20 มิถุนายน 2552

ศิลปะแบบ Superflat กับวัฒนธรรมโอตาคุ (1)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

หลังจากสัปดาห์ก่อนได้ชม Paprika แอนิเมชั่นไซไฟของผู้กำกับฯคอน ซาโตชิไปแล้วและรู้สึกประทับใจในงานภาพสองมิติกับสามมิติเนียนๆ มาก ตอนนั้นเลยเริ่มสังเกตค่ะว่างานภาพ 3D (สามมิติ) ในการ์ตูนญี่ปุ่นมีความแตกต่าง 3D ตะวันตกอยู่นิดหน่อย ถ้าท่านใดเคยชมการ์ตูนสามมิติของ Pixar คงนึกออกว่าการ์ตูน 3D ของเขามีความนูนเว้าและมีแสงเงาเหมือนเป็นวัตถุจริงๆ แต่งานแอนิเมชัน 3D ของญี่ปุ่นไม่นูนค่ะ! เห็นได้ชัดว่า 3D ของสองซีกโลกมีประวัติความเป็นมาต่างกัน โดยของญี่ปุ่นกำเนิดจากหนังสือการ์ตูนซึ่งต้องการเปลี่ยนลายเส้นการ์ตูนให้ดูเป็นวัตถุจริง ส่วน 3D ตะวันตกกำเนิดจากการเปลี่ยนวัตถุจริงให้ดูเป็นการ์ตูน (แต่ไม่ใช่ลายเส้น) ค่ะ เรียกว่าเป็นพัฒนาการที่สวนทางอย่างสิ้นเชิง

ไม่มีใครให้คำนิยามได้ว่าผลงาน 3D ที่เหมือนจริงมากกว่าการ์ตูนและเหมือนการ์ตูนมากกว่าของจริงเช่นนี้เรียกว่าอะไรกันแน่ ในที่สุดเมื่อ 8 ปีก่อน "มุราคามิ ทาคาชิ" ศิลปินแนวโพสต์โมเดิร์นของญี่ปุ่นจึงนิยามผลงานศิลปะที่ "ดูเหมือนการ์ตูนญี่ปุ่น" ว่า "Superflat" ค่ะ ต้องเหมือนการ์ตูนญี่ปุ่นด้วยนะคะ เหมือนวอลต์ดิสนีย์ไม่ได้ค่ะ

หาข้อมูลอยู่นานก็ไปเจอเล็คเชอร์เรื่อง "Superflat กับวัฒนธรรม โอตาคุ" ซึ่งนำเสนอในปี 2001 ที่ MOCA Gallery ฮอลลีวู้ดเข้าพอดีค่ะ ก่อนจะไปถึง Superflat ต้องอธิบายคำว่า Otaku ซักนิดเนื่องจากครั้งแรกที่ผลงานของมุราคามิออกสู่สายตาชาวญี่ปุ่นและชาวโลก คำถามแรกที่เขาได้รับคือ "เขาเป็นโอตาคุใช่ไหม" เนื่องจากผลงานของเขาไม่ว่าจะดูอย่างไรก็ได้รับอิทธิพลมาจากการ์ตูนแลแอนิเมชั่นล้านเปอร์เซ็นต์ค่ะ

"โอตาคุ" เป็นคำเรียกคนญี่ปุ่นซึ่งชื่นชอบการ์ตูนอย่างมากในเชิงเหยียดหยามนิดๆ หากเป็นเมืองไทยคงเข้าได้กับการเป็น "แฟนพันธุ์แท้" เพียงแต่คำว่าโอตาคุมีความหมายในแง่ลบมากกว่า น่าสังเกตว่าแม้คนญี่ปุ่นจะรังเกียจคำนี้กระทั่งคนเป็นโอตาคุเองยังไม่ชอบให้คนพูดใส่หน้าว่าเป็นโอตาคุ แต่เหล่าคนรักการ์ตูนในประเทศอื่นกลับยืดอกและเรียกตัวเองว่าโอตาคุอย่างภาคภูมิใจ อาจเป็นเพราะคนชาติอื่นนิยมชมชอบการ์ตูนญี่ปุ่นอย่างจริงใจในระหว่างที่คนญี่ปุ่นเองกลับมีความหลังแสนเจ็บช้ำกับโอตาคุจนกลัวคำนี้ขึ้นสมอง

มาดูประวัติเขาหน่อยนะคะ "โอตาคุ" เป็นศัพท์บัญญัติที่เกิดขึ้นช่วงทศวรรษที่ 70 ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่าเป็นยุคทองของการ์ตูน เด็กวัยที่ดูการ์ตูนในยุคนั้นเติบโตขึ้นกลายเป็นศิลปินที่ทรงอิทธิพลในญี่ปุ่นปัจจุบันมากมาย โอตาคุในยุคนั้นคือวัยรุ่นที่บริโภควัฒนธรรมบันเทิงและศิลปะซึ่งวนเวียนอยู่ในกลุ่มการ์ตูน, แอนิเมชั่น, โมเดลตัวการ์ตูน และใช้ชีวิตในสังคมออนไลน์เสียส่วนใหญ่เมื่อเปรียบเทียบกับวัยรุ่นทั่วไปซึ่งอาจจะชอบแฟชั่น พบปะพูดคุยกับเพื่อน หรือเล่นกีฬา

ทีแรกทุกคนคิดว่าโอตาคุเป็นแค่วัฒนธรรมย่อยๆ ตามสมัยนิยมเท่านั้นเอง แต่เพราะของแรงหรืออย่างไรก็ไม่ทราบค่ะ วัฒนธรรมโอตาคุเกิดขยายวงออกไปทั้งในและนอกญี่ปุ่นดังที่เราเห็นการ์ตูนญี่ปุ่นวางขายอยู่ทั่วโลก ในญี่ปุ่นเองก็เกิดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโอตาคุขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นร้านการ์ตูน ร้านโมเดล เกิดบริษัทผลิตแอนิเมชั่นหรือกระทั่งสำนักพิมพ์ที่พิมพ์แต่การ์ตูนอย่างเดียวขึ้นมา สิ่งเหล่านี้ยืนยันว่าตลาดของเหล่าโอตาคุกว้างไกลเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้มากนัก ผลิตภัณฑ์สำหรับจำหน่ายให้เหล่าโอตาคุกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ส่งออกและทำรายได้มหาศาลให้ญี่ปุ่นรวมถึงสนับสนุนสินค้าทางวัฒนธรรมอื่นๆ ที่ตามมาเป็นพรวน เช่น เมื่อเห็นตัวการ์ตูนกินราเมงญี่ปุ่นเราก็อยากไปกินราเมงบ้าง ถ้าเห็นร้านอาหารญี่ปุ่นอยู่ติดกับอาหารอิตาลี เราอาจจะเลือกกินอาหารญี่ปุ่นมากกว่าเพราะอย่างน้อยก็รู้ว่าอาหารชนิดไหนเรียกว่าอะไรจากที่เคยเห็นมาก่อนในการ์ตูน

แต่แล้วฝันร้ายของโอตาคุก็เกิดขึ้นในปี 1989 ค่ะ จะเป็นเรื่องใดนั้น และจะลากไปถึง Superflat ได้หรือเปล่า ครั้งหน้ามาต่อนะคะ

วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11425 มติชนรายวัน

ไม่มีความคิดเห็น: