22 มิถุนายน 2551

Kiki"s Delivery Serviceกับความดังที่คนสร้างยิ้มแหยๆ


คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ตอนที่ไปเที่ยวต่างประเทศ การ์ตูนญี่ปุ่นนั้นหายากเหลือเกินค่ะ แม้จะมีก็เป็นเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษซึ่งราคาแพงกว่าที่ขายในไทยประมาณ 10-15 เท่า เห็นแล้วก็ได้แต่ยืนลูบคลำๆ ตามชั้นหนังสือเพราะตัดใจซื้อไม่ลง จนกระทั่งมาสะดุดที่เล่มหนึ่งราคาเท่าๆ กับการ์ตูนเล่มอื่นๆ แต่เป็นภาพสีทั้งเล่มค่ะ

ยืนเฝ้าเล่มนี้อยู่หลายวันจึงได้ฤกษ์ซื้อ ไม่ผิดหวังจริงๆ กับ film comic เรื่อง Kiki"s Delivery Service เล่มนี้ film comic คือหนังสือการ์ตูนที่นำฉากในแอนิเมชั่นมาเรียงต่อทีละช่องแบบหนังสือการ์ตูนค่ะ มีการปรับขนาดช่อง ปรับโฟกัส และใส่บัลลูนเช่นเดียวกับหนังสือการ์ตูนทั่วไป แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องลูกเล่นจึงทำให้อ่านสนุกน้อยกว่าการ์ตูนจริงอยู่มาก

ถึงกระนั้นสตูดิโอจิบลี่ก็ยังนิยมทำ film comic มากกว่าจ้างคนเขียนการ์ตูนต่างหากเพราะผลงานภาพดั้งเดิมเป็นจุดขายสำคัญ (ที่จริงน่าจะเพราะทำ Baron The Cat Return เป็นหนังสือการ์ตูนที่ไม่ใช่ film comic แล้วรู้สึกขายไม่ค่อยดี)

แม่มดน้อยกีกิเล่าถึงเด็กสาวซึ่งเติบโตในครอบครัวแม่มด ในวันพระจันทร์เต็มดวงครบรอบอายุ 13 ปี "กีกิ" ต้องขี่ไม้กวาดออกจากบ้านเพื่อหาประสบการณ์และใช้ชีวิตในต่างเมือง

กีกิและจีจี้แมวดำคู่ใจจึงออกเดินทางไปอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่ผู้คนพลุกพล่าน แม้เมืองนี้ผู้คนจะไม่คุ้นเคยกับแม่มด ไม่มีแม้เวลาจะมองหน้าหรือทักทายกัน แต่กีกิก็ตัดสินใจปักหลักและยึดอาชีพ "ส่งพัสดุด่วน" ด้วยการขี่ไม้กวาดเหาะไปส่ง

ในยามนั้น ผู้คนตื่นเต้นกับการเดินทางบนฟากฟ้ามาก เรือเหาะถือเป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดสำหรับการท่องเที่ยวเหนือพื้นดิน "ทมโบะ" เด็กหนุ่มผู้คลั่งไคล้การบินบังเอิญได้พบกับกีกิและชื่นชมที่เธอขี่ไม้กวาดเหาะได้เป็นอย่างมาก แต่กีกิเองกลับไม่รู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ในความสามารถพิเศษนี้ของตน ภารกิจหาประสบการณ์ครั้งนี้จึงอาจไม่ใช่การเอาชนะเรือเหาะหรือชนะใจชาวเมือง แต่เธอต้องเอาชนะความไม่มั่นใจในการเป็นแม่มดของเธอเสียก่อนค่ะ

ผลงานเรื่อง Kiki"s Delivery Service (1989) นั้นเป็นที่รู้จักแพร่หลายในอเมริกาเหนืออย่างมาก ค่ายดีสนีย์ซึ่งซื้อกีกิไปทำได้มีการปรับแก้ไขบทเล็กน้อย (เช่น จากที่กีกิดื่มกาแฟก็เปลี่ยนให้เธอมาดื่มช็อกโกแลตร้อนเสียแทน เพราะกาแฟถือเป็นเครื่องดื่มมีระดับสำหรับคนทุกวัยในญี่ปุ่นแต่กลับเป็นเครื่องดื่มของคนบ้างานในอเมริกา) มีการปรับเพลงให้เป็นเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษและสอดแทรกเพลงประกอบในบางช่วงของแอนิเมชั่น

แต่ที่ฮือฮาและได้รับการชื่นชมมากที่สุดคือการที่ดีสนีย์ยอมทุ่มทุนจ้างดารามีชื่อหลายคนมาพากย์ หนึ่งในนั้นคือคริสติน ดันท์ซึ่งพากย์เสียงกีกิได้น่ารัก ตอนนั้นเธอโด่งดังจากบทสาวน้อยใน Interview with the Vampire และต่อมาเธอก็กลายเป็นสาวของสไปเดอร์แมน ครั้งแรกที่ดิสนีย์ประกาศว่าจะมีการแก้ไขรายละเอียดในเรื่อง เหล่าแฟนพันธุ์แท้ของ Studio Ghibli นั้นแทบจะคลั่งตาย

แต่เมื่อได้ชมตอนวิดีโอออกวางขาย (ซึ่งนานมากหลังจากวางขายในญี่ปุ่น) ก็พบว่าส่วนรวมไม่เลวร้ายมากนัก พอรับได้ แต่คนที่ดูเวอร์ชั่นญี่ปุ่นมาก่อนอาจจะรู้สึกจักจี้ในความเป็นอเมริกันโดยเฉพาะเวลาได้ยินกีกิพูดเป็นภาษาอังกฤษ ไม่รู้ด้วยเวทมนตร์หรือฝีมือ แต่ในที่สุด Kiki"s Delivery Service ก็ทำยอดขายวิดีโอเป็นอันดับ 8 ของอเมริกาในปีนั้น (อันดับ 1 คือไททานิค)

แม้จะประสบความสำเร็จในการเจาะตลาดอเมริกาเหนือ แต่ความโด่งดังจากนักพากย์ก็เหมือนจะกลับมาเป็นคำเสียดสีให้ทางสตูดิโอสะอึกนิดหน่อย บทบาทของกีกิในเรื่องคงไม่ต่างกับวงการแอนิเมชั่นญี่ปุ่นเมื่อ 18 ปีก่อน ทั้งเก่งทั้งแจ๋วแต่กลับไม่มีใครมองเห็นความสามารถ ทุกคนเอาแต่ชื่นชมเรือเหาะดิสนีย์จนกระทั่งจิบลีเปิดตัวสู่สายตาชาวโลกเหมือนตอนจบที่กีกิเปิดตัวให้ชาวเมืองเห็น ทุกคนในเมืองทึ่งที่เธอเหาะได้เหมือนกับคนในอเมริกาเหนือทึ่งในผลงาน Kiki"s Delivery Service

เพียงแต่...ทึ่งนักพากย์มากกว่าตัวแอนิเมชั่น เปรียบได้กับชาวเมืองทึ่งไม้กวาด ไม่ได้ทึ่งกีกิ งานนี้ฮายาโอะ มิยาซากิและสตูดิโอจิบลีก็ได้แต่ยิ้มแหยๆ ค่ะ เหมือนจะน่าภูมิใจแต่ก็ไม่น่าภูมิใจ แต่ความผิดพลาดครั้งนี้ทำให้เขาได้เรียนรู้และพัฒนาการสร้างงานให้รับกับตลาดนอกญี่ปุ่นมากขึ้นจนล่าสุดผลงานเรื่อง Howl"s Moving Castle ก็ไปหยิบเอาวรรณกรรมอังกฤษมาทำแทนที่จะเขียนบทเองเหมือนเมื่อก่อน งานนี้สตูดิโอจิบลีเดินถูกทางหรือไม่ คนจะไปชื่นชมตัววรรณกรรมมากกว่าแอนิเมชั่นอีกหรือเปล่า...คงต้องคอยเงี่ยหูฟังเสียงวิจารณ์ล่ะค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น: