12 ธันวาคม 2552

วัฒนธรรมโมเอะ กับหนุ่มๆ ผู้ชอบของน่ารัก (2)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

สัปดาห์ที่แล้วเล่าให้ฟังถึงวัฒนธรรมการ์ตูนที่มาแรงเหลือเกินในญี่ปุ่นและทำเงินมหาศาลจนหนุ่มๆ กระเป๋าฉีกด้วยรอยยิ้มกันถ้วนหน้าค่ะ นั่นคือ "วัฒนธรรมโมเอะ" (moe subculture) ซึ่งกล่าวถึงหนุ่มๆ ที่ชอบสาวน้อยน่ารักตาโตแต่งกายด้วยชุดเมด (ชุดคนรับใช้แบบยุโรป) หรือชุดหูแมวน่ารักน่าเอ็นดูเกินห้ามใจ คุณเจสัน ธอมป์สันผู้เขียนบทความเรื่องวัฒนธรรมโมเอะได้อธิบายความชอบเด็กสาวน่ารักของหนุ่มๆ ว่าอาจเป็นปรากฏการณ์เช่นเดียวกับ phatic language หรือ "พูดอย่างนั้นแต่ไม่ได้หมายความอย่างนั้น" อีกนัยหนึ่งคือชอบตัวการ์ตูนเด็กสาวใส่ชุดทหารแบบน่ารัก ติดโบว์หวานแหววแต่ถือปืนกระบอกโตก็ไม่ได้หมายความว่าอยากจับน้องสาวที่บ้านมาแต่งแบบนั้นแต่อย่างใด มันเป็นแค่การทำให้ชุดทหารและปืน (ซึ่งเป็นของชอบของผู้ชายปกติทั่วไป) ดูน่ารักขึ้นเท่านั้นเอง

อีกทฤษฎีหนึ่งน่าจะเกิดจากคำถามที่ว่า "แล้วทำไมต้องเอาของชอบไปอยู่รวมกับตัวการ์ตูนเด็กสาววัยประถมทุกที ถ้าชอบแมวน่ารักทำไมไม่ชอบคิตตี้หรือการ์ฟิลด์ ทำไมต้องเอาตัวการ์ตูนเด็กประถมไปใส่หูแมวด้วย"คุณเจสันอธิบายปรากฏการณ์นี้ด้วยทฤษฎี moe anthropomorphism หรือแปลโดยสรุปว่าเป็นการเปลี่ยนให้สิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์, สิ่งของที่ไม่มีชีวิต, คอนเซ็ปท์, หรือปรากฏการณ์ใดๆ กลายเป็นมนุษย์ค่ะ หากจะอธิบายว่าทำไมต้องเป็นตัวการ์ตูนเด็กสาวหูแมว คำตอบคงเป็นชายหนุ่มชอบ "นิสัยแบบแมว" ซึ่งเป็นคอนเซ็ปท์ของนิสัยที่ชอบคลอเคลียออดอ้อนแต่บางอารมณ์ก็แสนงอนทำตัวเชิดหยิ่งเหมือนเป็นเจ้านายเราเสียแทน นิสัยแบบแมวซึ่งเป็นนามธรรมถูกเปลี่ยนเป็นมนุษย์ซึ่งก็คือเด็กสาวสวมหูแมวนั่นเอง แต่ถ้าสงสัยต่อว่าทำไมไม่ให้เป็นแคทวูแมนสุดเซ็กซี่ล่ะ หนุ่มๆ ก็อาจจะบอกว่ามัน "ไม่โมเอะ" ก็ได้ค่ะ

เพื่อให้รู้กันว่าสิ่งนี้ได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นสิ่งมีชีวิตสุดโมเอะตามทฤษฎี moe anthropomorphism จึงกำเนิดคำลงท้ายเพิ่มความน่ารัก 200% ขึ้นมาว่า "ตัน" ตัวอย่างเช่นน้องแมวสุดน่ารักอาจจะชื่อ "เนโกะจัง" (ใส่ "จัง" ตอนท้ายก็น่าเอ็นดูแล้ว) แต่เมื่ออยากให้ได้อารมณ์กรี๊ดกร๊าดแบบวัฒนธรรมโมเอะเราจึงต้องเปลี่ยนเป็น "เนโกะตัน" เสียแทน เช่นเดียวกับสาวน้อยน่ารักนั่งทับลูกโลกจิ๊กซอว์หน้าตาคุ้นๆ คนนี้ เดาไหมคะว่าเธอน่าจะชื่ออะไร ชื่อของเธอคือ "วิกิปิตัน"ค่ะ! ลูกโลกที่เห็นคือลูกเดียวกับ Wikipedia สารานุกรมออนไลน์นั่นเอง หนุ่มๆ ในวัฒนธรรมโมเอะได้เปลี่ยนให้สิ่งที่ใช้งานเป็นประจำทุกวันดูน่ารักน่าเอ็นดูขึ้นด้วยการจับให้วิกิปีเดียกลายเป็นสาวน้อยและตั้งชื่อว่าวิกิปิตันซะเพื่อให้...ใช้แล้วจิตใจชื่นบานมั้งคะ มาถึงตอนนี้คงพอเดาได้ว่าจะมีสาวน้อยที่เกิดจากของใช้ที่หนุ่มๆ นิยมอีกเพียบแน่ค่ะ เช่น โอเอสตัน (OS-tan) หรือประบบปฏิบัติการ (operating system) ในร่างสาวน้อย เป็นต้น

คุณเจสันยังกล่าวถึงความนิยมอื่นๆ ในวัฒนธรรมโมเอะอีกพอสมควร เช่น โลลิค่อน (Lolita complex) หรือมิลิโมเอะ (mili-moe : military moe) ส่วนสาวๆ เองใช่ว่าจะแห้งแล้งนะคะ ทฤษฎี moe anthropomorphism ยังใช้อธิบายการ์ตูนเรื่อง Axis Power Hetalia ที่จับเอาคอนเซ็ปท์ของคนแต่ละประเทศมาเปลี่ยนให้เป็นมนุษย์เช่นเดียวกับที่หนุ่มๆ เปลี่ยนวิกิปีเดียเป็นวิกิปิตันด้วย

ใครสนใจศึกษาต่อเชิญค้นคว้าที่ http://io9.com/ หาชื่อ Jason Thompson ค่ะ น่าจะมีคำอธิบายดีๆ ว่าเพราะเหตุใดหนุ่มๆ ในปัจจุบันจึงหันไปชอบการ์ตูนที่มีเด็กสาวเป็นตัวดำเนินเรื่องพอๆ กับการ์ตูนผู้ชายบู๊ล้างผลาญ

วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11600 มติชนรายวัน

ไม่มีความคิดเห็น: