คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เห็นผลงานเรื่องใหม่ของ อ.อุราซาว่า นาโอกิปรากฏบนแผงค่ะ เรื่องนี้ชื่อ PLUTO ซึ่งแวบแรกไปคิดถึงพลูโต สุนักของมิกกี้เมาส์ซะนี่ ถึงแม้จะคิดว่าไม่น่าเกี่ยวกันแต่ด้วยความที่จินตนาการไปแล้วว่าชื่อหน่อมแน้ม ทำให้รู้สึกอคติเล็กน้อยก่อนอ่านค่ะ
สิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าน่าอ่านมากๆ กลับเป็นชื่อผู้แต่งที่นอกเหนือจาก อ.อุราซาว่าเอง ก็มี อ.เทตซึกะ โอซามุ ปรมาจารย์บิดาแห่งการ์ตูนญี่ปุ่น และแน่นอนว่างานเรื่อง PLUTO นี้สร้างขึ้นโดยได้เค้าโครงจากเรื่อง "เจ้าหนูปรมาณู" หรือ "อะตอม" หรือ "Astro Boy" ที่โด่งดังนั่นเอง
อีกสิ่งหนึ่งที่รับประกันว่า PLUTO เป็นงานทรงคุณค่าระดับเทพก็คือรางวัลที่ได้รับเมื่อปี 2005 ได้แก่รางวัล Excellence Prize ในการประกวดผลงานศิลปะ Japan Media Arts Festival ประจำปี 2005
วันนี้จะมาเล่ารายละเอียดของงานนี้ให้ฟังค่ะ ส่วน PLUTO เอาไว้คราวหน้า Japan Media Arts Festival เป็นการประกวดผลงานสื่อสร้างสรรค์ที่แสดงออกถึงความน่าทึ่งของเทคโนโลยียุคใหม่ และยังเป็นการจัดแสดงผลงานเพื่อสนับสนุนเหล่าศิลปินแขนงต่างๆ อีกด้วย โดยมีจุดประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์งานศิลปะที่ผ่านสื่อแขนงต่างๆ ในญี่ปุน ครั้งล่าสุดคือครั้งที่ 9 ซึ่งจัดขึ้นในปี 2005 ปีนี้มีผลงานเข้าร่วม 1,797 ชิ้นจากในและนอกญี่ปุ่น
สำหรับรางวัลแบ่งออกเป็น Grand Prize, Excellence Prize และ Encouragement Prize ของสาขาต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วยสาขาศิลปะ,สาขาบันเทิง,สาขาแอนิเมชั่น,และสาขามังงะ (หนังสือการ์ตูน) สำหรับ Excellence Prize ในปีนี้ นอกจากเรื่อง PLUTO แล้ว ผลงานที่เรารู้จักและได้รับรางวัลก็คือ "ทนายซ่าส์ท้าเด็กแนว"
และ "Emma" เนื่องจากมีผลงานการ์ตูนและแอนิเมชั่นมากมายที่ได้รบรางวัลนี้ จึงขอกล่าวถึงเฉพาะผลงานซึ่งเป็นที่รู้จักในบ้านเราพอสมควรย้อนหลังไปถึงงานครั้งแรกเลยนะคะดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://plaza.bunka.go.jp/english/festival/2005/
เนื่องจากปี 2004 ไม่มีเรื่องใดที่รู้จักดังนั้นขอข้ามไปปี 2003 เรื่อง Mushishi (กีฏาจารย์ฯของสยามฯ) ได้รับรางวัล Excellence Prize น่าแปลกที่เรื่องนี้กลับไม่ค่อยมีคนพูดถึงในไทยเท่าไร ส่วนสาขาแอนิเมชั่น เรื่อง Kamichu! ชิง Excellence Prize ไปครอง หนุ่มๆ ยิ้มกันแก้มปริ ปี 2002
มีผลงานที่โด่งดังได้รับรางวัลหลายเรื่อง เช่น เครยอนชินจังได้รับรางวัล Grand Prize ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดในสาขาแอนิเมชั่น Ghost in the Shell : Stand alone complex ได้รับรางวัล Excellence Prize สาขาแอนิเมชั่น ยอดเชฟครัวท่านทูต,20th Century Boys,และ Say Hello to Black Jack ได้รับรางวัล Excellence Prize สาขามังงะ ปี 2001 ซึ่งเป็นปีที่ Spiritd Away ได้รับรางวัลออสการ์ ดังนั้นเรื่องนี้จึงนอนมารับรางวัล Grand Prize สาขาอนิเมชั่นประจำปีอย่างไม่ต้องสงสัย ส่วนสาขามังงะ เรื่อง Real ได้รับรางวัล Excellence Prize ไปครอง ปีนี้ฮายาโอะ มิยาซากิแห่ง Studio Gibli กับ ฮิโรโนบุ ซาคางุชิผู้กำกับฯ Final Fantasy : Spirits Within ได้รับรางวัลพิเศษด้วยค่ะ ปี 2000 รางวัล Grand Prize สาขาแอนิเมชั่นตกเป็นของ Blood the Last Vampire
ส่วนเจ้าแพนด้าหน้ายาว Tarepanda ได้รับรางวัล Excellence Prize ด้วยนะคะ สาขามังงะ รางวัล Grand Prize มอบใหกับ Vagabond การ์ตูนที่พอพิมพ์ในไทยแล้วใช้เทคนิคเซ็นเซอร์แบบปราณขยายร่างจนฮือฮากันทั่วเมือง ปี 1999 ไม่ค่อยมีอะไรหวือหวา มีแค่เว็บไซต์ของปิกะจูได้รับรางวัล Excellence Prize สาขา Digital Art (Non-interactive) เท่านั้นเอง
ปี 1998 เกม The Legend of Zelda : Ocarina of Time ชิงรางวัล Grand Prize สาขา Digital Art (Interactive) ไปครอง เฉือนชนะ Metal Gear Solid ที่ได้รับรางวัล Excellence Prize สาขาเดียวกัน สาขาแอนิเมชั่นมีเรื่อง Serial experiments lain กับ โดราเอมอนภาคผจญภัยทะเลใต้ได้รับรางวัล Excellence Prize ส่วนสาขามังงะเรื่องซาคาโมโต้ เรียวมะคว้า Grand Prize ไป และ Megumi no Daigo,Gon ไดโนเสาร์ก็องได้ Excellence Prize ปี 1977 ซึ่งเป็นปีแรกสุดที่มีการจัดงานนี้ รางวัล Grand Prize สาขาแอนิเมชั่นตกเป็นของ Princess Mononoke ส่วน Neon Genesis Evangelion ได้รับรางวัล Excellence Prize สำหรับสาขามังงะ รางวัล Excellence Prize ตกเป็นของอาซึมิ และ Monster
เห็นรางวัลแบบนี้แล้วรู้สึกเป็นแรงกระตุ้นให้อยากสร้างผลงานออกมาเยอะๆ ค่ะ เมืองไทยเองโชคดีที่มีการจัดแสดงผลงานแอนิเมชั่นและมอบรางวัลแบบนี้เช่นกัน เชื่อว่าอีกไม่นานคงมีเยาวชนให้ความสนใจและสร้างผลงานดีๆ ออกมาอีกมากค่ะ คงเหลือแต่โรงเรียนกับพ่อแม่ว่าจะยอมสนับสนุนให้ลูกลงมาเดินทางนี้หรือเปล่า บางทีหนึ่งในเด็กไทยอาจจะเป็นเจ้าพ่อกล่องอย่าง อ.อุราซาว่าก็ได้ค่ะ
คลิกชมTarepandaจากYouTube
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น