21 พฤศจิกายน 2551
Bihada Ichizoku แล้วการ์ตูนก็กลับกลายเป็นมาตรฐานของความงาม
คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวละออง
จากความเข้าใจที่ผ่านมาว่า "การ์ตูน" คือสื่อรูปแบบหนึ่งซึ่งใช้สะท้อนสังคมรวมถึงความเชื่อของคนในยุคสมัยนั้น บัดนี้คำนิยามอาจจะต้องเปลี่ยนไปนิดหน่อยแล้วค่ะ เมื่อ "การ์ตูน" กลับกลายมาเป็นผู้นำเทรนด์ในสังคมเสียแทน
จนถึงปัจจุบัน ตัวการ์ตูนส่วนใหญ่มักจะวาดโดยตีความจากมาตรฐานความงามในยุคนั้นๆ ซึ่งเป็นการตีความค่านิยมสู่การ์ตูน เช่น การ์ตูนสมัย 30 ปีก่อน ผู้หญิงต้องรูปร่างผอมบาง อกเล็กๆ แขนขาเรียว แต่สมัยนี้ส่วนใหญ่ต้องรูปร่างสมบูรณ์ หน้าอกและทรวดทรงองค์เอวดูสมเป็นผู้หญิง แต่หากการ์ตูนทรงอิทธิพลต่อความรู้สึกมากขึ้น การ์ตูนก็กลับกลายเป็นเทรนด์เสียเองได้เช่นกัน ตัวอย่างการ์ตูนที่คนในสังคมนำไปตีความและยึดถือเป็นแบบอย่างการดำเนินชีวิต เช่น Nana และผลงานของผู้เขียนท่านเดียวกันซึ่งสร้างปรากฏการณ์แฟชั่นขึ้นในญี่ปุ่น และที่จะกล่าวถึงวันนี้คือ Bihada Ichizoku (แปลว่าครอบครัวผิวสวย) ผู้นำความงามในโลกบิวตี้และสกินแคร์ของญี่ปุ่นที่มาแรงจนทำให้หลายคนต้องอ้าปากค้างด้วยความตะลึง
หากใครได้ไปเดินเล่นในแผนกเครื่องสำอางตามร้านขายยาในญี่ปุ่น (ที่โน่นเครื่องสำอางขายในร้านยาไม่ก็ในห้าง) รับรองต้องสะดุดตากับภาพสาวน้อยผมบลอนด์ม้วนเป็นหลอดและยิ้มโปรยเสน่ห์อยู่ท่ามกลางดงกุหลาบบนถุงฟอยล์สีชมพูจี๊ด แน่นอนค่ะ ที่สะดุดตาเพราะฉลากผลิตภัณฑ์อื่นมักเป็นภาพคน แต่เจ้าห่อนี้กลับเป็นภาพการ์ตูน แถมเป็นการ์ตูนผู้หญิงในยุค 70s (สไตล์สามสิบกว่าปีก่อน) ซึ่งย้อนเราให้ระลึกถึงเด็กสาวไฮโซนัยน์ตาระยิบระยับ ผมม้วนเป็นหลอด ใส่ชุดระบายฟูฟ่อง และมักมีกุหลาบโปรยในช่องการ์ตูนเป็นประจำ
แล้วทำไมมาตรฐานความงามยุค 70s จึงมาปรากฏบนมาสก์ (แผ่นแปะหน้าเพื่อบำรุงผิว) ของยุคนี้ได้!!
คำตอบคือเมื่อบริษัทผู้ผลิตเครื่องสำอาง Lovelabo ในญี่ปุ่นมองเห็นช่องทางการจำหน่าย "มาสก์" สินค้ากลุ่มบำรุงผิวซึ่งซื้อง่ายใช้คล่องกว่าผลิตภัณฑ์อื่น ในเดือนพฤศจิกายน 2005 ทางบริษัทจึงคิดคอนเซ็ปท์ของสินค้าขึ้นคือ "เข้าถึงง่าย ใช้ได้ทุกคนและทุกวัน" และเปิดตัวซีรีส์นวนิยายชื่อ "Bihada Ichizoku" นำเสนอผ่านทาง Girls Walker ซึ่งเป็นเว็บไซต์แฟชั่นทางโทรศัพท์มือถือที่มีผู้ใช้บริการลงทะเบียนถึง 9 ล้านคน ขอย้ำอีกครั้งว่าเขาขายมาสก์...แต่ปล่อยนิยายเป็นตอนๆ ค่ะ ไม่ได้ปล่อยสปอตโฆษณา ถือเป็นการสร้างวัฒนธรรมความงามที่หญิงสาวต้องต่อสู้เพื่อความงามและความรัก โดยมีนางเอกซึ่งทำทุกอย่างเพื่อผิวสวยเป็นฮีโร่
เรื่องย่อของนวนิยายคือ "บิฮาดะ ซาระ" นางเอกของเรื่องต้องการเป็นสุดยอดสาวผิวงามบนโลกใบนี้ เธอต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งและศัตรูมากมายตามแบบการ์ตูนยุค 70s เปี๊ยบ จนตอนหลังเธอก็ต้องมาต่อสู้กับพี่สาวฝาแฝดเสียเอง (นี่ก็พล็อตเก่าแต่คลาสสิค) แน่นอนว่าต้องมีฉากชิงรักหักสวาทเคล้าน้ำตาด้วยค่ะ คำพูดติดปากของซาระคือ "หล่อนคิดว่าจะเอาชนะฉันได้ด้วยผิวแบบนั้นเหรอยะ!" ออกแนวคล้ายเรื่อง Ace wo Narae! (Go for an Ace!) หรือ "ยอดหญิงสิงห์เทนนิส" ผลงาน อ.ยามาโมโต้ ซูมิกะ ซึ่งตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1972 (ยังไม่เกิดเลย) ไม่น่าเชื่อว่าประโยคนี้โดนใจวัยรุ่นอย่างจังถึงขนาดนิยายได้รับความนิยมแบบปากต่อปากไปเรื่อยๆ ราวกับไฟลามทุ่ง
เดือนต่อมาหลังจากนิยายเปิดตัว มาสก์บิฮาดะก็เริ่มจำหน่ายผ่านทางเว็บไซต์บนโทรศัพท์มือถือ และไม่น่าเชื่อว่าขายได้ถึง 64,000 แผ่นในวันเดียว! ถือเป็นการทุบสถิติการขายผลิตภัณฑ์ความงามครั้งหนึ่งในญี่ปุ่นเลยค่ะ เจ็ดเดือนต่อมา มาสก์บิฮาดะก็กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ความงามที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดและหาซื้อได้ในทุกร้าน สร้างยอดขายสูงเป็นประวัติการณ์จนถึงปัจจุบันนี้
มีผู้วิเคราะห์ความสำเร็จของผลิตภัณฑ์บิฮาดะ ว่า นอกจากราคาไม่สูงมากและคุณภาพดี การใช้ตัวการ์ตูนเป็นพรีเซ็นเตอร์บนซองทำให้เกิดกระแสความนิยมใหม่ขึ้นในวงการเครื่องสำอาง ส่วนหนึ่งเพราะเครื่องสำอางญี่ปุ่นมักมีภาพพจน์หรูหราเสียจนเด็กวัยรุ่นหรือแม่บ้านไม่ค่อยอยากจะสนใจนัก การเปลี่ยนภาพพจน์ให้ดูกันเองเพื่อรับกับตลาดชนชั้นกลางและล่างมากขึ้นจึงเป็นแนวคิดที่ลงตัวมาก และการใช้ตัวการ์ตูนซึ่งเป็นของคู่วัฒนธรรมผู้หญิงญี่ปุ่นมาเกือบสี่สิบปีเป็นทางเลือกที่ฉลาด
ถ้าอเมริกาหรือไทยคิดจะเลียนแบบคงใช้มุขนี้ไม่ได้ค่ะเพราะการ์ตูนไม่ใช่วัฒนธรรมของชนชาติดังเช่นในญี่ปุ่น ไทยเองก็มีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์น่าภูมิใจไม่แพ้ของชาติอื่นเช่นกัน ซึ่งคงต้องรอให้เหล่านักการตลาดตีโจทย์นี้ต่อไป
วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11208 มติชนรายวัน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น