22 มิถุนายน 2551

อิคิงามิ สารสั่งตาย


คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ชื่อน่ากลัวแต่ไม่ใช่เรื่องเหนือธรรมชาติหรอกนะคะ "อิคิงามิ" ในเรื่องนี้คือ "จดหมายแจ้งมรณกรรม" ซึ่งไม่ใช่มรณบัตร แต่เป็นใบที่แจ้งว่าคนๆ นั้นกำลังจะเสียชีวิตในอีก 24 ชั่วโมงข้างหน้า แค่ขึ้นเรื่องมาก็น่าสนใจแล้วค่ะ

ปูเรื่องสักนิด ในสังคมญี่ปุ่นยุคหนึ่ง รัฐบาลได้ออก "กฎผดุงความรุ่งเรืองแห่งชาติ" ขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายให้ประชาชนทุกคนมีความกระตือรือร้นในการใช้ชีวิตทุกนาทีอย่างมีคุณค่าที่สุด โดยเด็กทุกคนต้องได้รับการฉีดวัคซีนซึ่ง 1 ในพันเข็มจะมีระเบิดนาโนซ่อนอยู่ด้วย!

ไม่มีใครรู้ว่าระเบิดจะแจ๊คพ็อตโดนฉีดให้ใครแม้แต่คนฉีดเอง แต่ข้อมูลทั้งหมดจะเก็บไว้และรายงานออกมาเมื่อใกล้ถึงเวลาที่ระเบิดถูกตั้ง รายงานเหล่านี้จะถูกส่งไปให้เจ้าตัวหรือญาติก่อนเวลาเสียชีวิต 24 ชั่วโมง

นั่นคือประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ค่ะ เมื่อเราเหลือเวลาแค่ 24 ชั่วโมง เราอยากทำอะไร

ถ้ากำลังจะตายแล้วเอาแต่นอนรอคงไม่สนุกใช่ไหมคะ เรื่องแรกสุดในเล่มก็เป็นอย่างที่หลายคนกลัว นั่นคือในเมื่อจะตายแล้ว ก็บรรเลงเพลง "แก้แค้น" ดีกว่า

"โยสุเกะ" เด็กหนุ่มหน้าไม่หล่อ เก็บกด ไม่มีเพื่อน และถูกกลั่นแกล้งมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนได้รับอิคิงามิค่ะ สิ่งที่เป็นแผลติดตัวและติดใจโยสุเกะมาตลอดคือความทรงจำครั้งวัยรุ่นที่ถูกเพื่อนทำร้ายร่างกายและบังคับให้ขโมยของ เขาเคยโดนบุหรี่จี้ที่ศีรษะจนทำให้ผมไม่งอกและต้องใส่วิกปิดบังถึงทุกวันนี้ ดังนั้นทางเดียวที่โยสุเกะคิดว่าจะลบฝันร้ายในช่วงสุดท้ายของชีวิตได้คือ "ฆ่าพวกเพื่อนที่เคยแกล้งเขาซะ"

เขาหลอกเพื่อนผู้หญิงที่เคยดูถูกเขาออกมาข่มขืนและขู่ว่าจะเอารูปถ่ายที่น่าอายของเธอส่งอี-เมลแจกให้ทั่ว (เลวจริงๆ) หลังจากนั้นก็โทร.ตามหัวโจกที่เคยแกล้งเขาซึ่งบัดนี้เป็นเพียงผู้ช่วยในร้านทำผมเล็กๆ ออกมาหวังจะแทงด้วยมีด แต่สุดท้ายก็แทงได้แค่มือขวาเพื่อให้เพื่อนคนนั้นไม่สามารถจับกรรไกรและเป็นช่างทำผมได้

ใน 7 ชั่วโมงสุดท้ายของชีวิต โยสุเกะทบทวนสิ่งที่เพิ่งทำลงไป เพื่อนผู้หญิงที่เขาเพิ่งทำร้ายจำเขาไม่ได้ด้วยซ้ำเมื่อเห็นหน้าตอนแรก ส่วนหัวโจกก็บอกว่าจะมาคิดอะไรกับเรื่องสี่ปีก่อน ต่างคนก็ต่างมีชีวิตใหม่และกำลังจะเริ่มต้นใหม่ทั้งนั้น

ในที่สุดฝันร้ายก็ไม่หายไปจากเขาเลย คนอื่นลืมเขาไปแล้วในระหว่างที่เขายังคงจมอยู่กับความโกรธและความอายเพียงคนเดียวมาตลอด ตรงนี้น่าสนใจค่ะ ชัดเจนว่าเหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดกับเราจะยิ่งใหญ่หรือไม่นั้น ขึ้นกับตัวเราเองตีความแบบไหน ความทุกข์หรือสุขของคนขึ้นกับมุมมองของเราเป็นสำคัญ ดังนั้นโยสุเกะไม่ใช่คนโชคร้าย แต่โยสุเกะ "คิดว่าตัวเองเป็นคนโชคร้าย" และยินดีที่จะย่ำอยู่กับตัวเองในอดีต โทษโชคชะตามากกว่าจะเดินหน้าหาอนาคต

เขาได้เจอเด็กหนุ่มอีกคนที่ถูกแกล้งเช่นกัน จึงเข้าไปบอกด้วยความหวังดีเฮือกสุดท้ายว่า "อย่ารอว่าซักวันจะแก้แค้นเพราะไม่รู้ว่าวันนั้นจะมาถึงหรือเปล่า ถ้าคิดจะสู้ทำไมไม่สู้เสียแต่ตอนนี้เลย" แล้วโยสุเกะก็จากไปอย่างสงบค่ะ เด็กหนุ่มที่ได้รับแรงบันดาลใจจากคำพูดนี้ลุกขึ้นมาสู้เพื่อนๆ ที่กลั่นแกล้งเขาได้ในที่สุด

มีหลายเรื่องให้คิดหลังอ่านจบ แต่เชื่อว่าหลายท่านคงคิดไปถึงกรณีคนบุกยิงผู้บริสุทธิ์ในโรงเรียนแล้วฆ่าตัวตาย อันนั้นไม่เหมือนโยสุเกะค่ะ สังเกตว่าแม้โยสุเกะจะแค้นแค่ไหนหรือคิดอยากฆ่าใครแต่เขาไม่ทำ คนที่ฆ่าคนอื่นได้ถ้าไม่นับพวกเลวสุดขั้ว เขาอาจมีปัญหาทางจิตบางอย่างที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี ดังนั้นต่อให้โยสุเกะจะเหลือเวลาให้ฆ่าคนได้ก่อนตายซักเดือนนึงก็เชื่อว่าเขาจะไม่ทำค่ะ (ไม่อย่างนั้นจะดูโม้ไปหน่อย)

แล้วโยสุเกะลุกขึ้นมาแก้แค้นเพื่ออะไร คงเพราะเขาไม่รู้วิธีออกจากฝันร้ายที่หลอกหลอนมาตลอด 4 ปีนั่นเอง ทางแก้จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก แต่ถ้าคนที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกับโยสุเกะอยากเริ่มต้น ขอแนะนำให้เข้าร่วมในชุมชนที่มีแต่คนสุขภาพจิตดีๆ แล้วลองดูแนวคิดของเขาค่ะ (อย่าไปทำให้เขาวงแตก ควรดูไปเรื่อยๆ สักระยะก่อน)

อาจเป็นกลุ่มเพื่อนชมรมเดียวกันหรือชุมชนออนไลน์ก็ยังไหว ชุมชนดีๆ หาไม่ยากค่ะเพราะคนจะเข้าไปเยอะ เข้าและออกมาด้วยความสบายใจ ไม่ใช่สบายใจที่มีคนเออออกับเรานะคะ แต่สบายใจที่เห็นว่าหลายคนก็มีปัญหาคล้ายๆ กับเราและเขาผ่านช่วงเวลานั้นไปได้จึงมาแบ่งปันประสบการณ์กัน พูดง่ายๆ คือหากัลยาณมิตรนั่นเองค่ะ เห็นได้ชัดเจนว่าโยสุเกะไม่มีกัลยาณมิตร เพราะแค่เขาคิดจะส่งภาพที่ตนเองข่มขืนเพื่อนทางเมล์ในโทรศัพท์ เขากลับไม่มีเบอร์เพื่อนอยู่เลยซักคน

การมี "สังคม" จึงอาจไม่ใช่คำตอบ แต่ "กัลยาณมิตร" คือคำตอบสำหรับปัญหาวัยรุ่นค่ะ ว่าแต่...เขาเคยสอนในโรงเรียนไหมเนี่ยว่ากัลยาณมิตรคืออะไรและหาได้จากที่ไหน

ไม่มีความคิดเห็น: