23 สิงหาคม 2552

ปิดฉากคดีลอกแห่งทศวรรษ สแควร์อีนิกซ์ฆ่าได้หยามไม่ได้

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

นับเป็นคดีที่ยืดเยื้อมายาวนานและปิดฉากลงพร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากวงการการ์ตูนค่ะ คดีนี้เกิดจากบริษัทสแควร์อีนิกซ์ของญี่ปุ่นเจ้าของลิขสิทธิ์แอนิเมชั่น (ภาพยนตร์การ์ตูน) เรื่อง "ไฟนอลแฟนตาซี 7 แอดเวนท์ชิลเดรน" (Final fantasy VII Advent Children : FFVIIAC) แอนิเมชั่นซึ่งสร้างต่อเนื่องจากเกมไฟนอลแฟนตาซี 7 และวางจำหน่ายในญี่ปุ่นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2005 ฟ้องร้องบริษัทแฟนท่อมเอ็นเตอร์เทนเมนท์ในเกาหลีที่ปล่อยมิวสิควิดีโอเพลง "Temptation Sonata" ของนักร้องสาวชาวเกาหลี "ไอวี่" ออกมาเมื่อปี 2007 โดยภาพที่ปรากฏในมิวสิควิดีโอเกือบทั้งหมดเหมือนฉากหนึ่งใน FFVIIAC เรียกว่าแทบจะถ่ายภาพมาทาบได้เฟรมต่อเฟรม

มิวสิควิดีโอลอกสะท้านวงการชุดนี้เรียกได้ว่าทุกคนที่ดูไม่มีใครใช้คำว่า "ได้รับอิทธิพล" หรือ "ได้รับแรงบันดาลใจ" เลยค่ะ ยอมรับว่า...ลอกได้เหมือนมาก ในที่สุดเมื่อเดือนธันวาคมปี 2007 ศาลชั้นต้นของเกาหลีใต้ตัดสินว่าบริษัทแฟนท่อมผิดจริง โดยให้เหตุผลว่า 80% ของมิวสิควิดีโอนี้ใช้เนื้อหา, มุมกล้อง, การแสดง และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายจาก FFVIIAC ศาลชั้นต้นพิพากษาให้หยุดการเผยแพร่และจำหน่ายมิวสิควิดีโอนี้ ส่วนบริษัทแฟนท่อมและผู้กำกับฯมิวสิควิดีโอต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินรวมกันประมาณ 16 ล้านวอน ผู้กำกับฯทั้งสองยื่นอุทธรณ์ต่อ แต่ทั้งสองก็ยังคงแพ้คดีและจบการพิจารณาในชั้นอุทธรณ์เมื่อเดือนมีนาคม 2008 โดยจำนวนเงินค่าปรับเพิ่มเป็น 300 ล้านวอน!

เรื่องควรจะจบเพียงเท่านี้ค่ะเพราะนอกจากแฟนท่อมเอ็นเตอร์เทนเมนท์จะชื่อเสียงป่นปี้แล้ว การลอกสะท้านวงการครั้งนี้ทำให้ภาพพจน์ของกระแสวัฒนธรรมเกาหลีฟีเวอร์เสียหายหนักขึ้น อย่างน้อยก็ในสายตาของคนเล่นเกมและดูการ์ตูน แต่เรื่องกลับไม่จบเมื่อทางแฟนท่อมยื่นเรื่องต่อศาลสูง (High court) ในเกาหลีอีกครั้ง ในที่สุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2009 ที่ผ่านมานี้เอง ศาลสูงได้พิจารณาให้บริษัทแฟนท่อมและผู้กำกับฯชดใช้ค่าเสียหายเพิ่มขึ้นอีกเป็น 400 ล้านวอน (ประมาณ 11 ล้านบาท) ไม่แน่ใจว่าทางแฟนท่อมจะยื่นเรื่องต่อ Supreme Court อีกหรือไม่ค่ะ คงต้องคอยติดตามข่าวต่อไป

มาดูประวัติของเกมไฟนอลแฟนตาซี 7 (FFVII) และ FFVIIAC สักนิดนะคะว่าทำไมทางสแควร์อีนิกซ์ถึงแค้นน่าดู FFVII เป็นเกมในซีรีส์ไฟนอลแฟนตาซีซึ่งกำเนิดในปี 1987 โดยมีเนื้อหาแตกต่างกันไปทุกภาค ภาค 7 ออกจำหน่ายในปี 1997 ผ่านระบบเครื่องเล่นเพลย์สเตชั่นของ Sony นอกจากภาพสวย เพลงเพราะ และตัวละครโดดเด่นแล้ว เนื้อหาของเกมนี้ได้แยกย่อยไปเป็นเกมอื่นๆ และนวนิยายอีกเป็นกุรุส จนกระทั่งปี 2005 เมื่อแอนิเมชั่น FFVIIAC ออกจำหน่ายจึงช่วยปลุกกระแสความนิยม FFVII ขึ้นมาอีกครั้ง แอนิเมชั่นเรื่องนี้คว้ารางวัลมากมายและกวาดรายได้ไปเพียบ เรียกว่าเป็นบ่อเงินบ่อทองของสแควร์อีนิกส์เลยก็ว่าได้ ในปี 2006 สามารถทุบสถิติเป็น DVD แอนิเมชั่นที่ยอดขายสูงสุดของอเมริกาและยุโรปเลยค่ะ (1.4 ล้านแผ่น) แถมยังมีของสะสมออกมากินเงินแฟนๆ ไปอีกบานตะไท

ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2009 ที่ผ่านมา ทางสแควร์อีนิกซ์ปล่อย "FFVIIAC Complete" ซึ่งเป็น FFVIIAC ในแบบความละเอียดสูงพร้อมเนื้อหาเพิ่มเติมและออปชั่นเสริมมากมาย จำหน่ายได้ 1 แสนแผ่นในการเปิดขายวันแรกที่ญี่ปุ่นค่ะ เป็น 12 ปีแห่งความนิยมใน FFVII ที่ไม่จืดจางจริงๆ

คดีนี้น่าจะเป็นตัวอย่างให้คนที่คิดจะลอกระลึกได้ค่ะว่าข้อมูลข่าวสารสมัยนี้เร็วเกือบเท่าความไวแสงแล้ว ลอกอยู่ส่วนหนึ่งบนโลก อีกชั่วโมงต่อมาคนอีกซีกโลกอาจจะรู้แล้ว โดยเฉพาะดันมาลอก FVIIAC ซึ่งเหมือนอู่ข้าวอู่น้ำของสแควร์อีนิกซ์เช่นนี้

ไม่แปลกใจเลยค่ะที่สแควร์อีนิกซ์จะออกมาตอบโต้ว่า เรื่องนี้ฆ่าได้หยามไม่ได้ และลอกก็ไม่ได้เหมือนกัน

วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11488 มติชนรายวัน

ไม่มีความคิดเห็น: