ อ.อุรุซาวะ นาโอกิ ปัดหล่นไปที่อันดับ 3 เสียแทน อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่าภาพยนตร์ทำเงินในญี่ปุ่นหลายเรื่องในช่วงหลังๆ สร้างจากการ์ตูนไม่ก็เป็นการ์ตูนเสียเอง

เหตุการณ์การ์ตูนครองเมืองเช่นนี้พิสูจน์ได้อย่างดีว่าเยาวชนที่เติบโตขึ้นในยุคก่อร่างสร้างตัวของการ์ตูนญี่ปุ่น บัดนี้ได้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ทรงคุณค่าในสังคมเหนือกว่าที่คาดไว้ไปแล้ว

วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11152 มติชนรายวัน

ไม่มีความคิดเห็น: