22 มิถุนายน 2551

การ์ตูนญี่ปุ่นกับหนังเกาหลี น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าแนวใหม่


คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

คงไม่ต้องบรรยายถึงความดังของบรรดาภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์จากเกาหลีในขณะนี้ค่ะ ล่าสุดมีละครเกาหลีที่เริ่มฉายชนกันทางช่อง 3 และช่อง 7 วันที่ 19 เมษายนนี้ ช่องสามคือละครฟอร์มยักษ์ Tae Wa Sa Shing Gi "The Legend" กับช่องเจ็ดละครวัยรุ่น Coffee Prince ซึ่งเรทติ้งบี้กันมากในเกาหลี แต่วันนี้จะขอพูดถึง The Legend ที่มีความน่าสนใจเกี่ยวข้องกับการ์ตูนญี่ปุ่นค่ะ

ย้อนกลับมาที่ตลาดภาพยนตร์ในญี่ปุ่นสักนิด สำหรับคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ เกาหลีถูกมองว่าเป็นประเทศที่ยังไม่เจริญเท่าไร ซึ่งเป็นภาพที่ติดตาญี่ปุ่นมาตลอดจนแม้ปัจจุบันเกาหลีจะพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ญี่ปุ่นก็ยังคงนำเข้าสินค้าเกาหลีไม่มากนัก หนึ่งในธุรกิจหลักของเกาหลีที่ตีตลาดญี่ปุ่นยากมากคือธุรกิจบันเทิงค่ะ ทั้งละคร ภาพยนตร์ ดารา ล้วนแทรกซึมเข้าไปในญี่ปุ่นยากเหลือเกิน จนเกิดไอเดียหนึ่งขึ้น นั่นคือการ "แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม" และน่าสนใจว่าเขาเลือก "การ์ตูน" เป็นสื่อกลาง

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก K-Star Corner ฟอรั่ม ของคนรักดาราเกาหลีนะคะ จากภาพที่เห็นด้านบนคือนักแสดงท่านหนึ่งในละคร The Legend เขาคือ Lee Philip ซึ่งรับบท "ผู้พิทักษ์มังกรฟ้า" การเลือกคาแรกเตอร์ของมังกรฟ้าน่าสนใจมาก โดยทีมผู้สร้างบอกว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องหนึ่ง จึงหานักแสดงที่ให้ความรู้สึกคล้ายคลึงกัน นั่นคือเมื่อไว้ผมยาวแล้วยังมองว่าเป็นชายหนุ่มรูปงามหน้าสวยแต่ยังคงเอกลักษณ์เกาหลีไว้ได้

จุดนี้วิเคราะห์เป็นแนวการตลาดที่น่าทึ่งค่ะ อย่างแรกคือหนังสามารถเจาะตลาดสาวๆ ญี่ปุ่นได้ง่ายดายเพราะยกเอาลักษณะชายหนุ่มซึ่งเป็นที่นิยมในญี่ปุ่นมาสร้างเสียเลย ในทางกลับกันก็สามารถใส่ความเป็นเกาหลีลงในชายหนุ่มเสน่ห์แรงคนนี้ได้ด้วย ผลคือ Lee Philip นักแสดงหน้าใหม่อายุ 25 ปีที่พูดเกาหลีไม่ชัดเพราะโตในอเมริกา โด่งดังในชั่วข้ามคืนเพียงแค่เขาเดินไปเดินมาในเรื่องและแทบไม่มีบทพูด (โดนตัดออกบางฉากเพราะพูดผิดอีกต่างหาก)

ความโด่งดังของ Lee Philip ขยายไปถึงญี่ปุ่นตามคาด โดยเขามีกำหนดถ่ายแบบและโชว์ตัวในญี่ปุ่นมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่จะให้เขาไว้ผมยาวและถ่ายด้วยภาพลักษณ์ของมังกรฟ้าที่ปรากฏในภาพยนตร์ทั้งที่ตัวจริงของเขาเป็นหนุ่มเกาหลีตัวใหญ่ธรรมดาๆ เท่านั้นเอง

เมื่อเห็นความสำเร็จของ Lee Philip ทางทีมผู้สร้างจึงดำเนินการเจาะตลาดญี่ปุ่นต่อรอบที่สอง ด้วยการจ้างนักเขียนญี่ปุ่นซึ่งโด่งดังที่สุดคนหนึ่งให้วาดการ์ตูนเรื่อง The Legend นักเขียนท่านนั้นคือ อ.อิเคดะ ริโยโกะ ผู้สร้างผลงาน "กุหลาบแวร์ซายส์" โด่งดังอมตะจนกลายมาเป็นหนังฝรั่ง หนังการ์ตูน และละครเวที การ์ตูนเรื่องนี้ออกมา 2 เล่มแล้วค่ะ จำหน่ายที่ญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว และเล่ม 2 เพิ่งออกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

และแล้ว Tae Wa Sa Shing Gi "The Legend" ก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการเจาะตลาดญี่ปุ่น ลองวิเคราะห์ในฐานะคนอ่านการ์ตูนเองนะคะ ความสำเร็จของเรื่องนี้ที่เกี่ยวข้องกับการ์ตูนอาจมาจากความพยายามวิจัยตลาดผู้นิยมละครในญี่ปุ่นซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มแม่บ้านที่มีเวลาอยู่บ้านดูโทรทัศน์ แม่บ้านซึ่งเป็นตลาดของสื่อบันเทิงที่ยังมีช่องโหว่คือคนที่อายุอยู่ในช่วง 20-35 ปีค่ะ เพราะเพิ่งแต่งงานและลูกไปโรงเรียน และยังไม่มีใครบุกตลาดนี้ หากย้อนไปมองว่ากลุ่มคนอายุขนาดนี้ตอนวัยรุ่นเขานิยมอะไร คำตอบคือช่วงที่คนเหล่านี้เป็นเด็กและโตเป็นวัยรุ่น เป็นช่วงยุคทองของการ์ตูนผู้หญิงเลยค่ะ

ดังนั้นการทำตัวละครให้เหมือนการ์ตูนคลาสสิคในยุคทอง และให้นักเขียนหนึ่งในเกจิยุคทองมาเป็นผู้วาดการ์ตูนจึงกลายเป็นคำตอบสุดท้าย เสริมกับความโด่งดังของ เบ ยอง จุน พระเอกที่สาวกรี๊ดในรอยยิ้มและความดูดี กับเพลงประกอบโดยวง ดงบังชินกิ ที่วัยรุ่นคลั่งกันแทบขาดใจ ตลาดที่ขยายออกมาจากผู้ชมละครเดิมกลายเป็นความสำเร็จที่ดูได้จากเรทติ้งมหาศาล

เรื่องนี้ต้องยกนิ้วให้ทีมการตลาดของละครเรื่องนี้เลยค่ะ เรื่องความสนุกไม่เถียง แต่เรื่องเจาะตลาดญี่ปุ่นด้วยการ์ตูนแบบคิดไปกลับ (คือดึงแบบที่นิยมมา แล้วทำเป็นการ์ตูนกลับไปขาย) ทำให้ทึ่งจนคิดว่าถ้าคนไทยมีนักการตลาดที่มองลึกได้แบบนี้ งานที่เป็นเอกลักษณ์ไทยคงตีตลาดเมืองนอกได้เพียบแน่ค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น: