08 สิงหาคม 2552

Nasu มะเขือม่วงกับนักปั่นแข้งทอง (1)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

วันนี้เจอเพื่อนชาวอิตาลีนั่งกินพาสต้าอยู่ก็เลยชวนคุยเรื่องอาหารค่ะ หนึ่งในอาหารอิตาลีที่เราไม่ค่อยคุ้นหูคือ "มะเขือดองในน้ำมันมะกอก" พอพูดถึงมะเขือดองก็ต้องนึกถึงอาหารญี่ปุ่นแต่เจ้ามะเขือดองแบบนี้กลับเป็นอาหารแถบยุโรปและกลายมาเป็นธีมหลักของแอนิเมชั่น (ภาพยนตร์การ์ตูน) เสียด้วย ทีแรกคิดว่าต้องเป็นการ์ตูนทำอาหารแน่แต่คาดผิดไปไกลค่ะ เรื่อง "Nasu" (แปลว่ามะเขือม่วง) คือเรื่องของนักกีฬาจักรยานมืออาชีพผู้เลือกเดินบนเส้นทางนักสู้ที่มีแต่ความยากลำบาก

Nasu สร้างขึ้นจากหนังสือการ์ตูนชื่อเดียวกันโดย "คุโรดะ อิโออุ" ส่วนแอนิเมชั่นกำกับโดย "โคซากะ คิทาโร่" ความโดดเด่นของเขาคือเป็นสตาฟฟ์เก่าแก่ใน Studio Ghibli สตูดิโอที่โด่งดังที่สุดในญี่ปุ่น เขาดูแลงานแอนิเมชั่นของ Ghibli หลายชิ้น เช่น Howl"s Moving Castle, นาอูชิก้า, ปริ๊นเซสโมโนโนเกะ, Spirited away ซึ่งได้รับออสการ์, และล่าสุดคือ Ponyo ดังนั้น คิดไว้ในใจได้ว่า Nasu จะเป็นผลงานที่ภาพสวยและมุมกล้องแจ่มแน่ๆ

Nasu ภาคแรกชื่อว่า Summer in Andalusia สร้างขึ้นในปี 2003 โดยเล่าถึงช่วงเวลาหนึ่งในความทรงจำของ "เปเป้ เบเนเกลี่" นักปั่นชาวสเปนสังกัดทีมเปาเปาเบียร์ของเบลเยียม เขาได้มาแข่งที่เมืองบ้านเกิดพร้อมกับความกดดันมากมาย อย่างแรกคือสปอนเซอร์ไม่ปลื้มและคิดจะไล่เขาออกจากทีมหลังสิ้นสุดการแข่งขันครั้งนี้ และอีกเรื่องหนึ่งคืออดีตคนรักกำลังจะแต่งงานกับพี่ชายของเขาเองในขณะที่เขากำลังแข่งขันอยู่

เมื่อเทียบงานแอนิเมชั่นที่สร้างในช่วงเวลาเดียวกัน Nasu ภาคแรกถือว่าใช้เทคนิคภาพอยู่ในเกณฑ์ดีสมศักดิ์ศรีที่เอาผู้กำกับแอนิเมชั่นของ Ghibli มากำกับค่ะ เล่าเรื่องได้กระชับเหมือนดูเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งจบในเวลา 45 นาที โดยปกติเวลาดูแอนิเมชั่นเราอาจจะพิจารณาว่าแจ่มไม่แจ่มได้จากสามองค์ประกอบหลักคือ "สนุก เสน่ห์ และสร้างสรรค์" (storytelling, characters, and production values) คือเล่าเรื่องได้สนุกและลื่นไหลสมดุลตลอดทั้งเรื่องหรือไม่ ตัวการ์ตูนมีเสน่ห์ให้เราจดจำถึงขนาดเอามาวาดเองได้หรือเปล่า และโปรดัคชั่นของผลงานโดยรวมดูดีและเนียนกว่าที่มือสมัครเล่นทำแค่ไหน Nasu ภาคแรกอยู่ในระดับ "กลางๆ ค่อนไปทางดี" ของทุกข้อค่ะ แต่งานภาพและโปรดัคชั่นเด่นขึ้นมากกว่าสนุกและเสน่ห์เยอะหน่อย

แม้จะดูสนุกและลื่นไหล แต่สิ่งที่ทำให้รู้สึก "ไกลตัว" อย่างบอกไม่ถูกคงเพราะเนื้อเรื่องและตัวการ์ตูนทั้งหมดไม่มีอะไรเป็นญี่ปุ่นเลย สถานที่และวัฒนธรรมเป็นต่างชาติทั้งหมด กระทั่งแนวคิดของเปเป้ตัวเอกเองยังดูไม่ค่อยสร้างแรงบันดาลใจตามแบบแอนิเมชั่นญี่ปุ่นนัก เปเป้บอกเราตอนจบการแข่งขันว่าสิ่งเดียวที่คนไม่ค่อยฉลาดและเกิดในครอบครัวชั้นกลางอย่างเขาสามารถทำเพื่อถีบตัวเองให้กลายเป็นคนดังและร่ำรวยได้คือเป็นนักกีฬานี่ล่ะค่ะ มันก็ดูสมจริงดีแต่แอนิเมชั่นที่ดูแล้วสนุกอย่างเดียวก็ไม่ต่างอะไรกับกินลูกกวาด คือตอนกินก็อร่อยดี ให้พลังงานสูง แต่คุณค่าทางอาหารไม่มากพอที่จะทำให้เรากินแล้วเติบโตได้ เจ้าคุณค่าทางอาหารที่ผู้กำกับฯโคซากะขาดไปในระหว่างที่งานของ Ghibli โดยมิยาซากิไม่เคยขาดก็คือ "แรงบันดาลใจ" นี่ล่ะค่ะ

ภาคแรกนี้ฉายทางโรงภาพยนตร์ในญี่ปุ่นและได้รับคัดเลือกให้ฉายในงาน Tokyo International Anime Fair ในปี 2004 นอกจากนั้น ยังเป็นแอนิเมชั่นญี่ปุ่นเพียงเรื่องเดียวที่ได้รับคัดเลือกให้ฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์ที่ Cannes ฝรั่งเศสอีกด้วย สี่ปีต่อมาผู้กำกับฯโคซากะได้สร้าง Nasu อีกภาคหนึ่งขึ้นมาซึ่งทำให้นักวิจารณ์ยอมรับว่าเขาพัฒนาขึ้นจนสร้างงานในระดับชั้น "เทียบเท่า Ghibli" ได้ในที่สุด เก็บไว้เล่าต่อตอนหน้าค่ะ

วันที่ 02 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11467 มติชนรายวัน

ไม่มีความคิดเห็น: