คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง
สัปดาห์ก่อนเล่าให้ฟังเรื่องคดีมิวสิควิดีโอของเกาหลีลอกฉากหนึ่งในแอนิเมชั่น (ภาพยนตร์การ์ตูน) ของญี่ปุ่นส่งผลให้ต้องจ่ายเงินชดเชย 400 ล้านวอน ไปแล้ว สัปดาห์นี้ก็ได้ยินข่าวสินค้าเลียนแบบอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้รู้สึกเศร้าใจค่ะเพราะครั้งนี้คาดว่าคนไทยจะก๊อบปี้เสียเอง เป็นการก๊อบปี้ตุ๊กตาบอลล์จอยท์ดอลล์ (ball joint doll-BJD) ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย ก่อนที่จะไปดูว่าตกลงก๊อปหรือไม่ก๊อป คนไทยทำจริงหรือไม่ ลองมาดูสักนิดนะคะว่าตุ๊กตา BJD คืออะไร ทำไมต้องทำของเลียนแบบออกมาขายกันและทำไมจึงไม่ควรสนับสนุน
BJD คือตุ๊กตาที่สร้างจากเรซิ่นซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายพลาสติคแข็ง คุณภาพของ BJD และราคาขึ้นกับหน้าตา ระบบข้อต่อ และคุณภาพเรซิ่นเป็นหลักค่ะ แน่นอนว่าถ้าปั้นออกมาสวยและข้อต่อช่วยในการโพสท่าได้หลายหลายเท่าไรก็จะยิ่งแพงมากขึ้น ส่วนเรซิ่นของ BJD ชั้นดีมักจะดูนวลเนียนเหมือนผิวคนจริงๆ ประเทศที่ผลิตและจำหน่ายอย่างกว้างขวางคือญี่ปุ่นและเกาหลีโดยบริษัทที่ผูกขาดตลาด BJD ในญี่ปุ่นชื่อ "โวคส์" (Volks) ส่วนในเกาหลีมีมากมายหลายเจ้าเลยค่ะ มีผู้ผลิตจากจีนและตะวันตกบ้างแต่ก็ไม่ใช่ตลาดที่ใหญ่นักเมื่อเทียบกับสองประเทศนี้
สิ่งที่ทำให้ BJD เป็นของที่หลายท่านอยากได้แต่ไม่มีโอกาสเป็นเจ้าของก็เพราะ "ราคา" นี่ล่ะค่ะ สำหรับ BJD ขนาดใหญ่ (สูงประมาณ 60-70cm) ราคาตั้งแต่ตัวละเกือบสองหมื่นบาทไปจนถึงเกือบแสนบาทก็มีค่ะ! ถ้าจินตนาการถึงตุ๊กตาราแพงขนาดนี้แล้วนึกภาพไม่ออก ลองคิดถึงกระเป๋าแบรนด์เนมนะคะ สาวๆ ที่อยากถือของแพงแต่ไม่มีเงินพอจะซื้อและตัดใจไม่ลงมักจะทำอย่างไร คำตอบคือบางคนเลือกซื้อของปลอมและหลอกตัวเองว่า "เพราะฉันไม่รวย ใช้ของปลอมก็พอแล้ว" ซึ่งเป็นค่านิยมที่ไม่ถูกต้องค่ะ
กลับมาที่ BJD บ้าง ความที่เรซิ่นราคาไม่กี่ร้อยบาทสามารถขายได้ในราคาหลายพันบาททำให้มีพ่อค้าไร้คุณธรรมกลุ่มหนึ่งนำแบบตุ๊กตา BJD ของบริษัท Volks ไปหล่อใหม่ด้วยเรซิ่นคุณภาพต่ำกว่าของแท้เพื่อขายตัดราคา จากประกาศเตือนของ Volks เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาทำให้ทราบว่าสินค้าเลียนแบบเหล่านี้ผลิตในจีน และที่น่ากลัวกว่านั้นคือนำไปประมูลขายทางเว็บไซต์ประมูล Yahoo! auction ในญี่ปุ่นเย้ยของแท้เลยค่ะ! นอกจากคนซื้อจะตกเป็นเหยื่อเสียเงินจำนวนมากโดยไม่ทราบว่าซื้อของปลอมมาแล้ว การผลิต จำหน่าย และเป็นเจ้าของสินค้าเลียนแบบเหล่านี้ถือว่าผิดกฎหมายเลยล่ะค่ะ คนที่ซื้อไปนอกจากจะโดนหลอกให้ซื้อของปลอมแล้ว ยังกลายเป็นอาชญากรที่ครอบครองของปลอมด้วย
มีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับการลอกผลงานผู้อื่นค่ะ เมื่อไม่กี่วันก่อนอ่านในเว็บบล็อกของท่านหนึ่งว่าด้วยการ "ห้ามคลิกขวา" ผู้เขียนท่านนั้นเล่าว่าเว็บไซต์ที่ห้ามคลิกขวา (หมายถึงไม่สามารถก็อปปี้ภาพหรือเนื้อหาในเว็บไซต์ไปเผยแพร่ต่อได้เพราะการก็อปปี้ต้องคลิกขวาที่เมาส์ก่อน) ย่อมมีเจตนาไม่ต้องการให้ใครลอกเลียนแบบหรือนำไอเดียที่เจ้าของเว็บไซต์คิดขึ้นมาอย่างเหน็ดเหนื่อยไปใช้ต่อโดยอ้างว่าเป็นผลงานของตัวเอง สิ่งที่น่าตกใจคือคนที่เข้ามาตอบ (คนไทย) หลายคนบอกว่ามันเป็นการปิดกั้นวัฒนธรรม, ไม่รู้จักแบ่งปัน, จะหวงไว้ทำไม, ก็ฉันคิดไม่ได้ฉันก็เลยลอก ใครมันจะไปรู้ ฯลฯ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนเหล่านี้ไม่มีจิตสำนึกในคุณค่าของนวัตกรรมที่ต้องใช้ทั้งเวลาและความสามารถในการคิดแม้แต่น้อย คนที่คิดว่าการลอกเป็นเรื่องปกติย่อมเป็นคนที่ไม่เคยคิดอะไรด้วยตัวเองเลย การรู้สึกเฉยเมยต่อการลอกจึงเป็นค่านิยมผิดๆ ที่น่าเศร้าค่ะ
เรื่องที่น่าเศร้ากว่านั้นคือเมื่อวันก่อน เพื่อนที่มาเรียนต่ออยู่ประเทศเดียวกันแอบกระซิบถามว่าทำยังไงถึงจะเขียนบทความวิชาการส่งอาจารย์ได้เยอะๆ เราใช้วิธีก๊อบปี้มาจากบทความหลายๆ ฉบับแล้วแปะดีมั้ย ฟังแล้วแทบเป็นลมเลยค่ะ! ได้แต่มองหน้าเขาอย่างตะลึงแล้วบอกว่าการลอกงานเขียนโดยเฉพาะผลงานวิชาการมันไม่ถูกต้องนะ ไม่ควรแม้แต่จะคิด งานวิชาการระดับปริญญาเอกถ้าไม่ใช่ความคิดของตัวเองแล้วมันจะไปมีค่าอะไร
มึนงงกับเรื่องลอกเลียนแบบอยู่พักหนึ่ง สหายก็ส่งข่าวมาว่ามี BJD เลียนแบบออกมาระบาดในไทยแถมฝีมือคนไทยทำเสียด้วย! ภาพที่เห็นวันนี้คือ BJD ของจริงค่ะ เป็นสาวน้อยชื่อ Ani ของบริษัท Luts ในเกาหลี สัปดาห์หน้ามาดูค่ะว่าของเลียนแบบในไทยหน้าตาเป็นเช่นไร
วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11495 มติชนรายวัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น