07 ธันวาคม 2551

One Outs เกมนี้ไม่มีน้ำใจนักกีฬา

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

สำหรับหลายๆ ท่าน "กีฬา" ไม่ใช่แค่การแข่งขันในสนามเท่านั้นค่ะ เบื้องหลังของกีฬาคือความมุ่งมั่นและการฝึกซ้อมอย่างหนัก มีแต่แรงอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องมีสมองด้วย เรียนรู้ที่จะเอาชนะตัวเองและคู่ต่อสู้ไปด้วยในเวลาเดียวกัน รู้แพ้รู้ชนะรู้อภัย และสุดท้ายคือรู้จักเล่นในกติกา นี่คือกีฬาอย่างแท้จริงค่ะ เนื่องจากความหมายส่วนใหญ่เป็นไปในเชิงบวกทำให้บางอย่างเรียกกีฬาได้ไม่เต็มปากนัก เช่น กีฬาที่มีการพนันเป็นเป้าหมายหลัก ถ้าจับเอานักกีฬาตัวจริงไปแข่งในเกมนอกกฎหมาย เป็นไปได้ว่าจะแพ้หมดรูปเลยค่ะเพราะเป้าหมายของคนอื่นไม่ใช่ชัยชนะหรือความภูมิใจ แต่เป็นเงินล้วนๆ แล้วถ้าเราจับเอานักพนันนอกกฎหมายมาเป็นนักกีฬาบ้างล่ะ เขาจะทำอย่างไรกับวงการกีฬาที่ขาวสะอาดนี้บ้าง

คำตอบอยู่ที่การ์ตูนเรื่องนี้ค่ะ One Outs การ์ตูนที่ให้มุมมองสวนทางกับการ์ตูนกีฬาหลายเรื่องซึ่งเต็มไปด้วยความฝันของวัยรุ่นและการพิสูจน์ตัวเอง แต่ One Outs กลับนำเสนอการใช้วิธี "หนามยอกต้องเอาหนามบ่ง" หรือ "เอาโจรมาจับโจร" ของวงการเบสบอลอาชีพในญี่ปุ่น

One Outs เริ่มต้นจากการพบกันของ "ฮิโรมิจิ โคจิมะ" นักเบสบอลอาชีพในทีม "ไลคานอส" ที่ตกต่ำถึงขีดสุดเนื่องจากเจ้าของทีมไม่สนใจผลแพ้ชนะ ขอเพียงแค่เขากอบโกยเงินทองจากทีมได้ จะให้ทีมแพ้จนตกกระดานก็ยังไม่ว่า กับ "โทอะ โอคุจิ" พิชเชอร์ (ผู้ขว้างลูกเบสบอล) ที่ไม่ได้เล่นกีฬาเบสบอล แต่เป็นนักพนันในเกมที่ชื่อ "One Out" เป็นเกมที่ให้นักพนันเข้ามาวางเงินเดิมพันกับพิชเชอร์แลกกับโอกาสตี 3 ครั้ง หากตีได้เข้าเขตแค่หนึ่งในสามครั้งก็ถือว่าชนะ แต่ถ้าตีไม่ได้เลยก็ต้องเสียเงินให้พิชเชอร์

โทอะคือเด็กหนุ่มที่ไม่เคยพ่ายแพ้ให้ใครเลยค่ะ เขาขว้างลูกด้วยความเร็วธรรมดาและไม่ได้มีเทคนิคหวือหวาอะไร แต่ราวกับเขาอ่านใจคนตีได้ ไม่ว่าใครจะตีเขาก็สามารถอ่านความคิดล้ำหน้าไปได้ขั้นหนึ่งเสมอ ทำให้แม้เขาจะขว้างลูกด้วยความเร็วไม่ได้สูงและไม่ได้ใช้เทคนิคแพรวพราว แถมยังขว้างเข้าตำแหน่งเดิมทุกครั้ง ก็ยังไม่เคยมีใครเอาชนะโทอะได้เลย

ฮิโรมิจิท้าพนันกับโทอะด้วยเงินทองและอนาคตการเป็นนักเบสบอลอาชีพของเขาทั้งหมด แพ้หรือชนะต้องลองติดตามค่ะ ถ้าบอกคงมีคนโกรธแน่ๆ เพราะเรื่องนี้ลำดับเรื่องได้น่าติดตามมากชนิดที่จบตอนแล้วแทบลุกขึ้นมาเต้นบูชาขอให้ออกตอนต่อไปไวๆ แต่โดยสรุปคือโทอะก็ได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมทีมไลคานอส เขาไม่ได้ถูกตั้งความหวังให้ปราบเจ้าของทีมที่เห็นแก่ตัว แต่ความร้ายกาจของเจ้าของทีมดูจะเข้าตาโทอะ เขาจึงยื่นข้อเสนอให้กับเจ้าของทีมที่ไม่คิดจะจ่ายค่าตัวแม้แต่แดงเดียวให้เขาว่า...

"เขาไม่รับค่าตัวก็ได้ แต่มาพนันกัน ทุกครั้งที่เขาขว้างลูกแล้วทำให้ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามออก (out) ได้ เจ้าของทีมต้องจ่ายให้เขา 5 ล้านเยน แต่ในทางกลับกัน ถ้าฝ่ายตรงข้ามได้หนึ่งแต้ม เขาจะจ่ายให้เจ้าของทีม 50 ล้านเยน" หมายความว่าถ้าในเกมหนึ่ง โทอะทำให้ฝ่ายตรงข้าม out ได้ 10 คนแต่ทีมตัวเองเสีย 1 คะแนนก็จะเจ๊ากันค่ะ แต่แค่อีกฝ่ายหนึ่งได้อีก 1 คะแนน โทอะจะต้องเสีย 50 ล้านเยน เจ้าของผู้สนแต่ผลประโยชน์จึงตกลงแทบจะในทันทีปัญหาของโทอะคือเบสบอลไม่ใช่กีฬาที่เล่นคนเดียวแบบการขว้างลูกพนันเงินแบบที่เขาเคยเล่น ปัจจัยที่เหนือการควบคุมมีมากกว่าที่เขาคิดค่ะ ทั้งความสามารถของทีมตรงข้าม และความสามารถที่ด้อยกว่าที่คาดของทีมตัวเอง จากคนที่เคยเอาชนะได้ง่ายๆ ด้วยตัวคนเดียวจึงต้องเปลี่ยนแนวการเล่นเพื่อให้ทั้งทีมเอาชนะได้ไปพร้อมๆ กัน

One Outs ฉบับแอนิเมชั่นดัดแปลงจากหนังสือการ์ตูนชื่อเดียวกันโดย "ไคทานิ ชิโนบุ" (ผู้เขียน Liar Game) ซึ่งตีพิมพ์ใน Business Jump (เดาว่าเป็นการ์ตูนสำหรับวัยผู้ใหญ่หน่อย) ตั้งแต่ปี 1998-2006 และรวมเล่ม 19 เล่มจบ ไม่น่าจะเคยตีพิมพ์ในไทยนะคะเพราะไม่คุ้นเลย ส่วนแอนิเมชั่นก็ยังไม่มีจำหน่ายในไทยค่ะ คงต้องรอลุ้นต่อไป

เสน่ห์ของเรื่องนี้อยู่ที่ความเข้มข้น น่าติดตาม และเป็นการ์ตูนเบสบอลที่สู้กันด้วยไหวพริบมากกว่าฝีมือซึ่งไม่เคยมีการ์ตูนแนวนี้ปรากฏมาก่อนค่ะ เพียงแต่ข้อเสียคือเหมาะกับวัยผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก

ก็แหม...พระเอกของเรื่องเป็นนักพนัน แถมตอนแข่งเบสบอลยังใช้วิชามารนอกตำราเสียเยอะ ถึงไม่ผิดกติกาแต่ก็ไม่ช่วยให้เกิดภาพสวยงามของเบสบอลในใจของเด็กเท่าไร เยาวชนที่ดูจึงโปรดใช้วิจารณญาณเสมอนะคะ

วันที่ 07 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11229 มติชนรายวัน

3 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

เรื่องนี้เเละในมังงะไม่มีนางเอดใช้ไหมคะ

Unknown กล่าวว่า...

#นางเอก โทษนะพิมผิด

Unknown กล่าวว่า...

คือถ้าจะหาอ่านมังงะ นี่คือทำอะไรยังไงได้บ้างคะ มาชวนดูอนิเมะจบอีกรอบแล้ว อยากตามอ่านจริงๆจังๆ วอนผู้รู้มาตอบ ทางผู้เขียนจะตายเพราะอยากอ่านจนจะบ้าแล้วค่ะ ฮื่อ