09 พฤษภาคม 2552

Umimachi Diary ความทรงจำบนแผ่นกระดาษ (2)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

สัปดาห์ที่แล้วเล่าเนื้อเรื่องตอนแรกของ Umimachi Diary "วันที่เสียงจักจั่นซา" การ์ตูนของ "โยชิดะ อาคิมิ" ซึ่งได้รับรางวัลหนังสือการ์ตูนยอดเยี่ยมจาก Japan Media Arts Festival ครั้งที่ 11 ประจำปี 2007 ค่ะ วันนี้มาลองทำความรู้จักกับนักเขียนคนนี้สักนิดนะคะ การเรียนทางลัดที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งก็คือเรียนจากคนที่ประสบความสำเร็จแล้วนี่ล่ะค่ะ

"โยชิดะ อาคิมิ" เกิดในเดือนสิงหาคมปี 1956 หมายถึงเธออายุ 52 ปีแล้วค่ะ! ขณะที่เธอเป็นนักศึกษาในวิทยาลัยศิลปะและการออกแบบ เธอลองส่งผลงานการ์ตูนมือสมัครเล่นไปประกวดและได้รับรางวัลที่สาม ส่งผลให้เธอหันหน้าเข้าสู่วงการการ์ตูนและได้เปิดตัวครั้งแรกเมื่ออายุ 21 ปี อ.โยชิดะสร้างผลงานการ์ตูนชั้นดีในช่วงปลายยุค 70 ไว้มากมาย หลายสำนักกล่าวว่าเธอคือนักเขียนการ์ตูนผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในบรรดานักเขียนการ์ตูนที่เปิดตัวในช่วงเวลาเดียวกันเนื่องจากผลงานได้รับการตีพิมพ์ในฝั่งตะวันตกและได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลาม

ผลงานสร้างชื่อของ อ.โยชิดะคือ "Banana Fish" กับ "Yasha" ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวงการการ์ตูนผู้หญิงฝั่งอเมริกาเหนือ โดยส่วนตัวเคยไปลูบไล้ฉบับภาษาอังกฤษตัวเป็นๆ ในร้านหนังสือการ์ตูนมือสองที่ลอนดอนค่ะ ร้านนั้นขายการ์ตูนและหนังสือภาษาญี่ปุ่นมือสอง (แน่นอนว่าอ่านไม่ออก) แต่มีเรื่องเดียวที่วางครบชุดทั้งที่เป็นการ์ตูนภาษาอังกฤษ เรื่องนั้นคือ "Banana Fish" นั่นเอง เสียดายที่แพงจับจิตไปหน่อยเลยยังไม่ได้ถอยมาอ่าน แต่คิดว่าก่อนกลับจากลอนดอนยังไงต้องหาทางซื้อมาอ่านให้ได้เลยค่ะ

อ.โยชิดะยังเคยได้รับรางวัลการ์ตูนจากโชกักกุคังครั้งที่ 29 และ 47 โดยครั้งหลังได้รับจากเรื่อง Yasha ซึ่งสำนักพิมพ์ในไทยได้ตีพิมพ์ภาคต่อเนื่องของเรื่องนี้ออกมาชื่อ "ธิดามังกร" หรือ Yasha Next Generation สารภาพว่าอ่านแล้วเมานิดหน่อย อาจเป็นเพราะไม่มีพื้นฐานจากเรื่องดั้งเดิมมาก่อนก็ได้

เธอให้สัมภาษณ์หลังได้รับรางวัลจากเรื่อง "วันที่เสียงจักจั่นซา" ว่าสิ่งที่ทำให้สร้างผลงานยอดเยี่ยมชิ้นนี้ขึ้นมาได้คือ "ประสบการณ์อันยาวนาน" ของเธอนั่นเอง และสิ่งที่คิดว่าโดดเด่นที่สุดในผลงานชิ้นนี้คือความ "จริงใจ" หมายถึงตัวการ์ตูนทุกตัวดำเนินเรื่องอย่างเป็นธรรมชาติที่ควรจะเป็น ไม่ได้ถูกบิดเบือนด้วยความนิยมของตลาดหรือความสะใจส่วนตัวแต่อย่างใด เมื่อถูกถามว่าผลงานแบบไหนทรงอิทธิพลกับเธอที่สุด อ.โยชิดะตอบอย่างมั่นใจว่าเธอได้รับอิทธิพลจากภาพยนตร์อเมริกันทั้งในอดีตและปัจจุบัน จึงไม่น่าแปลกใจเลยค่ะที่การนำเสนอใน "วันที่เสียงจักจั่นซา" จะเป็นภาพวาดมุมกล้องสวยๆ ลายเส้นละเอียดแต่เรียบง่ายเหมือนดูภาพยนตร์ที่วาดฉากหลังอย่างมีความหมายและเหลือเฟือ ไม่อู้งานวาดแต่หน้าตัวละครกับช่องคำพูดแบบการ์ตูนยุคหลังซึ่งเป็นอิทธิพลที่ได้รับจากนวนิยายมากกว่าจากภาพยนตร์ค่ะ

อ.โยชิดะตอบคำถามสุดท้ายที่เด็กรุ่นหลังหลายคนอยากรู้ว่าเธอค้นหาความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้มากจากไหน

"ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นเพราะมันเป็นงานของฉัน มันเป็นชีวิตประจำวันของฉันไปแล้ว"

เป็นคำตอบที่เรียบง่ายแต่ชัดเจนค่ะ ความสำเร็จของนักเขียนมืออาชีพที่ยังคงสร้างผลงานชั้นดีจนอายุ 52 ปีคนนี้คือเธอมองว่าการคิดสิ่งใหม่ๆ เป็นงานที่ไม่ใช่รอให้เกิดนิมิตแล้วจึงทำ เธอต้องคิดสิ่งใหม่ๆ ให้ได้ทุกวันเป็นกิจวัตรเหมือนการซ้อมของนักกีฬา ยิ่งฝึกก็ยิ่งเก่ง และยิ่งทำต่อเนื่องก็ยิ่งชำนาญ

ดังนั้น อ.โยชิดะกำลังบอกเด็กรุ่นใหม่ว่าไม่มีทางลัดสบายๆ ไปสู่การเป็นนักคิดชั้นดี อยากเก่งก็ต้องฝึกฝนทุกวันเท่านั้นค่ะ

วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11383 มติชนรายวัน

ไม่มีความคิดเห็น: