07 มกราคม 2552

เทรนด์การ์ตูนประจำปี 2008 และก้าวเล็กๆ สู่ 2009

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ระหว่างกำลังนั่งรอให้ข้ามปีด้วยความตื่นเต้นก็พบบทความหนึ่งของคุณ Deb Aoki เข้าทางเวบไซต์ http://manga.about.com ค่ะ คุณ Deb ได้เขียนทำนายความเป็นไปของการ์ตูนญี่ปุ่นทางฝั่งตะวันตก (เขาใช้คำว่า manga หมายถึงการ์ตูนญี่ปุ่น ส่วนการ์ตูนฝรั่งจะใช้ comic หรือ cartoon นะคะ) ในปี 2008 ที่ผ่านมา เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่าเทรนด์ไหนเหมือนไทยบ้าง

ลำดับแรกสุดคือ "การ์ตูนสู่หนังใหญ่" คือความนิยมในการนำหนังสือการ์ตูนไปสร้างเป็นภาพยนตร์ฉบับคนแสดงนั่นเองค่ะ ช่วงครึ่งหลังของปี 2008 เรื่องที่แรงที่สุดเห็นจะเป็น "20th Century Boy" ฉบับภาพยนตร์ภาคหนึ่งในไตรภาคซึ่งเปิดตัวฉายและทำเงินสูงลิ่วตามที่คาดและยังคงมีกระแสแรงได้ถึงภาคถัดไป ในไทยก็นับว่าแรงแต่น่าจะยังห่างชั้นกับ Nana อยู่ค่ะเทรนด์ที่สองคือ "การ์ตูนเก่าเกิดใหม่" หลายสำนักพิมพ์ฝั่งตะวันตกนำการ์ตูนเก่ามาตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในฉบับปรับปรุงใหม่ เช่น Slam Dunk การ์ตูนบาสเกตบอลในตำนานที่เชื่อว่าได้สร้างนักเบสบอลมือดีมากมาย พิมพ์ซ้ำในอเมริกาเมื่อพฤศจิกายน 2008 ส่วนเมืองไทยกระแสขุดกรุเงียบเหมือนเป่าสากด้วยต้นทุนค่ากระดาษและวิกฤตน้ำมันตั้งแต่ต้นปีนั่นเอง

เทรนด์ที่สามคือ "ไลต์โนเวล (Light Novel) กับยอดขายที่ไม่ไลต์" กระแสนี้ค่อยๆ แรงขึ้นในวงการการ์ตูนของไทยเช่นกันค่ะ แต่สำหรับวงการสิ่งพิมพ์และนวนิยาย ไลต์โนเวลเป็นกระแสที่แรงต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว ไลต์โนเวลสำหรับวงการการ์ตูนคืองานเขียนที่มีเทคนิคการเขียนคล้ายการอ่านการ์ตูน เน้นบทสนทนาและการดำเนินเรื่องมากกว่าประโยคพรรณนาโวหารและภาษาที่สละสลวยแบบนวนิยาย ความที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย จบเร็ว จึงทำให้ยอดขายสูงมากและหลายเรื่องถูกนำไปสร้างเป็นการ์ตูนและแอนิเมชั่นเนื่องจากเข้าถึงผู้ชมวัยรุ่นได้เป็นอย่างดีนั่นเองเทรนด์ที่สี่ของฝั่งตะวันตกคือการ์ตูนจากนักวาดฝั่งตะวันตกคลอดออกมามากขึ้น ส่วนของไทยรู้สึกว่าจะคงที่ค่ะ เมื่อเทียบกันแล้วจะไปโตฝั่งไลท์โนเวลเสียมากกว่า เทรนด์ที่ห้าคือ "Mooks" หรือแม็กกาซีนกับบุ้ครวมกันซึ่งกำลังอินฝั่งตะวันตกแต่ฝั่งไทยไม่มีกระแสนี้เลย เทรนด์ที่หกคือ "การ์ตูนบนมือถือ" ซึ่งแรงมากในญี่ปุ่นช่วงสองสามปีที่ผ่านมาและกำลังขยายตลาดในฝั่งอเมริกา ของไทยเนื่องจากการให้บริการมัลติมีเดียบนโทรศัพท์ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก คงเป็นฝันที่อีกไกลกว่าจะถึงเลยค่ะ เทรนด์ที่เจ็ด ?กำเนิดแนวการ์ตูนใหม่? เนื่องจากทางฝั่งตะวันตกรู้จัก manga เพียงการ์ตูนผู้ชายและการ์ตูนผู้หญิงเท่านั้น กระแสการ์ตูนแบบใหม่อย่างการ์ตูนบอยส์เลิฟ การ์ตูนเสริมทักษะ หรือการ์ตูนที่เขียนจากนวนิยายที่โด่งดังกลายเป็นกระแสใหม่ที่ชวนฮือฮา คนไทยยืดอกได้เลยเพราะแนวการ์ตูนเหล่านี้ เรารู้จักมาก่อนตั้งเป็นสิบปีแล้ว

เทรนด์ที่แปดคือ "เกาะติดตลาดญี่ปุ่น" หมายถึงการวางแผงการ์ตูนให้รวดเร็วทันญี่ปุ่นมากขึ้น ไม่ใช่ที่ญี่ปุ่นจบเล่ม 10 ไปแล้วแต่ในต่างประเทศเพิ่งถึงเล่ม 2 กระแสนี้มาแรงในไทยเช่นกันค่ะ อีกตลาดหนึ่งคือการ์ตูนเกาหลี (manhwa) ซึ่งตีตลาดอเมริกามากขึ้น ส่วนในไทยยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควรเนื่องจากเทียบคุณภาพงานแล้ว นักเขียนไทยหลายคนเขียนได้ดีกว่าการ์ตูนเกาหลีเสียอีก เทรนด์ที่เก้าคือ "หนุ่มๆ รุมรัก (กันเอง)" กระแสการ์ตูนแนวชายหนุ่มหันมารักกันเองแต่เป็นการ์ตูนสำหรับผู้หญิงตีตลาดอเมริกามากขึ้นค่ะ แต่ของไทยกลับตรงข้าม ในปีที่ผ่านมาอาจเรียกว่าไม่มีการ์ตูนแนวนี้วางแผงเลยเนื่องจากการควบคุมสื่อที่เข้มงวดมากขึ้น

เทรนด์สุดท้าย "การ์ตูนผู้หญิงก็โป๊ได้" เมื่อการ์ตูนผู้หญิงซึ่งถูกมองว่าเป็นการ์ตูนตาหวานเริ่มเปิดเผยเนื้อหนังและฉากจู๋จี๋กันมากขึ้นจนเกิดเสียงวิจารณ์ติดลบมากมายแต่ยอดขายก็ยังพุ่งกระฉูด ในไทยเรามีระบบเซ็นเซอร์ชั้นเยี่ยมที่แต่งภาพและบังด้วย "ควับ" "พรึบ" ซึ่งแสดงถึงความรับผิดชอบของสำนักพิมพ์การ์ตูนต่อสังคมเมืองพุทธอย่างไทย จึงไม่น่าห่วงมากเท่าไร อย่างไรก็ตาม ฝั่งตะวันตกได้จัดให้ manga ของบางสำนักพิมพ์เป็นสื่อที่ห้ามจำหน่ายในเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีแล้ว ชินจังคือหนึ่งในนั้นค่ะ แต่ใช่ว่าจะกีดกันแบบไร้ทางเลือกให้เด็กๆ เพราะอเมริกาเองก็ผลิตการ์ตูนสำหรับเยาวชนชั้นดีได้มากมาย เป็นทางเลือกให้เด็กๆ ได้ชมกันแทนการ์ตูนที่ใช้ความรุนแรงและโชว์ช้างน้อยอย่างชินจัง ในไทยเองก็มีการ์ตูนไทยที่ฉายทางโทรทัศน์คุณภาพดีมากมายนะคะ เวลาที่ "การ์ตูนไทย" จะกลายเป็นสื่อสำหรับเยาวชนคงอีกไม่นานแล้วค่ะ

แต่เวลาที่ "การ์ตูนญี่ปุ่นในไทย" จะยอมรับว่าเป็นสื่อสำหรับวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่แต่ไม่ใช่สำหรับเด็กเล็กๆ ...อาจจะอีกนาน

วันที่ 04 มกราคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11257 มติชนรายวัน

ไม่มีความคิดเห็น: