คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง
เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปคุยกับน้องๆ เยาวชนไทยยี่สิบกว่าคนที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในโครงการประกวด "การ์ตูนไซไฟไทย ก้าวไกลสู่สากล ครั้งที่ 1" ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรค่ะ น้องๆ เหล่านี้คือทีมผู้ส่งผลงานการ์ตูนสั้น 10 ทีมระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาที่ผ่านเข้ารอบและมีโอกาสมาเข้าค่ายฝึกฝนเรียนรู้การสร้างการ์ตูนกันในค่ายเป็นเวลาสามวัน ทันทีที่ถึงค่าย คำถามแรกที่ถามผู้ริเริ่มโครงการนี้คือ
"ไซไฟคืออะไรคะ?"
คำว่า "การ์ตูนไซไฟ" หรือ "การ์ตูนวิทยาศาสตร์" มักจะชวนให้คิดถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ หรือไม่ก็หุ่นยนต์เสมอเลยค่ะ แต่จากการสอบถามได้ความรู้ที่น่าสนใจว่า "วิทยาศาสตร์" ในที่นี้หมายถึง "การคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์" ซึ่งการ์ตูนต้องนำเสนอและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านรู้จักคิดเป็นเหตุเป็นผล รู้จักคิดอะไรใหม่ๆ และค้นหาความจริงเพื่อนำไปสู่จุดนั้นได้ จะเรียกว่าเชียร์ให้คนอยากสร้างงานวิจัยหรือค้นคว้าหาความจริงก็ไม่ผิดค่ะ แล้วถ้าเป็น "การ์ตูนวิทยาศาสตร์" บ้าง ถ้าถามใจของตัวเองว่าอยากเห็นอะไร คำตอบคืออยากเห็นการ์ตูนที่อ่านจนจบเรื่องแล้วรู้สึกว่าการ์ตูนสุดโม้เรื่องนี้ "อาจจะเกิดขึ้นจริงๆ ในโลกเราก็ได้" เนื่องจากมีเหตุมีผลประกอบน่าเชื่อถือ ไม่ใช่แบบคัมภีร์ลี้ลับที่เปิดอ่านปุ๊บก็เก่งเลย อันนั้นไม่ใช่ไซไฟแต่เป็นแฟนตาซีค่ะ
ทั้งๆ ที่ไซไฟเป็นเรื่องเข้าใจง่ายแต่ในทางปฏิบัติคงยากน่าดูเหมือนกัน เพราะงานหลายชิ้นออกมาก็ยังจับจุดของ "วิทยาศาสตร์" ไม่ได้เสียที อุปสรรคสองสามข้อที่เจอเมื่อได้คุยกับน้องๆ นักวาดการ์ตูนที่ผ่านเข้ารอบและอาจจะเป็นปัญหาหนักอกให้ตีโจทย์คำว่าไซไฟกันไม่แตกอย่างแรกคือหลายคน "ยังเด็ก" ค่ะ อายุก็เป็นส่วนหนึ่งแต่วุฒิภาวะเป็นประเด็นที่สำคัญกว่า หลายคนยังมีแนวคิดอยู่ภายใต้กรอบที่คนอื่นตีขึ้นและไม่สามารถวิ่งให้หลุดออกมาจากกรอบได้ เรื่องนี้ต้องใช้เวลาและประสบการณ์เข้าช่วยนะคะ วันนี้เขายังเด็กแต่ถ้าได้ฝึกฝนก็จะโตขึ้นได้เอง ผู้ใหญ่เก่งๆ ทุกคนก็เคยเป็นเด็กและอยู่ในกรอบความคิดของคนอื่นมาแล้วทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องน่าอายอะไรที่เรายังเด็กค่ะ
อุปสรรคข้อสอง "อะไรคือความเป็นไทย?" คาดว่าหลายคนเข้าใจไปว่าต้องใช้ชื่อไทย ฉากไทย ลายไทย (ว่าเข้านั่น) แท้จริงความเป็นไทยในการ์ตูนไม่ใช่เรื่องยากแต่กระทั่งผู้ใหญ่หลายคนในวงการสื่อสิ่งพิมพ์การ์ตูนเองก็ยังไม่เข้าใจค่ะ มันคืออะไรก็ได้ที่คนชาติอื่นเห็นปุ๊บแล้วรู้สึกว่านี่แหละไทย! ลองนึกว่าถ้าเราเป็นฝรั่ง เห็นตัวการ์ตูนเอาผักจิ้มน้ำพริกแล้วรู้ไหมว่านี่คือไทย คำตอบคือไม่รู้ค่ะเพราะภาพในการ์ตูนไม่ได้ชัดขนาดให้รู้ว่ามันคือถั่วฝักยาวกับน้ำพริกกะปิ หรือต่อให้เห็นภาพจริงก็อาจจะไม่เข้าใจอยู่ดีว่าเอาถั่วไปจิ้มโคลนทำไม (เขาไม่รู้จักน้ำพริกค่ะ) เป็นอันว่าฉากนี้นำเสนอความเป็นไทยไม่ได้ แล้วถ้าตอนนางเอกออกจากบ้านไปโรงเรียนแล้วยกมือขึ้นไหว้คุณแม่ล่ะ ฝรั่งดีดนิ้วโป๊ะเลยค่ะ ไหว้ทักทายแบบนี้ไทยแลนด์แน่ๆ ต่อให้เป็นแค่ช่องเล็กๆ ในการ์ตูนแต่สิ่งที่สอดแทรกอยู่นี่ล่ะค่ะคือความเป็นไทย อีกซักตัวอย่างที่ง่ายกว่านั้นคือตัวละครเดินคุยกันแล้วฉากหลังเป็นรถตุ๊กๆ แล่นผ่าน หรือนางเอกชอบใส่หมวกแก๊ปปักลายช้างเชียงใหม่ส่วนพระเอกอยู่บ้านนุ่งกางเกงมวยไทย! เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ลองบริหารสมองเล่นค่ะ ถ้าโจทย์คือความเป็นไทยล่ะก็ เขียนแบบนี้ต้องไทยแน่ๆ ค่ะ หรือใครจะเถียง
ข้อสุดท้ายคือข้อดีที่กลายเป็นอุปสรรคนั่นคือน้องๆ ส่วนใหญ่ "เป็นแฟนการ์ตูน" ค่ะ คือคนที่อ่านเยอะและอยากกระโดดมาเขียนบ้าง แต่สิ่งที่โครงการนี้ต้องการคือ "นักเขียนการ์ตูน" ไม่ใช่แฟนการ์ตูน ดังนั้น ต้องเป็นนักวาดและนักเล่าเรื่อง วาดสวยแต่อ่านไม่รู้เรื่องไม่ได้ค่ะ หรือเรื่องสนุกแต่วาดแล้วไม่รู้ว่าอะไรก็ไม่ดีเช่นกัน สุดท้ายวาดเก่งเรื่องสนุกก็อาจจะไม่ชนะเลิศก็ได้ถ้าไอเดียที่ถ่ายทอดไม่ใช่วิทยาศาสตร์
คงต้องลุ้นกันค่ะว่าทีมใดจะชนะเลิศในการประกวดนี้ แต่คนที่ชนะไปแล้วแน่ๆ คือวงการการ์ตูนไทยนี่ล่ะค่ะ น่าดีใจจริงๆ ที่ผู้ใหญ่หลายคนเห็นความสำคัญและสนับสนุนการเรียนรู้ผ่านสื่อชนิดนี้ วงการการ์ตูนไทยต้องสดใสแน่ค่ะ
วันที่ 01 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11558 มติชนรายวัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น