11 เมษายน 2552

"Jelly Beans" เอกลักษณ์คือความกล้าที่จะแตกต่าง

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

สำหรับท่านใดที่เคยผ่านวัยรุ่นมาแล้ว จำช่วงชีวิตหนึ่งที่เรารู้สึกไม่สบายใจหากทำอะไร "ไม่เหมือนเพื่อน" ได้ไหมคะ ในช่วงนั้นถ้าใครฮิตอะไรกันเราต้องทำตามถึงจะน่าภูมิใจ หนังสือแฟชั่นคือไบเบิลของเหล่าวัยรุ่นผู้อินเทรนด์ แต่จะไปว่าเขาไร้สาระไม่ได้นะคะเพราะสิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเติบโตขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ก็ได้ สูตรสำเร็จในการเป็นผู้นำทางความคิดของคนอื่นคือ เมื่อเดินตามแรงบันดาลใจเหล่านี้จนอิ่มตัว อยากเห็นผลงานที่ไม่ได้เกิดจากสมองคนอื่นแต่เกิดจากสมองเราเองบ้าง ตรงนั้นล่ะค่ะคือจุดเริ่มต้นของ "เอกลักษณ์" และเป็นตัววัดคุณค่าของเราได้อย่างดีเยี่ยม

Jelly Beans คือการ์ตูนที่อ่านแล้วเกิดความรู้สึกเหมือนมีไฟลุกท่วมตัวและอยากจะลุกขึ้นมาสร้างผลงานที่มี "เอกลักษณ์" ของตัวเองขึ้นมาเหลือเกินค่ะ!

"มาเมะโกะ" สาวน้อยวัย 14 ปี เรียนอยู่ในโรงเรียนต่างจังหวัดไกลปืนเที่ยงที่ไม่มีโอกาสได้เดินกระทบไหล่เหล่าผู้คนที่แต่งตัวกันเปรี้ยวจี๊ดจ๊าดเหมือนคนเมืองค่ะ เธอชอบเสื้อผ้าสวยๆ และใฝ่ฝันอยากเป็นนางแบบ แต่ความจำกัดเรื่องเงินทองและอุปกรณ์ทำให้เธอไม่สามารถซื้อเสื้อสวยๆ แพงๆ มาใส่ได้ ดังนั้น มาเมะโกะจึงพยายามเรียนรู้การตัดชุดด้วยตัวเองเพื่อให้เสื้อผ้าแสนธรรมดาที่มีอยู่กลายเป็นเสื้อผ้าทันสมัยแห่งบ้านทุ่งขึ้นมา ความผิดหวังครั้งแรกของมาเมะโกะคือ เมื่อเพื่อนสนิทของเธอกลายเป็นนางแบบและทิ้งห่างเธอไปไกล สิ่งเดียวที่มาเมะโกะทำได้เมื่อหันกลับมามองตัวเองและรู้ตัวว่าการเป็นนางแบบคือความฝันที่ไกลเกินไป คือเธอหันไปตัดชุดให้เหล่านางแบบเสียแทนก็ได้นี่นา

ก้าวแรกที่มาเมะโกะเดินเพื่อทำให้ความฝันเป็นจริงคือ สอบเข้าโรงเรียนมัธยมปลายซึ่งเป็นแหล่งรวมของเหล่าหนุ่มสาวที่รักแฟชั่น เธอไม่เลือกฝันว่าเรียนจบแล้วจะได้ทำงานหาเงินเพื่อไปซื้อเสื้อผ้าสวยๆ แต่เธอเลือกที่จะเรียนรู้และเปลี่ยนตัวเองเป็นคนสร้างเสื้อผ้าสวยๆ ให้คนอื่นได้ใส่กันเสียแทน

ตรงนี้อ่านแล้วน่าสนใจค่ะ Jelly Beans ไม่ได้นำเสนอค่านิยมการ "บ้าของแบรนด์เนม" เลยแม้แต่นิดเดียวเพราะทราบดีว่าแม้ของแบรนด์เนมเหล่านั้นจะมีคุณค่าแต่ก็เทียบไม่ได้กับผลงานที่คิดและตัดออกมาด้วยตนเอง การซื้อของแบรนด์เนมที่ออกแบบอย่างพิถีพิถันส่วนหนึ่งก็คือ การซื้อประสบการณ์และฝีมือของดีไซเนอร์ เช่นเดียวกับการสวมเสื้อที่ตัดเองกับมือย่อมหมายถึงเราให้เกียรติประสบการณ์และฝีมือของตัวเอง การสร้างค่านิยมให้เด็กเหล่านี้ชื่นชมในพลังแห่ง "เอกลักษณ์" คือจุดสำคัญของเรื่องนี้นะคะ ดังนั้น ของก๊อบปี้แบรนด์ทั้งหลายนอกจากจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์แล้ว ยังเป็นการย่ำยีคุณค่าของเหล่าดีไซเนอร์ที่สร้างผลงานอย่างยากลำบากด้วยค่ะ

สังคมที่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับแฟชั่นที่ลอกคนอื่นมาจะไม่สามารถสร้างผลงานที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ได้เลยนะคะ

และตามธรรมเนียมของการ์ตูนแนวแฟชั่น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าลายเส้นสวยๆ เป็นออปชั่นบังคับสำหรับการ์ตูนแฟชั่นค่ะ อาจารย์โมโยโกะ อันโนะ ผู้เขียนเรื่องนี้วาดด้วยลายเส้น (ในขณะนั้น) อยู่ในเกณฑ์ "ไม่สวย" เลยค่ะ ขออภัยแฟนๆ ของอาจารย์อันโนะที่ต้องพูดตรงๆ นะคะ แต่ทั้งที่ไม่สวย เชื่อไหมคะว่าตอนอ่านต้องคอยสังเกตแฟชั่นในเรื่องว่าเหล่าหนุ่มสาวในการ์ตูนแต่งตัวกันอย่างไรบ้าง กระทั่งหน้าตาที่วาดเบี้ยวๆ ขอไปทีกลับซ่อนเทคนิคการแต่งหน้าที่เข้ากับแฟชั่นไว้ภายใต้ลายเส้นยุ่งๆ ค่ะ! มันเก๋มาก! แม้ศัพท์จะโบราณไปหน่อยแต่อยากสื่อให้เข้าใจค่ะว่าการ์ตูนเรื่องนี้ไม่ควรมาวิจารณ์เรื่องลายเส้นเพราะ "เอกลักษณ์" อยู่ที่เนื้อเรื่องซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้เหล่าวัยรุ่นผู้รักแฟชั่นได้อย่างล้นหลาม อาจารย์อันโนะได้แสดงให้เห็นด้วยตัวเธอเองแล้วว่าการ์ตูนแฟชั่นไม่จำเป็นต้องเดินตามธรรมเนียมวาดสวยลายเส้นเทพเหมือนที่ใครๆ ว่าไว้ เธอกล้าที่จะแตกต่างและงานของเธอก็กลายเป็นงานที่มีเอกลักษณ์และน่าจดจำค่ะ

Jelly Beans คือการ์ตูนที่ดีกว่าที่คาดไว้มากนะคะ อาจจะไม่ได้ดีถึงขนาดที่ต้องกล่าวขานไปชั่วลูกชั่วหลาน แต่ก็โดดเด่นพอที่จะทำให้ลืมไม่ลงจากความแหวกแนวนี่ล่ะค่ะ

วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11355 มติชนรายวัน

ไม่มีความคิดเห็น: