04 กรกฎาคม 2552

ศิลปะแบบ Superflat กับวัฒนธรรมโอตาคุ (3)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

สองสัปดาห์ก่อนเกริ่นให้ฟังถึง "มุราคามิ ทาคาชิ" ศิลปินแนว Superflat ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในตะวันตก ช่วงปี 2001 เขาเป็นคนแรกที่เปิดตัวและนิยามงานศิลปะของตัวเองว่า Superflat พูดง่ายๆ คืองานศิลปะที่ดูแล้ว "เหมือนการ์ตูนญี่ปุ่น" นั่นเอง งานปั้นของเขาชื่อ My Lonesome Cowboy ซึ่งหน้าตาเหมือนฟิกเกอร์การ์ตูนขนาดเท่าคนจริงขายได้ในราคา 15.1 ล้านดอลล่าร์! และในปี 2003 บริษัทกระเป๋าแบรนด์ดังของฝรั่งเศส Louis Vuitton ให้เขาออกแบบคอลเลคชั่น Multicolor กลายเป็นกระเป๋าหลุยส์ฯ สีสันสดใสแต่ราคาแพงลิ่วค่ะ วันนี้จะมาเล่าต่ออีกนิดถึงศิลปินญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จระดับโลกด้วยแรงบันดาลใจจากการ์ตูนญี่ปุ่น

เมื่อแรกเริ่มที่มุราคามิโด่งดังใหม่ๆ สิ่งที่ทำให้มุราคามิถูกต่อต้านจากเหล่าโอตาคุคือเขาให้สัมภาษณ์ว่าเขา "ไม่ใช่โอตาคุ" ทั้งที่ผลงานทุกชิ้นดูอย่างไรก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการ์ตูนและแอนิเมชั่นแน่ๆ เมื่อลองอ่านบทสัมภาษณ์ของเขาแล้วถึงเพิ่งเข้าใจค่ะ มุราคามิเองก็เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งมีความเชื่อเช่นเดียวกับคนในสังคมญี่ปุ่นว่า "โอตาคุ" เป็นคำที่ใช้นิยามพวกที่หมกมุ่นอยู่แต่การ์ตูนจนไม่เป็นอันทำอะไร แต่เขาไม่ได้ดูถูกคนที่ชอบการ์ตูนนะคะ เขาเพียงแค่ไม่อยากให้คนทั่วไปมองเขาด้วยภาพลบของ "โอตาคุ" ดั้งเดิมเท่านั้นเอง จะว่าไปเขาก็ไม่ชอบให้คนมองเขาว่าเป็นอย่างนู้นอย่างนี้ตามประสาศิลปินที่มีความเป็นปัจเจกสูงค่ะ ความไม่ยึดติดกับรูปแบบศิลปะใดๆ เลยได้กลายมาเป็นเอกลักษณ์ของเขา และสุดท้ายเอกลักษณ์ของเขาก็ได้กลายมาเป็นรูปแบบของตัวเองซึ่งเต็มไปด้วยกลิ่นของแอนิเมชั่นชัดเจน

วิธีการคือเขาสร้างคำนิยามใหม่เสียเลยว่าผลงานออกแบบใดก็ตามที่ได้รับอิทธิพลจากการ์ตูนหรือแอนิเมชั่นญี่ปุ่น เราจะเรียกว่า "Superflat" พูดง่ายๆ คือเขาต้องการสร้างวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมาบนรากฐานเดิมของโอตาคุนั่นเอง อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมแนวครึ่งป๊อปครึ่งโอตาคุมีในญี่ปุ่นมานานแล้วแต่อาจอยู่ตามใต้ดินเป็นสตรีทแฟชั่นและถูกเรียกด้วยศัพท์แบบญี่ปุ่นว่า "Poku" (Pop+Otaku) คำนี้คงไม่สามารถสื่อให้ชาวโลกเข้าใจได้เท่า Superflat ค่ะ

มุราคามิให้สัมภาษณ์ลงใน Journal of Contemporary Art เมื่อปี 2000 ว่าเขาเองก็อยากจะเป็นเจ้าปฐพีในวงการที่เขาชอบนั่นคือเป็นราชาของเหล่าโอตาคุ แต่เขาก็เป็นไม่ได้เนื่องจากบรรดาของสะสมและความสามารถของเขามีไม่มากพอที่จะทำให้คนในวงการให้การยอมรับเขาในฐานะราชา เรียกว่าพรสวรรค์ในการเดินตามกระแสวัฒนธรรมการ์ตูนที่ชาวบ้านสร้างขึ้นมาถึงจุดอิ่มตัวสำหรับเขาเสียแล้วค่ะ เขาจึงเปลี่ยนตัวเองจากโอตาคุมาเป็นศิลปินเสียแทน หรืออีกนัยหนึ่งคือเปลี่ยนจากผู้เดินตามวัฒนธรรมของคนอื่นมาเป็นผู้สร้างวัฒนธรรมเสียเอง

มุราคามิเลือกที่จะตีความโอตาคุในมุมมองของเขาและปรับให้เป็นสไตล์ซึ่งถ่ายทอดออกมาในงานศิลปะโดยมีจุดมุ่งหมายให้ชาวโลกรู้ว่าคนเป็นโอตาคุก็มีพลังสร้างสรรค์เหมือนกันนะ และเขาก็ได้เป็นราชาในวัฒนธรรม Superflat ที่เขาสร้างขึ้นในที่สุด ผู้คนไม่มองเขาอย่างเหยียดหยามแบบที่มองโอตาคุอีกต่อไปเพราะเขาคือผู้นำวัฒนธรรมใหม่ที่ไม่เคยลืมความเป็นโอตาคุของตัวเอง ที่ทราบว่าเขาไม่ลืมเพราะลมหายใจในชิ้นงานของมุราคามิเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมการ์ตูนทั้งนั้นเลยค่ะ

ในฤดูใบไม้ผลิปี 2009 นี้ ทางหลุยส์วิตตองได้ให้มุราคามิปรับโฉมคอลเลคชั่น Multicolor Spring Palette อีกครั้งต่อเนื่องจาก Superflat Monogram เดิมที่เขาเคยออกแบบไว้เมื่อปี 2003 คอลเลคชั่นนี้มีกำหนดเปิดตัววันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมานี่เองค่ะ และคลอดมาพร้อมแอนิเมชั่น (ภาพยนตร์การ์ตูน) Superflat First Love ซึ่งมีแพนดาสีเจ็บเป็นไอคอน

สาวๆ คนรักการ์ตูนท่านไหนอยากถือกระเป๋าแบรนด์เนมที่ยังคงความเป็นโอตาคุไว้นิดๆ คงหนีไม่พ้นต้องเสียเงินให้ LV แล้วล่ะค่ะ แต่สนนราคาคอลเลคชั่นใหม่ใบละหกหมื่นขึ้นไป ก็คงต้องคิดกันหนักๆ ก่อนตัดสินใจนะคะ


วันที่ 05 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11439 มติชนรายวัน

ไม่มีความคิดเห็น: