28 มีนาคม 2552

Spirited Away จินตนาการกลั่นตัวเป็นการ์ตูน (2)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ต่อจากสัปดาห์ที่แล้วค่ะ ว่าด้วย Spirited Away แอนิเมชั่นเรื่องแรกของญี่ปุ่นที่ได้รับรางวัลออสการ์เมื่อปี 2002 โดยเป็นแอนิเมชั่นไม่ได้พากย์อังกฤษเรื่องเดียวที่ได้รับรางวัลนี้ และเป็นหนึ่งในสองเรื่องในประวัติศาสตร์ออสการ์สาขาแอนิเมชั่นที่สร้างโดยใช้การวาดมือ (stop-motion) เข้ามาประกอบ นอกจากนั้นยังทุบสถิติหนังทำเงินตลอดกาลในญี่ปุ่นโดยเขี่ยไททานิคตกและขึ้นเป็นอันดับหนึ่งเสียแทน เมื่อรวมรายได้จากการฉายทั่วโลกแล้ว Spirited Away คือภาพยนตร์ที่ทำกำไรสูงสุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นค่ะ

สิ่งที่ทำให้ Spirited Away อาจเป็นตัวแทนวัฒนธรรมญี่ปุ่นของยุคสมัยที่จะอยู่ยงคงกระพันไปอีกหลายสิบปีหลังจากที่ผู้กำกับฯอากิระ คุโรซาว่า เคยสร้างปรากฏการณ์นี้มาแล้วและทำให้ญี่ปุ่นถูกมองว่าเป็นวัฒนธรรมซามูไรคือการแทรก "ความเป็นญี่ปุ่น" ลงในแอนิเมชั่นอย่างชาญฉลาด ดูไปก็ต้องโหยหวนไปว่า "สุดยอด...คิดได้ยังไงเนี่ย เขาใช้สมองส่วนไหนคิด" ทุกอย่างในเรื่องแสดงความเป็น "วัฒนธรรมญี่ปุ่น" ไม่ใช่เพราะเหตุการณ์เกิดในญี่ปุ่นหรือตัวละครเป็นญี่ปุ่น แต่ลองสังเกตตอนดูนะคะ จิฮิโระหนูน้อยนางเอกเป็นเด็กน่ารักในสายตาคนรอบข้างเพราะอะไร คำตอบคือเพราะเธอ "กล้าแสดงความคิดเห็นอย่างสุภาพ อ่อนน้อม ให้เกียรติผู้อาวุโส" เธอโค้งขอบคุณทุกครั้งเมื่อได้รับความช่วยเหลือ และกระทั่งเดินผ่านผีไร้หน้าซึ่งคงอาวุโสกว่า เธอยังก้มหลังนิดๆ ตอนเดินผ่าน! การให้เกียรติผู้อื่นซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่งดงามของตะวันออกยังแสดงผ่าน "การเรียกชื่อ" ด้วยค่ะ จิฮิโระจะเรียกคนที่แก่กว่าด้วยคำที่แสดงความอ่อนน้อม เช่น "คุณลุง" "คุณย่า" โดยไม่เรียกชื่อตัวซึ่งวัฒนธรรมตะวันตกพบไม่บ่อยค่ะ ดังนั้น การเรียกคำแทนตัวเช่นนี้น่าจะทำให้ฝรั่งงงไปพอสมควรแต่คนไทยน่าจะคุ้นเคย นี่คือ "ค่านิยมความอ่อนน้อมถ่อมตน" นั่นเองนอกจากนั้น "ค่านิยมการทำงานหนัก" ในคนวัยทำงานถือเป็นเรื่องสำคัญ ดังเช่นตอนที่ฮาคุบอกจิฮิโระว่าถ้าเธอไม่ทำงานเธอจะถูกสาปเป็นหมู แต่ถ้าเธอทำงานแม้จะเล็กน้อยแค่ไหนก็ไม่มีใครสาปเธอได้ หมายถึงคนทำงานคือคนที่ได้รับการยกย่อง ในระหว่างที่คนไม่ทำงานและอาศัยข้าวคนอื่นกินถือเป็นคนที่ควรดูถูกและจะทำประโยชน์ได้มากที่สุดก็ตอนตายแล้วเท่านั้น (สำหรับคนคือไม่เป็นภาระอีก สำหรับหมูคือได้เป็นอาหาร) เด็กญี่ปุ่นที่ทำงานพิเศษจึงถือเป็นเรื่องปกตินะคะ ส่วนเด็กไทยไม่ต้องเลียนแบบค่ะ เราเป็นครอบครัวขยายมีคุณปู่คุณย่าให้ดูแล มีงานบ้านให้ช่วยเป็นกระบุง การช่วยงานที่บ้านอาจเป็นการแสดงออกถึงการทำงานหนักในวัยรุ่นและรับผิดชอบต่อครอบครัวที่ดีกว่าทำงานนอกบ้านเยอะค่ะ

จิฮิโระยังนำเสนอ "ค่านิยมในการกตัญญู" เมื่อเธอไม่สนใจทองคำกองโตที่ผีไร้หน้าเสนอให้ด้วยเหตุผลว่า "ฉันไม่อยากได้ ฉันจะรีบไปช่วยฮาคุ" ซึ่งเธอแสดงให้เห็นว่าความร่ำรวยของตัวเองไม่ได้สำคัญไปกว่าการช่วยเพื่อนที่มีบุญคุณกับเธอซึ่งกำลังบาดเจ็บ วัฒนธรรมตะวันตกในหมู่คนบ้างานไม่มีแบบนี้นะคะ หลายคนถือว่าในการทำงานต้องเอาตัวเองรอดก่อน ผลกำไรของบริษัทสำคัญกว่าเพื่อนซึ่งหมายถึงการเสียสละเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมสำคัญกว่าพวกพ้อง และหลายคนเป็นเพื่อนเพราะเรื่องงานมากกว่าอยากรู้จักกันจริงๆ (เขาจึงต้องพัฒนาการทำงานเป็นทีม ในระหว่างที่ไทยต้องพัฒนาศักยภาพส่วนบุคคลเสียแทน) เมื่อเราดูจึงไม่ได้รู้สึกขัดเขินแต่รับรองว่าฝรั่งต้องรู้สึกเหมือนโดนแทงจี๊ดๆ อยู่ในใจค่ะ

วัฒนธรรมอื่นๆ ที่สอดแทรกความเป็นญี่ปุ่นและพบได้ในเรื่อง เช่น การกระซิบผ่านประตูแทนที่จะเป็นเคาะประตู นั่นเพราะบ้านญี่ปุ่นใช้ประตูกระดาษไงคะ หรือแม้แต่การอาบน้ำในโรงอาบน้ำสาธารณะซึ่งเป็นเรื่องปกติในญี่ปุ่น แต่คนไทยอาจนึกถึงอาบอบนวดและฝรั่งนึกถึงสปาเสียแทน การเห็นลูกค้าเป็นพระเจ้าซึ่งก็บ่งบอกความเป็นพ่อค้าอันดับหนึ่งในเอเชียได้ดี และการเดินทางด้วยรถไฟของจิฮิโระซึ่งบ้านเรามีไม่มากนักเพราะเราใช้รถส่วนตัวกับรถเมล์เป็นหลักเสียมากกว่า ภาพเหล่านี้เป็นการนำเสนอวัฒนธรรมญี่ปุ่นผสานผลงานที่เปี่ยมด้วยจินตนาการกลั่นออกมาเป็นแอนิเมชั่นเรื่องนี้ค่ะ แม้เล็กน้อยแต่ก็ทำให้เราคุ้นเคยกับญี่ปุ่นมากขึ้น ถ้าอนาคตต้องเลือกซื้อของจากญี่ปุ่นหรือประเทศ A เราอาจมีโอกาสเลือกจากญี่ปุ่นเพราะคุ้นเคยกว่าโดยไม่รู้ตัวอย่างไรก็ตาม ไม่แน่ใจว่า Studio Ghibli เดินหมากผิดหรือต้องการเปิดตลาดใหม่ที่ลูกค้าต่างชาติย่อยง่ายขึ้น เพราะหลังได้ออสการ์ก็สร้างแอนิเมชั่นจากวรรณกรรมเยาวชนของตะวันตกแทนที่จะเป็นเรื่องของญี่ปุ่นแท้ๆ ผลคือคนญี่ปุ่นตีโจทย์วัฒนธรรมตะวันตกไม่แตก ในระหว่างที่ผู้เขียนวรรณกรรมเองก็ไม่ได้เข้าใจว่าแอนิเมชั่นกับการ์ตูนสำหรับเด็กมันไม่เหมือนกัน

คงต้องเชียร์แล้วค่ะว่า Studio Ghibli ขาลงหลังยุค Spirited Away จะกลับมาผงาดได้อีกเมื่อไหร่ ดีไม่ดีหนังไทยอาจแซงหน้าไปก่อนนะคะเพราะเราตีโจทย์แตกแล้ว วัฒนธรรมไทยคือการท่องเที่ยวและมวยไทยนี่เอง มาอยู่ต่างประเทศพอบอกว่าเป็นคนไทยเขาก็จะรู้จักภูเก็ตกับโทนี่ จา เลยนะคะ ในสถานีรถไฟใต้ดินที่ลอนดอนก็มีโปสเตอร์หนังไทยที่เขียนชื่อโทนี่ จา ติดอยู่แผ่นใหญ่เท่าหนังฮอลลีวู้ดด้วย น่าภูมิใจกว่าโดนถามว่าเมืองชื่อไทยแลนด์อยู่ในประเทศอะไรตั้งเยอะค่ะ

วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11341 มติชนรายวัน

ไม่มีความคิดเห็น: