คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง
ขึ้นต้นชื่อเรื่องด้วยประโยคที่ได้ยินตั้งแต่เด็กแต่ไม่เคยซาบซึ้งมาก่อน "ธรรมชาติคือมารดาของสรรพสิ่ง" อาจเป็นเพราะอาศัยอยู่ในเมืองจึงไม่เห็นว่าแท้จริงธรรมชาติยิ่งใหญ่เพียงใดค่ะ (เว้นตอนฝนตกหนักแล้วน้ำท่วม) แต่แอนิเมชั่น (ภาพยนตร์การ์ตูน) "Mushishi" ทำให้ความทึ่งในธรรมชาติพอกพูนขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ทั้งที่เนื้อเรื่องไม่ได้เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ป่าไม้หรือวิกฤตโลกร้อนแต่อย่างใด
Mushishi (มุชิฉิ) เป็นเรื่องราวการเดินทางของ "กิงโกะ" ชายหนุ่มซึ่งเป็นหมอรักษาโรคที่เกิดจาก "มุฉิ" แปลตรงตัวคือ "แมลง" ค่ะ แต่มุฉิในเรื่องนี้ไม่ใช่แมลง กลับเป็นสิ่งที่อยู่ตรงกลางระหว่างธรรมชาติซึ่งไม่มีชีวิตกับเหล่าสรรพสัตว์ที่มีชีวิตทั้งหลายในโลกนี้ บางคนอาจมองว่ามุฉิคือวิญญาณของธรรมชาติที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น หรือบางคนคิดว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของพลังงานที่เกิดจากธรรมชาติแต่มีชีวิต โดยสรุปคือ หากมุฉิมีจริงก็สามารถอธิบายโรคภัยและปรากฏการณ์ประหลาดทั้งหลายในโลกนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นอาการตาบอดโดยไม่ทราบสาเหตุ หูหนวกทั้งที่ไม่พบความผิดปกติ หรือแม้แต่โรคหลงลืมในคนอายุน้อย หลายโรคเหมือนที่เคยพบคนไข้ในชีวิตจริงเลยค่ะ ความรู้ในโลกความเป็นจริงทำให้เราวินิจฉัยโรคที่ตรวจไม่พบความผิดปกติว่า "มีสาเหตุจากจิตใจ" ในระหว่างที่โลกของมุชิฉิบอกว่า "มีสาเหตุจากมุฉิ" เสียแทนเนื้อหาทั้ง 26 ตอนของแอนิเมชั่นเป็นเรื่องสั้นจบในตอนของคนในหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งกำลังประสบกับเหตุการณ์ประหลาดหรือโรคภัยที่หมอหาสาเหตุไม่ได้ และโชคดีที่กิงโกะผ่านไปขายยาพอดี เรื่องนี้เกิดขึ้นในยุคที่ยังไม่มีไฟฟ้า จึงให้อารมณ์ของภูตผีได้แจ่มชัดมาก การดำเนินเรื่องไม่ได้ซ้ำไปซ้ำมาเหมือนการ์ตูนเด็ก ซึ่งจะต้องมีฮีโร่มาปราบมุฉินะคะ ทุกตอนเหมือนนิทานก่อนนอนซึ่งเต็มไปด้วยจินตนาการน่าตื่นเต้น แต่กลับให้จังหวะเนิบนาบ กิงโกะใช้หลักวิทยาศาสตร์โดยการเข้าไปสอบถามประวัติคนป่วยและเก็บตัวอย่างมุฉิที่สงสัยมาตรวจดูก่อนที่จะวินิจฉัยโรค (ใช้กล้องจุลทรรศน์เสียด้วย ขอย้ำว่ายุคนี้ยังไม่มีไฟฟ้า) หลังจากนั้นจึงให้ยาซึ่งก็มีทั้งยาที่รักษาแล้วหายขาดกับยาประคองอาการ ความเป็นวิทยาศาสตร์ของมุชิฉิทำให้ผู้ใหญ่ดูแล้วไม่รู้สึกขัดเขินนักค่ะ แม้เหตุผลจะดูขี้โม้แต่วิธีการให้ได้มาซึ่งต้นเหตุของโรคภัยจากมุฉิไม่โม้ค่ะ สร้างแรงบันดาลใจให้เรามองเหตุการณ์เหนือธรรมชาติตามหลักวิทยาศาสตร์ด้วยซ้ำ
นอกจากเนื้อเรื่องที่ให้อารมณ์แบบภูตผีญี่ปุ่นแล้ว จุดเด่นของแอนิเมชั่นมุชิฉิคือ "ภาพและเสียง" ซึ่ง...เหนือคำบรรยายค่ะ ทุกฉากทุกภาพเต็มไปด้วยธรรมชาติซึ่งใช้สีโทนเอิร์ธเทาน้ำตาลนุ่มๆ แต่ละฉากสามารถเซฟออกมาทำเป็นวอลเปเปอร์สวยๆ บนคอมพิวเตอร์ได้สบาย หรือต่อให้พิมพ์ออกมาติดฝาบ้านก็ยังงามไม่มีที่ติ แน่นอนว่าผู้กำกับฯไม่ได้จงใจทำฉากสวยๆ เพื่อแปะไว้เฉยๆ นะคะ ภาพที่นำเสนอเห็นชัดเจนว่าเมื่อกิงโกะหรือคนในเรื่องอยู่กลางธรรมชาติ มนุษย์จะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ บนหน้าจอซึ่งทำให้สายตาเราจับจ้องไปที่ความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติเบื้องหลังเสียแทน ลายเส้นของตัวละครในเรื่องเรียบง่ายตรงข้ามกับฉากธรรมชาติที่สวยไม่มียั้ง ยืนยันคอนเซ็ปต์ของเรื่องนี้ว่ามุฉิและธรรมชาติยิ่งใหญ่ที่สุด มนุษย์เป็นเพียงส่วนประกอบเล็กๆ แต่ก็มีหัวใจที่เปี่ยมด้วยความพยายามที่จะต่อสู้กับธรรมชาติและโรคภัยที่เกิดจากมุฉิด้วยเหมือนกันเสียงเพลงในเรื่องนี้ให้ความรู้สึกเหมือนดึงเราเข้าสู่โลกของมุฉิเลยค่ะ เป็นเพลงประกอบเรื่องแรกที่ได้ยินแล้วสามารถพูดได้เต็มปากว่านี่คือ "เสียงวิญญาณของธรรมชาติ" นอกจากสงบเยือกเย็นแล้วยังออกมาได้ถูกจังหวะทุกครั้ง เรียกว่าอารมณ์นี้ต้องมีเสียงแบบนี้ออกมาให้เราขนลุกวาบนิดๆ (คล้ายเสียงอังกะลุง) หรือจังหวะนี้มีเพลงให้เราเศร้าแต่ซึ้ง ถ้าภาพวาดแบบจีนซึ่งเห็นความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติสามารถส่งเสียงได้ก็คงเป็นเสียแบบเดียวกับเรื่องนี้เลยค่ะ
โดยสรุป "มุชิฉิ" เป็นแอนิเมชั่นที่สวย สนุก สร้างสรรค์ แต่ไม่กระตุ้นให้สมองหลั่งอะดรีนาลีนเท่าไร เพราะไม่ได้ตื่นเต้นเร้าใจหรือน่าติดตามถึงขนาดหยุดดูไม่ได้ ดูไปดูมาแล้วอาจหลับจากความเนิบนาบของเรื่องค่ะ (หลับไปแล้ว 5 ยกระหว่างดู 26 ตอน) แต่ใช่ว่าช้าเนิบนาบแล้วไม่ดีเสมอไปนะคะเวลาเรานั่งริมทะเลฟังเสียงคลื่นสงบๆ หรืออยู่บนยอดเขาฟังเสียงลมและดูเมฆลอยไปเรื่อยๆ เราก็มีความสุขแม้ว่าจะหลับในอีกไม่กี่นาทีต่อมาก็ตาม มุชิฉิให้อารมณ์แบบเดียวกันเป๊ะเลยค่ะ
วันที่ 01 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11313 มติชนรายวัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น