03 ตุลาคม 2552

Master Keaton จับฉ่ายของอุราซาว่า นาโอกิ

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ระหว่างจัดข้าวของเตรียมกลับเมืองไทยหลังเรียนจบก็หาโอกาสแวะไปร้านหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นมือสองที่ Piccadilly Circus ในลอนดอนเสียหน่อยค่ะ ท่ามกลางวันที่อากาศร้อนจัดและร้านการ์ตูนเหมือนเตาอบ การ์ตูนปกสีดำยับยู่ยี่และกระดาษเหลืองเก่าโทรมเล่มหนึ่งวางเด่นเป็นสง่าอยู่ที่มุมหนังสือแนะนำของร้าน สายตาสะดุดที่ราคา 2.80 ปอนด์ (ประมาณ 150 บาท) ซึ่งถือว่าผิดวิสัยร้านหนังสือราคาถูกแห่งนี้และนับเป็นราคาที่โหดร้ายมากสำหรับการ์ตูนเศษ (หมายถึงการ์ตูนที่อยู่เล่มเดียวไม่ครบชุด) เรื่องนั้นคือ "Master Keaton" ผลงานของ "อุราซาว่า นาโอกิ" ซึ่งตีพิมพ์เป็นหนังสือการ์ตูนรวม 18 เล่ม (1988-98) และทำเป็นแอนิเมชั่น (ภาพยนตร์การ์ตูน) 39 ตอน (1998-99) เนื่องจากหาอ่านฉบับหนังสือการ์ตูนไม่ได้เสียทีจึงขอเล่าตามที่ดูฉบับแอนิเมชั่นเป็นหลักนะคะ

"มาสเตอร์คีตัน" คือการผจญภัยของ "ไทจิ ฮิรางะ คีตัน" ชายหนุ่มลูกครึ่งอังกฤษ-ญี่ปุ่นซึ่งใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในประเทศอังกฤษ เขาจบการศึกษาด้านโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและแต่งงานกับภรรยาชาวอังกฤษ แต่หลังจากที่ "ยูริโกะ" ลูกสาวคนเดียวอายุได้ห้าขวบ เขากับภรรยาก็หย่าขาดจากกัน หลังจากนั้นไทจิจึงตัดสินใจเข้าร่วม SAS หรือหน่วยรบพิเศษของกองทัพอังกฤษทำให้เขามีความเชี่ยวชาญในการต่อสู้และใช้อาวุธ แต่โชคชะตาก็พาให้จับพลัดจับผลูมาเป็นผู้ตรวจสอบของบริษัทประกันและเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาโบราณคดีด้วย เป็นคุณสมบัติที่จับฉ่ายมาก

ความสนุกของ "มาสเตอร์คีตัน" คือการนำเสนอความสามารถที่หลากหลายของไทจินี่ล่ะค่ะ ในแต่ละคดีที่ไทจิไปตรวจสอบมักจะมีเรื่องเล่าโบราณคดีหรือประวัติศาสตร์ยุโรปให้เราได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับลุ้นฉากบู๊ แม้การดำเนินเรื่องส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปแต่การ์ตูนก็ยังคงความเป็นญี่ปุ่นได้อย่างเหนียวแน่นได้เพราะคาแร็กเตอร์ของไทจิที่มักจะสวม "สูท" อยู่เสมอ ชุดสูทของไทจิเป็นเครื่องแต่งกายที่บางครั้งก็ดูขัดแย้งกับสถานการณ์อย่างชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อเขาสวมสูทใส่รองเท้าหนังในคดีที่เกิดในเมืองร้อนอบอ้าวหรือชนบทที่ต้องเดินด้วยเท้าหลายไมล์ สูทของไทจิได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของ "คนญี่ปุ่น" ซึ่งสื่อถึงความหลักแหลม เป็นมิตร และเป็นนักธุรกิจในเวลาเดียวกัน ด้วยคุณสมบัติเหมือนเจมส์ บอนด์ไดฮาร์ดผสมอินเดียน่า โจนส์ที่ห้อยพระดี (เนื่องจากหนังเหนียวตายยากมาก) ทำให้มาสเตอร์คีตันเป็นงานที่เนื้อหาเบาและรับตลาดผู้อ่านหลายวัยมากกว่างานอื่นของ อ.อุราซาว่าที่ค่อนข้างหนักและจับตลาดเฉพาะผู้อ่านวัยผู้ใหญ่ แต่ถึงเบาก็ยังหนักกว่าการ์ตูนทั่วไปเยอะนะคะ

สาเหตุที่ผลงานชิ้นนี้แตกต่างจากงานของ อ.อุราซาว่าชิ้นอื่นๆ มาก เนื่องจากมาสเตอร์คีตันประพันธ์โดย "คัทสุชิกะ โฮคุเซย์" ส่วน อ.อุราซาว่าเป็นเพียงผู้วาดนั่นเอง แต่หลังจากที่คุณคัทสุชิกะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในปี 2004 อ.อุราซาว่าได้ให้สัมภาษณ์ลงนิตยสารชูกังบุนชุนเมื่อปี 2005 ว่าตนเองกับคุณคัทสุชิกะมีปัญหาส่วนตัวจึงแยกวงกันนานแล้ว ความที่ อ.อุราซาว่าต้องประพันธ์เนื้อเรื่องเองบางตอนจึงต้องการให้ชื่อของตนที่ปรากฏบนปกการ์ตูนใหญ่กว่าชื่อของคุณคัทสุชิกะ ซึ่งถือว่าผิดวิสัยการ์ตูนญี่ปุ่นที่มักให้ชื่อผู้ประพันธ์ใหญ่กว่าชื่อผู้วาด เหตุการณ์นี้ทำให้เพื่อนของคุณคัทสุชิกะซึ่งเป็นใหญ่เป็นโตในสำนักพิมพ์โชกักกุคังผู้ตีพิมพ์มาสเตอร์คีตันออกมาวิพากษ์วิจารณ์ อ.อุราซาว่าอย่างรุนแรง ผลจากความขัดแย้งทำให้โชกักกุคังตัดสินใจหยุดการพิมพ์มาสเตอร์คีตันเพิ่มเติมตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา แม้ว่ายังมีโอกาสทำเงินได้อีกมากก็ตาม

และนี่คือสาเหตุที่ทำให้ "มาสเตอร์คีตัน" ฉบับหนังสือการ์ตูนกลายเป็นของสะสมราคาแพงในปัจจุบันนี้ เข้าตำราของเก่าที่ทรงคุณค่าเพราะเนื้อเรื่องดี ไม่มีพิมพ์เพิ่ม คนเขียนตายแล้ว คนวาดก็กลายเป็นมือเทพมือทองโกยรางวัลมากมาย แถมมีประวัติดำมืดให้เล่าต่อกันสนุกปากอีกด้วย

แต่ที่น่าเสียดายคงเป็นคุณค่าที่แท้จริงของ "มาสเตอร์คีตัน" ที่ไม่สามารถตีพิมพ์เผยแพร่ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมอีกแล้วค่ะ

วันที่ 04 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11530 มติชนรายวัน

ไม่มีความคิดเห็น: