05 กรกฎาคม 2551

ยุทธการจุดตะวัน รักชาติไม่ใช่เรื่องไกลตัว

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

โดยส่วนตัวคิดว่ายากเหลือเกินค่ะที่ใครสักคนจะบอกว่าตัวเอง "เป็นคนรักชาติ" และกล่าวหาว่าอีกคนหนึ่ง "บ่อนทำลายชาติ" นั่นก็เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนและเป็นสัตว์สังคม การดำรงอยู่ของคนๆ หนึ่งอาจหมายถึงความอยู่รอดของคนในครอบครัวอีกหลายคน ดังนั้นการจะตีตราว่าใครสักคนรักชาติหรือไม่จึงยากเหลือเกินค่ะ เพราะไม่รู้จะเอาอะไรวัดดี

ประเทศญี่ปุ่นน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีของชนชาติที่ได้ชื่อว่า "รักชาติ" มากที่สุดในยุคหนึ่ง ซึ่งถ้าให้เดาก็น่าจะเป็นยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ช่วงเวลานั้นก็ผ่านมานานเหลือเกินค่ะ แม้ชาวญี่ปุ่นในปัจจุบันจะมีความเป็นชาตินิยมอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นป้ายบอกทางหรือเอกสารต่างๆ ที่ใช้ในประเทศล้วนเป็นภาษาญี่ปุ่น ยากที่จะหาภาษาอังกฤษในประเทศนี้ค่ะ วัฒนธรรมการกินหรือการแต่งกายก็ล้วนบ่งบอกถึงความเป็นญี่ปุ่นซึ่งเด็กรุ่นใหม่หลายคนก็ภาคภูมิใจในความเป็นญี่ปุ่นของตัวเอง แต่สิ่งเหล่านี้อาจไม่ใช่การ "รักชาติ" ค่ะ เป็นเพียง "ชาตินิยม" หรือการมองว่าตนมีวัฒนธรรมที่ดีงามกว่าชนชาติอื่นเท่านั้นเอง แต่...ก็ไม่ใช่คนญี่ปุ่นทุกคนหรอกนะคะ

ที่ต้องเกริ่นพื้นฐานความคิดของคนญี่ปุ่นที่สื่อผ่านการ์ตูนในปัจจุบันเสียก่อนเพื่อจะได้เล่าถึงการ์ตูนที่ออกจะสวนกระแสขาลงของความรักชาติเรื่องนี้ค่ะ "คาวางุจิ ไคจิ" ผู้เขียนการ์ตูนเรื่อง "ยุทธการจุดตะวัน" เป็นนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นเพียงไม่กี่คนที่ถ่ายทอดความ "รักชาติ" ได้มากพอๆ กับความเป็น "ชาตินิยม" เลยค่ะ เป็นที่ทราบดีว่าวัยรุ่นญี่ปุ่นยุคนี้เกิดในช่วงเวลาแห่งความสุขสบาย ไม่ต้องใช้ชีวิตยากลำบากเหมือนรุ่นปู่ย่าที่อดอยากหลังสงคราม ดังนั้นความ "รักชาติ" จึงจืดจางไปพร้อมๆ กับความสบายที่เพียงปลายนิ้วก็สั่งการได้ทุกอย่าง อ่านการ์ตูนแล้วรู้สึกได้ว่าคาวางุจิ ไคจิไม่ค่อยจะชอบแนวคิดเหลาะแหละแบบนี้เสียเท่าไร

"ยุทธการจุดตะวัน" กล่าวถึงประเทศญี่ปุ่นหลังเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ซึ่งไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน นั่นคือการระเบิดของภูเขาไฟฟูจิ ส่งผลให้แผ่นดินแยกและญี่ปุ่นถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ภัยพิบัติครั้งนี้ส่งผลให้ชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตไปมากมาย พื้นที่บางส่วนจมอยู่ใต้ทะเลจนกระทั่งประชากรจำนวนมากต้องลี้ภัยไปอาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพตามประเทศต่างๆ ในโลก กลายเป็นว่าชาวญี่ปุ่นที่เคยสุขสบายกลับเป็นประชากรชั้นสองในประเทศอื่นเสียแทน แม้จะเกินความจริงไปไกลแต่เชื่อว่าคนญี่ปุ่นที่เคยชินกับความสบายมาอ่านแล้วคงกลัวและเจ็บจี๊ดกันบ้างล่ะค่ะเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดในครั้งนั้นทำให้ "ริว เคนอิจิโร่" เด็กชายวัยประถมที่เกิดในตระกูลนักการเมืองต้องสูญเสียคุณพ่อและคุณแม่ เขาพลัดหลงจากบ้านพักตากอากาศและต้องเผชิญหน้ากับความลำบากเพียงคนเดียว คุณสมบัติของเคนอิจิโร่ที่โดดเด่นเหนือเด็กประถมทั่วไปอย่างชัดเจนคือ "ความเสียสละ" เขาช่วยชีวิตลูกหมาและไม่ยอมทิ้งจนโดนไล่ลงจากรถบรรทุกผู้ประสบภัย เมื่อได้พบชายหนุ่มที่กำลังจะขนของไปช่วยผู้ประสบภัยคนอื่น เคนอิจิโร่ก็ขอร่วมทางไปด้วยแต่กลับขอร้องให้ทิ้งข้าวของทุกอย่างที่บรรทุกบนเรือลงน้ำให้หมดเพื่อช่วยผู้ประสบภัยอีกหลายคนที่กำลังจะจมน้ำ จนสุดท้ายเขาก็ตกน้ำไปเสียเอง นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่มีคนพบเคนอิจิโร่

อ.คาวางุจิสร้างเคนอิจิโร่ออกมาเพื่อเสียดสีการดำเนินชีวิตของชาวญี่ปุ่นในปัจจุบันอย่างชัดเจนค่ะ เคนอิจิโร่คือตัวแทนของแนวคิด "แม้แต่เด็กประถมยังเสียสละมากกว่าผู้ใหญ่บางคนเสียอีก" เพื่อให้นักอ่านวัยผู้ใหญ่รู้สึกหน้าชาและย้อนกลับมามองตัวเองบ้างว่าทุกวันนี้เรา "รักชาติ" ได้เท่ากับที่เคนอิจิโร่แสดงออกในการ์ตูนหรือยัง

จริงอยู่ว่าเหตุการณ์ในการ์ตูนคงไม่เกิดขึ้นจริงหรอกค่ะ ถึงเกิดขึ้นจริงๆ ต่อให้ประเทศยากลำบากแต่เขาก็ยังเหลือคนเก่งๆ ที่มีค่าอีกตั้งเยอะ ซึ่งนั่นสิ่งที่ อ.คาวางุจิต้องการสะท้อนให้เห็นใน "ยุทธการจุดตะวัน" เลยค่ะ ว่าสิ่งที่น่ากลัวที่สุดสำหรับญี่ปุ่นไม่ใช่การเสียดินแดนหรือทรัพยากร แต่เป็นการสูญเสีย "คน" หรือจิตวิญญาณรักชาติของความเป็นคนญี่ปุ่นนั่นเอง

งวดนี้มาเสียเครียด แต่อ่านการ์ตูนเรื่องนี้แล้วชวนให้ย้อนกลับมามองประเทศไทยบ้างว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศเรากันแน่ ราวกับทุกคนพยายามปกป้องสิ่งที่เป็นเปลือกนอกของประเทศโดยลืมไปว่า "ความเป็นคนไทย" นี่ล่ะค่ะคือสิ่งที่สำคัญที่สุด เหมือนดังที่ในหลวงของเราต้องการให้คนในชาติสามัคคีกันเพราะอย่างไรเสียก็เป็น "คนไทยด้วยกัน"...ชอบคำนี้จังค่ะ

สรุปว่าอ่านเรื่องนี้แล้วอารมณ์ "รักชาติ" เข้าสิงจริงๆ

วันที่ 06 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11075

ดาวน์โหลดชมวิดีโอ Taiyo no mokushiroku ได้ที่:http://w10.mocovideo.jp/search.php?MODE=DM_TAG&KEY=taiyo และที่
http://downloads.animebw.com/series/Taiyou_no_Mokushiroku.html

ไม่มีความคิดเห็น: