31 ตุลาคม 2552

ค่ายการ์ตูนไซไฟกับเยาวชนไทย

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปคุยกับน้องๆ เยาวชนไทยยี่สิบกว่าคนที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในโครงการประกวด "การ์ตูนไซไฟไทย ก้าวไกลสู่สากล ครั้งที่ 1" ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรค่ะ น้องๆ เหล่านี้คือทีมผู้ส่งผลงานการ์ตูนสั้น 10 ทีมระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาที่ผ่านเข้ารอบและมีโอกาสมาเข้าค่ายฝึกฝนเรียนรู้การสร้างการ์ตูนกันในค่ายเป็นเวลาสามวัน ทันทีที่ถึงค่าย คำถามแรกที่ถามผู้ริเริ่มโครงการนี้คือ

"ไซไฟคืออะไรคะ?"

คำว่า "การ์ตูนไซไฟ" หรือ "การ์ตูนวิทยาศาสตร์" มักจะชวนให้คิดถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ หรือไม่ก็หุ่นยนต์เสมอเลยค่ะ แต่จากการสอบถามได้ความรู้ที่น่าสนใจว่า "วิทยาศาสตร์" ในที่นี้หมายถึง "การคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์" ซึ่งการ์ตูนต้องนำเสนอและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านรู้จักคิดเป็นเหตุเป็นผล รู้จักคิดอะไรใหม่ๆ และค้นหาความจริงเพื่อนำไปสู่จุดนั้นได้ จะเรียกว่าเชียร์ให้คนอยากสร้างงานวิจัยหรือค้นคว้าหาความจริงก็ไม่ผิดค่ะ แล้วถ้าเป็น "การ์ตูนวิทยาศาสตร์" บ้าง ถ้าถามใจของตัวเองว่าอยากเห็นอะไร คำตอบคืออยากเห็นการ์ตูนที่อ่านจนจบเรื่องแล้วรู้สึกว่าการ์ตูนสุดโม้เรื่องนี้ "อาจจะเกิดขึ้นจริงๆ ในโลกเราก็ได้" เนื่องจากมีเหตุมีผลประกอบน่าเชื่อถือ ไม่ใช่แบบคัมภีร์ลี้ลับที่เปิดอ่านปุ๊บก็เก่งเลย อันนั้นไม่ใช่ไซไฟแต่เป็นแฟนตาซีค่ะ

ทั้งๆ ที่ไซไฟเป็นเรื่องเข้าใจง่ายแต่ในทางปฏิบัติคงยากน่าดูเหมือนกัน เพราะงานหลายชิ้นออกมาก็ยังจับจุดของ "วิทยาศาสตร์" ไม่ได้เสียที อุปสรรคสองสามข้อที่เจอเมื่อได้คุยกับน้องๆ นักวาดการ์ตูนที่ผ่านเข้ารอบและอาจจะเป็นปัญหาหนักอกให้ตีโจทย์คำว่าไซไฟกันไม่แตกอย่างแรกคือหลายคน "ยังเด็ก" ค่ะ อายุก็เป็นส่วนหนึ่งแต่วุฒิภาวะเป็นประเด็นที่สำคัญกว่า หลายคนยังมีแนวคิดอยู่ภายใต้กรอบที่คนอื่นตีขึ้นและไม่สามารถวิ่งให้หลุดออกมาจากกรอบได้ เรื่องนี้ต้องใช้เวลาและประสบการณ์เข้าช่วยนะคะ วันนี้เขายังเด็กแต่ถ้าได้ฝึกฝนก็จะโตขึ้นได้เอง ผู้ใหญ่เก่งๆ ทุกคนก็เคยเป็นเด็กและอยู่ในกรอบความคิดของคนอื่นมาแล้วทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องน่าอายอะไรที่เรายังเด็กค่ะ

อุปสรรคข้อสอง "อะไรคือความเป็นไทย?" คาดว่าหลายคนเข้าใจไปว่าต้องใช้ชื่อไทย ฉากไทย ลายไทย (ว่าเข้านั่น) แท้จริงความเป็นไทยในการ์ตูนไม่ใช่เรื่องยากแต่กระทั่งผู้ใหญ่หลายคนในวงการสื่อสิ่งพิมพ์การ์ตูนเองก็ยังไม่เข้าใจค่ะ มันคืออะไรก็ได้ที่คนชาติอื่นเห็นปุ๊บแล้วรู้สึกว่านี่แหละไทย! ลองนึกว่าถ้าเราเป็นฝรั่ง เห็นตัวการ์ตูนเอาผักจิ้มน้ำพริกแล้วรู้ไหมว่านี่คือไทย คำตอบคือไม่รู้ค่ะเพราะภาพในการ์ตูนไม่ได้ชัดขนาดให้รู้ว่ามันคือถั่วฝักยาวกับน้ำพริกกะปิ หรือต่อให้เห็นภาพจริงก็อาจจะไม่เข้าใจอยู่ดีว่าเอาถั่วไปจิ้มโคลนทำไม (เขาไม่รู้จักน้ำพริกค่ะ) เป็นอันว่าฉากนี้นำเสนอความเป็นไทยไม่ได้ แล้วถ้าตอนนางเอกออกจากบ้านไปโรงเรียนแล้วยกมือขึ้นไหว้คุณแม่ล่ะ ฝรั่งดีดนิ้วโป๊ะเลยค่ะ ไหว้ทักทายแบบนี้ไทยแลนด์แน่ๆ ต่อให้เป็นแค่ช่องเล็กๆ ในการ์ตูนแต่สิ่งที่สอดแทรกอยู่นี่ล่ะค่ะคือความเป็นไทย อีกซักตัวอย่างที่ง่ายกว่านั้นคือตัวละครเดินคุยกันแล้วฉากหลังเป็นรถตุ๊กๆ แล่นผ่าน หรือนางเอกชอบใส่หมวกแก๊ปปักลายช้างเชียงใหม่ส่วนพระเอกอยู่บ้านนุ่งกางเกงมวยไทย! เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ลองบริหารสมองเล่นค่ะ ถ้าโจทย์คือความเป็นไทยล่ะก็ เขียนแบบนี้ต้องไทยแน่ๆ ค่ะ หรือใครจะเถียง

ข้อสุดท้ายคือข้อดีที่กลายเป็นอุปสรรคนั่นคือน้องๆ ส่วนใหญ่ "เป็นแฟนการ์ตูน" ค่ะ คือคนที่อ่านเยอะและอยากกระโดดมาเขียนบ้าง แต่สิ่งที่โครงการนี้ต้องการคือ "นักเขียนการ์ตูน" ไม่ใช่แฟนการ์ตูน ดังนั้น ต้องเป็นนักวาดและนักเล่าเรื่อง วาดสวยแต่อ่านไม่รู้เรื่องไม่ได้ค่ะ หรือเรื่องสนุกแต่วาดแล้วไม่รู้ว่าอะไรก็ไม่ดีเช่นกัน สุดท้ายวาดเก่งเรื่องสนุกก็อาจจะไม่ชนะเลิศก็ได้ถ้าไอเดียที่ถ่ายทอดไม่ใช่วิทยาศาสตร์

คงต้องลุ้นกันค่ะว่าทีมใดจะชนะเลิศในการประกวดนี้ แต่คนที่ชนะไปแล้วแน่ๆ คือวงการการ์ตูนไทยนี่ล่ะค่ะ น่าดีใจจริงๆ ที่ผู้ใหญ่หลายคนเห็นความสำคัญและสนับสนุนการเรียนรู้ผ่านสื่อชนิดนี้ วงการการ์ตูนไทยต้องสดใสแน่ค่ะ

วันที่ 01 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11558 มติชนรายวัน

24 ตุลาคม 2552

นายกฯฮาโตยามะกับการ์ตูนที่ชอบ

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

"ฮาโตยามะ ยูคิโอะ" คงเป็นนักการเมืองที่คนอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นอาจจะเคยได้ยินชื่อผ่านหูมาบ้างค่ะ เขาคือประธานพรรค DJP ซึ่งเพิ่งได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้เอง สาเหตุที่มีชื่อเสียงในหมู่นักอ่านการ์ตูนเพราะท่านนายกฯฮาโตยามะมีนิคเนมที่น่ารักว่า "นายกฯโอตาคุ" หรือนายกรัฐมนตรีผู้ชอบการ์ตูน หนังสือพิมพ์ The Nikkan Sports ได้สรุปบทสัมภาษณ์ที่ตีพิมพ์ลงนิตยสาร Otaku Eriito (ทับศัพท์จากคำว่า otaku elite หรือคนคลั่งการ์ตูนชั้นปัญญาชน) ฉบับพิเศษปี 2005 ในหัวข้อเกี่ยวกับความชอบการ์ตูนของคุณฮาโตยามะซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค DJP และจัดอันดับการ์ตูนในดวงใจไว้ดังนี้นะคะ

สิบอันดับหนังสือการ์ตูนในดวงใจของคุณฮาโตยามะ อันดับหนึ่งเลยคือเรื่อง Robot Santohei หรือ Private Robot ซึ่งเขียนขึ้นในปี 1952 ซึ่งไม่เคยดูเพราะเกิดไม่ทันค่ะ อันดับสองคือ Niji-iro no Trotsky ของ YAS ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ออกแบบคาแร็กเตอร์ในกันดั้มหลายต่อหลายภาค มีผลงานตีพิมพ์ในไทยพอสมควร อันดับสามคือนักฆ่าคิ้วสาหร่าย Golgo 13 การ์ตูนสไนเปอร์สุดคลาสสิคของญี่ปุ่นที่เพิ่งปัดฝุ่นเอามาทำเป็นแอนิเมชั่นฉายทางโทรทัศน์เมื่อปีที่แล้วนี้เอง อันดับสี่ Sangokushi หรือสามก๊กเวอร์ชั่น อ.โยโคยามะ มิตสุเทรุ อันดับห้า Kaji Ryuusuke no Gi เป็นเรื่องเกี่ยวกับลูกชายคนที่สองในตระกูลนักการเมืองซึ่งต้องขึ้นมาสืบทอดงานการเมืองต่อจากบิดาที่จากไปอย่างกะทันหัน อันดับที่หก Omoshiro Manga Bunko Series ไม่น่าใช่ชื่อเรื่องค่ะแต่เดาว่าหมายถึง bunko-ban ซึ่งเป็นหนังสือการ์ตูนขนาด A6 เล็กกว่าปกติ ใช้กระดาษดีและบางแต่จำนวนหน้ามากกว่าการ์ตูนปกติ มักเป็นเวอร์ชั่นพิเศษตีพิมพ์เพิ่มสำหรับการ์ตูนคลาสสิคบางเรื่องที่ผู้อ่านอยากซื้อไว้เพื่อให้พกพาไปอ่านได้สะดวก อันดับเจ็ด Ge Ge Ge no Kitaro หรืออสรูรน้อยคิทาโร่ที่เพิ่งมีคนนำกลับมาสร้างเป็นภาพยนตร์คนแสดงเมื่อปี 2007 นี้เอง เรื่องนี้มีตีพิมพ์ในไทยด้วยค่ะ อันดับแปดซึ่งโดยส่วนตัวยกให้เป็นอันดับหนึ่งคือโดราเอมอน การ์ตูนที่ไม่เคยให้โทษกับใคร อันดับเก้าเจ้าหนูอะตอมเวอร์ชั่นดั้งเดิมของ อ.เทตสึกะ โอซามุ ปรมาจารย์แห่งวงการการ์ตูนญี่ปุ่น และอันดับสิบ Sazae-san ซีรีส์การ์ตูนทางโทรทัศน์เมื่อปี 1969 ซึ่งโดดเด่นที่นางเอกผู้มีแนวคิดไม่เหมือนคนอนุรักษนิยมทั่วไปในยุคนั้น

เมื่อพิจารณาความชอบการ์ตูนของคุณฮาโตยามะจากรายชื่อเหล่านี้ สิ่งที่พอจะสรุปได้คือคุณฮาโตยามะอ่านและดูการ์ตูนในวัยเด็กและการ์ตูนเหล่านี้มีอิทธิพลต่อไปจนโต นอกจากการ์ตูนสำหรับเด็กผู้ชาย (shonen comic) ซึ่งกระตุ้นให้ฉีกตัวเองออกนอกกรอบของยุคสมัยหรือกระแสวัฒธรรมอย่างบรรดาการ์ตูนหุ่นยนต์หรือซาซาเอะซังแล้ว เขายังอ่านการ์ตูนเกี่ยวกับการเมืองที่สะท้อนเส้นทางอาชีพของตนในอนาคตด้วย การจับเรื่องการเมืองยากๆ มาผสมกับการผจญภัยดุเดือดอย่างใน Golgo 13 ยังเป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจศึกษาการเมืองระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน หรือต่อให้เป็นการ์ตูนแฟนตาซีเพ้อฝันอย่างคิทาโร่ โดราเอมอน หรือเจ้าหนูอะตอมก็ไม่ได้ให้แค่ความสนุกอย่างเดียว จินตนาการเหล่านี้ยังช่วยสนับสนุนให้เยาวชนหลุดจากกรอบความคิดที่ตีขึ้นจากการระบบศึกษาในโรงเรียนซึ่งจัดโดยผู้ใหญ่ยุคนั้นได้อีกด้วย

แม้คุณฮาโตยามะจะชอบการ์ตูนแต่เขาก็ไม่ถึงขนาดหยิบมานั่งอ่านระหว่างทำงานนะคะ เขาทำงานเป็นนักการเมืองไม่ใช่บรรณาธิการหนังสือการ์ตูน ดังนั้น ที่วัยรุ่นหลายคนหยิบการ์ตูนมาอ่านระหว่างเรียนหรือทำงานก็ไม่ใช่เรื่องโก้เก๋ค่ะ ควรทำให้ถูกกาละเทศะและคำนึงถึงความรู้สึกของคนรอบข้างด้วยแต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะซื่อสัตย์กับความชอบของตัวเองเช่นกัน ความชอบการ์ตูนของคุณฮาโตยามะอาจสรุปได้ว่าเขาเป็นนักอ่านที่ไม่ได้พิเศษไปกว่าคนอื่น ไม่ได้อ่านการ์ตูนแนวปรัชญาเข้าใจยากและไม่ได้อ่านการ์ตูนที่จงใจสอดแทรกความรู้ด้วย

เขาเป็นแค่ตัวแทนผู้ใหญ่คนหนึ่งที่หันกลับไปมองอดีตแล้วมาเล่าสู่กันฟังว่าเด็กที่อ่านการ์ตูนเมื่อหลายสิบปีก่อน บัดนี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบสังคมได้แล้ว ใครคิดว่าไม่อยากให้ลูกอ่านการ์ตูนเพราะกลัวจะเสียคนก็มองดูเขาเป็นตัวอย่างได้ค่ะ

วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11551 มติชนรายวัน

18 ตุลาคม 2552

ทัวร์ร้านการ์ตูนในลอนดอน (2)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ต่อภาคสองสำหรับการทัวร์ร้านการ์ตูนในลอนดอนค่ะ สัปดาห์ก่อนพาเดินจากพิคคาดิลลีเซอร์คัสแวะ Japan Center และร้าน Adanami ไปแล้ว คราวนี้เราจะไปร้านการ์ตูนภาษาอังกฤษบ้าง ก้าวขาออกจาก Adanami ที่ Brewer street ให้เลาะเข้า Shaftesbury avenue ชมร้านรวงจนเห็น Palace theatre ซึ่งตอนนี้แสดง Priscilla, Queen of the Dessert อยู่ ให้เลี้ยวขวาตัดเข้า Great Newport street ซึ่งเลขที่ 8 เป็นที่ตั้งของร้าน Orbital Comics นั่นเอง การ์ตูนในร้านส่วนใหญ่จะเป็นการ์ตูนแนวอเมริกันที่เล่มบางๆ สีสันสวยงาม มีการ์ตูนญี่ปุ่นภาษาอังกฤษบ้างแต่ก็น้อยมากและส่วนใหญ่เป็นการ์ตูนแนว cult ซึ่งเป็นแนวโหดสยองปนน่าเอ็นดู ไม่มีแนวตลาดอย่างนารุโตะค่ะ ก็เลยชมๆ พอชื่นใจแล้วก็ออกไปลุยร้านอื่นต่อ

ออกมาจากร้านแล้วเดินเลี้ยวขวาไปตาม Charing Cross road นะคะ สองข้างทางเต็มไปด้วยร้านหนังสือมือสองเพื่อการอ่านและสะสม ราคาก็มากน้อยตามความหายากน่ะค่ะ เสร็จแล้วเลี้ยวขวาเข้า Shaftesbury avenue อีกครั้ง เลขที่ 179 เป็นที่ตั้งของร้าน Forbidden Planet ซึ่งคือสวรรค์ของนักอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นในลอนดอนค่ะ! ร้านนี้มี 2 คูหาและสองชั้น ชั้นพื้นดินจะเป็นการ์ตูนฝรั่งและบรรดาของสะสมแนวๆ มากมาย ส่วนชั้นล่างนอกจากการ์ตูน DVD และหนังสือของบรรดาวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการ์ตูนอย่างไซไฟ คัลท์ หรือพวกโมเดลของเล่นทั้งหลาย ก็จะมีชั้นวางการ์ตูนญี่ปุ่นภาษาอังกฤษเรียงตามลำดับอักษรเต็มเหยียดเป็นสิบตู้ให้เราแทบทรุดลงไปนอนร่ำไห้ด้วยความดีใจ ฮือ...เดินมาตั้งไกลไม่เสียเปล่าจริงๆ

Forbidden Planet มีการ์ตูนญี่ปุ่นฉบับภาษาอังกฤษที่ใหม่พอสมควรอยู่เยอะมาก คาดว่าจะเยอะที่สุดในลอนดอนแล้ว นอกจากนั้นยังมีสมุดภาพและหนังสือภาษาอังกฤษที่ว่าด้วยวัฒนธรรมการ์ตูนญี่ปุ่นบ้าง ที่สำคัญที่สุดคือมี "การ์ตูนลดราคา" ค่ะ! เล่มไหนเป็นเศษจากชุดหรือเหลือเยอะๆ ก็จะเอามาลดเหลือ 2-5 ปอนด์ แล้วแต่ว่าขายยากแค่ไหน หรือใครอยากดูการ์ตูนของ Studio Ghibli ก็มีขายเป็น DVD ราคาไม่แพง กระทั่งแผ่นบลูเรย์ของ Final Fantasy VII AC complete ก็ยังมี เรียกว่ามาร้านนี้ก็แทบไม่ต้องไปร้านอื่นแล้วค่ะ

ออกมาจากร้านพร้อมด้วยการ์ตูนและหนังสือหอบใหญ่เต็มถุงจนไหล่แทบทรุดก็เดินต่อไปทาง British Museum เลขที่ 39 Great Russell Street ตรงข้ามเกท 2 ของพิพิธภัณฑ์คือที่ตั้งของ Gosh Comics ร้านเล็กๆ ที่มีป้ายรูปค้างคาวดำเหลืองโดดเด่นเป็นสง่า ร้านนี้ส่วนใหญ่ขายการ์ตูนและสมุดภาพสำหรับเด็ก ถ้าเดินลงมาชั้นใต้ดินก็จะเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นภาษาอังกฤษเยอะพอสมควร แพงกว่า Forbidden Planet นิดหน่อยแต่ก็มีเล่มที่ร้านอื่นไม่มีและส่วนใหญ่จะมีครบชุดเลยค่ะ นอกจากนั้นก็จะเป็นนิยายภาพฝรั่งแนวคัลท์และแนวทั่วไปที่ไม่ใช่การ์ตูนอเมริกันอีกเยอะ มีการ์ตูนลดราคาเหลือ 1.5 ปอนด์ อยู่ในกล่องเช่นกัน คุ้ยๆ ดูซักหน่อยอาจจะเจอของดี แต่เสียดายที่ครั้งนี้ไม่ได้อะไรเพิ่มเติมก็เลยเดินออกมาแล้วแวะไปเที่ยวบริติชมิวเซียมเสียเลย จบหนึ่งวันค่ะ

มีอีกร้านหนึ่งซึ่งคงต้องไปวันเสาร์สำหรับคนที่อยากไปเที่ยว Portobello market ที่ Notting Hill มีตลาดวันเสาร์วันเดียวนะคะ ลงรถเมล์ที่ป้ายก็จะเจอร้าน Book & Comic Exchange ซึ่งขายหนังสือมือสองราคาย่อมเยา การ์ตูนส่วนใหญ่เป็นแนวซุปเปอร์ฮีโร่อเมริกัน มีการ์ตูนญี่ปุ่นบ้างแต่ไม่มากนัก (มีการ์ตูนไทยหลงไปด้วยแฮะ) ตู้จะซ่อนอยู่ในหลืบซ้ายมือก่อนลงบันไดไปชั้นใต้ดินค่ะ ชมเสร็จก็เดินตามคลื่นมหาชนเข้าไปเที่ยวตลาดนัดต่อ ถ้าหิวลองแวะกินไส้กรอกเยอรมันแท้ในรถเข็นริมทางราคา 2.50 ปอนด์ได้ค่ะ นอกจากนั้นยังมีของกินมากมายและของแอนทีคน่ารักให้เลือกซื้อจนกระเป๋าแทบฉีก สุดตลาดเป็นเสื้อผ้าและของมือสองแต่คนเยอะจนมึน ดังนั้น ต้องระวังพลัดหลงกับเพื่อนด้วยนะคะ

เป็นอันสิ้นสุดทัวร์ร้านการ์ตูนในลอนดอนทั้งสองวัน ที่จริงมีร้านอื่นอีกรวมเป็นสิบร้านแต่ถ้ามีเวลาจำกัดและอยากเที่ยวโดยเอาร้านการ์ตูนเป็นจุดมุ่งหมาย คิดว่าทัวร์นี้ก็เกินคุ้มค่ะ

วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11544 มติชนรายวัน

ทัวร์ร้านการ์ตูนในลอนดอน (1)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

หลังจากมาใช้ชีวิตอยู่ลอนดอนกว่าปีก็ได้เวลากลับบ้านเสียทีค่ะ กิจกรรมที่วางแผนไว้ว่าจะทำก่อนกลับเพราะต้องรอดูว่ามีเงินค่าขนมเหลือพอหรือเปล่าคือ "ทัวร์ร้านการ์ตูน" นั่นเอง แต่เป็นที่ทราบดีว่าการ์ตูนญี่ปุ่นไม่ค่อยแพร่หลายในประเทศแถบยุโรปนักจึงมีร้านไม่มาก ดังนั้น การทัวร์ครั้งนี้เราจึงชมนกชมไม้ไปด้วยเพื่อความคุ้มค่ะ

การเดินทางเริ่มต้นจาก Piccadilly Circus ซึ่งเป็นวงเวียนน้ำพุมีรูปปั้นอีรอสยืนหล่อถือธนูอยู่ตรงกลาง เป็นหนึ่งในสถานที่ที่นักท่องเที่ยวลอนดอนต้องรู้จัก เนื่องจากอยู่ใกล้ย่านช็อปปิ้งชื่อดังอย่าง Bond street กับ Carnaby street แถมใกล้ไชน่าทาวน์และแหล่งดูละครเวทีมากมายในแถบเลสเตอร์สแควร์ เดินไปอีกหน่อยก็จะเจอ Covent Garden ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเช่นกัน โปรแกรมทัวร์การ์ตูนเริ่มต้นแต่เช้าซัก 9 โมงไปชมสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้และถ่ายภาพ Trafalgar Square เสียให้หนำใจก่อนค่ะ ซัก 10 โมงพอร้านรวงเริ่มเปิดแล้ว ใครอยากจบทัวร์เย็นนี้ด้วยละครเวทีอาจจะซื้อตั๋วไว้ก่อนก็ได้ เรื่องที่น่าชมก็คงเป็น the Phantom of the Opera ซึ่งเคยมีเวอร์ชั่นการ์ตูนเขียนโดย JET ความที่เคยอ่านการ์ตูนมาแล้วเลยซื้อตั๋วดูเรื่องนี้ก่อนเพื่อนเลยค่ะ เป็นละครเวทีที่แสดงมากว่า 20 ปี ดังนั้นมั่นใจได้ค่ะว่ายอดเยี่ยมทั้งนักแสดงและฉาก ราคาตั๋วที่นั่งดีๆ ตกประมาณ 50-60 ปอนด์นะคะ

หลังจากนั้นถ้าหิวอาจจะเดินไปกินเป็ดย่าง Four Seasons ที่ไชน่าทาวน์ก็ได้ หรือถ้าอยากเน้นปริมาณให้อยู่ท้องทั้งวันอาจจะพึ่งข้าวหมูทอดหรืออาหารกล่องร้าน Misato ซึ่งขายอาหารญี่ปุ่นราคาย่อมเยาไม่ห่างจากเลสเตอร์สแควร์นัก มื้อละไม่ถึง 10 ปอนด์ค่ะ แต่ถ้าใครชื่นชอบข้าวห่อสาหร่ายอาจจะแวะไปที่ Japan Center ตรงพิคคาดิลลี่เซอร์คัส ซื้อข้าวห่อสาหร่ายไม่ก็ข้าวกล่องหรือราเมงอุ่นๆ แบบเทคอะเวย์แล้วนั่งรับประทานที่ร้านก็ยังได้ ชั้นล่างของ Japan Center ส่วนที่เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตจะมีร้านหนังสือญี่ปุ่นซึ่งมีการ์ตูน แม็กกาซีน และสมุดภาพการ์ตูนญี่ปุ่นขายนิดหน่อย แวะไปชมดูได้ค่ะ ราคาก็...เหมือนหนังสือนั่งเครื่องบินจากญี่ปุ่นมาลอนดอนน่ะค่ะ สาหัสเหมือนกัน

ออกจาก Japan Center ถ้าใครอยากกินขนมญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมอาจจะข้ามถนนไปสักนิด มีร้านขนมญี่ปุ่นแท้ๆ ชื่อ Minamoto Kitchoan วันนั้นได้ขนมที่เคยเห็นในการ์ตูนและอยากกินมานานแล้วอย่างคุสะโมจิ วางาชิ และมาเมะไดฟุกุค่ะ มีกระทั่งโยคัง ขนมน้ำ และบรรดาขนมรับประทานกับน้ำชาสวยๆ ที่เห็นแล้วเลือกแทบไม่ถูก พนักงานขายสาวสวยเป็นคนญี่ปุ่นนะคะ ปกติจะมีแต่ลูกค้าญี่ปุ่นไปอุดหนุน ดังนั้น พอเห็นเราหน้าเอเชียเธอเลยพูดญี่ปุ่นทักทายค่ะ เล่นเอาตอบเป็นภาษาอังกฤษไม่ทันเลยทีเดียว

เดินจากมาพร้อมถุงกระดาษลายกิ่งซากุระที่มีโมจิอยู่สี่ชิ้น เราจะเริ่มทัวร์จากร้านหนังสือการ์ตูนภาษาญี่ปุ่นมือสองที่ราคาถูกที่สุดในลอนดอนค่ะ "Adanami" ร้านนี้อยู่ที่เลขที่ 30 Brewer Street ต้องเดินตัดพิคคาดิลลี่เซอร์คัสผ่านโรงละครที่เล่นเรื่อง Greece จนไปถึงร้าน Adanami ซึ่งอยู่ห้องแถวริมสุดติดอาคารจอดรถเอกชน เราไม่มีทางรู้เลยว่าเป็นร้านนี้เพราะป้ายหน้าร้านเขียนว่า De-luxe Cleaning! ป้ายร้านซักแห้ง! สาเหตุเพราะอาดานามิเพิ่งย้ายมาจากที่อื่นป้ายจึงยังไม่ได้เปลี่ยน แต่จะมีหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นแพ็คโตๆ วางโชว์หน้าร้านให้เราพอเดาได้ค่ะ

อาดานามิขายหนังสือการ์ตูนรวมถึงหนังสืออ่านเล่นและหนังญี่ปุ่นมือสองในราคาที่ถูกจนเราต้องเผลอหอบกลับซักชุดเสมอ การ์ตูนเก่า (10-20 ปีก่อน) บางเรื่องที่เคยอ่านตอนเด็กก็มีขายที่นี่เล่มละ 1 ปอนด์ ซึ่งถือว่าถูกมากถ้าเทียบกับการ์ตูนญี่ปุ่นภาษาอังกฤษใหม่ๆ เล่มละ 10 ปอนด์ขึ้นไป ควรเตรียมถุงผ้าไปด้วยนะคะเพราะซื้อแล้วจะได้สะพายสบายๆ เนื่องจากต้องเดินอีกหลายร้านเลย

เสียดายที่แค่ร้านแรกก็หมดโควต้าเสียแล้ว สัปดาห์หน้ามาทัวร์กันต่อค่ะ

วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11537 มติชนรายวัน

03 ตุลาคม 2552

Master Keaton จับฉ่ายของอุราซาว่า นาโอกิ

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ระหว่างจัดข้าวของเตรียมกลับเมืองไทยหลังเรียนจบก็หาโอกาสแวะไปร้านหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นมือสองที่ Piccadilly Circus ในลอนดอนเสียหน่อยค่ะ ท่ามกลางวันที่อากาศร้อนจัดและร้านการ์ตูนเหมือนเตาอบ การ์ตูนปกสีดำยับยู่ยี่และกระดาษเหลืองเก่าโทรมเล่มหนึ่งวางเด่นเป็นสง่าอยู่ที่มุมหนังสือแนะนำของร้าน สายตาสะดุดที่ราคา 2.80 ปอนด์ (ประมาณ 150 บาท) ซึ่งถือว่าผิดวิสัยร้านหนังสือราคาถูกแห่งนี้และนับเป็นราคาที่โหดร้ายมากสำหรับการ์ตูนเศษ (หมายถึงการ์ตูนที่อยู่เล่มเดียวไม่ครบชุด) เรื่องนั้นคือ "Master Keaton" ผลงานของ "อุราซาว่า นาโอกิ" ซึ่งตีพิมพ์เป็นหนังสือการ์ตูนรวม 18 เล่ม (1988-98) และทำเป็นแอนิเมชั่น (ภาพยนตร์การ์ตูน) 39 ตอน (1998-99) เนื่องจากหาอ่านฉบับหนังสือการ์ตูนไม่ได้เสียทีจึงขอเล่าตามที่ดูฉบับแอนิเมชั่นเป็นหลักนะคะ

"มาสเตอร์คีตัน" คือการผจญภัยของ "ไทจิ ฮิรางะ คีตัน" ชายหนุ่มลูกครึ่งอังกฤษ-ญี่ปุ่นซึ่งใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในประเทศอังกฤษ เขาจบการศึกษาด้านโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและแต่งงานกับภรรยาชาวอังกฤษ แต่หลังจากที่ "ยูริโกะ" ลูกสาวคนเดียวอายุได้ห้าขวบ เขากับภรรยาก็หย่าขาดจากกัน หลังจากนั้นไทจิจึงตัดสินใจเข้าร่วม SAS หรือหน่วยรบพิเศษของกองทัพอังกฤษทำให้เขามีความเชี่ยวชาญในการต่อสู้และใช้อาวุธ แต่โชคชะตาก็พาให้จับพลัดจับผลูมาเป็นผู้ตรวจสอบของบริษัทประกันและเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาโบราณคดีด้วย เป็นคุณสมบัติที่จับฉ่ายมาก

ความสนุกของ "มาสเตอร์คีตัน" คือการนำเสนอความสามารถที่หลากหลายของไทจินี่ล่ะค่ะ ในแต่ละคดีที่ไทจิไปตรวจสอบมักจะมีเรื่องเล่าโบราณคดีหรือประวัติศาสตร์ยุโรปให้เราได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับลุ้นฉากบู๊ แม้การดำเนินเรื่องส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปแต่การ์ตูนก็ยังคงความเป็นญี่ปุ่นได้อย่างเหนียวแน่นได้เพราะคาแร็กเตอร์ของไทจิที่มักจะสวม "สูท" อยู่เสมอ ชุดสูทของไทจิเป็นเครื่องแต่งกายที่บางครั้งก็ดูขัดแย้งกับสถานการณ์อย่างชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อเขาสวมสูทใส่รองเท้าหนังในคดีที่เกิดในเมืองร้อนอบอ้าวหรือชนบทที่ต้องเดินด้วยเท้าหลายไมล์ สูทของไทจิได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของ "คนญี่ปุ่น" ซึ่งสื่อถึงความหลักแหลม เป็นมิตร และเป็นนักธุรกิจในเวลาเดียวกัน ด้วยคุณสมบัติเหมือนเจมส์ บอนด์ไดฮาร์ดผสมอินเดียน่า โจนส์ที่ห้อยพระดี (เนื่องจากหนังเหนียวตายยากมาก) ทำให้มาสเตอร์คีตันเป็นงานที่เนื้อหาเบาและรับตลาดผู้อ่านหลายวัยมากกว่างานอื่นของ อ.อุราซาว่าที่ค่อนข้างหนักและจับตลาดเฉพาะผู้อ่านวัยผู้ใหญ่ แต่ถึงเบาก็ยังหนักกว่าการ์ตูนทั่วไปเยอะนะคะ

สาเหตุที่ผลงานชิ้นนี้แตกต่างจากงานของ อ.อุราซาว่าชิ้นอื่นๆ มาก เนื่องจากมาสเตอร์คีตันประพันธ์โดย "คัทสุชิกะ โฮคุเซย์" ส่วน อ.อุราซาว่าเป็นเพียงผู้วาดนั่นเอง แต่หลังจากที่คุณคัทสุชิกะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในปี 2004 อ.อุราซาว่าได้ให้สัมภาษณ์ลงนิตยสารชูกังบุนชุนเมื่อปี 2005 ว่าตนเองกับคุณคัทสุชิกะมีปัญหาส่วนตัวจึงแยกวงกันนานแล้ว ความที่ อ.อุราซาว่าต้องประพันธ์เนื้อเรื่องเองบางตอนจึงต้องการให้ชื่อของตนที่ปรากฏบนปกการ์ตูนใหญ่กว่าชื่อของคุณคัทสุชิกะ ซึ่งถือว่าผิดวิสัยการ์ตูนญี่ปุ่นที่มักให้ชื่อผู้ประพันธ์ใหญ่กว่าชื่อผู้วาด เหตุการณ์นี้ทำให้เพื่อนของคุณคัทสุชิกะซึ่งเป็นใหญ่เป็นโตในสำนักพิมพ์โชกักกุคังผู้ตีพิมพ์มาสเตอร์คีตันออกมาวิพากษ์วิจารณ์ อ.อุราซาว่าอย่างรุนแรง ผลจากความขัดแย้งทำให้โชกักกุคังตัดสินใจหยุดการพิมพ์มาสเตอร์คีตันเพิ่มเติมตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา แม้ว่ายังมีโอกาสทำเงินได้อีกมากก็ตาม

และนี่คือสาเหตุที่ทำให้ "มาสเตอร์คีตัน" ฉบับหนังสือการ์ตูนกลายเป็นของสะสมราคาแพงในปัจจุบันนี้ เข้าตำราของเก่าที่ทรงคุณค่าเพราะเนื้อเรื่องดี ไม่มีพิมพ์เพิ่ม คนเขียนตายแล้ว คนวาดก็กลายเป็นมือเทพมือทองโกยรางวัลมากมาย แถมมีประวัติดำมืดให้เล่าต่อกันสนุกปากอีกด้วย

แต่ที่น่าเสียดายคงเป็นคุณค่าที่แท้จริงของ "มาสเตอร์คีตัน" ที่ไม่สามารถตีพิมพ์เผยแพร่ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมอีกแล้วค่ะ

วันที่ 04 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11530 มติชนรายวัน