19 ธันวาคม 2552

Super Dunker การ์ตูนไทยกับรางวัลอินเตอร์(1)

คอลัมน์มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ต้องปรบมือดังๆให้คุณต้น จักรพันธ์ ห้วยเพชร นักเขียนการ์ตูนไทยคนแรกที่คว้า Gold Awardหรือรางวัลชนะเลิศการประกวดการ์ตูนนานาชาติ International Manga Award ครั้งที่ 3 ซึ่งกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นเป็นแม่งาน ผลงานของคุณต้นที่ได้รับรางวัลคือ Super Dunker สตรีทบอลสะท้านฟ้าซี่งขณะนี้วางแผงแล้ว 2 เล่มยังไม่จบ หาซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วๆไปแถวๆการ์ตูนความรู้นะคะ

ซุปเปอร์ดังค์เกอร์เป็นเรื่องของ โตโต้ เด็กหนุ่มชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเกาะที่ห่างไกลความเจริญกับคุณพ่อ อยู่มาวันหนึ่ง ร็อคกี้ นักกีฬาบาสเกตบอล NBA ผู้โด่งดังเกิดขับเครื่องบินมาตกเหนือเกาะเขารอดตายมาได้อย่างปาฏิหาริย์ เพราะความช่วยเหลือของ โตโต้และพ่อ แต่ก็ต้องติดเกาะกับลูกบาสเกตบอลหนึ่งลูกท่ามกลางดินแดนที่ไร้ความเจริญ

เพื่อแก้เซ็ง ร็อคกี้จึงตัดสินใจสอนให้โตโต้รู้จักบาสเกตบอล จนกระทั่งเมื่อเขาได้กลับบ้านเกิดเมืองนอนและโตโต้ต้องไปเข้าเรียนที่พัทยา ชีวิตของเด็กชายที่เพิ่งรู้ว่าบาสเกตบอลไม่ได้เล่นกันสองคนแบบที่เกาะจึงเริ่มขึ้น

เล่าสั้นๆไว้แค่นี้ แต่ที่เหลือลองไปหาอ่านดูนะคะ เป็นการ์ตูนเด็กที่อ่านแล้วสนุกจนวางไม่ลงเลยล่ะค่ะ

ในคำแนะนำนักเขียนทางเว็บไซต์ของมังงะอวอร์ด บอกไว้ว่าคุณต้นได้รับแรงบันดาลใจจาก “ดราก้อนบอล” ของ อ.โทริยามะ อากิระ จึงอยากมาเป็นนักเขียนการ์ตูน คาดว่าคำแนะนำนี้คงเป็นน้ำหวานให้แม่งานอย่างกระทรวงต่างประเทศของญี่ปุ่นยิ้มแก้มตุ่ยเพราะว่ารางวัลมังงะนานาชาติสร้างขึ้นจากนโยบายวัฒนธรรมเชิงรุกของรัฐบาลญี่ปุ่นยุคนายกรัฐมนตรีทาโร่ อาโสะ ที่ต้องการเผยแพร่วัฒนธรรมป๊อปของญี่ปุ่นไปสู่สายตาชาวโลก

และวิธีที่ทำให้เยาวชนทั่วโลกเข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นมากขึ้นก็ไม่มีอะไรดีไปกว่าการให้เด็กเหล่านั้นลองอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นหรือเล่น
ทามาก็อต ดูสักครั้ง

บางทีการ์ตูนของญี่ปุ่นเองอาจจะไม่ทำให้คนในชาตินั้นๆรู้สึกอินตาม แต่ถ้านักเขียนในชาตินั้นเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานโดยใช้วัฒนธรรมในประเทศของตัวเองเป็นที่ตั้งและมีกลิ่นแรงบันดาลใจจากญี่ปุ่นนิดๆเข้ามาประกอบด้วยน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการส่งผ่านวัฒนธรรมของญี่ปุ่นไปสู่สายตาชาวโลก

ดังนั้น นักเขียนการ์ตูนชาติอื่นที่ไปคว้ารางวัลมังงะจึงเป็นทูตวัฒนธรรมอย่างแท้จริงค่ะ เพราะนอกจากจะรักษาเอกลักษณ์และแสดงวิถีชีวิตของชาติตัวเองแล้ว ยังแสดงให้เห็นอีกว่า ต่อให้เติบโตขึ้นจากการอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น เขาก็ยังคงเป็นคนไทยที่รู้จักดึงเอาข้อดีของชาติอื่นมาปรับใช้กับงานของตัวเองได้

นี่คือสิ่งที่เราอยากปลูกฝังคนไทยค่ะ ไม่ใช่ห้ามกรี๊ดวัฒนธรรมต่างชาติ แต่ถ้าจะให้ดี พอกริ๊ดแล้วก็มาช่วยพัฒนาวัฒนธรรมบ้านเราให้น่ากริ๊ดเหมือนเขาได้ไหม

รางวัลมังงะนานาชาติได้ให้นิยาม manga หรือหนังสือการ์ตูนที่ดำเนินเรื่องแบบญี่ปุ่นว่าเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับ “ ความรัก , มิตรภาพ,การเติบโต,และทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไร้ซึ่งพรมแดน ” ดังนั้นเขาจึงเชื่อว่ามังงะสามารถเชื่อมโยงจิตใจของผู้คนไม่ว่าเด็กหรือแก่(แต่ใจยังเอ๊าะ) ให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ การ์ตูนของคุณต้นตอบโจทย์นี้ได้ครบถ้วนอย่างไม่ต้องสงสัยค่ะ สมคุณค่าแก่รางวัลที่ได้รับจริงๆ

ครั้งหน้ามาต่ออีกนิดว่าเพราะเหตุใดการ์ตูนไทยที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติจึงเป็นการ์ตูนความรู้ ทั้งที่เกณฑ์การตัดสินไม่มีข้อไหนเลยบอกว่าการ์ตูนต้องมีประโยชน์



ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 20ธันวาคม 2552

ไม่มีความคิดเห็น: