27 กันยายน 2551

Detroit Metal City ฤๅเฮวี่เมทัลจะครองเมือง [2]

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

หลังจากสัปดาห์ก่อนกล่าวถึงความโด่งดังของหนังสือการ์ตูนตลกร้ายเสียดสีความคลั่งไคล้ดารานักร้องอย่างหน้ามืดตามัวใน Detroit Metal City (DMC) ไปแล้ว วันนี้จะขอเล่าต่อถึงความโดดเด่นของ DMC ฉบับแอนิเมชั่น (ภาพยนตร์การ์ตูน) จัดทำในรูปแบบ OVA (Original Video Animation) ซึ่งเป็นหนังการ์ตูนจำหน่ายในรูปแบบ DVD โดยไม่ฉายทางโทรทัศน์บ้างค่ะ

ก่อนที่จะกล่าวถึงแอนิเมชั่น DMC ลองนึกย้อนไปถึงหนังการ์ตูนทางช่องเก้าช่วงเช้าๆ ที่เราเคยดูนะคะ หนังการ์ตูนในยุคก่อนแม้ว่าจะสร้างจากเนื้อเรื่องในหนังสือการ์ตูนแต่ก็มักใช้ทีมงานคนละทีมกัน ผลคือภาพที่ออกมาในหนังการ์ตูนจะต่างจากในหนังสืออยู่พอสมควร ลายเส้นก็ไม่เหมือนเพราะใช้คนวาดคนละคนกัน ฉากหรือมุมมองส่วนใหญ่ต่างกันทั้งหมด ดังนั้น จึงให้อารมณ์แตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างฉบับหนังสือการ์ตูนและแอนิเมชั่น ตัวอย่างหนังการ์ตูนแนวนี้คือดรากอนบอลและเซนต์เซย่าค่ะ โดยเฉพาะเซนต์เซย่าซึ่ง อ.คุรุมาดะ มาซามิ ผู้วาดฉบับหนังสือการ์ตูนก็โด่งดังมากอยู่แล้ว แต่ฉบับแอนิเมชั่นให้ อ.อารากิ ชินโก ซึ่งโด่งดังมากๆ อีกคนออกแบบตัวการ์ตูนให้ ดังนั้น เซนต์เซย่าในความทรงจำจึงมี 2 เวอร์ชั่นเสมอ

นั่นคือยุคแรกค่ะ ยุคต่อมาของแอนิเมชั่นที่สร้างจากหนังสือการ์ตูนคือยุคที่เริ่มเอาภาพในหนังสือการ์ตูนใส่ลงไปในแอนิเมชั่นด้วยเนื่องจากบางภาพในหนังสือการ์ตูนเป็นภาพที่น่าจดจำ เวลาชมแอนิเมชั่นแล้วเห็นภาพแบบเดียวกับหนังสือการ์ตูน ความรู้สึกของเราคือหัวใจพองโตขึ้นจากการย้อนระลึกถึงหนังสือการ์ตูนที่อ่านผ่านมา แม้ว่าแอนิเมชั่นจะทำออกมาหยาบหรือแย่แค่ไหน ภาพความงดงามของหนังสือการ์ตูนที่แทรกเข้ามาก็ช่วยหักกลบลบหนี้ไปได้บ้าง แต่ข้อเสียคือนวัตกรรมการทำให้ภาพสองมิติขยับได้ยังไม่ก้าวหน้านักค่ะ ดังนั้น แอนิเมชั่นที่ใช้เทคนิคนี้จึงให้ความรู้สึกเหมือนดู "หนังตะลุง" คือเหมือนดูภาพบนกระดาษขยับไปมาบนแกนเดียว ซึ่งต่างกับหนังสือการ์ตูนที่เราสามารถจินตนาการภาพบนกระดาษให้ขยับในหัวเราเป็นสามมิติได้ ดังนั้น แอนิเมชั่นยุคนี้จึงไม่ขายชื่อเสียงของผู้กำกับฯหรือทีมออกแบบตัวการ์ตูน แต่ขาย "นักพากย์" แทน ซึ่งน่าจะเป็นองค์ประกอบที่ดูศิลป์ที่สุดแล้ว

มาถึงยุคแอนิเมชั่น DMC เสียทีค่ะ เป็นยุคปฏิวัติแอนิเมชั่นอีกขั้นเมื่อแอนิเมชั่นกลายเป็นเพียง "ช่องทางในการถ่ายทอดหนังสือการ์ตูน" อีกประเภทหนึ่งไปเสียแล้ว เนื่องจากแอนิเมชั่น DMC ยกภาพจากหนังสือการ์ตูนมาทั้งกรอบไม่มีตัดทอน อาจเพิ่มบางภาพเข้าไปเพื่อให้การเคลื่อนไหวนุ่มนวล แต่ภาพที่เราเห็นในหนังสือการ์ตูนเป็นอย่างไร ในแอนิเมชั่นก็เป็นอย่างนั้น ส่งผลให้ทั้งลายเส้นและมุมมองซึ่งนักวาดการ์ตูนอุตส่าห์คิดมาอย่างดีไม่สูญเปล่า แล้วต่างจากยุคหนังตะลุงอย่างไร ต่างมากเลยค่ะเพราะแอนิเมชั่น DMC ไม่ให้ความสำคัญกับขนาดจอภาพอีกต่อไป หมายถึงว่าถ้าภาพในการ์ตูนเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวสูง ภาพที่ปรากฏบนจอก็จะเป็นภาพแนวสูงไม่เต็มจอ และล้อมด้วยพื้นหลังสีดำสนิทซ้ายขวา ไม่จำเป็นที่ต้องใส่ภาพให้เต็มจอเหมือนสมัยก่อนอีกแล้ว พูดง่ายๆ คือเมื่อดูแอนิเมชั่น DMC ก็เหมือนดูแต่ละกรอบในหนังสือการ์ตูนที่ขยับได้และมีเสียงพากย์โดยเราไม่ต้องเมื่อยอ่านตัวหนังสือในบัลลูนนั่นเอง (แต่อาจต้องอ่านซับไตเติ้ลแทน)ความน่าทึ่งของแอนิเมชั่น DMC ยังไม่หมดแค่งานภาพที่ไม่ลดทอนความงามของต้นฉบับเท่านั้นนะคะ เสียงพากย์และเพลงคือจุดเด่นอีกจุดหนึ่งซึ่งทำให้ความฝันของนักอ่านการ์ตูนเป็นจริง บางครั้งเราอ่านการ์ตูนเกี่ยวกับดนตรีก็อยากได้ยินบ้างว่าเพลงในเรื่องมันเจ๋งขนาดไหน แอนิเมชั่น DMC สร้างมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะค่ะ ใส่เพลงที่เจ๋งสมราคาคุยลงไปช่วยให้เรารู้สึกซาบซึ้งในเนื้อเรื่องมากยิ่งขึ้น

ถือเป็นก้าวแรกๆ ที่ทำให้หนังสือการ์ตูนกลายเป็นจินตนาการที่จับต้องได้ง่ายโดยไม่ต้องอาศัยพลังความคิดของเราเพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจจะมีร้านอาหารที่ทำแต่เมนูในหนังสือการ์ตูนเกิดขึ้นก็ได้ค่ะ เรียกว่าอ่านการ์ตูนจบแล้วอยากรู้รสชาติของอาหารที่อยู่ในเรื่อง เราก็สามารถเดินไปกินและ "อิน" กับเนื้อเรื่องได้มากยิ่งขึ้น ไปๆ มาๆ วัฒนธรรมหลายอย่างในอีกสิบปีข้างหน้าอาจมีที่มาจากหนังสือการ์ตูนก็เป็นได้

วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11159 มติชนรายวัน

ไม่มีความคิดเห็น: