22 มิถุนายน 2551
PLUTO ผู้สังหารจักรกล (1)
คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง
ถ้ากล่าวถึงผลงานของ อ.เทตซึกะ โอซามุ ปรมาจารย์การ์ตูนแห่งญี่ปุ่นแล้ว หนึ่งในผลงานที่เลื่องชื่อที่สุดคือ "เจ้าหนูอะตอม" (Tetsuwan Atom) หรือที่รู้จักกันในประเทศตะวันตกว่า "Astroboy" ซึ่งอะตอมนั้นเป็นหุ่นยนต์ที่โด่งดังที่สุดในโลกก็ว่าได้ (คงบี้กันมากับโดราเอมอน) และเนื่องจากช่วงนี้เป็นฤดูปลุกกระแสผลงานของ อ.เทตซึกะ เหล่านักเขียนชั้นเซียนหลายคนได้รับการทาบทามให้นำผลงานอมตะหลายเรื่องมาสร้างใหม่ หนึ่งในผู้ที่ได้รับการทาบทามก็คือ อ.อุราซาวะ นาโอกิ ผู้อาจกลายเป็นตำนานอีกบทหนึ่งแห่งวงการการ์ตูนญี่ปุ่น
ผลงานที่ อ.อุราซาวะตัดสินใจจะสร้างนี้คือ "Pluto" ซึ่งได้เค้าโครงจากเรื่องเจ้าหนูอะตอมนี่เองแต่ไม่ได้ยกมาเขียนใหม่ทั้งเรื่อง Pluto เพียงนำเอาตัวละครหุ่นยนต์ซึ่งได้รับสมญานามว่า "แข่งแกร่งและยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก" มาเป็นตัวดำเนินเรื่อง และปรับการ์ตูนวิทยาศาสตร์ให้กลายเป็นเรื่องลึกลับซ่อนปมชวนระทึกขวัญ
เรื่องราวเริ่มขึ้นเมื่อคนทั่วโลกต่างตกตะลึงที่หนึ่งในหุ่นยนต์ที่แข็งแกร่งและเป็นที่รักของมนุษย์มากที่สุดในโลก "มองต์บลังค์" กลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยโดยไม่ทราบสาเหตุ ในยุคนี้ บรรดาหุ่นยนต์ได้วิวัฒนาการขึ้นให้มีความคิดความรู้สึกเหมือนมนุษย์ ต่างแค่ไม่สามารถรับรสอาหารได้ และไม่สามารถฆ่ามนุษย์ได้ หุ่นยนต์มีตั้งแต่รุ่นโบราณที่ดูเหมือนกระป๋อง ไปจนถึงรุ่นล่าสุดที่ไม่ต่างอะไรกับมนุษย์ หลายคู่แต่งงานและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน มองต์บลังค์เองก็มีความรักให้ทั้งมนุษย์และธรรมชาติ ทำให้เขาเป็นที่รักของทุกๆ คนเสมอ
คดีการตายปริศนาของมองต์บลังค์ทำให้นายตำรวจเกซิคต์ หนึ่งใน 8 สุดยอดหุ่นยนต์ของโลกต้องเข้ามาสืบ สิ่งที่ทำให้เขาแปลกใจคือสิ่งของลักษณะคล้ายเขาที่ปักอยู่ข้างศีรษะของมองต์บลังค์ นั่นคือสัญลักษณ์ของราชาแห่งปรโลก "Pluto"
ไม่นานนัก นอร์ธนัมเบอร์ 2 สุดยอดหุ่นยนตร์อีกตัวหนึ่งก็จากไป แม้ในการ์ตูนอะตอมเล่มดั้งเดิมเขาจะปรากฏตัวเพียงสั้นๆ แต่บทบาทใน Pluto ทำให้เราแทบร้องไห้กับบั้นปลายชีวิตที่แสนเศร้าของเขา อ.อุราซาวะสร้างหัวใจที่รักดนตรีให้กับเครื่องจักรสังหารที่เย็นชา และเปิดหัวใจเย็นชาของนักแต่งเพลงผู้ยิ่งใหญ่ให้สัมผัสกับความอบอุ่นของเครื่องจักสังหารผู้มีหัวใจของมนุษย์
ตอนนี้เองที่เกซิคท์เริ่มสังเกตเห็นความสัมพันธ์บางอย่างของหุ่นยนต์ที่ถูกทำลาย ทุกคนเคยเกี่ยวข้องสงครามเอเชียกลางครั้งที่ 39 เมื่อ 2 ปีก่อน ผู้ที่ช่วยคลี่คลายคดีนี้ได้อาจจะเป็นศาสตราจารย์โอจาโนะมิสุ สหายรักของอะตอม เขาเป็นหนึ่งในทีมไกล่เกลี่ยสถานการณ์ความขัดแย้งในเอเชียกลาง แต่ยังไกล่เกลี่ยไม่ทันเสร็จ สงครามก็อุบัติขึ้นเสียก่อน บรรดาสุดยอดหุ่นยนต์ที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกจึงถูกส่งไปเคลียร์ภายหลัง
เรื่องราวในเล่มหนึ่งตัดจบลงเมื่ออะตอมปรากฏกายขึ้นมานี่เอง
สำหรับท่านที่ไม่เคยอ่านอะตอมมาก่อน นี่คือข่าวดีค่ะ เพราะ Pluto นั้นแตกต่างจากเรื่องต้นฉบับมาก และแน่นอนว่าไม่เหมาะกับเด็กเอาเสียเลย มีการกล่าวถึงเรื่องชวนหนักกบาลอย่างมนุษยธรรม (ในหมู่หุ่นยนต์),การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (หุ่นยนต์เช่นกัน), และเรื่องหัวจิตหัวใจ (แน่นอนว่าของหุ่นยนต์)
มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า อ.อุราซาวะได้ไอเดียเขียนเรื่องนี้เพราะได้ดูข่าวสงครามอิรักเมื่อปี 2003 หรือเปล่า เพราะตอนเขียน 2oth century boy ก็ตรงกับช่วงคดีลัทธิโอมชินรินเกียวปล่อยก๊าซซารินในสถานรถไฟใต้ดินพอดี น่าเสียดายที่ไม่มีใครเคยถาม อ.อุราซาวะตรงๆ แต่ อ.อุราซาวะกล่าวอะไรในงานรับมอบรางวัล Excellence Prize สาขา story manga จาก Media Arts Festival ปี 2005 นั้น
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น