คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง
ต่อจากสัปดาห์ที่แล้วว่าด้วยแอนิเมชั่น (ภาพยนตร์การ์ตูน) ที่สร้างเมื่อปี 1997 โดยฮายาโอะ มิยาซากิและ Studio Ghibli ซึ่งเป็นแอนิเมชั่นที่ใช้ทุนสร้างสูงที่สุดในขณะนั้นและกวาดรายได้ถล่มบ๊อกซ์ออฟฟิศในญี่ปุ่นอย่างล้นหลาม การต่อสู้ของ 3 กลุ่ม ได้แก่ ธรรมชาติ, เหมืองแร่, และจักรพรรดิกลายเป็นนัยยะของการต่อสู้ระหว่างคนญี่ปุ่นยุคเก่าอนุรักษนิยม, คนญี่ปุ่นยุคใหม่ที่ทั้งเป็นทุนนิยมและวัตถุนิยม, และต่างชาติที่แอบแฝงมาในรูปมิตรแต่แท้จริงกลับกดดันด้วยการขอร้องโดยเอาปืนจ่อหัว เรื่องราวดำเนินมาถึงตอนที่ฝ่ายเหมืองแร่ซึ่งนำทีมโดย "เอโบชิ" ดูแล้วน่าจะเป็นฝ่ายธรรมะและผู้เสียผลประโยชน์ตอนต้นเรื่องกลับกลายเป็นฝ่ายที่รุกรานธรรมชาติจากการเป่าหูและหลอกใช้จากตัวแทนของจักรพรรดิ แม้เอโบชิต้องการตัดหัวเทพเจ้ากวางผู้ปกปักรักษาผืนป่าเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อจักรพรรดิแต่เธออ่านเกมพลาดไปหน่อยค่ะ ถ้าลองคิดดีๆ แล้วจักรพรรดิไม่สนทั้งความจงรักภักดีและหัวเทพเจ้ากวางหรอก จักรพรรดิอาจจะต้องการแค่ให้เอโบชิพินาศตอนจบจากการหันดาบเข้าสู้กับธรรมชาติก็ได้ เช่นเดียวกับคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ที่มองเห็นว่าวัตถุเป็นเรื่องสำคัญ การทำตามค่านิยมของต่างชาติก็เพื่อความอยู่ดีกินดีของคนทั้งประเทศและคนทำงานก็ควรได้รับผลตอบแทนแบบนี้มันผิดตรงไหน คนเหล่านี้ลืมไปว่าคนที่มาเป่าหูไม่ใช่มิตรแท้ค่ะ คนในชาติเดียวกันที่ต่อสู้กันอยู่ต่างหากคือมิตรที่อยู่เคียงข้างกันมาตลอด
การที่เอโบชิตัดสินใจเป็นศัตรูกับธรรมชาติเผยออกในตอนท้ายๆ ว่าเธอทำไปเพราะกลัวจักรพรรดินั่นเอง เธอปรารถนาจะทำธุรกิจอย่างสงบสุขต่อไปด้วยการหันไปแทงมิตรที่ไม่เคยให้โทษกับเธออย่างธรรมชาติและยอมปวารณาตัวเป็นข้ารับใช้คนที่หวังจะฆ่าเธอในตอนแรกอย่างจักรพรรดิเสียแทน เปรียบเหมือนเด็กรุ่นใหม่ที่ต่อว่าคนรุ่นเก่าว่า "หัวโบราณ" หรือ "ไม่ทันยุคสมัย" แล้วหันไปชื่นชมค่านิยมตะวันตกที่ทำงานแลกเงินและซื้อความสุขสบายด้วยเงินที่หามาค่ะ ฟังดูแล้วก็แฟร์ดีนะคะ แต่คนเหล่านี้ลืมคิดถึงตอนที่ตัวเองทำงานไม่ได้และกลายเป็นคนรุ่นเก่าบ้าง ถึงตอนนั้นเขาจะเรียกร้องอะไรจากเด็กยุคหลังในเมื่อตัวเองเป็นคนทำลายคุณค่าของตัวเองในอีก 50 ปีข้างหน้าไปเสียแล้ว จุดจบนี้นำเสนอด้วยความพินาศของเหมืองแร่ในเรื่องค่ะ หนึ่งในสาวเหมืองแร่พูดได้น่าประทับใจตอนที่ทุกคนมองดูเหมืองแร่ลุกท่วมด้วยไฟต่อหน้าต่อตาว่า "จะกลัวอะไร ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ก็สร้างใหม่ได้อยู่แล้ว" ถือเป็นการตอกตะปูปักลงในใจอีกว่าไม่มีอะไรน่ากลัวไปกว่า "ความอ่อนแอ" ของตัวเองค่ะ ตราบใดที่ยังเข้มแข็งทั้งกายและใจก็ย่อมลุกขึ้นยืนใหม่ได้เสมอ ในเมื่อหมดสิ้นที่ทางทำมาหากินแต่ยังมีแขนขาและเพื่อนพ้อง จะกลัวอะไรกับจักรพรรดิที่สุดท้ายก็ไม่ได้ช่วยเหลืออะไรเสียหน่อย ธรรมชาติต่างหากที่จะทำให้สร้างเหมืองและใช้ชีวิตต่อไปได้ในท้ายที่สุด
เกือบจะลืมกล่าวถึงความสำคัญของ "อาชิทากะ" พระเอกของเรื่องเสียแล้วค่ะ อาชิทากะน่าจะเป็นพระเอกไม่กี่คนของ Studio Ghibli ที่มีบทบาทมากกว่านางเอก แม้เขาจะไม่ได้มีเอกลักษณ์เป็นที่จดจำหรือดึงดูดให้เอาไปทำเป็นโปสเตอร์หนังเท่านางเอกอย่างซัน แต่นั่นคือสิ่งที่ถูกต้องแล้วค่ะ อาชิทากะไม่ได้ปรากฏตัวในฐานะฮีโร่หรือต้องการให้คนจดจำ เขามาในฐานะ "ผู้ไกล่เกลี่ย" ซึ่งปลุกทุกคนให้มองเห็นความจริงว่าใครคือมิตรแท้และศัตรูจริงกันแน่ นอกจากนั้นอาชิทากะยังเป็น "ผู้ให้อภัย" เขามองเห็นว่าทุกคนมีเหตุผลที่ต้องทำผิดต่อผู้อื่น เขาไม่โทษใครเลยแต่เลือกที่จะช่วยทุกคนให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบค่ะ คนแบบนี้คือคนที่ผู้กำกับมิยาซากิเลือกให้มาปฏิวัติญี่ปุ่นนั่นเองคือนอกจากเก่งและมีคุณธรรมแล้ว ยังต้องกล้าหาญและมีดวงตาที่มองเห็นความถูกผิดอย่างชัดเจนด้วยไม่แปลกใจเลยที่ดูโมโนโนเกะฮิเมะแล้วจะรู้สึกฮึกเหิมนิดๆ ในตอนจบค่ะ แอนิเมชั่นเรื่องนี้สร้างค่านิยมใหม่ในการกตัญญูขึ้นในจิตใต้สำนึกของคนดูอย่างแนบเนียนและน่าชื่นชมสมเป็นงานของฮายาโอะ มิยาซากิ ครั้งหนึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า "ต่อให้การทำแอนิเมชั่นใช้ CG (คอมพิวเตอร์กราฟิก) เข้ามาช่วยให้สะดวกสบายมากขึ้น แต่จงอย่าลืมกระดาษกับดินสอ" ไม่ได้หมายความว่าแอนิเมชั่นที่ดีต้องร่วมกันทั้งสองอย่างนะคะ เชื่อว่าผู้กำกับมิยาซากิไม่สนใจหรอกค่ะว่าแอนิเมชั่นจะสร้างจากอะไร แต่เขากำลังบอกว่างานที่ดีเกิดจากสมองและประสบการณ์ที่ประมวลออกมาจากมนุษย์ (เปรียบเหมือนกระดาษกับดินสอ) ไม่ใช่จากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าของคอมพิวเตอร์ (เปรียบเหมือน CG)
ฮายาโอะ มิยาซากิแห่ง Studio Ghibli จึงเป็นปราชญ์ผู้ทำให้มนุษย์มองเห็นคุณค่าในตัวมนุษย์ด้วยกันอย่างแท้จริงค่ะ
วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11327 มติชนรายวัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น